บทความนี้เหมาะกับใคร
- ถ้าคุณพ่อคุณแม่ที่อยากพาลูกกลับมาโบสถ์ หรือเป็นคนที่อยากพาเพื่อนกลับมาโบสถ์ด้วยกัน ลองอ่านบทความนี้และขอพระเจ้าเปิดทางให้เราเห็นว่าเราควรจะทำอะไรต่อไป
- ถ้าคุณเป็นผู้นำโบสถ์ที่อยากจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ยังไปโบสถ์และติดสนิทกับพระเจ้า ลองอ่านบทความนี้ดูและพิจารณาดูว่าคุณจะทำอะไรกับโบสถ์เพื่อช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ได้บ้าง
- ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ได้ไปโบสถ์แล้ว หรือกำลังคิดว่าจะเลิกไปโบสถ์ ลองอ่านบทความนี้ดูครับ คุณไม่ต้องทำอะไร แต่เรามีเรื่องอยากบอก
Part I: 4 เรื่องที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลิกไปโบสถ์
- ตอนที่ 1: สาเหตุจากเพื่อน
- ตอนที่ 2: สาเหตุจากพ่อแม่
- ตอนที่ 3: สาเหตุจากผู้นำโบสถ์
- ตอนที่ 4: สาเหตุจากการหยั่งราก
Part II: เราจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร
- ตอนที่ 5: เพื่อนกันเองทำอะไรได้บ้าง
- ตอนที่ 6: พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง
- ตอนที่ 7: ผู้นำโบสถ์ทำอะไรได้บ้าง
- ตอนที่ 8: สำหรับคนที่ไม่ได้ไปโบสถ์แล้ว คุณไม่ต้องทำอะไร แต่เรามีเรื่องอยากบอก
เราน่าจะเคยได้ยินข้อพระคัมภีร์จากสุภาษิต 22:6 ที่บอกว่า
“จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาจะไม่พรากจากทางนั้น” – สุภาษิต 22:6
แต่อาจจะไม่ใช่ทุกโบสถ์หรือทุกครอบครัวที่ทำแบบนั้นได้
ทำไมคนๆ หนึ่งที่เคยมาโบสถ์ ถึงเลิกมาโบสถ์? เรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
คำตอบคือ การที่คนๆ หนึ่งจะมาโบสถ์หรือเลิกมาโบสถ์มีหลายปัจจัย และแต่ละปัจจัยก็ส่งผลมากน้อยกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บทความนี้เราจะมาดูกันว่าอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นแล้วเราจะป้องกันได้อย่างไร และถ้ามันเกิดขึ้นแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง
ตอนที่ 1: สาเหตุจากเพื่อน
การมีเพื่อนร่วมทาง ย่อมทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ไกล ไม่ว่าจะการเรียน การทำงาน หรือแม้แต่ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณก็ตาม
ดังนั้นถ้าเราจะไปได้ไกล การมีเพื่อนก็เป็นเรื่องสำคัญ
“แม้คนหนึ่งสู้คนเดียวได้ สองคนคงสู้เขาได้แน่ เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้” – ปัญญาจารย์ 4:12
ปัญหาของเรื่องนี้
- ปัญหาอย่างแรกคือ การที่คนรุ่นใหม่มาโบสถ์ และพบว่าไม่มีคนรุ่นเดียวกับเขาเลย
- แต่ปัญหาที่หนักกว่าเรื่องนี้คือ มีคนรุ่นเดียวกับเขา แต่ไม่มีใครเป็นเพื่อนเขาเลย
- หรือถ้าหนักกว่านั้นคือมีปัญหากับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นการบาดหมางกัน การผิดใจกัน เห็นไม่ตรงกัน หรือทะเลาะกัน ความเป็นเพื่อนก็จะเริ่มค่อยๆลดลง
- และเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราจะเริ่มค่อยๆออกห่างจากสังคมนั้นเรื่อยๆ
- นี่จะเป็นสาเหตุเริ่มต้นของการเลิกไปโบสถ์ของคริสเตียนส่วนหนึ่ง
ผมได้มีโอกาสเห็นโพสของพี่คนหนึ่งที่โบสถ์ เป็นข้อความที่แชร์กันต่อมาจากโบสถ์ต่างประเทศ เขียนว่า
“Don’t just invite people to Church. Invite them to lunch, invite them to your home, invite them to your heart, tell them you love them. Tell them you’ll always be there for them. You are the Church, not a building”
แปลเป็นไทยคือ “อย่าแค่เชิญคนไปคริสตจักร แต่เชิญพวกเขาไปกินอาหารกลางวัน เชิญพวกเขาไปที่บ้านคุณ เชิญพวกเขาเข้าไปในหัวใจของคุณ บอกว่าคุณรักพวกเขา บอกพวกเขาว่าคุณจะอยู่ที่นั่นเพื่อพวกเขาเสมอ คุณคือคริสตจักร ไม่ใช่อาคารสถานที่
ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงๆ มากกับพระคัมภีร์ที่บอกว่า เราคือวิหารของพระเจ้า
“ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่าท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในท่าน” – 1 โครินธ์ 3:16
ความสำคัญของการไปโบสถ์ ไม่ใช่การไปที่สถานที่ที่เราเรียกว่าโบสถ์ แต่ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ความสัมพันธ์ของคนที่โบสถ์ที่มีให้กัน
ปัญหานี้ถ้าเกิดไปแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร เราจะรวมวิธีแก้ปัญหาทั้งหมดไปตอบไว้ในตอนที่ 5-8
ตอนที่ 2: สาเหตุจากพ่อแม่
สำหรับคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่เป็นคริสเตียน ถ้าพ่อแม่ไม่สนับสนุนให้ลูกไปโบสถ์ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตมา มีโอกาสยากมากที่ลูกจะไปโบสถ์เอง
