บทความ

ความจริงสัมบูรณ์ (Absolute Truth) กับ ความจริงสัมพัทธ์ (Relative Truth)

ความหมาย

ความจริงที่สัมบูรณ์ จะมีลักษณะ 3 อย่างใหญ่ๆ คือ
(1) เป็นจริงสำหรับทุกคน,
(2) เป็นจริงในทุกเวลา
(3) เป็นจริงในทุกสถานที่
เช่น ไม่มีสี่เหลี่ยมที่เป็นวงกลม
ดังนั้นความจริงสัมบูรณ์จึงเป็นสิ่งที่คงที่และเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ความจริงสัมพัทธ์ คือ สิ่งที่ไม่ใช่ความจริงสัมบูรณ์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละบุคคล แต่ละเวลา แต่ละสถานที่ เช่น ข้าวขาหมูอร่อย, เป็นสิ่งดีที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน และกลุ่มคนที่เชื่อว่า “ทุกอย่างเป็นความจริงสัมพัทธ์” หรือ “ไม่มีความจริงสัมบูรณ์” จะถูกเรียกว่า กลุ่มสัมพัทธนิยม (relativism)

ประโยคยอดนิยมของกลุ่มสัมพัทธนิยม

จากประสบการณ์พบว่า กลุ่มสัมพัทธนิยมเป็นกลุ่มหนึ่งที่ยากในการเป็นพยาน เพราะพวกเขาเชื่อว่าทุกอย่างเป็นความจริงสัมพัทธ์ กล่าวคือ ทุกอย่างเป็นเพียงความคิดและความรู้สึก ไม่มีความจริงที่สัมบูรณ์ แนวคิดเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสของสังคมที่มีแนวโน้มไปในทางปัจเจกนิยม (individualism) และ สิทธิมนุษยชน (human right) โดยสนใจความรู้สึกและประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ มากกว่า สนใจผลประโยชน์ของสังคมหรือคนรอบข้าง

ประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ ของคนกลุ่มนี้คือ

(1) ไม่มีความจริงที่สัมบูรณ์ ทุกอย่างเป็นความจริงสัมพัทธ์ เป็นเพียงความรู้สึกของแต่ละคน

ก. ประโยคที่ขัดแย้งในตัวเอง (Self-defeating sentence)

ประโยค (1) นี้เป็นตัวอย่างของประโยคที่มีความขัดแย้งในตัวเอง เพราะว่า หากประโยค (1) เป็นจริง  ประโยค (1) ก็จะกลายเป็นเท็จ เพราะว่าคนพูดกำลังทำให้ประโยค (1) กลายเป็นความจริงสัมบูรณ์เสียเอง ซึ่งทำให้มันขัดแย้งในตัวเอง ดังนั้นประโยคข้างต้นไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้เลย

ข. ความจำเป็น (Necessity)

“ชิลีอยู่ไกลกว่าเวียดนาม” ประโยคนี้จะมีความหมาย และเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อ ผู้พูดกับผู้ฟังมีจุดอ้างอิงจุดเดียวกัน และประโยคนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับ หากผู้พูดอยู่อาร์เจนตินา และผู้ฟังอยู่ฮ่องกง หลายครั้งในการสนทนา “จุดอ้างอิงที่เหมือนกัน” มีความสำคัญในการสื่อสาร กล่าวคือ จุดอ้างอิงเดียวกัน เป็นความจำเป็นในการสื่อสารแบบชัดเจน

เช่นเดียวกัน คุณไม่สามารถดีเบตอย่างมีตรรกะได้ว่า “ความจริงสัมบูรณ์ไม่มี” เพราะว่า คุณจำเป็นต้องมีความจริงสัมบูรณ์บางอย่างเพื่อสนับสนุนการดีเบตที่มีตรรกะ กล่าวคือ ความจริงสัมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็นในการดีเบตอย่างมีตรรกะ

(2) เฉพาะความจริงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ที่เป็นความจริงสัมบูรณ์ นอกนั้นเป็นความจริงสัมพัทธ์

ประโยคที่ (2) จะมีความคล้ายกับประโยคที่ (1) โดยจะยอมรับเฉพาะความจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้จึงเป็นความจริงสัมพัทธ์ทั้งหมด

