จำเป็นแค่ไหนที่คริสตจักรต้องเปลี่ยนแปลงสำหรับชีวิตวิถีใหม่?
ทุกวันนี้เราสังเกตเห็นผู้นำคริสตจักรสองประเภท ประเภทแรกคือ ผู้นำที่กำลังรอว่าเมื่อไรสถานการณ์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ เพื่อจะได้กลับไปเปิดโบสถ์และทำกิจกรรมที่เคยทำตามเดิมได้ คำถามที่เราได้ยินจากพวกเขาคือ
“คุณคิดว่าเมื่อไรเราจะสามารถกลับไปเปิดคริสตจักรได้เหมือนเดิมอีกครั้ง?”
แม้เราไม่ทราบคำตอบของคำถามนั้น แต่มั่นใจได้แน่นอนว่ามันจะยาวนานกว่าที่คุณคิด
เตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่จะยืดเยื้อ
จากมาตรการปิดเมืองไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ยินว่าหลายคนผิดหวัง เพราะคิดว่าจะสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็วๆ นี้ แต่เราจะไม่สามารถกลับไปรวมตัวเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ได้อีก รวมถึงการเปิดรอบนมัสการ จนกว่าจะมีผลการตรวจเชื้อในวงกว้างและความพร้อมของวัคซีน ซึ่งยังคงเป็นคำถามว่าคือเมื่อไร
ในระหว่างนี้หรือในอนาคต มาตรการอาจหละหลวมเมื่ออนุญาตให้สามารถกลับมาชุมนุม หรือรวมตัวกันได้อีกครั้ง แต่หากเกิดการระบาดอีกครั้งและจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก (เพราะการทดสอบในวงกว้างและวัคซีนยังไม่พร้อม) ทำให้มาตรการต่างๆ ต้องกลับมารัดกุมอีกครั้ง
เมื่อพวกเขาหละหลวม กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักคือ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะไม่สามารถกลับมาร่วมสามัคคีธรรมที่คริสตจักรได้ทันที ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขได้เคยเตือนพวกเราตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาว่า หากเป็นไปได้ ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองและป้องกันผู้อื่น คือ การอยู่บ้าน
เราจึงคิดว่า ผู้นำคริสตจักรจำเป็นต้องมีแผนระยะยาวทั้งปี ก่อนที่จะกลับมาอนุญาตให้รวมตัวกันได้ตามปกติโดยไม่มีมาตรการใดๆ คุณได้เตรียมการไว้หรือเปล่า?
และนั่นทำให้เราพบกับ ผู้นำคริสตจักรประเภทที่สอง ซึ่งเป็นผู้นำประเภทที่ไม่ได้กังวลว่าจะกลับไปสู่สภาวะปกติได้เมื่อไร เพราะพวกเขาเข้าใจ เขาได้เผชิญมาแล้ว และยังคงต้องเผชิญต่อไปอีกหลายเดือน และนี่กำลังเป็นแรงผลักดันคริสตจักรไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะ “สภาวะปกติ” จะไม่กลับมาอีก คำถามที่พวกเขาถามคือ
“จำเป็นแค่ไหนที่คริสตจักรต้องเปลี่ยนแปลงแบบวิถีใหม่?”
และพวกเขาก็พร้อมที่จะเริ่มต้นทำสิ่งเหล่านั้นทันที พวกเขาไม่รอที่จะให้คริสตจักรกลับมาเปิดอีกครั้ง
ในหนังสือของผมที่ชื่อว่า “The Unstuck Church” (คริสตจักรที่ไม่ติดขัด) ผมได้พูดถึงการหยุดชะงัก และเน้นย้ำว่าเมื่อคริสตจักรเริ่มติดขัดจะทำให้จำนวนลดลงและปิดตัวลงในที่สุดซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างน้อยคริสตจักรเหล่านั้นก็หยุดชะงักชั่วขณะ
ที่จริงผมอธิษฐานขอให้คริสตจักรได้เจอกับประสบการณ์เหล่านี้ ผมให้ความเห็นไว้ว่า
“การหยุดชะงักหรือปิดคริสตจักรได้เขย่าพวกเรา มันทำให้สมดุลที่เคยมีเสียไป และมันบังคับให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง การหยุดชะงักของคริสตจักรท้าทายให้พวกเราได้หยุดคิดและตัดสินใจว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น แล้วทำแผนรับมือ และในที่สุดการหยุดชะงัก จะกระตุ้นให้เราทำบางอย่าง”