การที่พ่อแม่คริสเตียนควรจะพาลูกมาโบสถ์ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว
แต่เรื่องนี้มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
เรื่องของพ่อแม่นี้ ยิ่งเป็นศิษยาภิบาลหรือผู้นำโบสถ์ยิ่งต้องระวัง เพราะยิ่งทำงานรับใช้มาก ก็มีโอกาสที่จะละเลยลูกได้มากขึ้นเช่นกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ลองมาดูข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
จากการเก็บข้อมูลจากคริสตจักรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน เราได้เจาะลึกลงไปดูข้อมูลของครอบครัวของผู้นำคริสตจักร ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือมัคนายกของโบสถ์ และดูว่าครอบครัวของผู้นำโบสถ์ได้ส่งเสริมลูกๆ ให้มาร่วมกลุ่มของโบสถ์มากขนาดไหน
- ในช่วงอายุ 0-12 ปี (วัยรวีวารศึกษา ช่วงประถม) จำนวนการมาร่วมของลูกๆ ผู้นำคริสตจักรจะอยู่ที่ประมาณ 90%
- ในช่วงอายุ 13-18 ปี (วัยมัธยม) จำนวนการมาร่วมของลูกๆ ผู้นำคริสตจักรจะอยู่ที่ประมาณ 50%
- ในช่วงอายุ 19-22 ปี (วัยมหาวิทยาลัย) จำนวนการมาร่วมของลูกๆ ผู้นำคริสตจักรจะอยู่ที่ประมาณ 25%
- ในช่วงอายุ 23 ปีขึ้นไป (วัยเริ่มต้นทำงาน) จำนวนการมาร่วมของลูกๆ ผู้นำคริสตจักรจะอยู่ที่ประมาณ 10%
แปลข้อมูลง่ายๆ คือ เด็ก 10 คนจากครอบครัวผู้นำโบสถ์ จะมาร่วม 9 คนในช่วงประถม หลังจากนั้นจะเหลือแค่ 5 คน หรือครึ่งเดียวในช่วงมัธยม หลังจากนั้นจะเหลือแค่ 2-3 คนในช่วงมหาวิทยาลัย และจะเหลือเพียงแค่คนเดียวในช่วงทำงาน
ทำไมถึงเป็นเช่นนี้กันได้ ทั้งๆ ที่ผู้นำโบสถ์ควรจะสนับสนุนลูก
ถ้าเกิดว่าต้องเลือกระหว่าง จะให้ลูกไปโบสถ์ หรือให้ลูกโดดโบสถ์แล้วไปมั่วสุมเล่นยาติดเหล้า พ่อแม่คงเลือกได้ไม่ยากอยู่แล้ว เพราะมันเป็นการเลือกระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ผิดศีลธรรมผิดกฎหมาย
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ใช่การเลือกสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นการเลือกสิ่งที่ดูดีทั้งคู่
ถ้าเกิดต้องเลือกว่าระหว่าง จะให้ลูกไปโบสถ์ หรือให้ลูกไปเรียนพิเศษ เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ คราวนี้พ่อแม่อาจจะเริ่มรู้สึกว่า บางครั้งการเรียนก็ดูสมเหตุสมผล เพราะมันเป็นอนาคตของลูก แค่ลูกโดดโบสถ์ไม่กี่ปี คงไม่เป็นไร
หรือถ้าลูกโตขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะมีการเลือกอีกแบบ เช่น ถ้าต้องเลือกระหว่าง จะให้ลูกไปโบสถ์ หรือให้ลูกไปทำงานพิเศษ หารายได้เพิ่มเติมให้ครอบครัว คราวนี้ก็ดูสมเหตุสมผลเช่นกัน เพราะคนเราต้องกินต้องใช้ ถ้าไม่มีเงินจะเอาที่ไหนมากิน
ปัจจุบันมีกิจกรรมที่สามารถมาแทนที่การไปโบสถ์ของลูกมากมาย และมันยังดูสมเหตุสมผลอีกด้วย
ดังนั้นถ้าพ่อแม่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการไปโบสถ์ มีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้ลูกไปทำกิจกรรมอื่น แทนที่จะไปโบสถ์ก็ได้ หรืออาจจะเป็นคนไปจัดสรรเรื่องเหล่านั้นแทนลูกด้วยซ้ำ
และถ้าพ่อแม่ไม่ได้เป็นแบบอย่างเรื่องการให้ความสำคัญของการมาโบสถ์ ลูกจะยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไมถึงอยากให้เขามาโบสถ์นักหนา
เมื่อคนรุ่นใหม่ รู้สึกว่าการมาโบสถ์ไม่ใช่สิ่งจำเป็น จะมาหรือไม่มาก็ได้ เราน่าจะเดาอนาคตได้ไม่ยากว่าเขาจะเลือกอะไร เพราะขนาดบางคนที่มาโบสถ์แต่เด็กยังหายไปได้เลย ถ้ายิ่งไม่มาโบสถ์เลย ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ตอนโตจะกลับมาโบสถ์
ตอนที่ 3: สาเหตุจากผู้นำโบสถ์
สำหรับการเป็นผู้นำโบสถ์ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ตามบ้าน มีสมาชิกหลักหน่วย ไปจนถึงโบสถ์ขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกเป็นพัน Direction หรือทิศทางของโบสถ์สำคัญมากๆ ทุกการกระทำที่เกี่ยวกับโบสถ์ล้วนส่งผลต่อสมาชิก
ถ้าโบสถ์ไม่ได้ใส่ใจกับการสร้างสาวก ไม่ได้ใส่ใจกับการเลี้ยงดู ไม่ได้ใส่ใจกับกลุ่มผู้เชื่อต่างๆ ในโบสถ์ ไม่ได้ใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์ของคนในโบสถ์แล้ว เป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่จะสูญเสียผู้คนไปจากโบสถ์เรื่อยๆ
โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดนี้ เมื่อสถานการณ์ทำให้คริสเตียนไม่สามารถมารวมตัวกันได้อย่างปกติ โบสถ์ยิ่งต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะถ้าไม่ปรับตัว ไม่เตรียมพร้อม จากเดิมที่เคยสูญเสียผู้คนไปมากแล้ว จะยิ่งสูญเสียมากขึ้นและจะเสียด้วยความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