ก. ประโยคที่ขัดแย้งในตัวเอง (Self-defeating sentence)

หลักการเดียวกันกับข้างต้น ประโยคนี้เป็นจริงไม่ได้ เนื่องด้วยประโยคนี้เองก็ไม่ใช่ความจริงทางวิทยาศาสตร์ หาก (2) เป็นจริง (2) ก็จะกลายเป็นเท็จ เพราะว่า (2) จะเป็นความจริงที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เสียเอง ซึ่งจะขัดแย้งในตัวเอง ดังนั้นประโยคข้างต้นไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้เลย

ข. ความจำกัดของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Limitation of scientific method)

แน่นอนว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาความจริงในหลายๆ ด้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงหลายอย่างได้ เพราะมีความจำกัดในหลายด้าน

1) สามารถวัดได้ (measurable)

ความจริงทางวิยาศาสตร์ บางครั้งถูกเรียกว่าความจริงเชิงประจักษ์ (empirical truth) ซึ่งต้องเกิดจากการรวบรวมข้อมูล ดังนั้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะศึกษาเฉพาะในสิ่งที่วัดได้เท่านั้น เช่น วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ว่าแม่รักลูก หรือรวมไปถึงความจำกัดทางด้านเครื่องมือวัด เช่น บางอย่างเล็กมากเกินไป, บางอย่างไกลมากเกินไป, บางอย่างร้อนมากเกินไป

2) สามารถทำซ้ำได้ (repeatable)

หากข้อมูลที่สังเกตสามารถทำซ้ำได้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในข้อสรุปได้ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถพิสูจน์ความจริงที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ในอดีตได้

3) ความผิดพลาดจากมนุษย์ (human error)

มนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ความเอนเอียง, ผลประโยชน์ทับซ้อนในการตีความหมาย, พื้นฐานความรู้ความเข้าใจ และ อีกมากมาย

โดยทั่วไปนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยอมรับในความจำกัดเหล่านี้ จึงเกิดศาสตร์ต่างๆ ขึ้นมา เช่น ประวัติศาสตร์, นิติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ก็เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั่วไปเช่นกัน ดังนั้นการที่สรุปว่าวิทยาศาสตร์เป็นความจริงเดียวที่สัมบูรณ์จึงเป็นข้อสรุปที่ไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไร

(3) ไม่มีใครรู้ความจริงหรอก

หลักการเดียวกันกับข้างต้น ประโยคนี้ขัดแย้งในตัวเอง เพราะถ้าผู้พูดเชื่อว่าประโยค (3) นี้เป็นจริง ประโยค (3) นี้ก็จะกลายเป็นเท็จไปด้วย เพราะว่าผู้พูดกำลังบอกความจริงที่ผู้พูดรู้นั่นเอง ซึ่งจะขัดแย้งในตัวเอง ดังนั้นประโยคข้างต้นไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้เลย

(4) ในโลกนี้ ไม่มีผิด ไม่มีถูก

ลองถามกลับไปว่า ประโยคที่คุณพูดมานี้ถูกหรือผิด

(5) เป็นการไม่สมควรเลยนะ ที่คุณพยายามยัดเยียดให้ผมเชื่อเหมือนคุณ

ลองถามกลับไปว่า ประโยคนี้ก็เป็นการยัดเยียดแบบหนึ่งหรือเปล่า

ข้อสรุป

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า หลักคิดของสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ดี เราควรเคารพความแตกต่างทางความเชื่อ และ ความคิด แต่การจะไปสรุปว่า “ไม่มีความจริงสัมบูรณ์” เลยนั้นเป็นหลักคิดที่ตกขอบมากเกินไป แนวคิดของสัมพัทธนิยมไม่สามารถดีเบตแบบมีตรรกะได้เลย อีกทั้งประโยคสนทนาส่วนใหญ่จะเป็นประโยคที่ขัดแย้งในตัวเองเกือบทั้งสิ้น

ผมเห็นว่าข้อสรุปที่ดีคือ มีบางอย่างเป็นความจริงสัมบูรณ์ และ มีบางอย่างเป็นความจริงสัมพัทธ์

 

บทความ:  ดร.อาณัติ เป้าทอง
ภาพ:  Luke Ellis-Craven on Unsplash
ออกแบบ:  Sinn

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง