เรื่องดีคำโดน

สุนทรพจน์ของสตีฟ จอบส์

Steve Jobs Speech

สตีฟ จอบส์ ผู้บุกเบิกบริษัทคอมพิวเตอร์ “แอปเปิ้ล” ที่มีชื่อเสียงของโลก ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
เขากล่าวว่าเขาไม่เคยจบมหาวิทยาลัย และครั้งนี้เป็นครั้งที่เขาได้เข้าใกล้พิธีรับปริญญาบัตรมากที่สุดในชีวิต
เขาได้พูดถึงเรื่อง การลากเส้นต่อจุดของชีวิต โดยยกเรื่องที่เขาลาออกจากมหาวิทยาลัย Reed หลังจากที่เรียนไปได้แค่ 6 เดือน แต่ก็ทำเนียนเรียนต่อไปอีกถึง 18 เดือน
เขากล่าวว่า “สาเหตุนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนผมเกิด แม่ที่ให้กำเนิดผมเป็นนักศึกษาที่ท้องก่อนแต่ง เธอตัดสินใจยกผมให้คนอื่น โดยตั้งใจไว้ว่าคนที่รับผมไปเลี้ยง จะเลี้ยงดูผมได้จนจบปริญญา
ทุกอย่างจึงจัดเตรียมไว้เรียบร้อยว่าผมจะได้พ่อบุญธรรมที่เป็นทนายความ จนกระทั่งผมเกิดออกมา แต่พ่อแม่บุญธรรมที่เลือกผมไว้กลับเปลี่นใจอยากได้ลูกผู้หญิง
ดังนั้นพ่อแม่ปัจจุบันของผม ซึ่งมีชื่อยู่ในรายชื่อที่รอคอยอุปการะ จึงได้รับโทรศัพท์กลางดึกคืนนั้นถามว่า “เราบังเอิญได้เด็กทารกผู้ชายพวกคุณอยากรับไปเลี้ยงไหม?” พ่อแม่ผมก็ตอบไปว่า “รับ”
แต่แม่ที่ให้กำเนิดผมมารู้ที่หลังว่า แม่บุญธรรมของผมไม่ได้จบปริญญา ส่วนพ่อบุญธรรมก็ไม่ได้เรียนจบมัธยมปลาย เลยเปลี่ยนใจไม่ยอมเซ็นเอกสารยกผมให้พ่อแม่บุญธรรมไปอุปการะ
เธอลังเลใจอยู่นาน แต่ในที่สุดก็ยอมยกผมให้ เพราะพ่อแม่บุญธรรมสัญญาไว้ว่าจะเลี้ยงดูผมจนจบปริญญาให้ได้

17 ปีต่อมา ผมก็ได้เข้ามหาวิทยาลัย แต่ด้วยความไร้เดียงสา ผมจึงเลือกไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ค่าเทอมแพง แล้วผมก็ใช้เงินเก็บของพ่อแม่ตัวเองซึ่งเป็นพนักงานเงินเดือนมาเป็นค่าเทอม
หลังจากเรียนไปได้ 6 เดือน ผมก็รู้สึกไม่ได้อะไรจากสิ่งที่เรียน ไม่เห็นว่าการเรียนที่นั่นจะช่วยให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วผมจะผลาญเงินเก็บที่พ่อแม่ผมหามาชั่วชีวิตไปทำไม
ผมจึงตัดสินใจลาออก และได้แต่ภาวนาขอให้เรื่องทุกอย่างลงเอยด้วยดี

ที่จริงผมก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่เมื่อมองย้อนกลับไป มันเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม ทันทีที่ลาออกผมก็ไม่ต้องเรียนวิชาที่ไม่อยากเรียน และเลือกเรียนแต่วิชาที่อยากเรียน
แต่ชีวิตไม่ง่ายเหมือนในนิยาย ผมไม่มีหอพัก ต้องอาศัยพื้นห้องเพื่อนเป็นที่นอน ต้องเก็บขวดโค้กไปแลกเงินขวดละ 5 เซนต์เพื่อนำเงินไปซื้อข้าว ต้องเดินทางไปโบสถ์ทุกคืนวันอาทิตย์เป็นระยะทาง 5 ไมล์เพื่อหาอาหารดีๆทานสักมื้อ แต่ผมก็ชอบนะ

การที่ผมทำตามสัญชาตญาณอยากรู้อยากเห็นของตัว ภายหลังกลับกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล
ที่มหาวิทยาลัย Reed มีวิชาการประดิษฐ์ตัวอักษร ที่อาจเรียกได้ว่าดีที่สุดในประเทศ ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย โปสเตอร์ หรือป้ายที่ติดตามบอร์ด ล้วนมีแต่ตัวหนังสือที่เขียนด้วยมือ
เพราะผมลาออกจึงไม่ต้องไปเรียนวิชาบังคับ ผมจึงได้เรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษร และเรียนรู้วิธีประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมา ทั้งวิธีวางช่องไฟระหว่างตัวอักษร และการออกแบบตัวอักษรให้สวย
มันกลายเป็นศิลปแขนงที่สวยงาม และใช้การออกแบบที่ละเอียดอ่อนขนาดที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำได้ ผมหลงใหลกับวิชานี้มาก แต่ไม่เคยคิดว่าผมจะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์อะไรในชีวิตได้

จนกระทั่ง 10 ปีต่อมา เมื่อผมกับเพื่อนออกแบบเครื่องแมคอินทอช เครื่องแรก จึงได้รื้อฟื้นวิชาพวกนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และดีไซน์ตัวอักษรทั้งหมดลงไปในเครื่องแมค จึงกลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีการออกแบบตัวหนังสืออย่างสวยงาม

ถ้าไม่ใช่เพราะผมเลือกเรียนวิชานั้น เครื่องแมคคงไม่มีแบบตัวอักษรที่หลากหลาย และการจัดช่องไฟที่สวยงาม และถ้าวินโดวส์ ไม่ได้มาลอกเลียนแบบจากแมคไป คงไม่มีคอมพิวเตอร์เครื่องไหนในปัจจุบันที่มีตัวอักษรสวยงามแบบนี้

ถ้าผมไม่ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยตอนนั้น ผมคงไม่ได้เรียนวิชาออกแบบตัวอักษร และคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้คงไม่มีฟอนต์สวยๆแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าผมจะพยายามลากเส้นต่อจุดอนาคตของตัวเองตอนที่ผมเรียนอยู่ แต่เมื่อมองย้อนกลับไป 10 ปีให้หลังจุดแต่ละจุดนั้นมันชัดเจนมาก
ดังนั้น ผมขอบอกว่า เราไม่สามารถลากเส้นต่อจุดเมื่อมองไปในอนาคต เราจะเห็นมันก็ต่อเมื่อ เรามองย้อนกลับไปในอดีตเท่านั้น จึงต้องเชื่อว่าจุดทั้งหลายที่ผ่านมาในชีวิตคุณ มันจะหาทางลากเส้นต่อเข้าหากันเองในอนาคต

เราต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในบาง สิ่งบางอย่างอย่างแน่วแน่ เพราะความเชื่อที่เรามีต่อจุดแต่ละจุดนั้น ในที่สุดมันจะเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเอง และมันจะให้ความมั่นใจที่จะทำตามสิ่งที่คุณมั่นใจ ถึงแม้บางครั้งมันอาจจะพาคุณออกนอกเส้นทางบ้าง แต่สิ่งนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน

 

ที่มา: Anonymous

รูปภาพ >> Photo by: OpenClipart-Vectors from Pixabay  และ  Graphic By: Sinn

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง