มีเรื่องหนึ่งที่เรามักได้ยินคำเตือนอยู่บ่อยๆ ว่าอย่าคุยในบ้าน อย่าเปิดประเด็นในวงเพื่อน อย่าเริ่มเรื่องบนโต๊ะอาหาร ไม่งั้นจะยุ่งเหยิงตีกันนัวแน่นอน เรื่องนั้นคือ “การเมือง” และไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือชอบหรือไม่ มันก็มักเป็นแบบนั้นจริงๆ ด้วย ทำไมถึงเป็นแบบนี้ได้?
ความจริงที่เจ็บปวดคือ สังคมมักพยายามบอกว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก การเมืองเป็นเรื่องน่ารังเกียจ อย่าไปยุ่ง ใครขาวๆ ไปยุ่งเรื่องการเมือง ตัวจะเปลี่ยนสีเป็นเทาๆ หรือไม่ก็ดำไปเลย แต่ในขณะเดียวกัน เวลามีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในสังคม หรือเราอยากให้บ้านเมืองเราเจริญพัฒนาเทียบเท่าอารยประเทศ เราก็จะเอานิ้วทั้งห้าชี้ไปที่การเมืองว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ฟังดูย้อนแย้งและน่าแปลกประหลาดเสียจริงๆ
ในฐานะคริสเตียน เราควรมีคำตอบและแนวทางสำหรับเรื่องนี้ คริสเตียนควรมองการเมืองเป็นอย่างไรกันแน่ พระคัมภีร์มีพูดถึงเรื่องนี้หรือไม่ และคริสเตียนควรปฏิสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไรดี
หลักการพระคัมภีร์ว่าอย่างไร?
มีหลักการหรือเหตุการณ์ในพระคัมภีร์อะไรบ้างที่เราสามารถนำมาประกอบการพิจารณาต่อประเด็นนี้ ขอให้ไว้สัก 6 ประการ
1. คริสเตียนต้องเป็นเกลือและแสงสว่าง
การเมืองหมายถึงการปกครอง การกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน การแบ่งสรรผลประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน รวมถึงคริสเตียนด้วย เพราะในขณะที่เราเป็นประชากรของพระเจ้า เราก็เป็นพลเมืองของสังคมด้วย จนกว่าเราจะจากโลกนี้ไป
มัทธิว 5:13 ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งโลก ถ้าเกลือนั้นหมดรสเค็มไปแล้ว จะทำให้กลับเค็มอีกได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นไปก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร มีแต่จะถูกทิ้งเสียให้คนเหยียบย่ำ
การเป็นเกลือ คือ การเยียวยา การรักษา การถนอม การเป็นแสงสว่าง คือ การชี้นำ ช้าทางออกดังนั้นในฐานะลูกของพระเจ้า เราจึงควรทำหน้าที่เยียวยาสังคม ร่วมในการแก้ไขปัญหาของสังคม และชี้ทางออกให้กับสังคม ซึ่งการเมืองก็ต้องการการแก้ปัญหาเหล่านี้เช่นกัน
2. คริสเตียนต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ บนเงื่อนไขที่ไม่ขัดกับหลักการของพระเจ้า
คริสเตียนต้องให้ความเคารพผู้มีสิทธิอำนาจในบทบาทต่างๆ เช่น เคารพพ่อแม่ เคารพครู เคารพเจ้านายในที่ทำงาน เคารพผู้ปกครองบ้านเมือง
พระคัมภีร์บอกว่าทุกอำนาจในโลกล้วนมาจากพระเจ้า
โรม 13:1-2 1ทุกคนจงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง เพราะว่าไม่มีอำนาจใดเลยที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า และผู้ที่ถืออำนาจนั้น พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น 2เพราะฉะนั้นผู้ที่ขัดขืนอำนาจนั้น ก็ขัดขืนผู้ซึ่งพระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น และผู้ที่ขัดขืนนั้นจะต้องถูกลงโทษ
ในพระธรรมตอนนี้ เปาโลได้แสดงเงื่อนไขสำคัญของการเชื่อฟังและยอมอยู่ใต้อำนาจปกครอง คือ การที่ผู้ปกครองเหล่านั้นได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า และเป็นผู้รับใช้พระเจ้า เป็นตัวแทนของพระเจ้าของการปกครองบ้านเมือง ดังนั้น หากผู้ปกครองไม่ได้มีลักษณะของการเป็นตัวแทนของพระเจ้า แต่กลับออกมาเข่นฆ่าประชาชน ออกกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม สนับสนุนคนทำชั่ว เขาเหล่านั้นยังคงสภาพเป็นผู้รับใช้และตัวแทนของพระเจ้าได้อีกต่อไปหรือไม่
3. การใช้กำลัง การทะลาะวิวาท การประหัตถ์ประหารทำลายล้าง ไม่ใช่วิถีทางในการแก้ปัญหา
อาจารย์เปาโลบอกว่าคุณลักษณะของผู้นำที่ดีข้อหนึ่งคือไม่เป็นผู้ที่ชอบความรุนแรง ไม่ชอบการทะเลาะวิวาท
1 ทิโมธี 3:1-7 3….ไม่ชอบความรุนแรง แต่ผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ชอบการวิวาท…