เมื่อครั้งที่ผมได้เริ่มอธิษฐานเผื่อการหยุดชะงัก ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะอธิษฐานขอให้คริสตจักรหยุดชะงักหรือปิดชั่วคราว ฉะนั้นอย่าเพิ่งไม่เห็นด้วยกับผม สิ่งที่ทุกคนกำลังประสบเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไวรัสเป็นสิ่งที่น่ากลัว ความตายคือสิ่งที่น่ากลัว การแยกตัว (กักตัวไม่เจอใคร) เป็นสิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่กระทบต่อผู้คนในด้านเศรษฐกิจความเป็นอยู่ที่ดีคือสิ่งน่ากลัว
ตรงกันข้าม ผมคิดว่าการปิดคริสตจักรชั่วคราว จะทำให้พันธกิจของคริสตจักรเข้มแข็งมากขึ้น ผลักดันให้คริสตจักรเปลี่ยนยุทธวิธีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีใหม่ เพื่อการประกาศข่าวประเสริฐในวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปก่อนที่หยุดชะงัก (หรือกรณี เกิดการขัดขวาง) เนื่องจากสถานการณ์ไวรัส
แล้วอะไรคือวิถีใหม่? ผมจะเน้นย้ำการเปลี่ยนแปลง 7 ประการที่ผมคาดการณ์ว่าคริสตจักรจำเป็นจะต้องทำ เพื่อรับมือกับวิกฤตินี้
1. เปลี่ยนจาก “อนาลอก” เป็น “ดิจิทัล” (analog to Digital)
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความเป็นดิจิทัลเกิดขึ้นแล้ว แล้วยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์โรคระบาดไปแล้วก็ตาม
ทุกวันนี้โลกดิจิทัลยังคงอยู่ และนั่นคริสตจักรจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (platform) เบื้องต้นของทุกกิจกรรม มากกว่าแค่เพียงใช้ถ่ายทอดการนมัสการในวันอาทิตย์เท่านั้น นั่นหมายถึงคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
ของบุคลากรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงใหม่นี้
2. เปลี่ยนจาก “การสอน” เป็น “การฝึกฝน” (Teaching to Equipping)
การสอนยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น สิ่งแวดล้อมและโปรแกรมต่างๆ ของคริสตจักรในอดีต ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนคนผ่านการสื่อสารทิศทางเดียว มากกว่าที่จะฝึกฝนคนด้วยเครื่องมือและทรัพยากรที่เชื่อมโยงเข้าสู่หลักพระคัมภีร์, การสร้างวินัยฝ่ายวิญญาณ และการใช้ชีวิตเพื่อพันธกิจของพระเจ้า
เราจำเป็นต้องช่วยให้สมาชิกก้าวออกจากการบริโภคเนื้อหาคำสอน มาสู่การใส่ใจชีวิตจริงๆ และสนใจการเดินทางฝ่ายวิญญาณ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงให้เหมือนพระเยซูยิ่งขึ้น
3. เปลี่ยนจาก “การรวมตัว” เป็น “การเชื่อมต่อสร้างสัมพันธ์” (Gathering to Connecting)
แม้ก่อนเกิดวิกฤตินี้ สมาชิกก็มีเวลารวมตัวกันได้น้อยลงในคริสตจักรอยู่แล้ว ฉะนั้นความสำเร็จของคริสตจักรจึงไม่ใช่การเพิ่มจำนวนกิจกรรมลงในปฏิทินโบสถ์ให้มากขึ้นๆ
ยิ่งกว่านั้นหลังจากวิกฤตินี้ ผู้คนจะเข้าใจถึงความจำเป็นของความสัมพันธ์และมิตรภาพในชุมชน การเก็บตัวโดดเดี่ยวและการกักตัวเป็นเหมือนบทลงโทษ พระเจ้าได้ออกแบบให้เราต้องการกันและกัน ช่วงเวลายาวนานของการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้คนได้ตระหนักว่าการอยู่คนเดียวลำพังไม่ใช่เรื่องดี
4. เปลี่ยน “พื้นที่ห่างไกล” เป็น “พื้นที่ใกล้เคียง” (Global to Local)
สำหรับมุมมองเรื่องนี้อาจจะออกนอกกรอบ คือ หลายคริสตจักรได้สิ้นเปลืองทุนทรัพย์จำนวนมากเพื่อส่งบุคลากรไปยังแอฟริกา ไปเอเชีย หรือไปอีกซีกโลกหนึ่งเพื่อบุกเบิกงานพันธกิจ ทีจริงเรายังสามารถส่งงบประมาณสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือคริสตจักรท้องถิ่นและองค์กรพันธกิจในประเทศเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่พระเจ้าให้พวกเรามีคริสตจักรอยู่ในชุมชุนของเราเอง ก็เพื่อทำพันธกิจในพื้นที่ของพวกเราให้สำเร็จด้วย