ผู้นำโบสถ์ต้องแน่ใจว่าเมื่อมีคนเข้ามาจะได้รับการดูแล และทำให้รู้สึกว่าทุกคนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์
- ถ้าโบสถ์ไม่มีกลุ่มสำหรับเด็กเล็ก ก็จะเป็นปัญหาสำหรับพ่อแม่ที่อยากจะพาลูกไปโบสถ์ด้วย
- ถ้าโบสถ์ไม่มีกลุ่มสำหรับคนรุ่นใหม่ ก็จะเป็นปัญหาสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะหาเพื่อนที่วัยใกล้กัน ถ้าไม่มีกลุ่ม ก็หมดโอกาสที่พวกเขาเสริมสร้างซึ่งกันและกัน
- ถ้าโบสถ์ไม่มีกลุ่มสำหรับผู้เชื่อใหม่ ก็จะเป็นปัญหาสำหรับผู้เชื่อใหม่ที่อาจจะรู้สึกไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากคนในโบสถ์
โบสถ์ควรจะมีกลุ่มเพื่อรองรับสำหรับคนหลากหลายกลุ่ม และควรจะใส่ใจว่าโบสถ์ของเรานั้นมีใครอยู่บ้าง และมีความต้องการอะไรจากสมาชิกของโบสถ์ และผู้นำโบสถ์ควรจะต้องใส่ใจกับเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่ใส่ใจแล้ว ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เขียนมาได้
ความไม่ใส่ใจที่กล่าวถึงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่การทำสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา แต่ต้องเป็นการทำอย่างใส่ใจ และมีการ Customize หรือปรับแต่งให้เหมาะสมกับกลุ่มคนด้วย ในฐานะผู้นำโบสถ์ก็ต้องเตรียมสภาพแวดล้อมสำหรับผู้ที่จะมาโบสถ์ให้ดีที่สุดด้วย
ผู้นำโบสถ์หลายครั้งมักจะพลาดประเด็นสำคัญไป และมักพยายามจะพูดคุยกันว่า โบสถ์มีคนมาร่วมกี่คน ซึ่งประเด็นที่ควรถามจริงๆ นั้น ไม่ใช่การถามว่าโบสถ์มีคนกี่คน
แต่ให้ถามว่า…
การสร้างสาวกเป็นอย่างไร
การสร้างคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร
การสร้างรากฐานที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางในตัวของสมาชิกเป็นอย่างไร
การสร้างคริสตจักร ไม่ใช่การสร้างอาคาร แต่เป็นการสร้างคน
สิ่งที่พระเยซูตั้งใจใช้เวลาด้วยอย่างมากคือการใช้เวลากับสาวกของพระองค์ พระเยซูไม่ใช้เวลาไปสร้างอาคาร หรือไปสร้างพระวิหารแต่อย่างใด แต่พระเยซูจงใจใช้เวลาอย่างมากกับสาวกของพระองค์
มีคำพูดจากหนังซุปเปอร์ฮีโร่เรื่อง Thor จากค่าย Marvel กล่าวไว้ว่า
Asgard is not a place, it’s a people.
แปลว่าแอสการ์ด (เมืองของธอร์) ไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน
ในทำนองเดียวกัน ผู้นำโบสถ์ต้องคอยนึกถึงข้อนี้เสมอ
โบสถ์ก็ไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คนเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นคนที่เล็กน้อยขนาดไหน ทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งของกายในพระคริสต์ ดังนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับอวัยวะในร่างกายทุกๆ ส่วน
“เพราะว่า ในร่างกายอันเดียวนั้น เรามีอวัยวะหลายอย่าง และอวัยวะนั้นๆมิได้มีหน้าที่เหมือนกันฉันใด พวกเราผู้เป็นหลายคนยังเป็นกายอันเดียวในพระคริสต์และเป็นอวัยวะแก่กันและกันฉันนั้น” – โรม 12:4-5
ตอนที่ 4: สาเหตุจากการหยั่งราก
ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
การหยั่งราก คืออะไร ในโคโลสี 2:7 เขียนไว้ว่า
“จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ และมั่นคงอยู่ในความเชื่อ” – โคโลสี 2:7
ก่อนที่จะพูดถึงว่าการหยั่งรากคืออะไร
ผมอยากจะเขียนถึงสำหรับคนที่ไม่ได้ไปโบสถ์นานก่อน
- ผมไม่ได้มีเจตนาจะบอกว่าคุณเป็นคนไม่มีความเชื่อหรือเป็นคนไม่ดีแต่อย่างใด
- พระเจ้าย่อมมีเวลาสำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- ถ้าคุณไม่ได้ไปโบสถ์ มันไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าจะไม่รักคุณ
- ถ้าคุณไม่ได้ไปโบสถ์ มันไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนไม่ดี
เพราะอะไรถึงบอกแบบนั้น
- เพราะมีคนมากมายที่ไปโบสถ์ แต่ไม่ได้พบพระเจ้าเลย
- เพราะมีคนมากมายที่ไปโบสถ์ แต่ใจอยู่ห่างพระเจ้า
- เพราะมีคนมากมายที่ไปโบสถ์ ที่เป็นแค่สมาชิกประจำโบสถ์วันอาทิตย์ แต่วันอื่นๆไม่ได้เป็นสาวกพระเยซู
กลับมาที่เรื่องการหยั่งราก ในการเป็นสาวกของพระเยซู พระเยซูเรียกร้องเราเสมอ
“ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามาให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง และรับกางเขนของตนแบกและตามเรามา” – มัทธิว 16:24
“ผู้ใดมิได้แบกกางเขนของตนตามเรามา ผู้นั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้” – ลูกา 14:27
