บทความ

“7 สิ่งที่เรียนรู้ในปี 2022” – ดร.อาณัติ เป้าทอง –

"7 สิ่งที่เรียนรู้ในปี 2022" - ดร.อาณัติ เป้าทอง -

ตลอด 1 ปีที่ผ่าน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ และเมื่อพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็จะพบข้อคิดดี ๆ ซ่อนอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อทางทีมงาน Christlike ติดต่อมาให้เขียนข้อคิดเหมือนปีที่ผ่านมา จึงรู้สึกพร้อมและเต็มใจอย่างมากที่จะแบ่งปันข้อคิดเหล่านั้น ซึ่งผมขอเขียนในรูปแบบเดียวกับปีที่แล้ว โดยแบ่งข้อคิดออกเป็น 7 บทบาทด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. บทบาทคริสเตียน – การเป็นแบบอย่างนั้นยั่งยืน แต่การสร้างภาพนั้นชั่วคราว

ในปีที่ผ่านมา วงการคริสเตียนไทยมีกระแสดราม่าอันหนึ่ง เกี่ยวกับ “การรับปริญญาเอกของผู้รับใช้” โดยฝั่งที่เห็นด้วยมองว่า การรับปริญญาเอกมีประโยชน์ในด้าน “การเป็นแบบอย่าง” ที่ดีให้กับผู้รับใช้ท่านอื่นให้เห็นคุณค่าในการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า แต่ในขณะที่ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ปริญญาเอกนั้นยังไม่ได้รับวิทยาฐานะจากทางประเทศไทย จึงเข้าข่าย “การสร้างภาพ” ซึ่งผมได้เสนอความคิดในประเด็นนี้ไปบ้างแล้ว จึงไม่ขอลงรายละเอียด ณ ตรงนี้

แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าก็คือ “การเป็นแบบอย่าง กับ การสร้างภาพ” มีความแตกต่างกันอย่างไร โดยคำจำกัดความส่วนตัวของผม คือ

(1) การเป็นแบบอย่าง คือ การทำให้คนอื่นรับรู้ในสิ่งดีของเรา ที่เราเป็น (และยังคงเป็นอยู่)

(2) การสร้างภาพ คือ การทำให้คนอื่นรับรู้ในสิ่งดีของเรา แต่เราไม่ได้เป็น (หรือยังไม่ได้เป็น)

เนื่องจาก “การเป็นแบบอย่าง” เป็นการนำเสนอในสิ่งที่ “เราเป็น” ดังนั้นย่อมมีความยั่งยืน ในขณะที่ “การสร้างภาพ” เป็นการนำเสนอในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ชั่วคราว และสุดท้ายคนอื่นก็จะรับรู้ว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น
ในปีที่ผ่านมา ผมได้ข้อคิดว่าหากเราต้องการให้คนอื่นรับรู้ใน “สิ่งที่ดีของเรา” ก็ควรเริ่มจาก “เราเป็นแบบนั้นจริง ๆ เสียก่อน” อย่าสร้างภาพว่าเราเป็นแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นการหลอกลวงคนอื่นแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างแรงกดดันให้ตัวเองด้วย ต้องคอย “รักษาภาพ” ที่ตัวเองได้สร้างเอาไว้ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น คริสเตียนโดยทั่วไปตระหนักว่าการอธิษฐานเป็นสิ่งที่ดี หากเราอยาก “เป็นแบบอย่าง” ให้กับคนอื่นในด้านการอธิษฐาน ก็ต้องเริ่มต้นจากเราเป็นนักอธิษฐานก่อน แต่หากเราไม่ชอบการอธิษฐาน อย่าไปสร้างภาพว่าเราชอบการอธิษฐาน แต่ควรสื่อสารแบบตรงไปตรงมาว่า “การอธิษฐานเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมยังต้องปรับปรุงในด้านนี้” เราควรตรงไปตรงมากับจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา โดยที่เราสามาถใช้จุดแข็งของเรา “เป็นแบบอย่าง” ให้กับคนอื่น แต่อย่าปกปิดจุดอ่อนของเราด้วย “การสร้างภาพ”

2. บทบาทลูก – ความเสียใจบางอย่างสามารถกระโดดข้ามกำแพงแห่งการเตรียมใจได้

“การจากไปของคุณพ่อ” เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจผมมากที่สุดในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีสัญญาณอย่างน้อย 3 ครั้งที่เกิดกับท่าน คือ

(1) ระดับน้ำตาลต่ำมากจนช็อค (2) ติดโควิด และ (3) จักรยานยนต์ล้มแล้วหัวฟาดพื้น จนเลือดคั่งในสมอง ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นไล่ ๆ กัน จนผมได้เตรียมใจในระดับหนึ่งว่า “เวลาของคุณพ่อน่าจะใกล้เข้ามาแล้ว”

จนกระทั่งกลางดึกของวันที่ 21 กรกฎาคม พี่สาวโทรมาบอกว่า “พ่อเสียแล้วนะ” แล้วก็วางสายไป ซึ่งเป็นคำพูดสั้น ๆ แต่มีพลังการทำลายรุนแรง และเป็นระดับที่คาดไม่ถึงว่าจะรุนแรงขนาดนี้ ในคืนนั้นความทรงจำต่าง ๆ ที่มีกับคุณพ่อลอยมาจากไหนไม่รู้ตั้งมากมาย โดยเฉพาะในวันที่เผาศพ ที่ได้เห็นหน้าคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย มันเป็นระดับความเสียใจที่พุ่งสูงมากจริง ๆ

ผมได้ข้อคิดอย่างน้อย 2 อย่าง คือ (1) แม้ว่าผมจะคาดการณ์เอาไว้บ้างแล้ว, เตรียมใจมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่บางครั้งความสูญเสียก็ยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันยังคงสร้างความเสียใจ สร้างความเจ็บปวดในใจของเราได้ และ (2) การใช้เหตุผลไม่สามารถเอาชนะความเสียใจในระดับนี้ได้ แต่ความรักและความอบอุ่นจากคนรอบข้างกลับช่วยประคองความเสียใจนี้ได้ดี

3. บทบาทผู้เลี้ยง – ความเติบโตของนักเรียน เป็นผลตอบแทนชั้นยอดของผู้สอน

ผมอยากจะเล่าถึงน้องคนหนึ่งที่ชื่อว่า “ทราย” ผมได้รู้จักน้องคนนี้ตั้งแต่ปี 2012 ในความสัมพันธ์แบบ “นายจ้าง-ลูกจ้าง” เรามีโอกาสได้พูดคุยกันบ้างเกี่ยวกับความหมายของชีวิต, ความเชื่อทางศาสนา และอีกหลายประเด็น โดยสิ่งที่ผมเห็นคือ “ศักยภาพ” กล่าวคือ น้องคนนี้มีความคิดและลักษณะชีวิตที่ดี หากมาเป็นคริสเตียนและทีมงานในคริสตจักรก็คงจะดีไม่น้อย และแล้วพระเจ้าตอบคำอธิษฐาน โดยในปี 2018 เธอก็กลายมาเป็น “พี่น้องในพระคริสต์” และเป็นทีมงานสำคัญคนหนึ่งในคริสตจักร

จนกระทั่งวันเวลาแห่งการทดสอบก็มาถึง โดยต้นปีที่ผ่านมา ผมได้รับรู้ว่าเธอเป็น “มะเร็ง” และเธอต้องเข้ารับการรักษาตลอดทั้งปี ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น คีโม, ผ่าตัด

ผมตระหนักว่าเธอต้องผ่านความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในหลาย ๆ มิติ เช่น สภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป, สภาพจิตใจที่ต้องต่อสู้ มีอยู่หลายร้อยคำที่อยากจะหนุนใจ แต่ก็ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร โดยสุดท้ายน้องทรายได้ทำให้ผมเป็น “ศักยภาพ” ที่ซ่อนอยู่นั้น

โดยน้องทรายได้พูดหลายประโยคที่น่าประทับใจมาก เช่น “พระเจ้าให้ทราย เจอสิ่งนี้เพื่อสร้างความเชื่อให้กับพี่น้องในคริสตจักร” หรือ “อย่ากระวนกระวายในสิ่งใด ๆ เลย แต่จงทูลพระเจ้าให้ทรงทราบทุกสิ่งที่พวกท่านขอ โดยการอธิษฐานและการวิงวอน พร้อมกับการขอบพระคุณ”

ในฐานะผู้สอน ผมคิดว่า ลูกศิษย์ไม่จำเป็นต้องมาตอบแทนด้วยความรัก, ไม่จำเป็นต้องมาตอบแทนด้วยของขวัญใด ๆ แต่การตอบแทนที่ผมอยากได้มากที่สุด ก็คือ “การเติบโตอย่างดงามของลูกศิษย์” ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่เป็นกำลังใจให้ผมอย่างมาก ผมจะดีใจทุกครั้งที่ได้รับรู้ว่า ชีวิตและคำสอนของผมได้มีอิทธิพลบางส่วนให้ลูกศิษย์คนนั้นเติบโต