มันกลับดูง่ายกว่าที่เราจะเบนความสนใจและความทุ่มเทไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อหลีกเลี่ยงความท้าทายที่ยากกว่าในพื้นที่ใกล้ตัวของเราเอง นั่นคือการเชื่อมต่อเข้าถึงผู้คนภายนอกคริสตจักรและผู้ที่ยังไม่เชื่อในชุมชนของเรา
5. เปลี่ยนจาก “ค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น” เป็น “การแจกจ่ายแบ่งปัน” (over-spending to generosity)
ค่าใช้จ่ายเกินจำเป็นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ในคริสตจักร ก่อนเกิดวิกฤตินี้ คริสตจักรที่กำลังถดถอยจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในการขยายคริสตจักรถึง 35% มันหมายความว่า คริสตจักรที่กำลังถดถอย เพราะมีเจ้าหน้าที่มากไป
ด้วยจำนวนเงินถวายที่ลดลง วิกฤตินี้จึงบีบให้คริสตจักรต้องลดค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่และสาธารณูปโภคต่างๆ ลง ซึ่งในระยะยาวนั้นจะส่งผลดีช่วยคริสตจักรมีทรัพยากรเพียงพอที่จะร่วมมือกับคริสตจักรอื่นๆ และองค์กรในท้องถิ่น เพื่อเข้าถึงความต้องการของชุมชนทั้งด้านสุขภาพฝ่ายจิตวิญญาณ กายภาพ และจิตใจ
6. เปลี่ยน “ความซับซ้อน” ให้เป็น “ความเรียบง่าย” (complexity to simplicity)
คุณอาจได้ยินเรื่องราวจากคริสตจักรหลายแห่งว่า วิกฤติครั้งนี้ทำให้พวกเขาต้องปรับกลยุทธ์การทำพันธกิจให้เรียบง่ายมากขึ้น (ลดความซับซ้อนลง) นั่นเป็นเรื่องดีเพราะเราเคยรู้จากงานวิจัยก่อนนี้ว่า การทำให้สมาชิกยุ่งอยู่กับกิจกรรมของคริสตจักรนั้น ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นเหมือนพระเยซูได้
ความซับซ้อนจึงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งว่า คริสตจักรจะเริ่มเข้าสู่วงจรแห่งความถดถอย
7. เปลี่ยน “การนับผู้เข้าร่วม” (ยอดผู้ชม) เป็น “การมีส่วนร่วม” (attendees/now viewers to engagement)
นี่เป็นอีกแนวโน้มที่เราจะเห็นกันมานานก่อนเกิดโคโรนาไวรัส และเรื่องที่ควรกังวลคือ พวกเรามักคิดกันแบบฉาบฉวยในวิธีวัดความสำเร็จของคริสตจักร จากการนับจำนวนคนเข้าร่วมรอบนมัสการ กลายเป็นการวัดความสำเร็จจากจำนวนยอดผู้ชมออนไลน์
การสร้างสาวกแท้ของพระเยซูต่างหากที่เป็นชัยชนะที่แท้จริง เราต้องเชื่อมโยงผู้คนด้วยชุมชนของพระเจ้า เพื่อพวกเขาจะได้มีโอกาสได้สัมผัสและได้ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐได้
นั่นหมายถึง เราจำเป็นต้องรีบเปลี่ยนวิธีจากการนับยอดผู้ชมออนไลน์ ไปสู่การมุ่งสนใจกลุ่มคนมาใหม่
และช่วยพาพวกเขาให้รู้จักพระคริสต์มากขึ้น ยอดคนดูออนไลน์ไม่ใช่ชัยชนะ การสร้างสาวกแท้ของพระเยซูต่างหาก คือ ชัยชนะที่แท้จริง
ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มของบทสนทนาที่ทำให้ผมคิดว่า คริสตจักรหลายแห่งจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่รอว่าเมื่อไรคริสตจักรจะกลับมาเปิดอีกครั้ง หากเรารอจนถึงวันนั้นมันอาจสายเกินไป มันคงง่ายที่เราจะรอกลับไปทำคริสตจักรอย่างที่พวกเราเคยทำมาตลอด แต่เราก็จะพลาดโอกาสต่อยอดในการเรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้
หากคุณอ่านทั้งหมดนี้แล้วและคิดว่า หน้าตาคริสตจักรเราคงจะเปลี่ยนและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากเราได้ปรับเปลี่ยนทั้ง 7 เรื่องนี้หมด นั่นแหละคือสิ่งที่ผมต้องการสื่อสาร
บทความ: 7 Shifts Churches Need to Make Because of the Coronavirus – Tony Morgan
แปลและเรียบเรียง: Fonke/SC
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น