การหยั่งรากลึกของชีวิตคริสเตียน คือข้อเรียกร้องของพระเยซู การมาเป็นคริสเตียนไม่ได้มีแต่การอวยพรจากพระเจ้า พระเยซูยินดีที่จะอวยพรเรา แต่พระองค์ก็เรียกร้องให้เราแบกกางเขนและตามพระองค์ไปด้วย
นี่คือเรื่องที่สำคัญมากๆ สำหรับการดำเนินชีวิตคริสเตียนที่จะเดินตามพระเยซูในฐานะ “สาวก”
ในการเป็นสาวกของพระเยซู เราแต่ละคนจะมีเรื่องลำบากใจที่ต้องเสียสละไม่เหมือนกัน บางคนเป็นเรื่องของเงินทองที่ต้องเสียสละเพื่อพระเยซู บางเป็นคนเป็นเรื่องชื่อเสียง บางคนเป็นเรื่องชีวิต
ในมาระโก 10:17-31 เรื่องเศรษฐีหนุ่ม
- ในข้อ 17 เศรษฐีหนุ่มมาถามพระเยซูว่าทำอย่างไรจะได้ชีวิตนิรันดร์
- ในข้อ 19 พระเยซูถามเขาว่าเขารู้จักบัญญัติเหล่านี้ไหม “อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา อย่าลักทรัพย์ อย่าเป็นพยานเท็จ อย่าฉ้อเขา จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของตน”
- พระเยซูเริ่มต้นด้วยบัญญัติข้อ 4-10 ในบัญญัติ 10 ประกาศ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือในบัญญัติในกลุ่ม “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”
- ในข้อ 20 เศรษฐีหนุ่มตอบว่า เขาได้ถือรักษาบัญญัติเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก
- และพระเยซูรู้อยู่แล้วว่ายังมีบัญญัติข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ “จงรักพระเจ้า” ไม่ใช่รักธรรมดา แต่เป็นรักด้วยสุดจิตสุดใจ สุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของเรา
- ในข้อ 21 พระเยซูจึงตอบเศรษฐีหนุ่มไปว่า “ท่านยังขาดอยู่สิ่งหนึ่ง จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนอนาถา แล้วท่านจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงตามเรามาและเป็นสาวกของเรา”
- ทำไมพระเยซูต้องบอกให้เศรษฐีหนุ่มไปขายสมบัติทั้งหมด? เพราะสำหรับเศรษฐีหนุ่ม สมบัติที่เขามีคือพระเจ้าของเขา
- เศรษฐีหนุ่มจัดลำดับความสำคัญให้ทรัพย์สมบัติมีคุณค่ามากกว่าพระเจ้า พระเยซูกำลังมาบอกเขาว่าให้เขาจัดลำดับความสำคัญใหม่
- ในทุกวันนี้ พระเยซูก็กำลังถามคำถามนี้กับเราทุกคนเหมือนกัน พระเยซูไม่ได้ต้องการให้เราไปขายทุกอย่างที่มีจริงๆ แต่พระเยซูกำลังถามเราว่า เราจะให้พระเยซูสำคัญกว่าเงินทองได้ไหม เราจะให้พระเยซูสำคัญกว่าชื่อเสียงได้ไหม เราจะให้พระเยซูสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้ไหม
ดังนั้นเรื่องการหยั่งรากลึกในพระเจ้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้คนๆ หนึ่งเป็นสาวกของพระเยซูได้อย่างมั่นคง เพราะการเป็นสาวกพระเยซูไม่ง่ายเลยถ้าเราหยั่งรากลึกไม่พอ
ในพระธรรม มาระโก 4:1-20 พระเยซูพูดถึงเรื่องการหว่านพืชในดินต่างๆ ซึ่งเป็นอุปมาที่ใช้เปรียบเทียบการหว่านพืชไปในดินกับการหยั่งรากของชีวิตคริสเตียน
- ดิน = คนฟัง หรือ หัวใจของคนที่ได้รับฟังพระวจนะ
- เมล็ด = พระวจนะ
- คนหว่าน = ใครก็ได้ที่พูดพระวจนะ
แล้วพระเยซูก็แบ่งประเภทดินที่หว่านไป แบ่งออกเป็น
- เมล็ดที่ตกตามทาง นกมากิน = (ข้อ 15) พระวจนะที่หว่านแล้ว และเมื่อบุคคลได้ฟัง ในทันใดนั้น ซาตานก็มาชิงเอาพระวจนะ ซึ่งหว่านถูกใจเขานั้นไปเสีย
- เมล็ดที่ตกในที่เนื้อดินน้อย = (ข้อ 16-17) คนที่ได้ยินพระวจนะ และก็รับทันทีด้วยความยินดี แต่ไม่ฝังลึกในตัวจึงทนอยู่ชั่วคราว และเมื่อเกิดการยากลำบากหรือการข่มเหงต่างๆเพราะพระวจนะนั้น ก็เลิกเสียในทันทีทันใด
- เมล็ดที่ตกไปกลางต้นหนาม = (ข้อ 18-19) คนที่ได้ฟังพระวจนะ แล้วความกังวลตามธรรมดาโลก และความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ และความโลภในสิ่งอื่นๆได้เข้ามาและรัดพระวจนะนั้น จึงไม่เกิดผล
- เมล็ดที่ตกในดินดี = (ข้อ 20) คนที่ได้ยินพระวจนะและรับไว้ จึงเกิดผลสามสิบเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง ร้อยเท่าบ้าง
จะสังเกตุเห็นว่าพระเยซูไม่ได้พูดถึง Qualification หรือคุณสมบัติของคนหว่านเลย
- ขอแค่เรามีพระวจนะ เราก็เป็นคนหว่านได้
- เราไม่จำเป็นต้องเป็นศิษยาภิบาลหรือศาสนาจารย์เพื่อจะประกาศเรื่องราวของพระเจ้าได้
- เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำโบสถ์ ผู้ปกครอง มัคนายก ถึงจะประกาศเรื่องราวของพระเจ้าได้
- ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ถ้าเรายินดีให้พระเจ้าใช้ เราสามารถประกาศเรื่องราวของพระเจ้าได้แน่นอน
- เวลาที่เราพูดเรื่องพระเจ้าไม่ว่าจะสำหรับคริสเตียนด้วยกัน หรือคนที่ยังไม่ได้เชื่อพระเจ้า ให้เราถ่อมตัวลง เพราะเราไม่ได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงหัวใจคนอย่างที่พระเจ้ามีอำนาจ
