กระแสเกี่ยวกับวันเวลาของการเสด็จกลับมาของพระเยซูกลับมาโดดเด่นขึ้นอีกครั้งหนึ่งในโลก online โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับโรคระบาดอย่าง COVID-19 ที่หยิบยื่นความตายมาถึงคนเป็นจำนวนมาก
แน่นอนไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไหร่ จะมีก็แต่พวกสอนเท็จที่กล้าประกาศว่าวันนี้วันนั้นพระเยซูจะเสด็จมา ซึ่งก็ยังไม่เคยถูกสักคน เพราะ “วันนั้น โมงนั้น ไม่มีใครรู้ ถึงบรรดาทูตสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้ รู้แต่พระบิดาองค์เดียว” (มธ. 24:36) พร้อมกับเตือนว่าการเสด็จมาของพระเยซูจะเกิดขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราจึงต้องพร้อมอยู่เสมอ
การพยากรณ์ถึงวันเวลาที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาเกิดขึ้นแล้ว 44 ครั้ง ซึ่งผิดทั้งหมด โดยครั้งแรกพยากรณ์ว่าพระเยซูจะเสด็จมาใน ค.ศ. 500 โดย ฮิปโปลิทัสแห่งโรม เซ็กตัส จูเลียส อะฟรีคานุส และ ไอเรเนียส และครั้งล่าสุดพยากรณ์ว่าพระเยซูจะเสด็จมาในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 โดย Chad Daybell และ Lori Daybell
นอกจากนี้ยังมีคำพยากรณ์อีก 4 ครั้งที่วันเวลายังมาไม่ถึง แต่ก็แน่ใจได้ว่าผิดอีกเช่นกัน คือ
- ค.ศ. 2021 โดย F. Kenton “Doc” Beshore
- หลังปี ค.ศ. 2025 โดย Alice A. Bailey
- ค.ศ. 2029 โดย Jakob Lorber
- ค.ศ. 2057 โดย Frank J. Tripler
แม้จะได้ระบุวันเวลาไว้แต่พระคัมภีร์ก็ได้พูดถึง “หมายสำคัญ” หลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จกลับมาของพระเยซู อาทิ การทวีจำนวนของคนที่อ้างตัวว่าเป็นพระคริสต์ สงคราม ภัยพิบัติ การข่มเหงคริสเตียน ผู้เผยพระวจนะปลอม ความรักที่เยือกเย็นลง สิ่งแปลกประหลาดที่จะเกิดขึ้นบนท้องฟ้า การกลับมาของอิสราเอล ความทุกข์ยากลำบากอย่างแสนสาหัส และสิ่งน่าสะอิดสะเอียนในสถานบริสุทธิ์ ข่าวประเสริฐที่ถูกประกาศไปทั่วโลก (ดูมัทธิว 24)
การพูดถึงการเสด็จกลับมาของพระเยซูโดยไม่พูดถึงนิมิต 70 สัปตะที่ดาเนียลได้รับจากพระเจ้าผ่านทางทูตสวรรค์กาเบรียลก็คงกระไรอยู่ (ดนล. 9:24-27)
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า “สัปตะ” หรือ שֶׁבוּעָה (ชาบูอา) ในภาษาฮีบรูกันก่อน ความหมายตามตัวอักษรของคำนี้คือ “เจ็ด” ดังนั้นพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษจึงแปลคำนี้ว่า weeks และพระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับ 2011 แปลว่า “สัปดาห์” ซึ่งก็ทำให้สับสนพอสมควรเพราะสัปดาห์หรือ week หมายถึง 7 วัน แต่คำที่พระคัมภีร์ใช้ ไม่ได้หมายถึง 7 วัน แต่หมายถึง “จำนวนเจ็ด” ซึ่งจะมีหน่วยเป็นอะไรก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักมีหน่วยนับเป็นปี ยิ่งจากบริบทในพระธรรมดาเนียลตอนนี้ก็เห็นชัดว่าหน่วยนับจะต้องเป็นปี เพราะดาเนียลกำลังพูดถึงระยะเวลาที่อิสราเอลตกเป็นเชลยที่บาบิโลนตามคำพยากรณ์ของเยเรมีย์ (ยรม. 25:11-12) ดังนั้นเมื่อกาเบรียลกล่าวกับดาเนียลว่า “มี 70 สัปดาห์แห่งปีกำหนดไว้สำหรับชนชาติของท่านและนครบริสุทธิ์ของท่าน” (ดนล. 9:24) จึงหมายถึง 70 ของ 7 ปี คือเป็นระยะเวลา 490 ปี