และผลของพระวิญญาณก็บอกไว้ชัดเจน ทั้งความรัก ความปราณี ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน (ซึ่งแน่นอนรวมถึงอารมณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ตน”)
กาลาเทีย 5:22-23 22ส่วนผลของพระวิญญาณนั้น คือความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดี ความซื่อสัตย์ 23ความสุภาพอ่อนโยน การรู้จักบังคับตน
ดังนั้น โดยรวมแล้ว การแสดงออกด้วยความรุนแรง ด้วยอารมณ์ที่เคียดแค้น ด้วยการใช้กำลัง จึงไม่ใช่วิถีทางของคริสเตียน
4. การขัดขืนอย่างสงบต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (civil disobedience)
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐลุแก่อำนาจ จนกระทำการอย่างอยุติธรรมและเสื่อมทรามเป็นสิ่งที่ผู้เชื่อในอดีตเคยกระทำมาแล้ว
เนื้อหาทั้งในพันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่ และประวัติศาสตร์คริสตจักรต่างแสดงให้เห็นตัวอย่างของคนของพระเจ้าที่ปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อพวกเขาเชื่อว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่อยุติธรรมและเสื่อมทราม ยกตัวอย่างเช่น
หญิงผดุงครรภ์ชาวฮีบรูที่ไม่ทำตามคำสั่งของฟาโรห์ที่ฆ่าเด็กชายชาวฮีบรู (อพยพ 1:15-22)
เพื่อนทั้งสามของดาเนียลที่ไม่ยอมนมัสการรูปเคารพตามพระบัญชาของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ (ดาเนียล 3) ดาเนียลแม้จะทราบว่ากษัตริย์ดาริอัสทรงออกกฎหมายห้ามคนอธิษฐานต่อพระใดๆ แต่ท่านก็ยังขัดขืนด้วยการอธิษฐานต่อพระเจ้าของท่านเหมือนปกติ (ดาเนียล 6)
พวกโหราจารย์แม้จะได้รับบัญชาจากเฮโรดมหาราชว่า เมื่อพบที่ประทับของพระกุมารแล้วให้พวกเขากลับไปรายงานให้ทราบ แต่พวกโหราจารย์ก็ฝ่าฝืนไม่กระทำตามเพราะความเชื่อฟังขอพวกเขาต่อการสำแดงของพระเจ้า (มัทธิว 2:12)
บรรดาอัครทูตถูกลงโทษและกำชับห้ามไม่ให้เทศนาในพระนามของพระเยซูอีก แต่เมื่อถูกปล่อยตัวพวกเขาก็กลับไปเทศนาข่าวประเสริญอีก (กิจการฯ 4:18-19)
5. เป้าหมายสูงสุดของคริสเตียนไม่ได้อยู่ในโลกนี้ แต่อยู่บนสวรรค์
มารคือพ่อแห่งการหลอกลวง หน้าที่ของมันคือทำให้คริสเตียนหันออกจากทางของพระเจ้า และวิธีหนึ่งคือ การทำให้คริสเตียนเสีย focus มัวลุ่มหลงยึดติดกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ทั้งทรัพย์สิ่งของที่จับต้องได้ และรวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ด้วย ทั้งระบบ อำนาจ ตำแหน่ง ชื่อเสียง
เปาโลบอกว่าสิ่งต่างๆ ในโลกล้วนเป็นหยากเยื่อ คือ ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่เราควรยึดติด ดังนั้น แม้เราจะมีส่วนในการเมือง (เหมือนกับที่เรารับผิดชอบการงาน รับผิดชอบครอบครัว ดูแลร่างกายตัวเอง ฯลฯ) เราก็ต้องบอกตัวเองเสมอว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่สิ่งชั่วคราว มันจะสลายไปกับโลกที่กำลังนับถอยหลัง อย่าให้ความสำคัญจนลืมจุดหมายปลายทางที่แท้จริง
6. การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุด คือ การเปลี่ยนที่ระดับจิตวิญญาณ
นี่คืออีกสิ่งที่เราต้องเตือนตัวเองเสมอ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดจะสร้างความยั่งยืนได้ดีที่สุดเท่ากับการเปลี่ยนที่จิตวิญญาณ
ทำไมพระเยซูจึงไม่มาเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ดังที่คนยิวคาดหวังจะเห็นพระเมซิยาห์มาปลดปล่อยพวกเขาจากการเป็นทาส เลยทำให้ชาวยิวผิดหวังและเข้าใจผิดว่าพระเยซูคงไม่ใช่พระเมซิยาห์ตัวจริง เลยจับพระองค์ไปตรึงเสียเลย การที่พระเยซูเลือกมาเกิดบนรางหญ้าดังสามัญชนที่ต่ำต้อย ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับเหล่าสาวก และมุ่งที่การเปิดเผยน้ำพระทัยของพระเจ้า นำจิตวิญญาณให้กลับมาสู่พระเจ้า จึงต้องเป็นสิ่งที่คริสเตียนควรเรียนรู้และตระหนักเช่นเดียวกัน
แม้เราอาจมีชัยชนะในทางการเมือง ซึ่งนั่นก็คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาโลก
ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมาได้ นอกเสียจากเรานำนักการเมืองเหล่านี้มารู้จักพระเจ้า
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น