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราสามารถทำได้คือ อธิษฐานเผื่อดิน หรือเผื่อหัวใจของคนฟัง ขอพระเจ้าเป็นคนเปิดหัวใจ
และเมื่อคนที่เติบโตขึ้นเป็นสาวกของพระเยซูที่หยั่งรากลึกแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่พูดถึงตอนต้นจะเริ่มมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ บางทีถึงแม้จะไม่มีเพื่อน ไม่มีการดูแลจากคริสตจักรที่ดี แต่ถ้ามีการหยั่งรากแล้ว สิ่งนี้จะช่วยให้เราติดสนิทกับพระเจ้าได้และดำเนินชีวิตในทางพระเจ้าได้มั่นคงแน่นอน
ดังนั้นคนที่ไม่หยั่งรากลึกพอ ก็มีโอกาสที่จะค่อยๆ ห่างกับพระเจ้า หรือเมื่อเจอกับปัญหา ก็เลิกเชื่อพระเจ้า เราจึงต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ชีวิตของทุกคนหยั่งรากได้ลึก ซึ่งจะทำอะไรได้บ้าง ไปลุยกันต่อในหัวข้อถัดไป
ตอนที่ 5: เพื่อนกันเองทำอะไรได้บ้าง
สำหรับคนรุ่นใหม่ สิ่งที่เราจะสามารถทำได้คือ ป้องกันปัญหาที่ยังไม่เกิด และถ้าปัญหามันเกิดขึ้นไปแล้วก็ต้องค่อยๆ แก้ไข
ปัญหาอย่างแรก ถ้าคุณคือคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ด้วยกันในโบสถ์ให้ดี นี่คือสิ่งที่คุณสามารถค่อยๆ เริ่มทำได้ทันที
- การเริ่มต้น: ทักทายเพื่อน พูดคุยสร้างความสัมพันธ์ มีโอกาสก็เสริมสร้างซึ่งกันและกัน
- กลุ่มเพื่อน: คุณสามารถชวนเพื่อนอีก 2 คน มาทำกลุ่มเชือกสามเกลียวที่คอยแบ่งปันและหนุนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยกัน หรือถ้ามากกว่านั้นก็สามารถทำเป็นกลุ่มเซลล์ หรือกลุ่มแคร์ ที่จะคอยมาเจอกันเพื่อจะแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตด้วยกันก็ได้
จะเริ่มยังไง
- ถ้าหากว่า ที่โบสถ์คุณยังไม่เคยมีกลุ่มเหล่านี้มาก่อน คุณสามารถเริ่มต้นได้
- การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ใช้พลังใจสูง แต่ ถ้าเป็นเราเริ่มต้นโดยตั้งใจทำสิ่งนี้เพื่อพระเจ้าแล้ว พระเจ้าจะส่งความช่วยเหลือมาให้เราเอง
- ถ้าคุณยังลังเลอยู่ว่าจะทำดีไหม อยากจะบอกว่าการเป็นสาวกของพระเยซู ต้องการ Commitment หรือความมุ่งมั่นสูง เพราะพระเยซูให้ทุกคนแบกกางเขนแล้วตามพระเยซูไป ไม่ใช่ตามพระเยซูแล้วจะสบาย
- ถ้าพระเจ้าดลใจให้คุณมีภาระใจอยากเริ่มต้นงานของพระเจ้า อย่ากลัวที่จะเริ่มต้น เพราะถ้าพระเจ้าให้เราเริ่มต้นแล้ว พระเจ้าก็จะคอยดูแลเราในการทำงานของพระองค์เช่นกัน
ปัญหาอย่างต่อมาคือ แล้วถ้าปัญหานี้มันเกิดไปแล้วคุณจะต้องทำยังไง
ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นที่อยากจะให้เพื่อนกลับมา
- ถ้าคุณเคยมีเพื่อนที่เคยมาโบสถ์ด้วยกัน แล้ววันนี้เขาห่างหายไป
- อย่างแรกคืออธิษฐานเผื่อเขา ให้พระเจ้าเป็นคนช่วยเปิดใจเขา
- ต่อมาถ้ามีโอกาสให้ทักทายเพื่อนไม่ว่าจะส่งข้อความหรือโทรไปหา
- ถ้ามีโอกาสพูดคุยกัน ห้ามลืมข้อสำคัญของการคุยกันเด็ดขาดคือ อย่าตัดสินเขา ว่าเขาผิด อย่าตัดสินว่าการเลิกไปโบสถ์เป็นความบาป อย่าตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดี
- แต่ให้เปิดใจรับฟัง ฟังเยอะๆ ไม่ต้องคิดว่าจะพูดอะไรต่อ แค่ฟังแล้วค่อยๆถามคำถามต่อจากสิ่งที่เขาพูดเพื่อจะได้รับรู้สิ่งที่อยู่ในใจเขาจริงๆ
- เพราะแต่ละคนอาจจะมีเรื่องราวที่เราไม่เคยรู้ก็ได้ ดังนั้นถ้าเรายังรู้เรื่องไม่ครบทุกด้าน อย่าด่วนตัดสินใครก่อนที่จะรู้เรื่องทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องราวจากเจ้าตัว
- สิ่งที่สำคัญของการพาคนกลับมาหาพระเจ้าคือคุณต้องสร้างความไว้ใจ ให้เขารู้สึกว่าคุณเป็นคนที่ไว้ใจได้
- แล้วถ้าเขามีโอกาสกลับมาโบสถ์จริงๆ ก็ค่อยๆให้เวลาเขากับพระเจ้า ให้พระเจ้าเข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาจากภายใน
ตอนที่ 6: พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง
สำหรับสิ่งที่พ่อแม่คริสเตียน มี 3 เรื่องที่อยากจะแนะนำเพื่อให้ลูกมีโอกาสอยู่ในทางของพระเจ้าได้มากที่สุด
1. พ่อแม่ต้องมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างสำหรับลูก
- ก่อนจะให้คนอื่นเห็นความสำคัญของพระเจ้า ตัวคุณเองต้องเห็นความสำคัญ และให้ความสำคัญในเรื่องของพระเจ้าเสียก่อน ไม่ว่าจะการดำเนินชีวิต การนมัสการพระเจ้า กลุ่มสามัคคีธรรม การอธิษฐาน อ่านพระคัมภีร์
- ถ้าคุณอยากให้ลูกคุณเป็นคนที่จริงจังกับพระเจ้า คุณก็ต้องเป็นคนที่จริงจังกับพระเจ้าให้ลูกเห็นเสียก่อน