นักศาสนศาสตร์ตีความตัวเลขนี้ว่าเกี่ยวข้องกับการเสด็จของพระเมสสิยาห์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรากฏของพระองค์ ดาเนียล 9:25-27 ได้แบ่ง 70 ของ 7 ปี (หรือ 490 ปี) ออกเป็น 3 ช่วงเวลาดังนี้
ช่วงแรก – เป็นระยะเวลา 7 สัปตะ หรือ 49 ปี
“ตั้งแต่การที่ถ้อยคำนั้นออกไป ให้สร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่จนถึงสมัยผู้ถูกเจิมไว้ ผู้เป็นประมุขก็เป็นเวลาเจ็ดสัปตะ” (ดนล. 9:25)
ระยะเวลาของช่วงนี้คือ ตั้งแต่กษัตริย์อารทาเซอร์ซีสออกคำสั่งให้สร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ในปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ จนถึงสมัยของผู้ถูกเจิม (พระเมสสิยาห์) ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า คำสั่งนี้ออกเมื่อปี กคศ. 445 ในวันแรกของเดือนนิสาน (นหม. 2:1-8) แม้ในพระธรรมเนหะมีย์ไม่ได้ระบุว่าวันไหน แต่ประวัติศาสาตร์ของยิวระบุว่าเป็นวันแรกของเดือนนิสาน การก่อสร้างเยรูซาเล็ม ถนนและกำแพงเมือง จะกินเวลา 49 ปีหลังจากออกคำสั่ง
ช่วงที่สองเป็นระยะเวลา 62 สัปตะ หรือ 434 ปี
“และเยรูซาเล็มจะถูกสร้างขึ้นพร้อมด้วยลานเมืองและคูเป็นเวลาหกสิบสองสัปตะ” (ดนล. 9:25)
เมื่อรวมกับ 7 สัปตะแรก (49 ปี) จะเป็นเวลาทั้งหมด 69 สัปตะ หรือ 483 ปี ซึ่งจะเป็นปีที่ “ท่านผู้ถูกเจิมจะต้องถูกตัดออก” หมายถึงถูกประหาร (ดนล. 9:26) หากนับตั้งแต่ กคศ. 445 ต่อไปอีก 483 ปี (หรือ 173,880 วัน ตามธรรมเนียมของยิวหนึ่งปีจะมี 360 วัน) ก็จะตกในปี ค.ศ. 33 ซึ่งเป็นปีที่พระเยซูถูกตรึง
หลังจากที่พระเมสสิยาห์ถูกตัดออกแล้ว กรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารก็จะถูกทำลาย (ดนล. 9:26) ซึ่งคำพยากรณ์นี้ได้สำเร็จลงในปี ค.ศ. 70 เมื่อไททัสยกกองทัพมาประชิดกรุงเยรูซาเล็มในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 70 และได้ยึดและทำลายเมืองในวันที่ 7 กันยายนปีเดียวกัน
ช่วงที่สาม – ช่วงสัปตะสุดท้ายหรือสัปตะที่ 70
ภายหลังการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซู คริสตจักรได้ถือกำเนิดขึ้นในเพนเทคศเต (กจ. 2) และก็เข้าสู่ยุคคริสตจักร นักศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ยุคคริสตจักรไม่ได้อยู่ในสัปตะใดๆ เลย แต่อยู่ระหว่างสัปตะที่ 69 และสัปตะสุดท้ายหรือสัปตะที่ 70 ซึ่งพระคัมภีร์เรียกสัปดาห์สุดท้ายนี้ว่า “การทนทุกข์ครั้งใหญ่”
ช่วงระหว่างสัปตะที่ 69 และ 70 จึงเป็นเหมือน “ช่องว่างของเวลา” ขนาดใหญ่ และนาฬิกาโลกได้หยุดเดินชั่วขณะ จนถึงเวลาที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้ว คือ เมื่อเสียงแตรดังขึ้น (1 ธส.4:16) และพระเยซูจะรับคริสตจักรของพระองค์ขึ้นไป นาฬิกาโลกจึงเริ่มกลับมาเดินอีกครั้งหนึ่งและนั่นคือการเข้าสู่สัปตะที่ 70
คำถามและข้อสงสัยก็คือสัปตะที่ 70 เริ่มหรือยัง หรือจะเริ่มเมื่อไหร่?
