มีผลวิจัยมากมายรวมถึงความรู้สึกที่บอกตัวคุณเองอยู่แล้วว่า การตะโกนใส่หน้าลูกเวลาพวกเขาดื้อนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาเลย มีแต่ยิ่งจะเพิ่มปัญหาให้มากขึ้นจากเรื่องที่กำลังเครียดกันอยู่
แม้ว่าจะรู้ทั้งรู้ พวกเราที่เป็นพ่อแม่ก็ยังน๊อตหลุดอยู่ทุกที วันนี้ได้อ่านบทความจาก Parents.com เรื่อง 10 Ways to Stop Yelling จะขอย่อให้ลองอ่านดูครับ
1. หายใจลึกๆ
เพิ่มการระวังใจและพฤติกรรมของเราด้วยการหายใจลึกๆ ทำใจให้นิ่งๆ สักแป๊ปก่อน
2. หาสาเหตุของการดื้อให้เจอ
อย่าเพิ่งระเบิดอารมณ์ ใช้สมองอันชาญฉลาดและคิดอย่างรวดเร็วที่จะหาให้เจอว่า ณ วินาทีนั้น ลูกดื้นเพราะอะไรกันแน่ จำไว้ว่าเขาไม่ได้ดื้อตลอดเวลา คิดแง่นี้ไว้ด้วย
3. ฝึกวินัยลูกอย่างสม่ำเสมอ พลาด เอาใหม่ เริ่มใหม่ อย่าล้มเลิก
นิ่ง แยกแยะประเด็น ความสม่ำเสมอสำคัญมาก เรื่องเดียวกันเดี๋ยวลงโทษเดี๋ยวปล่อยผ่าน ไม่ใช่วิธีที่ดี ถ้าตกลงกันแล้ว แล้วยังทำผิดเดิมๆ ต้องลงโทษ แล้วเรียกร้องพฤติกรรมที่ตกลงกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องใหม่ก็ต้องสอน ไม่ต้องลงโทษทุกครั้ง
4. พูดให้หนักแน่น แต่ไม่ตะโกนใส่หน้า
ยืนยันคำสั่ง ด้วยเสียงเรียบๆ แต่หนักแน่น ไม่ต้องตะโกน อย่าทำตัวเหมือนจะกำลังระเบิดให้ได้ ลูกคุณจะยั่วคุณต่อให้คุณระเบิดออกมา
5. ช่วยลูกอธิบายอารมณ์ตัวเอง ณ ขณะนั้น (Inductive Approach)
เป้าหมายของพ่อแม่ต้องชัดเจน คือสอน และให้ลูกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว อย่าใช้อารมณ์ระเบิดใส่เขาเพื่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงระยะสั้นๆ เพราะความกลัว เราอาจจะพูดว่า พ่อแม่เข้าใจว่าลูกกำลังอามณ์ไม่ดี แต่ลูกลองพูดซิว่าทำไม พอลูกพูดเขาจะค่อยๆ คิดตามสิ่งที่เขาพูด
6. กลับมาที่ข้อตกลงทุกครั้ง
พฤติกรรมที่ครอบครัวไม่สามารถยอมรับได้คืออะไร แล้วถ้าทำจะได้รับโทษอะไร คุยกันตอนอามรณ์ปกติ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติจะได้กลับมาคิดพิจารณาตัวเอง และเดินตามข้อตกลง
7. ให้คำชมเมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
พ่อแม่ต้องพูดต้องชม เพื่อเด็กจะรู้ถึงความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมที่ครอบครัวยอมรับและไม่ยอมรับ
8. ตระหนักว่าความรัก ความสนิทสนม ระหว่างพ่อแม่กับลูก จะสร้างวินัยให้ลูกได้ง่ายกว่าเวลาที่ต้องมาจัดการกัน
อย่ารอให้ถึงอารมณ์ที่จะต้องมีการตะโกนหรือระเบิดใส่กันแล้วมาฝึกวินัย เวลานั้นจิตใจ สมาธิ จะไม่พร้อมที่จะเปิดรับได้มากกว่าเวลาปกติ
ความรัก ความสนิทสนม ระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ควรวางตัวเป็นคุณครูใจร้ายตลอด เพราะความกลัวจะยิ่งผลักลูกให้ห่างจากเราไปเรื่อยๆ
9. คิดถึงจิตใจลูกจากการกระทำของเราด้วย
ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเราบ้างที่ถูกตะโกนใส่หน้า เราจะรู้สึกอย่างไร ตกใจ กลัว หวาดหวั่น ฯลฯ เราคิดว่าลูกจะมีความเข้าใจอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นไหม? ไม่มีแน่
สิ่งที่จะมีคือความกลัว ความหวาดหวั่น และลูกจะเริ่มสร้างเกราะปิดกั้นตัวเองจากพ่อแม่ ถ้าลองคิดถึงใจเขาใจเราสักหน่อย เราควรระมัดระวังอย่าให้พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา
10. พึ่งพาพระเจ้าและสอนลูกให้เคารพยำเกรงพระเจ้าเสมอ
การตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตที่ประทานโดยพระเจ้า ทำให้เรามีท่าทีที่เปลี่ยนไปต่อลูกของเรา ลูกเป็นของขวัญจากครรภ์ และพระเจ้าใช้เราให้เป็นผู้อบรมสั่งสอนเพื่อเขาจะมีชีวิตที่ยำเกรงพระเจ้า ไว้วางใจในพระเจ้าเสมอในทุกๆ เรื่องของชีวิต
การระเบิดอารมณ์ไม่ได้เพิ่มอำนาจในการสั่งสอน แต่เพิ่มความกลัวและอาจผลักเขาออกไปจากความสัมพันธ์ หากเราพลาดไป ให้เราสำรวจใจตัวเอง กลับใจใหม่หากมีอะไรที่เราผิดพลาดจริงๆ อธิษฐานขอพระเจ้าประทานสติปัญญา กลับมาที่การรู้จักบังคับจิตใจและอารมณ์ ให้อภัยตนเอง แล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ขอพระเจ้าสถิตอยู่ด้วยกับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านครับ
บทความ: กนก ลีฬหเกรียงไกร
ออกแบบภาพ: rainniedesign
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น