ผู้นำ 3 ทั้งสไตล์ต่อไปนี้ รักพระเจ้า อยากเห็นคนเติบโต อยากเห็นคริสตจักรขยายออกไป แต่สไตล์การนำมาจากตัวตน มาจากเป้าหมายองค์กร หรือมาจากการตระหนักในจริยธรรมในทางพระเจ้า ให้เราลองมาพิจารณากันอย่างใจเปิดครับ
ผู้นำสไตล์ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จด้วยความหวังดี (Benevolent Dictator)
ถอยไปสัก 20 ปี ผู้นำคริสตจักรไทยมักมีสไตล์แบบนี้กัน คือเป็นผู้นำสไตล์พ่อรักพระเจ้า พ่อรู้ดีทุกอย่าง ใครไม่เห็นด้วยก็โกรธ ต่อว่า เกรี้ยวกราดใส่ อ้างความเป็นผู้นำเพื่อปิดปากไม่ให้พูดต่อ
ผู้นำแบบนี้จะคิดเองตัดสินใจเองทั้งหมดแม้จะมีทีมงานรอบข้างก็ตาม ส่วนทีมก็จะเป็นสไตล์ต้องเห็นด้วยแบบ yes man ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ คริสตจักรไทยช่วงหนึ่งจึงเปราะบาง แตกหักง่าย ผู้นำรุ่นนั้นก็สั่งและไม่ฟังความเห็นใคร คนอยู่ได้ก็ต้องทน คนอยู่ไม่ได้ก็ย้ายหนีไป
หลักที่มักถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาใช้ความรุนแรงกับสมาชิกได้คือหลักสิทธิอำนาจ และข้อพระคัมภีร์ที่ยิ่งทำให้มั่นใจ เช่น
- คำพยานของเขาเป็นความจริง เพราะฉะนั้นท่านจงว่ากล่าวเขาให้แรงๆ เพื่อให้พวกเขามีความเชื่อที่ถูกต้อง (ทิตัส 1:13)
- จงใช้ข้อความข้างบนนี้พูด เตือนสติและตักเตือนพวกเขาด้วยอำนาจอย่างเต็มที่ อย่าให้ใครสบประมาทท่านได้ (ทิตัส 2:15)
ซึ่งหากเราศึกษาตามบริบทในตอนนี้แล้วเราจะพบว่าการเตือนตอนนี้หมายถึงการเตือนตามหลักคำสอนที่ถูกต้องและเพื่อให้กลับมาอยู่ในหลักของพระคัมภีร์ “ฝ่ายท่านจงสั่งสอนให้สอดคล้องกับคำสอนอันมีหลัก” (ทิตัส 2:1)
มากกว่านั้น เปาโลแนะนำทิตัสในบริบทเจาะจงเกี่ยวข้องกับ “เรื่องการแพร่คำสอนเท็จ” ซึ่งกำลังส่งผลเสียต่อคนในคริสตจักรครีตดังจะเห็นได้จากบริบทแวดล้อมในข้อ 9–12 และ 14 ดังนั้นก็จะไม่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช่ในบริบทอื่นๆ แต่อย่างใด
การเตือนควรพิจารณาท่าทีและเรื่องที่เตือนด้วย ท่าทีคือเตือนด้วยความรักแม้ว่าจะเตือนอย่างหนักแน่นก็ตาม ส่วนเรื่องที่เตือนก็หลากหลายตามสถานการณ์แต่ต้องเป็นเรื่องที่เสริมสร้างชีวิตผู้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เขาไม่ตามใจเรา
ปัจจุบันผู้นำสไตล์นี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะสมาชิกไม่ตามผู้นำที่สั่งห้วนๆ เจ้าอารมณ์ แต่ผู้คนจะติดตามผู้นำที่สอน รับฟังด้วยใจจริง และสนับสนุนเขาให้เติบโตในทางพระเจ้า
ผู้นำสไตล์แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Transactional Leader)
เราอาจคิดไม่ถึงว่าผู้นำคริสตจักรจะมีแบบนี้ด้วย ผู้นำสไตล์นี้จะนำองค์กรด้วยวิธีสัญญาที่จะให้ โดยยื่นข้อเสนอที่ผู้ตามอยากได้รับ หากผู้ตามทำตามที่เขาขอ เราอาจฟังดูไม่มีอันตรายเพราะแค่ทำตามแล้วได้สิ่งต่างๆ มาตามสัญญา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่องานพระเจ้าก็ได้ เช่น เปลี่ยนหลังคาโบสถ์ให้ ซ่อมรั้ว ทาสี เปลี่ยนเครื่องเสียง ติดตั้งจอทีวีขนาดใหญ่ ฯลฯ
แต่เมื่อนำมาใช้ในองค์กร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “การกระจุกตัวของผู้ต่อรองผลประโยชน์” เพราะผู้ต่อรองผลประโยชน์จะไม่ยอมให้ใครขึ้นมาเพื่อรับเอาผลประโยชน์จากการต่างตอบแทนที่เขาได้รับได้
ระบบคริสตจักรในลักษณะองค์กรมีความเสี่ยงในจุดนี้มาก และหากละเลยจะกลายเป็นระบบอุปถัมภ์ที่สร้างปัญหามากมายในสังคมไทย อย่างไรก็ตามหากมองดูความเป็นไปได้มากที่สุด ระบบนี้สามารถเกิดขึ้นง่ายที่สุดกับองค์กรคริสเตียนไทยมากกว่าระบบอื่นๆ
นำแบบต่างตอบแทน สบายใจ แต่ไม่ใช่น้ำพระทัยพระเจ้า
ผู้นำสไตล์สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนชีวิต (Transformational Leader)
นี่ควรเป็นรูปแบบการนำของผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งจะเน้นการนำเพื่อประโยชน์ของสมาชิก และเน้นที่คุณค่าของการติดตามพระคริสต์ มากกว่าสั่งโดยไม่ให้เหตุผลหรือไม่รับฟัง หรือพยายามแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์ต่างๆ
ผู้นำสไตล์สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนชีวิตนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตตามหลักพระคัมภีร์ เน้นคุณค่าในการติดตามพระเจ้าจนผู้ตามเกิดความศรัทธาทั้งตัวผู้นำและพระวจนะ
การเป็นแบบอย่างชีวิตในทางพระเจ้า
ของผู้นำสไตล์ Transformational Leader
เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
มากกว่านั้น ในการนำยังต้องนำในลักษณะ Servant Leadership คือนำแบบรับใช้พี่น้องไปด้วยกัน เหมือนพระเยซูที่ทรงล้างเท้าสาวก ไม่ถือว่าตัวเองมีคุณค่าเหนือผู้อื่น ถ่อมใจต่อพระเจ้าแต่นำอย่างหนักแน่นเพื่อให้พระวจนะและแบบอย่างชีวิตเปลี่ยนแปลงสมาชิกให้ตามพระเจ้ามากขึ้น
พระคัมภีร์เคยเขียนเตือนเรื่องนี้ไว้สำหรับผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณ
น่าคิดนะครับพี่น้อง
บทความ: กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ: Gez Xavier Mansfield on Unsplash
ออกแบบ: rainniedesign
อ้างอิง
[1] Baczek, Kamila. Effective Leadership in Thailand: Exploratory Factor Analysis of Creativity, Need for Achievement, Emotional Intelligence, and Diversity.LSE Asia Research Centre ‐ Thailand Government Scholar, 2013.
[2] Cooper, Michael. The Transformational Leadership of the Apostle Paul. Christian Education Journal, Spring 2005.
[3] McKinley, David. Servant Leadership. Bangkok: AGST Alliance & BBS, 2018.
[4] Research in Thai church leadership model. Types of Effective Leaders, 2018.
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น