เมื่อต้นปีหลายคนคงมีโอกาสได้วางเป้าหมายต่าง เป็น New Year Resolutions ทั้งด้านสุขภาพ การพัฒนาทักษะต่างๆ รวมถึงเป้าชีวิตฝ่ายวิญญาณ เช่น อ่านพระคัมภีร์ให้จบเล่มใน 1 ปี หรือเฝ้าเดี่ยวให้ได้ทุกวัน แต่ไม่ว่าคุณจะวางเป้าหมายอะไรก็ตาม มีอีกหนึ่ง Resolutions สำหรับปี 2021 ที่จะท้าทายหัวใจคุณได้ นั่นคือ “การฝึกฝนการนิ่งสงบในพระเจ้า”
สำหรับคนที่อยากมีชีวิตที่เติบโตลึกในพระเจ้า การฝึกฝนที่จะนิ่งสงบในพระเจ้านั้นเป็นเรื่องที่ขอผ่านไม่ได้ มันควรเป็นประสบการณ์ที่คุณต้องมีในทุกช่วงของชีวิต แต่ปัญหาที่หลายคนเจอก็คือ พวกเขาแทบไม่รู้เลยว่า การนิ่งสงบจะต้องทำยังไง ขณะเดียวกันที่ก็ไม่ได้จัดเวลาให้พระเจ้ามากพอสำหรับเรื่องนี้ พูดอีกอย่างคือ มีเรื่องอื่นที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่า
การนิ่งสงบคืออะไร?
จงนิ่งสงบและรู้ว่าเราเป็นพระเจ้า… – สดุดี 46:10 TNCV
บริบทก่อนหน้าของข้อนี้คือ การสู้รบ ฉะนั้นดาวิดจึงไม่ต่างจากโลกของเราที่มีแต่การต่อสู้ การแข่งขัน เราต้องเอาตัวรอด หากจะอยู่ต่อไปให้ได้
คำว่า “จงนิ่งสงบ” หมายถึง หยุดดิ้นรน หรือ หยุดต่อสู้ หยุดปั่นป่วนภายใน จนทำให้การแสวงหาในตัวเราสับสน ยิ่งเราดิ้นรนต่อสู้ ก็ยิ่งไม่มีความนิ่งสงบ ไม่มีการพักสงบในจิตใจ เราจึงพยายามหาทางหลุดจากความสับสนภายในนี้ด้วย “การควบคุม” ทุกสิ่งรอบตัวให้ได้ เราจึงทุ่มเทเพื่อคอนโทรลสิ่งรอบตัวให้เป็นไปตามที่เราคิด เราจึงเริ่มวิ่งนำหน้าพระเจ้า และท้ายที่สุดเมื่อเราพบความจริงว่า เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ จิตใจเราเลยยิ่งสับสนและปั่นปวน
เราจึงควรกลับมานิ่งสงบ คนเรามักเรียนรู้การหยุดพักเพื่อทำงาน แต่ความนิ่งสงบจะทำให้คุณพบการทำงานจากการหยุดพักได้ เพราะในเวลาที่เรานิ่ง จิตใจเราจะสงบจากการต่อสู้ดิ้นรน จากความกังวล จากความรู้สึกในทางลบ
วัตถุประสงค์ของการนิ่งสงบ คือ การรู้จักพระเจ้า รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ควบคุมทุกสิ่ง และเป็นพระเจ้าผู้ทรงใส่ใจเรา ฉะนั้นการนิ่งสงบ จึงไม่ใช่การหลับตานั่งนิ่งๆ ผ่อนคลาย ทำใจให้ว่าง เพื่อจะไม่คิดอะไรทั้งนั้น แต่การนิ่งสงบช่วยให้เราจดจ่อ ยอมจำนน และรอคอยพระองค์
จิตใจของข้าพเจ้าสงบคอยพระเจ้าเท่านั้น เพราะความหวังของข้าพเจ้ามาจากพระองค์ – สดุดี 62:5
ข้อแนะนำที่รวบรวมมาเพื่อช่วยเป็นแนวทางเบื้องต้นให้เราฝึกฝนการนิ่งสงบในพระเจ้าได้
1. เตรียมพื้นที่ใจคุณ