เมื่อพิจารณาจากบริบทของพระคัมภีร์ ทั้งจาก ดาเนียล 9:24 “มีเจ็ดสิบสัปตะแห่งปีกำหนดไว้สำหรับชนชาติของท่านและนครบริสุทธิ์ของท่าน เพื่อให้เสร็จสิ้นการทรยศ ให้บาปจบสิ้น และให้ลบมลทิน เพื่อนำความชอบธรรมนิรันดร์เข้ามา เพื่อประทับตราทั้งนิมิตและคำของผู้เผยพระวจนะไว้ และเพื่อจะเจิมสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด”
ในข้อนี้ได้บอกว่า 70 สัปตะเกี่ยวข้องกับชนชาติอิสราเอลในเรื่อง
1) เสร็จสิ้นการทรยศ
2) ให้บาปจบสิ้น
3) ให้ลบมลทิน
4) นำความชอบธรรมนิรันดร์เข้ามา
5) ประทับตรานิมิตและคำของผู้เผยพระวจนะ
6) เจิมอภิสุทธิสถาน
ส่วนในพระธรรมมัทธิว 24:32-33 ซึ่งได้เปรียบเทียบชนชาติอิสราเอลกับต้นมะเดื่อที่แตกกิ่ง ก็หมายถึงการกลับคืนสู่ความเป็นประเทศอิสราเอลหลังจากสิ้นชาติไปตั้งแต่ ค.ศ. 70 ซึ่งตามประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นแล้วใน ค.ศ. 1948
อีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคำพยากรณ์ของดาเนียล คือ การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่และมีการถวายบูชาแด่พระเจ้าอีกครั้ง (เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นแต่ทุกคนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน) แล้วปฏิปักษ์ของพระคริสต์จะปรากฎตัวขึ้นและทำพันธสัญญากับอิสราเอล แต่สามปีครึ่งผ่านไป (ครึ่งสัปตะ) ปฏิปักษ์ของพระคริสต์จะ “ฉีก” พันธสัญญากับอิสราเอล และกระทำสิ่งที่น่าสะอิดสะเอียนซึ่งนำไปสู่ความวิบัติดังที่พระเยซูตรัสไว้ในมัทธิว 24:15 (ดู ดนล. 9:27) ซึ่งก็คือการตั้งรูปเคารพในพระวิหาร
(หมายเหตุ: สิ่งน่าสะอิดสะเอียน หมายถึงถึงรูปเคารพที่ชนต่างชาตินับถือ และบ่อยครั้งที่ชาวอิสราเอลถูกบังคับให้ตั้งรูปเคารพของเทพเจ้าเหล่านี้ในพระวิหาร แต่ข้อความนี้น่าจะหมายโดยเฉพาะถึงรูปเคารพของเทพเจ้าซูสซึ่งชาวกรีกนับถือที่ภูเขาโอลิมปัสและกษัตริย์อันทิโอคุส อิพิฟานิส ทรงสั่งให้สร้างไว้ในบริเวณพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ปรากฏในหนังสือนอกบรรทัดฐานพระคัมภีร์อย่าง 2 แมคคาบี 6:2)
สรุป
อย่างที่ได้กล่าวไป ถ้าดูจาก timeline (ลำดับเหตุการณ์) เรายังอยู่ในช่วงระหว่างสัปตะที่ 69 และ 70 แม้ว่าจะลำดับเหตุการณ์ได้อย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่ฟันธงลงไปว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมาเมื่อไร เพราะยังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่เกินความเข้าใจของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกรับขึ้นไป (Rapture) ยุคพันปี (Millennium)
แต่พระองค์จะเสด็จกลับมาแน่นอนตามกำหนดการที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ และทุกคนที่เชื่อก็จะถูกรับขึ้นไปและ “เราก็จะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นนิตย์ เหตุฉะนั้นจงปลอบใจกันด้วยถ้อยคำเหล่านี้เถิด… เพื่อว่าถึงเราจะตื่นอยู่หรือจะหลับ เราจะได้มีชีวิตกับพระองค์ เหตุฉะนั้นจงหนุนใจกันและต่างคนต่างจงก่อกันขึ้น ตามอย่างที่ท่านกำลังทำอยู่นั้น” (1 ธส. 4:17-18, 10-11)
บทความ: ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี
ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
อาจารย์สถาบันพระคริสตธรรมศึกษา Faith Bible Institute
ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวไทย
ภาพ: Jacob Bentzinger on Unsplash
ออกแบบ: Nan Tharinee
vasintim
ChristLike Admin