- ถ้าพ่อแม่เอาแต่บอกว่าไปโบสถ์ดีนะ แต่ตัวเองไม่สนใจไปโบสถ์ ถ้าพ่อแม่บอกว่าลูกต้องอ่านพระคัมภีร์นะ ไม่อ่านพระคัมภีร์ซะเอง ถ้าพ่อแม่บอกว่าการอธิษฐานดีนะ แต่ไม่อธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ ลูกก็คงจะไม่เห็นความสำคัญเพราะว่า การกระทำย่อมเสียงดังกว่าคำพูด
- ดังนั้นถ้าจะให้ลูกเริ่มให้ถูกในทางของพระเจ้า ต้องเริ่มที่ตัวของพ่อแม่ก่อนอันดับแรก
2. พ่อแม่ต้องสนับสนุนลูกให้อยู่ในทางพระเจ้า
- จากหัวข้อเรื่องของพ่อแม่ที่เขียนไปตอนต้น คือ ถ้าพ่อแม่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการไปโบสถ์ แถมมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้ลูกไปทำกิจกรรมอื่น แทนที่จะไปโบสถ์ หรืออาจจะเป็นคนไปจัดสรรเรื่องเหล่านั้นแทนลูกด้วยซ้ำ ลูกจะยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไมถึงอยากให้เขามาโบสถ์นักหนา
- ดังนั้นเราช่วยลูกต้องแบ่งเวลา หรือช่วยจัดสรรเวลาให้ลูก โดยให้เรื่องของพระเจ้าอยู่ในความสำคัญลำดับด้วย
- ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจะเรียนพิเศษ เราก็ต้องช่วยคิดช่วยหา ว่าถ้าจะเรียน เรียนวันเสาร์ แล้ววันอาทิตย์นมัสการพระเจ้าได้ไหม แทนที่จะเรียนทั้งเสาร์และอาทิตย์ หรือถ้าจะทำงานพิเศษแทนที่จะทำทุกวันอาทิตย์ เปลี่ยนเป็นทำอาทิตย์เว้นอาทิตย์ได้ไหม หรือถ้าจะต้องทำทุกอาทิตย์ เราจะหาเวลานมัสการพระเจ้าวันอื่นๆแทนได้ไหม เช่นอาจจะเป็นวันเสาร์หรือวันที่หยุดงานได้ไหม เป็นต้น
3. พ่อแม่ต้องห้ามปล่อยจอย
- คำว่า ปล่อยจอย แปลว่าอะไร? จอยในที่นี้หมายถึง จอยสติ๊กของเครื่องเล่นเกม เวลาที่คนถอดใจไม่อยากเล่นแล้ว เพราะรู้ว่าเล่นไปก็ไม่น่าจะชนะ มีโอกาสชนะน้อย ก็จะปล่อยจอย หรือว่าปล่อยการควบคุม ยืนนิ่งๆ ไม่ควบคุม ไม่ทำอะไรแล้ว
- จะมีพ่อแม่หลายคน เมื่อปัญหาได้เกิดไปแล้ว คือลูกโตจนถึงจุดหนึ่งและเริ่มไม่อยากไปโบสถ์แล้ว พ่อแม่หลายคนจะปล่อยจอย คือ ไม่พูด ไม่กล้าทำอะไรแล้ว อาจจะกลัวว่าถ้าไปพูดกับลูกแล้วจะทะเลาะกัน หรือคิดว่าอธิษฐานอย่างเดียวก็พอ ขอพระเจ้าเปลี่ยนแปลงลูก
- เรื่องที่พ่อแม่ต้องอธิษฐานเผื่อลูกอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ถ้าปัญหาเกิดไปแล้วการอธิษฐานเผื่อ จะต้องทำควบคู่กับสิ่งอื่นด้วย ไม่ใช่อธิษฐานเผื่อแล้วปล่อยจอยไม่อย่างอื่น
- พ่อแม่ควรจะพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รู้ว่าตอนนี้ลูกมีความคิดอย่างไร ถ้ายิ่งเราตรวจจับได้เร็ว ก็ยิ่งป้องกันได้ง่าย และถ้าปัญหาเกิดไปแล้ว การพูดคุยก็ยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ
- อย่าคิดว่าขอปล่อยจอยไปก่อน เดี๋ยวครั้งหน้า อาทิตย์หน้า เดือนหน้าค่อยคุยก็ได้เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งทุกครั้งที่คิดถอดใจแบบนี้ ชีวิตจริงมันจะไม่มีครั้งหน้า และมันจะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ขอย้ำอีกครั้งว่าการพูดคุยกับลูกเป็นเรื่องสำคัญมากๆ พ่อแม่ควรจะหาเวลาที่จะตั้งใจรับฟังลูก และพูดคุยกับลูกด้วยความตั้งใจจริง
- การพูดคุยแบบเปิดใจกับลูกเป็นเรื่องสำคัญมาก และวิธีการคุยของพ่อแม่ก็ยิ่งสำคัญเข้าไปอีก เพราะบริบทครอบครัวคนไทย โดยปกติพ่อแม่มักจะมีสถานะที่สูงกว่าลูก ดังนั้นการคุยกัน ถ้าพ่อแม่จะเข้าถึงจิตใจลูกได้ พ่อแม่ต้องรับฟังลูกให้มาก และต้องเป็นการฟังที่ไม่ตัดสินด้วย เพราะคนเราจะรับรู้ได้ทันที เมื่อคู่สนทนาตัดสินเขาไปแล้ว คนเราจะรับรู้ความรู้สึกนี้ได้เสมอ
- ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะคิดว่ารู้จักลูกตัวเองดี แต่ชีวิตเราแต่ละคนก็ย่อมมีเรื่องที่เก็บไว้ในใจโดยไม่เคยบอกออกมาก็ได้ อาจจะมีเรื่องราวของลูกที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ ดังนั้นถ้าเรายังรู้เรื่องไม่ครบทุกด้าน อย่าด่วนตัดสินใครก่อนที่จะรู้เรื่องทั้งหมด ควรฟังจากลูกให้ได้มากที่สุดก่อน
- สิ่งที่สำคัญของการพาคนกลับมาหาพระเจ้าคือ พ่อแม่ต้องสร้างความไว้ใจให้กับลูก ให้เขารู้สึกว่าคุณเป็นคนที่ไว้ใจได้ และคุณรักเขาและอยากทำความเข้าใจเขาจริงๆ ดังนั้นถ้าจะพูดคุยกับลูก ให้ลองอธิษฐานการทรงนำจากพระเจ้า และขอให้เรามีคำพูดและการกระทำที่แสดงออกถึงความรักและห่วงใย และเปิดให้พระเจ้าเข้ามามีส่วนในการนำคนในครอบครัวกลับมาหาพระองค์
ถ้าจะเกิดการคุยกันระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ อยากจะฝากข้อพระคัมภีร์ในเอเฟซัสไว้
สำหรับพ่อแม่ที่อยากจะเข้าไปคุยกับลูก
“ฝ่ายท่านผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของตนให้เกิดโทสะ แต่จงอบรมบุตรด้วยการสั่งสอน และการเตือนสติตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า” – เอเฟซัส 6:4.