“เราไม่อาจทำให้พระเจ้าสำแดงได้ เราทำได้เพียงแค่เตรียมพื้นที่ของใจให้พระเจ้าสำแดง” ทุกวันจิตใจเราแบกรับเรื่องราวต่างๆ เข้ามามากมาย ผู้คน การงาน ฯลฯ จนเราแทบไม่มีพื้นที่เหลือให้พระเจ้าเข้ามา นี่คือเหตุผลว่าทำไม เราจึงควรจัดเวลาเข้ามาแสวงหาพระเจ้าในแต่ละวันอย่างเหมาะสม
เคร็ก กรเชล กล่าวว่า “ตัวตนคุณคือส่วนผสมระหว่างสิ่งที่คุณสร้างขึ้นกับสิ่งที่คุณอนุญาตให้มันเข้ามา” ในขณะที่การจัดเวลาเข้าหาพระเจ้าจะช่วยเพิ่มพื้นที่ของจิตใจ การจัดการลดเวลากับสิ่งที่ไร้ประโยชน์ก็ช่วยเพิ่มพื้นที่ได้เช่นกัน ขจัดสิ่งรบกวนเพราะพื้นที่จิตใจเรามีจำกัด คุณจำเป็นต้องเลือกว่า จะให้อะไรอยู่ในใจของคุณ
2. พลังของความสม่ำเสมอที่สดใหม่
มีคำกล่าวว่า “ในขณะที่คนอื่นทำแค่ครั้งคราว คนที่สำเร็จจะทำอย่างสม่ำเสมอ” การฝึกให้ตัวเรานิ่งสงบในพระเจ้าต้องอาศัยความต่อเนื่อง เพื่อสร้างความคุ้นเคย จากสถิติพบว่าเป้าหมายต้นปีของคนส่วนใหญ่จะหมดอายุลงตั้งแต่ยังไม่เข้าเดือนกุมภาพันธ์เลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นหากรักษาความมุ่งมั่นได้สัก 1 เดือนขึ้นไป ความสม่ำเสมอก็คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
ขณะเดียวกัน ความสม่ำเสมออาจกลายเป็นความจำเจน่าเบื่อได้ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างความสดใหม่ให้กับช่วงเวลาที่คุณเข้ามานิ่งสงบในพระเจ้า ไม่มีกฎตายตัวว่าทุกวันคุณต้องอธิษฐานแบบนี้ อ่านพระคัมภีร์ตามนี้ หรือต้องเริ่มต้นด้วยการร้องเพลงอย่างน้อย 2 เพลงก่อน ฯลฯ
ข้อแนะนำคือ อย่ายึดติดกับรูปแบบเกินไป ปรับเปลี่ยนแนวทางการพบพระเจ้าให้เหมาะกับคุณในแต่ละช่วงเวลา หาไอเดียใหม่ๆ จากพี่น้องในกลุ่มย่อย แต่ขณะเดียวกันก็อย่าให้เป้าหลักถูกไขว้เขว่ด้วยความพยายามจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ตลอดเวลา ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องหลัก ความสดใหม่เป็นส่วนเสริม
3. รับมือกับความเร่งรีบและความเหนื่อยล้า
โทมัส เคลลี่ เขียนในหนังสือของเขาว่า “ชีวิตที่ทันสมัยของเราในเมืองสมัยใหม่มีความซับซ้อนและแออัดเกินไป ช่วงเวลาสำหรับความเงียบสงบอย่างล้ำลึกของจิตใจดูเหมือนจะมีน้อยมาก ด้วยความรู้สึกผิด เราต้องเลื่อนชีวิตที่มุ่งมั่นจะลึกขึ้นในการทรงสถิตของพระเจ้าออกไปเป็นสัปดาห์หน้า แต่เพราะว่าสัปดาห์นี้เรายุ่งเกินไป” (หนังสือบ่มเพาะชีวิตภายใน, หน้า )
อย่ามองว่าสังคมเร่งรีบจนเราต้องเร่งเครื่องตาม การพยายามมี lifestyle ให้เท่าเทียมคนอื่น ทำให้คุณจำเป็นต้องหารายได้มากขึ้น วิถีบริโภคนิยมแย่งเวลาและความจดจ่อของคุณไป ไม่ผิดที่จะทำงานหนัก แต่ผิดเมื่อทำงานหนักโดยปราศจากจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง
อย่าโหมงานจนอ่อนล้าเพื่อจะเป็นคนมั่งมี จงฉลาดพอที่จะหยุดพัก – สุภาษิต 23:4
นอกจากนี้เรามักพบความย้อนแย้นของการทำงานหนักจนอ่อนล้า คือการหยุดพักที่ไม่ได้พัก นั่นคือ เรามักหยุดพักด้วยการหาทำกิจกรรมที่บั่นทอนพลังกายและจุดมุ่งหมายของเราไปเสีย วาระหยุดพักที่ควรเติมพลัง กลับดูดพลังชีวิตเรามากขึ้น ฉะนั้นกลับมาพิจารณาดูว่ากิจกรรมที่คุณเลือกทำเพื่อผ่อนคลายตัวเองนั้น ได้ช่วยเติมพลังให้ร่างกายจิตใจ และยังรักษาจุดมุ่งหมายให้ชีวิตคุณจริงๆ อยู่หรือไม่
4. เชื่อฟัง = ฟัง + ทำตาม
”พระพรยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวข้องกับความสงบนิ่งคือ เราสามารถได้ยินถึงนิรันดร์กาล นั่นคือเสียงของพระเจ้าผู้เป็นนิรันดร์ เมื่อพระองค์ทรงตรัสในจิตใจเรา” Ole Hallesby, Norwegian Theologian
คริสเตียนแทบทุกคนจึงคาดหวังจะได้ยินเสียงพระเจ้า แต่เราจำเป็นต้องถามตัวเองด้วยว่า ต้องการได้ยินเสียงพระเจ้าไปเพื่ออะไร? ถ้าไม่ใช่เพื่อจะเชื่อฟังและทำตาม การเชื่อฟังสะท้อนว่าพระเจ้าเป็นที่หนึ่ง สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดในชีวิต หากพระเจ้าไม่ใช่ที่หนึ่งในชีวิตเรา มันเหมือนเรากำลังบอกว่า ข้าพระองค์ไม่ต้องการฟังพระองค์ แต่พระองค์ต่างหากที่ต้องฟังข้าพระองค์
—————————-
เมื่อคุณเติบโตขึ้นในการเรียนรู้ที่จะนิ่งสงบในพระเจ้า ตลอดทั้งวันของคุณจะรับมือกับความวุ่นวายในจิตใจได้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเวลาเจาะจงที่คุณเข้ามาหาพระเจ้าเท่านั้น
ข้าแต่พระยาห์เวห์ ใจของข้าพระองค์มิได้เห่อเหิม และตาของข้าพระองค์มิได้ยโส ข้าพระองค์มิได้ไปยุ่งกับเรื่องใหญ่โต หรือเรื่องอัศจรรย์เกินตัวของข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ได้สงบและระงับจิตใจของข้าพระองค์ อย่างเด็กที่หย่านมแล้วสงบอยู่ที่อกมารดาของตน จิตใจของข้าพระองค์สงบอยู่ภายในข้าพระองค์ อย่างเด็กที่หย่านมแล้ว – สดุดี 131:1-2
อ้างอิง
- คำเทศนา “อยู่ในการทรงสถิต” (สดุดี 27:1-14), ศจ.ทนนท์
- หนังสือ บ่มเพาะชีวิตภายใน ของ ศจ.เอ็ดมันด์ชาน
- บทความ Be still and know that I am God, John Piper
บทความ: JK
ออกแบบภาพ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น