หนึ่งในคำสั่งเรียบง่ายที่สุดซึ่งพระเยซูมอบให้สาวกในระหว่างมื้อค่ำสุดท้ายก่อนที่จะทรงถูกตรึงที่กางเขน
มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น…
(ลูกา 22:24-26)
“แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น”
หลังจากที่พวกสาวกทุ่มเถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่ที่สุด พระเยซูได้ชี้ให้เห็นว่าวิถีการนำของ “เหล่ากษัตริย์ของคนต่างชาติ” ที่ใช้อำนาจเหนือประชาชนและยกตัวเองให้อยู่ในฐานะผู้มีบุญคุณแก่คนเหล่านั้น
แต่พระเยซูกล่าวอย่างชัดเจนว่า อย่าเป็นอย่างนั้น!
2 วิธีในการเป็นผู้นำ “แบบคนต่างชาติ”
แต่คำว่า “อย่างนั้น” ของพระเยซูนั้นเป็นอย่างไร? การเป็นผู้นำแบบนี้นั้นส่งผลอย่างไร? และเราสามารถรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นผู้นำ “แบบคนต่างชาติ” อยู่?
ผมอยากแนะนำถึง 2 วิธีการในการนำแบบ “คนต่างชาติ” ที่เราเห็นได้ในทุกวันนี้ ทั้งสองวิธีนี้อาจดูตรงข้ามกัน แต่ก็เป็นเพียง 2 ด้านของเหรียญอันเดียวกัน
- Top-down, Hierarchical Leadership (การนำแบบบนลงล่าง) หรือ ผู้นำแบบลำดับขั้น ซึ่งน่าจะเป็นการนำแบบคนต่างชาติที่เราเห็นได้เด่นชัดที่สุดในทุกวันนี้
- Bottom-up, Flat leadership (การนำแบบล่างขึ้นบน) หรือ ผู้นำในแนวราบ ซึ่งเทียบได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามของความเป็นผู้นำแบบแรก หากแต่นี่ก็เป็นการนำแบบคนต่างชาติเช่นกัน
ลองดูกันว่าทำไมทั้งสองวิธีการนำที่ผมกล่าว จึงไม่ใช่การนำในแบบที่พระเยซูต้องการ
การเป็นผู้นำแบบลำดับขั้นบนลงล่าง (Top-down hierarchy) ในศตวรรษที่ 21
ระนาบความคิดในการเป็นผู้นำแบบคนต่างชาติที่เราเห็นได้ทั่วไปในคริสตจักรทุกวันนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า CEO Model หรือ Boss Model
ในโมเดลนี้ ผู้นำคือ ผู้เชี่ยวชาญ เป็นคนที่ “มีหน้าที่รับผิดชอบ” (in charge) คือคนที่มีอำนาจในการจ้างงานหรือไล่ออก ตัดสินใจและควบคุมทิศทางการดำเนินงานขององค์กร
ในระบบนี้ อำนาจเป็นสิ่งที่มาควบคู่กับตำแหน่ง เพื่อที่จะจัดการกับตัวแปรต่างๆ ส่งอิทธิพลต่อผู้คน และควบคุมผลลัพธ์
ความเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในระนาบความคิดแบบนี้ ประเมินได้ผ่านความเติบโตและกำไร (growth and profit) โดยมีความสัมพันธ์และผู้คนเป็นสิ่งที่ถ่วงดุลภายในองค์กรเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดหวัง
ปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องถูกแก้ไขหรือถูกจัดการเพื่องานจะออกมาดีที่สุด อะไรก็ตามที่ขัดขวางเป้าการเติบโตและกำไรขององค์กร ถูกนับว่าเป็นสิ่งคุกคามที่ผู้นำต้องก้าวผ่านมันให้ได้
คำเปรียบเปรยที่เรามักใช้สื่อถึงองค์กรแบบนี้ก็คือ “เครื่องจักร” เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ (productivity) ความสำเร็จ การเพิ่มผลผลิต สายบังคับบัญชา ผลลัพธ์ ผลกระทบ ทำให้สำเร็จ และ ทำให้เกิดขึ้นได้
ในโมเดลนี้ คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของผู้นำคือ ความเชี่ยวชาญ และ ความสามารถ ซึ่งประกอบด้วย การมีความมั่นใจ ความสามารถในการโน้มน้าว ส่งอิทธิพล และการบริหารทีมงาน และการทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย
พนักงานที่ทำงานภายใต้โมเดลการนำแบบนี้ จะถูกใช้งานและจัดการเหมือน พวกเขาเป็นสินทรัพย์ที่ถูกจัดสรรและใช้ประโยชน์เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นขององค์กร
ไม่ใช่เรื่องที่ผิดสักทีเดียว
หลังจากที่พูดมาทุกอย่างแล้ว ผมอยากบอกว่าความเป็นผู้นำแบบนี้ก็ไม่ใช่สิ่งผิดในตัวมันเองไปสักทีเดียว ในบางงานนั้นต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรถของผมเสีย และต้องให้ช่างของผม แอนโทนี เป็นคนซ่อม โดยคาดหวังให้เขาเป็นคนจัดการทุกสิ่งทุกอย่างเอง ผมต้องการให้เขาหาสาเหตุของปัญหาและแก้ไขมันโดยไม่จำเป็นที่ผมต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมใดๆ
เช่นเดียวกันกับการผ่าตัดหัวใจ ในฐานะคนไข้ ผมไม่จำเป็นต้องรับการฝึกฝนจากศัลยแพทย์ หรือยุ่งเกี่ยวอะไรในการผ่าตัดนั้น ผมแค่ต้องการให้หมอผ่าตัดทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น
สำหรับศัลยแพทย์หรือช่างซ่อมรถ (และอีกหลายอาชีพ) ความเป็นผู้นำแบบลำดับขั้น top-down จำเป็นและควรอย่างยิ่งที่ต้องใช้การสั่งการและควบคุม งานที่ยึดโยงกับหน้าที่ (Task-oriented) มักเป็นเช่นนี้ การมีลำดับขั้นและการควบคุมจะทำให้งานออกมาดีที่สุด เมื่อคุณโฟกัสตามหน้าที่และจัดการกับวัตถุซึ่งไม่มีชีวิตเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมา
แต่คริสตจักรนั้นไม่เป็นเช่นนั้น
แล้วทำไมพระเยซูจึงกล่าวว่า เราไม่ควรเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะว่าพระองค์กำลังพูดถึงการนำคริสตจักร ไม่ใช่เครื่องจักร หรือ ผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติงานตามขั้นตอนเท่านั้น คริสตจักรนั้นเป็นงานที่ยึดโยงกับผู้คน (People-oriented) และผู้คนนั้นแตกต่างจากเครื่องมือแพทย์หรือเครื่องมือช่างอย่างมาก
หากเราต้องการเป็นผู้นำแบบที่พระเยซูกล่าวถึง นั่นคือ คนที่สร้างสาวก (คนที่ยอมลงทุนลงแรง พัฒนาและเสริมสร้างให้ผู้คนเป็นผู้นำที่สามารถสร้างผู้นำต่อได้) เราจำเป็นต้องการผู้นำที่มีคุณลักษณะต่างออกไป เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะยึดโยงกับผู้คนมากกว่าตัวงาน
ความเป็นผู้นำแบบ top-down สั่งการและควบคุมนั้น อาจใช้ได้ผลกับอาชีพบางประเภท (ที่ยึดโยงกับงาน) แต่สำหรับการสร้างสาวกแล้วกลับไม่เลย และคนมากมายรับรู้ถึงเรื่องนี้และพยายามแก้ไข “ปัญหา” ของการเป็นผู้นำ top-down CEO/BOSS ด้วยการทำสิ่งที่ “ตรงกันข้าม”
การเป็นผู้นำ “แนวระนาบ” หรือ แบบล่างขึ้นบน ก็ไม่ใช่คำตอบเช่นกัน
เมื่อผู้คนต่างตระหนักว่าโมเดลการเป็นผู้นำแบบ top-down ไม่ใช่สิ่งที่พระเยซูคาดหวัง บ่อยครั้งที่พวกเขาเหวี่ยงตัวเองให้ไปสู่ระนาบความเป็นผู้นำในแบบ “แวดวงของกลุ่มเพื่อน” (โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาถูกทำให้บาดเจ็บจากการเป็นผู้นำแบบ top-down)
หากการนำแบบ top-down เป็นการนำด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ และเป็นกระจกสะท้อนรูปแบบการปกครองเช่นระบอบกษัตริย์แล้ว (หรือในกรณีแย่ที่สุดคือผู้นำเผด็จการ) การเป็นผู้นำแบบ bottom-up ก็มักจะเป็นผู้ที่ต่อต้านการควบคุมอำนาจ และสะท้อนให้เห็นถึงระบบประชาธิปไตยของรัฐ (หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคืออนาธิปไตย คือการไม่มีรัฐบาล)
ในระนาบความคิดเช่นนี้ อำนาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียว แต่ขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก เป็นกฎของเสียงส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ของผู้ทรงอำนาจ)
อำนาจนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับแค่คนเพียงหยิบมือ แต่ถูกกระจายสู่คนจำนวนมาก โดยปกติผู้คนสงสัยและตั้งคำถามเมื่อใครบางคนมีอำนาจมากเกินไป แต่อำนาจที่ถูกกระจายออกจนบางเบานั้น ก็มีต้นทุนที่ต้องแลกมา นั่นคือ ทำให้องค์กรหรือผู้คนหลงทาง เราจึงพบเห็น การสูญเสียนิมิตเป้าหมาย ไร้ทิศทาง เพราะมีหลายเสียงที่อนุญาตให้คุณ “ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ”
ในการลงทุนเพื่อไม่ให้ใครต้องบาดเจ็บและมีความสุขทุกคน ผู้นำแบบ bottom-up จึงมักขาดประสิทธิภาพ ขาดความเห็นพ้องต้องกันในนิมิตเป้าหมายและทิศทาง และต้องประสบกับความไม่อยากผูกพันตัวต่อผู้นำ
ผู้คนซึ่งถูกใช้งานในโมเดลของการเป็นผู้นำแบบ top-down มักจะพึงพอใจในโมเดลแบบ bottom-up การทำให้ทุกคนมีความสุข พึงพอใจ และปลดปล่อยจากความอึดอัดและความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายที่หลบซ่อนอยู่ในการช่วยยึดโยงผู้คนเข้าด้วยกัน
ทำลายกำแพงของมุมมองเพียงแค่ 2 ด้าน: การเป็นผู้นำแบบจากจุดศูนย์กลางออกไป
ในบทความหน้า เราขอนำเสนอตัวเลือกที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ทั้งแบบ top-down หรือ bottom-down แต่คือการเป็นผู้นำแบบจากจุดศูนย์กลางออกไป (Center-out leadership) (ไม่ใช่การเติบโตแบบต้นไทร แต่คล้ายต้นกล้วย)
Center-out leadership หมายถึง การที่อำนาจไม่ได้ถูกใช้เพื่อกดขี่ผู้อื่น หรือไม่ถูกใช้เลย แต่ถูกครอบครองและใช้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
แต่ พวกเราส่วนใหญ่ต่างติดอยู่ในกรอบที่สร้างขึ้น มองเหรียญแค่สองด้าน ทางแยกที่มีให้เลือกแค่ซ้ายหรือขวา การเป็นผู้นำที่มีแค่ top-down หรือ bottom-up เท่านั้น
ทั้ง 2 แนวคิดนี้ไม่ใช่ทั้งคำสอนและแนวปฏิบัติอันสัตย์ซื่อของพระเยซู (ดูลูกา 22 ประกอบ) เราจึงต้องพยายามปรับแต่งความเป็นผู้นำของเราเล็กน้อย เช่น
- เราต้องเป็น ผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ ในโครงสร้างและระนาบความคิดแบบ top-down
- เราต้องเป็น กระบอกเสียงเคียงข้างคนส่วนน้อย เพื่อรักษาสิทธิ์ที่ควรจะได้ของพวกเขาในโครงสร้างแบบ bottom-up
- เราต้องพยายาม ‘วางมือ’ ให้ได้มากที่สุดในโครงสร้างแบบ top-down
- เราต้องมีระบบเลือกผู้นำขององค์กรในโครงสร้างแบบ bottom-up
เราต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า สิ่งที่พระเยซูทรงทำเป็นตัวอย่างและสอนแก่บรรดาสาวกนั้น ไม่ใช่เทคนิคที่อยู่ภายใต้การมองแค่สองทางเลือก เราจำเป็นต้องมีภาพใหม่ เป็นแนวคิดใหม่เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำและสอนพวกสาวก
แต่ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องพิจารณาด้วยประสบการณ์ของเราและวิธีการใช้ชีวิตของเราในระนาบความคิดและโครงสร้างของความเป็นผู้นำที่โลกนี้มี
ลองคิดถึงประสบการณ์ของคุณในองค์กรที่ผ่านมา
- ความเป็นผู้นำแบบไหนที่คุณพบเจอบ่อยที่สุด top-down การนำแบบลำดับขั้น หรือ bottom-up การนำแบบแนวราบ?
- คุณเผชิญความท้าทายหรือความไม่พอใจใดบ้างในองค์กรเหล่านั้น?
- คุณจัดการหรือชดเชยความรู้สึกไม่พอใจเหล่านั้นอย่างไร?
บทความ: 2 Ways We Get Leadership Wrong in the Church
แปล: Yuta
ออกแบบภาพ: JK
Chirapa Niwatapant