4. บทบาทของศิษยาภิบาล – บางอวัยวะมีบทบาทมาก แต่ไม่โดดเด่น

มีอีกหนึ่งคนในคริสตจักรที่ผมอยากพูดถึง คือ “เฮียบุ้ง” เฮียบุ้งเป็นทีมงานในคริสตจักรอีกคนที่ทำงานเบื้องหลังมาโดยตลอด เขาคอยควบคุมระบบออนไลน์, ระบบการเงิน ของทั้งคริสตจักร

โดยตลอด 4 ปี เราแทบจะไม่เห็นเฮียขึ้นเวทีเลย แต่จะเห็นเขานั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกวันอาทิตย์ โดยคนทั่วไปอาจจะเห็นพิธีกร, ผู้นำนมัสการ, นักดนตรี, นักเทศน์ แต่แทบไม่เคยมีใครรู้จักเฮียบุ้งเลย

ในพระคัมภีร์ได้เปรียบเทียบผู้เชื่อเหมือนกับอวัยวะในร่างกายเดียวกัน ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเราพิจารณาอวัยวะในร่างกาย เราจะพบว่าบางอวัยวะมีบทบาทมาก แต่ไม่โดดเด่นเลย เช่น หัวใจ สมอง ในขณะที่บางอวัยวะมีบทบาทน้อยกว่า แต่มีความโดดเด่นกว่ามาก เช่น เส้นผม, คิ้ว, เล็บ ซึ่งในปัจจุบัน จะพบว่าเราสนใจและดูแลทรงผม, ทาเล็บ มากกว่า จังหวะการเต้นหัวใจ, การทำงานของคลื่นสมอง ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า อวัยวะแต่ละชิ้นจะมีบทบาทและความโดดเด่นที่แตกต่างกัน

ในฐานะศิษยาภิบาล เราควรตระหนักว่าทีมงานหรือสมาชิกกำลังเป็นอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย โดยเฉพาะทีมงานที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง เราต้องคอยให้กำลังใจพวกเขาเสมอ ต้องคอยบอกพวกเขาว่าพวกเขามีคุณค่าและตอกย้ำถึงความสำคัญของบทบาทของอวัยวะนั้นเสมอ เพื่อไม่ให้อวัยวะนั้นท้อใจ อย่าวัดความสำเร็จของอวัยวะด้วยความโดดเด่นเพียงอย่างเดียว เพราะว่า บางอวัยวะแค่ไม่หยุดทำหน้าที่ของมัน ก็ถือว่ามีคุณค่ามากเพียงพอแล้ว

5. บทบาทนักเขียน – เขียนด้วยความจริงใจ ให้ในสิ่งที่ตรงไปตรงมา

ในปีที่ผ่านมา ผมได้รับการติดต่อจากทีมงาน Christlike ให้เขียนบทความเกี่ยวกับ LGBTQ+ ซึ่งในตอนแรกผมปฏิเสธไปด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการคือ (1) ยังเสียใจกับการจากไปคุณพ่อและไม่มีพลังเพียงพอที่จะเขียนอะไรออกมาได้ (2) เป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยมีความชำนาญเท่าไรนัก และ (3) กลัวทัวร์ลง เพราะว่า หากเขียนไปทางซ้าย ก็จะโดนทัวร์จากทางขวา, หากเขียนทางขวา ก็จะโดนทัวร์จากทางซ้าย แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยอมแพ้การตื้ออย่างมีประสิทธิภาพของทางทีมงาน และก็ตอบตกลงไป

ปัญหาประการที่ 1 ถือว่าเป็นปัญหาส่วนตัวที่ยังอยู่ในวิสัยที่น่าจะจัดการได้

ส่วนปัญหาประการที่ 2 ก็จัดการได้ด้วยการค้นคว้าและอ่านเพิ่มเติม

แต่ปัญหาประการที่ 3 ถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่ผมควบคุมไม่ได้ และมีความกังวลพอสมควร

หลังจากผมใช้เวลาพอสมควรในการค้นคว้าเกี่ยวกับประเด็น LGBTQ+ ผมพบว่าแนวคิดในเรื่องนี้มีความหลากหลายตามที่คาดการณ์เอาไว้ จึงตัดสินใจที่จะเขียนสรุปสิ่งที่ค้นคว้ามาทั้งหมด แบบตรงไปตรงมา กล่าวคือ อ่านเจออะไรก็เขียนออกมาแบบนั้น และพยายามที่จะไม่ใส่ความคิดของตัวเองลงไป และเสร็จสิ้นกลายเป็น Term Paper ฉบับสั้น ๆ 14 หน้า