สำหรับลูกที่อยากจะเข้าไปคุยกับพ่อแม่
“จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า นี่เป็นพระบัญญัติข้อแรกที่มีพระสัญญาไว้ด้วย” – เอเฟซัส 6:2
ตอนที่ 7: ผู้นำโบสถ์ทำอะไรได้บ้าง
ถ้าจะเข้าใจคนรุ่นใหม่ จะเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่คิดอะไรอยู่ หรือมีความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆ อย่างไร มีความเห็นกับเรื่องการไปโบสถ์อย่างไร มีความเห็นกับการนมัสการพระเจ้าอย่างไร สิ่งที่ต้องทำคืออะไรกันแน่
หลายคนคงคาดเดาคำตอบได้ไม่ยาก อยากรู้ว่าคนๆนั้นคิดอย่างไร ก็ไปพูดคุยกับคนๆนั้นซิ จะได้รู้ว่าเขาคิดอะไรอย่างไร
แต่เชื่อหรือไม่ว่า การกระทำในชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เวลาที่โบสถ์หรือองค์กรคริสเตียนต่างๆ คิดวางแผนงานต่างๆ สำหรับคนรุ่นใหม่นั้นกลับต่างออกไป โบสถ์หรือองค์กรส่วนมากกลับไม่ได้พยายามหาคำตอบว่า คนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร คิดอะไรอยู่ หรือคิดว่าโบสถ์ควรจะมีทิศทางไปทางไหนเพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่
สิ่งที่ต้องระวังของคนรุ่นเก่าคือการคุยกันเองมากเกินไป โดยปิดกั้นไม่รับข้อมูลจากคนรุ่นใหม่หรือรับมาน้อยเกินไป เพราะจะทำให้มีโอกาสที่จะไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ หรือเข้าใจคนรุ่นใหม่ผิดไป และเมื่อเข้าใจผิดก็มีโอกาสที่จะคิดไปต่างๆ นานาว่าเด็กรุ่นใหม่น่าจะเป็นแบบนั้น น่าจะชอบอย่างนี้ และสุดท้ายสิ่งที่ทำออกมา ก็อาจจะยังไม่ได้เข้าใจคนรุ่นใหม่มากเพียงพอ
เรื่องนี้สามารถประยุกต์ใช้กับคนหลายๆ กลุ่มได้ ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ ผู้เชื่อใหม่ สมาชิกในโบสถ์ การบริหารไม่ว่าจะบริหารโบสถ์ บริหารองค์กร หรือบริหารประเทศ ผู้บริหารหรือผู้นำจำเป็นต้องฟังเสียงของผู้ตาม ผู้นำโบสถ์ต้องฟังเสียงสมาชิก ผู้นำองค์กรต้องฟังเสียงผู้ตาม ผู้นำประเทศต้องฟังเสียงประชาชน
เรื่องที่ควรทำมากๆ สำหรับการบริหารคือ การรับฟัง เราจะสามารถเข้าใจคนรุ่นใหม่ได้ เราต้องรับฟังคนรุ่นใหม่
ทีนี้คำถามสำคัญคือ ถ้าเราจะรับฟังคนรุ่นใหม่ เราจะต้องทำอย่างไร อย่างแรกคือ ผู้นำต้องเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่เสียก่อน
ถ้าผู้นำรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สำคัญ จะเป็นสัญญาณอันตรายอย่างมากต่อโบสถ์ เพราะเมื่อเราไม่เห็นความสำคัญ ก็มีแนวโน้มว่าทิศทางของโบสถ์จะไม่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ และเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับความใส่ใจจากทิศทางที่โบสถ์กำลังจะเดินไปนั้น ก็ย่อมมีโอกาสเกิดปัญหาในข้ออื่นๆตามมา เช่นถ้าโบสถ์ไม่ใช่ที่สำหรับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็จะรู้สึกว่าโบสถ์ไม่ใช่ที่ของเขา เขาไปอยู่ที่อื่นดีกว่า ถ้าอย่างดี เขาก็ย้ายไปโบสถ์อื่น แต่ถ้าเลวร้ายกว่านั้นก็คือเขาก็จะเลิกไปโบสถ์
ดังนั้นเราต้องเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่เสียก่อน และนอกจากนี้เรายังต้องมองคนรุ่นใหม่ด้วยเลนส์ใหม่ที่คิดว่าคนรุ่นใหม่จะเก่งกว่าคนรุ่นเก่าไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มองด้วยเลนส์เก่าที่มองว่าคนรุ่นใหม่ยังเป็นแค่เด็กอยู่ ยังไม่ต้องไปรับฟังความคิดเห็นอะไรทั้งนั้น เพราะว่า ผู้นำโบสถ์อาจจะมีปัญหาคล้ายๆกับกรณีพ่อแม่ ที่รู้สึกว่าตัวเองมีสถานะที่สูงกว่าสมาชิก คิดว่าคนรุ่นใหม่อายุยังเด็ก ความคิดความอ่านยังสู้ตัวเองไม่ได้
ผู้นำบางคนอาจจะไปไกลกว่านั้นคือคิดว่าเขาต้องเป็นผู้นำและให้คนอื่นๆ มาเป็นผู้ตามรับคำสั่งของเขาอีกที หรือแม้แต่คิดว่าผู้ตามต้องมารับใช้ผู้นำอีกที แต่พระเยซูไม่สอนแบบนั้น สิ่งที่พระเยซูทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างคือ แม้พระเยซูจะมีสถานะสูงกว่าสาวก แต่พระเยซูก็ยังล้างเท้าให้สาวก และสอนให้สาวกล้างเท้าซึ่งกันและกันด้วย
“ฉะนั้นถ้าเราผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระอาจารย์ของท่านได้ล้างเท้าของพวกท่าน พวกท่านก็ควรจะล้างเท้าของกันและกันด้วย เพราะว่าเราได้วางแบบแก่ท่านแล้ว เพื่อให้ท่านทำเหมือนดังที่เราได้กระทำแก่ท่านด้วย” – ยอห์น 13:14-15
“ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นคนต้น ก็ให้ผู้นั้นเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของคนทั้งปวง” – มาระโก 9:35
ทัศนคติของพระเยซู คือ ใครจะเป็นใหญ่ต้องรับใช้ผู้อื่น เพราะวิธีของพระเจ้าไม่เหมือนวิธีของโลก ในแผ่นดินสวรรค์ ใครจะเป็นคนต้นต้องรับใช้ผู้อื่น และที่สำคัญคือต้องบริการทุกคนทุกระดับประทับใจเหมือนกันด้วย ไม่ใช่ว่าประทับใจแค่บางคน
ดังนั้น ให้เราระลึกเสมอว่า
- คนทุกคนทุกวัยมีความสำคัญ
- ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก๋า
- ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไรก็มีความสำคัญ
- ไม่ว่าจะเป็นผู้เชื่อใหม่หรือศิษยาภิบาลก็ตาม
ถ้าผู้นำโบสถ์เริ่มให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่แล้ว และมีการพูดคุยและเปิดใจรับฟังอย่างแท้จริง เชื่อมั่นได้ว่าคนรุ่นใหม่ยินดีที่จะพูดคุยด้วยอย่างเปิดเผย และถ้าเกิดว่าผู้นำโบสถ์รับฟังคนรุ่นใหม่มากพอ เชื่อว่าโบสถ์จะมีทิศทางที่เหมาะสมทั้งสำหรับคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งคนรุ่นเก่าก็เห็นด้วย และคนรุ่นใหม่ก็เห็นดีด้วยเช่นกัน
ถ้าถามว่าตกลงแล้ว ผู้นำโบสถ์ควรจะทำอะไรบ้าง เพื่อให้โบสถ์เป็นสถานที่ของคนรุ่นใหม่ด้วย มันไม่ได้มีเคล็ดลับหรือสูตรสำเร็จตายตัวว่าทำแบบนี้แล้วจะดี ทำแบบนั้นแล้วคนรุ่นใหม่ชอบ เพราะแต่ละโบสถ์ก็แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าคุณรับฟังคนรุ่นใหม่มากพอ คำตอบจะออกมาให้เห็นเอง ถ้าผู้นำโบสถ์ประชุมกัน ลองชวนคนรุ่นใหม่มาพูดคุยด้วย และลองเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่ดู คุณอาจจะได้คำตอบดีๆ ที่ไม่คาดคิดก็เป็นไปได้
ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดนี้ คนรุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีของโลกมากกว่าคนรุ่นเก่า ก็อาจจะมีคำตอบดีๆ ในการเปลี่ยนแปลงโบสถ์ให้ไปสู่การเป็นพระพรมากกว่าเดิมก็ได้ เพราะโลกเราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างแต่ก่อนเวลาจะทำค่ายโบสถ์ทีนึงก็ต้องเรียกทุกคนมารวมตัวกันเพื่อประชุม แต่ในขณะที่พอมีโรคระบาด เราก็ไม่สามารถเจอหน้ากันได้ปกติ แต่เราก็ยังมีเทคโนโลยีให้เราสามารถเจอหน้าพูดคุยกันผ่านการประชุมออนไลน์ได้
ดังนั้นถ้าคุณเป็นกลุ่มผู้นำคริสตจักร อย่าลืมที่จะรับฟังคนรุ่นใหม่ และพัฒนาโบสถ์ให้มีแนวทางที่รองรับคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ เพราะโบสถ์จะไปได้ไกล ถ้ามีทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดใหม่ๆ และคนรุ่นเก่าที่มากประสบการณ์
ตอนที่ 8: สำหรับคนที่ไม่ได้ไปโบสถ์แล้ว คุณไม่ต้องทำอะไร แต่เรามีเรื่องอยากบอก
ผมว่าถ้าคุณเคยมาโบสถ์แล้วห่างหายไป คุณคงมีเหตุผลส่วนตัวของคุณ ซึ่งผมหรือใครๆ ก็ไม่อาจจะรับรู้ได้ สาเหตุอาจจะมาจากบางเรื่องที่เขียนไว้ด้านบน หรืออาจจะมีเรื่องเจ็บช้ำที่กระทบจิตใจของคุณ จนคุณรู้สึกไม่อยากมาโบสถ์แล้ว
- คุณอาจจะเคยให้อภัยกับคนที่ทำผิดกับคุณหลายครั้งจนคุณรู้สึกว่าไม่สามารถให้อภัยได้แล้ว
- ผมคงไม่พูดว่า “พระเจ้าให้อภัยคุณตั้งหลายรอบ ทำไมคุณไม่ให้อภัยคนอื่นบ้างหล่ะ”
- เพราะว่าเราเป็นคนธรรมดาเหมือนกัน มีหลายครั้งที่เราล้มลง มีหลายครั้งที่เราผิดพลาด ไม่มีมนุษย์คนไหนไม่เคยทำพลาด เราต่างทำผิดพลาดในชีวิตได้เหมือนกัน
- ผมอยากจะบอกว่าไม่ต้องรีบตัดสินใจว่าจะต้องกลับมาโบสถ์ครับ ค่อยๆ ใช้เวลากับพระเจ้า ให้พระเจ้าเป็นคนเยียวยารักษา
- พระเจ้าผู้เป็นแพทย์ผู้ประเสริฐ ปรารถนาที่จะรักษาจิตใจและจิตวิญญาณคุณมากกว่ารักษาทางด้านร่างกาย
- ถ้าคุณยังไม่พร้อมไปโบสถ์ ไม่เป็นไร ตอนนี้ยังไม่ต้องทำอะไร แค่คุณมาอ่านบทความนี้ ผมก็ดีใจมากๆ แล้วครับ
- แต่ถ้าคุณรู้สึกอยากทำอะไรสักอย่าง คำแนะนำของผมคือลองโทรหรือส่งข้อความไปหาเพื่อนพี่น้องคริสเตียนที่คุณรู้สึกไว้ใจและมีแนวโน้มว่าจะไม่ตัดสินคุณไปก่อนที่คุณจะพูดอะไร ลองเล่าให้เขาฟังว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณเป็นยังไง และอธิษฐานร่วมกัน แล้วดูกันว่าพระเจ้าจะมีหนทางให้ชีวิตของคุณอย่างไร
ขอจบด้วยคำขวัญยอดฮิตขององค์กร YFC (Youth For Christ) ที่ได้บอกไว้ว่า
“ถ้าคุณชนะใจวัยรุ่นไม่ได้ในวันนี้ เขาจะทำให้ใจของคุณแตกสลายในวันหน้า”
บทความ: สิทธีร์ ธีรกุลชน
ออกแบบภาพ: สิทธีร์ ธีรกุลชน
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น