หลังจากที่เผยแพร่บทความนี้ กระแสตอบรับค่อนข้างดีจากหลาย ๆ คน ผมจึงได้ข้อคิดว่า การนำเสนองานสู่สาธารณะเราต้องนำประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง อย่าเอาประโยชน์หรือความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้ง กล่าวคือ เราควรนำเสนองานด้วย (1) “ความจริงใจ” ไม่มีผลประโยชน์ของตัวเองเบื้องหลัง และ (2) “ตรงไปตรงมา” คือสรุปเนื้อหาที่เราค้นคว้าอย่างครบถ้วน จึงเป็นงานเขียนที่เคารพทั้งตัวเราเอง และ เคารพผู้อ่าน อย่างแท้จริง

6. บทบาทแอดมินเพจ – เปิดประตูแห่งการทรงเรียก

สิ่งที่คริสเตียนหลายคนมักจะถามตัวเอง คือ “เราเกิดมาทำไม” “อะไรคือวัตถุประสงค์ของพระเจ้าในการสร้างเรา” หรือ ศัพท์เทคนิคที่คริสเตียนใช้โดยทั่วไป คือ “การทรงเรียก” โดนส่วนตัวผมมีดัชนีง่าย ๆ อยู่ 4 อย่าง เพื่อพิจารณาว่า สิ่งที่เราทำเป็นการทรงเรียกไหม

(1) เรามีของประทานหรือความสามารถในด้านนั้นไหม, (2) เรารู้สึกมีความสุขเมื่อได้ทำสิ่งนั้นไหม, (3) คนที่เกี่ยวข้องชื่นชอบเมื่อเราทำสิ่งนั้นไหม, และ (4) มีสัญญาณการรับรองจากพระเจ้าเมื่อเราทำสิ่งนั้นไหม

โดยส่วนตัว การทรงเรียกค่อย ๆ ชัดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งหลังจากที่เรียนจบจาก Biola ความมั่นใจในการทรงเรียกจากพระเจ้าเริ่มชัดเจนมากขึ้น นั่นคือ การแบ่งปันและถ่ายทอด “การปกป้องความเชื่อ” ให้กับคริสเตียนไทย แต่ปัญหาคือ ผมไม่รู้ว่า “จะเริ่มตรงไหน”

เพราะว่า ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ แต่หลังจากกระแสตอบรับที่ดีของบทความ LGBTQ+ ผมจึงเริ่มเขียนบทความสั้น ๆ ลงหน้า Facebook ของตัวเอง จนได้เสียงสนับสนุนจากคนรอบข้างว่า ให้ลองแบ่งปันสิ่งเหล่านี้แบบจริงจังในโลกออนไลน์ และก็ขอบคุณพระเจ้าที่ส่ง “น้องแป้ง” มาเป็นทีมงานหลังบ้าน เข้ามาช่วยจัดการด้านการบริหารและเทคนิคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และต้องขอขอบคุณเอาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ข้อคิดที่ได้ คือ พระเจ้าจะใช้เวลาและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการขัดเกลาเราในหลายมิติเช่น ความสามารถ, ลักษณะนิสัย, ผู้อุปถัมภ์, จนกระทั่ง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมพระเจ้าจะช่วยเราในการเปิดประตูแห่งการทรงเรียก ซึ่งในกรณีของผมเพจ “ปกป้องความคริสต์ โดย อาณัติ เป้าทอง” เป็นประตูบานนั้น และเมื่อพิจารณาดัชนีทั้ง 4 ข้างต้น ผมพบว่า “ผมเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ”

7. บทบาทสามี – มีบ้านให้กลับ และ มีภรรยาให้กอด

ปีที่ผ่านมา เจอปัญหาหนัก ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การจากไปของคุณพ่อ, ปัญหาส่วนตัว, ปัญหาภายในคริสตจักร, ปัญหาธุรกิจ และ อีกมากมาย ซึ่งปัญหาในแต่ละครั้งผมจะมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันออกไป แต่มีอยู่ 1 อย่างที่ผมใช้ทุกครั้งในการเจอปัญหา นั่นคือ “การกอดภรรยา”

โดยผมพบว่า “การกอดภรรยา” เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่น่าสนใจ ผมรู้สึกว่าปัญหาหรือความไม่สบายใจต่าง ๆ มันระเหิดระเหยออกไปจากตัวเอง โดยที่เธอไม่ต้องพูดอะไร ไม่ต้องหนุนใจอะไร แค่กอดฉันเอาไว้ก็เพียงพอ นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเองก็ไม่สามารถอธิบายโดยใช้เหตุผลได้ รู้แต่เพียงว่ามันได้ผลแฮะ ขอบคุณพระเจ้าที่มีภรรยาให้กอด และขอสนับสนุนให้สามีทุกคนกอดภรรยาทุกวันนะครับ

ขอให้ปี 2023 ไม่เป็นเพียง “ความใหม่ของปี” แต่ให้เป็น “ความใหม่ของชีวิตเรา” ด้วยนะครับ
ขอพระเจ้าอวยพระพร

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง