บทความ

ทำไมคนดีที่ไม่เชื่อพระเจ้าจึงตกนรก?

ซีรีส์ คำถามเด็กหลังห้อง ตอนที่ 3

ช่วงเป็นคริสเตียนใหม่ๆ ผมเริ่มเป็นพยานเรื่องราวพระเจ้า เกือบทุกครั้งที่แบ่งปันว่ามนุษย์ขึ้นสวรรค์ได้โดยเชื่อว่าพระเยซูมาตายไถ่บาปที่กางเขน จะมีคำถามตามมากมาย เช่น ง่ายไปไหม ไม่ยุติธรรม ฯลฯ และมีคำถามหนึ่งที่ตอบยากมากคือ “คนดีที่ไม่เชื่อก็ตกนรกหรือ?”

————————————–

คำถาม : ทำไมคนดีที่ไม่เชื่อพระเจ้าจึงตกนรก?

วิเคราะห์คำถาม:

โดยทั่วไป กลุ่มความเชื่อว่าไม่มีพระเจ้า (Atheism) จะไม่เชื่อสิ่งที่เกี่ยวกับ Objective morality รวมไปถึงเรื่องสวรรค์-นรกด้วย ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีคำถามแนวนี้ในสังคมตะวันตกมากนัก แต่สังคมตะวันออกที่มีพื้นความคิดแบบที่ไม่สนใจเรื่องพระเจ้า (Agnosticism) คือเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และ “การทำดี” เป็นแนวทางขึ้นสู่สวรรค์

แต่เมื่อคริสเตียนไปเสนอวิธีอื่นในการขึ้นสวรรค์ หลายคนในสังคมตะวันออกจึงสงสัยว่า การใช้แค่ความเชื่อเพื่อขึ้นสวรรค์นั้นมันดูไม่ยุติธรรมและไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง เพื่อช่วยให้เข้าใจขึ้นและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจะขอเริ่มอธิบายจาก 3 หลักคิดก่อน

หลักคิดการตอบคำถาม:

หลักคิดที่ 1  ความหมายคำว่า “ดี”

โลกได้กำหนดหน่วยวัด “กิโลกรัม” เป็นหน่วยวัดน้ำหนักมาตรฐานสากลตั้งแต่ปี คศ.1875 เพื่อสร้างมาตรฐานการวัดและให้สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น จากนั้นไม่นานจึงสร้างวัตถุโลหะทรงกระบอกเพื่อเป็นมาตรฐานของมวล 1 กิโลกรัม (International Prototype Kilogram หรือ IPK) หากวัตถุใดเบากว่า IPK ก็ถือว่าน้ำหนักน้อยกว่า 1 กิโลกรัมนั่นเอง

โดยทั่วไปเมื่อต้องเปรียบเทียบเรื่องที่ “มากกว่า น้อยกว่า สูงกว่า ต่ำกว่า” เราจำเป็นต้องใช้สิ่งที่เป็นจุดอ้างอิงหรือมาตรฐานในการเปรียบเทียบเสมอ แล้วมนุษย์ใช้อะไรเป็นมาตรฐานเพื่อวัดสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่าง “ความดี” (สิ่งที่มนุษย์ควรทำหรือควรปฏิบัติ) ซึ่งแต่ละกลุ่มความเชื่อนั้นก็มีมาตรฐานที่ต่างกันไปดังนี้

ความเชื่อว่ามีพระเจ้า (Theism): มาตรฐานความดีถูกกำหนดโดยพระเจ้า ดังนั้น ความดีจึงเป็น Objective
ความเชื่อว่าไม่มีพระเจ้า (Atheism): มาตรฐานความดีเปลี่ยนไปตามแต่ละบุคคล ดังนั้น ความดีจึงเป็น Subjective
ความเชื่อที่ไม่สนใจเรื่องพระเจ้า (Agnosticism): มาตรฐานความดีมีอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกกำหนดโดยใคร ดังนั้นความดีจึงเป็น Objective

ดังนั้นเมื่อความดีของกลุ่ม Atheism เป็น Subjective คำถามข้างต้นจึงไม่เกิดขึ้น แต่ความดีของพวก Agnosticism เป็น Objective จึงเกิดคำถามข้างต้นได้ เหตุที่ผมแยกแยะให้เห็นความหมายของความดีทั้งสามแบบ ก็เพื่อคนอ่านจะเข้าใจมุมมองของผู้ฟังได้ดีขึ้น และมีแนวทางตอบคำถามที่มีประสิทธิภาพขึ้น
* แนะนำอ่านบทความนี้เพื่อเข้าใจความหมายเพิ่มเติมของ Objective vs Subjective

หลักคิดที่ 2  มาตรฐานความดีของพระเจ้า

สำหรับคริสเตียน มาตรฐานความดีถูกกำหนดโดยพระเจ้า ผ่านทางพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สูงมากและทำตามได้ยากมาก

(1) ทำได้ยากในมิติปริมาณ
พระคัมภีร์มีคำสั่งและข้อห้ามมากมาย แค่อ่านให้จบก็ยากแล้ว ไหนยังอาจจะลืมไปบ้าง เราจึงแทบไม่ต้องพูดถึงการทำตามเลย (โดยส่วนตัวมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำตามทั้งหมด) และมากไปกว่านั้นพระคัมภีร์บอกชัดเจนว่าต้องทำตาม “ทุกข้อ” ไม่ใช่แค่บางข้อ (ยก.2:10) ดังนั้นหากเราละเมิดเพียง 1 ข้อก็เพียงพอที่จะทำให้เราตกมาตรฐานของพระเจ้าแล้ว

(2) ทำได้ยากในมิติคุณภาพ
นอกจากคำสั่งมากมายแล้ว มีหลายคำสั่งที่ยากจะทำตามได้ โดยเฉพาะเรื่องรักษาท่าทีภายในใจที่ขัดกับธรรมชาติความของมนุษย์ เช่น ห้ามโลภ ห้ามหยิ่ง ห้ามรักเงิน ให้อภัยคนอื่น รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ฯลฯ ส่วนตัวมองว่าการทำตามคำสั่งเหล่านี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย

(3) ทำได้ยากในมิติเวลา
นอกจากมิติปริมาณ คุณภาพ ยังเพิ่มความยากเข้าไปอีกด้วยมิติด้านเวลา นั่นคือมนุษย์ต้องทำตามทุกคำสั่งของพระคัมภีร์ทุกข้อ “ทุกเวลา” ซึ่งมั่นใจได้เลยว่า ไม่มีใครในโลกสามารถทำตามมาตรฐานความดีของพระเจ้าแบบนี้ได้เลย สรุปคือ มนุษย์ทุกคนจึงตกมาตรฐานความดีของพระเจ้า (รม.3:23)

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นเกี่ยวกับคนทำดี มันก็เหมือน “เป็ด” เรารู้ว่าเป็ดมีปีกและสามารถลอยเหนือพื้นได้หลายวินาที แต่เราก็จะไม่บอกว่าเป็ดบินได้ มนุษย์ก็เช่นกัน เราอาจเห็น “คนทำความดี” ได้บางครั้งบางคราว แต่ไม่มีใครเป็น “คนดี” ได้ครบในสามมิติข้างต้น ดังนั้นจึงไม่มีใครดีเลยในมาตรฐานของพระเจ้า นั่นคือ “คนทำความดีบางครั้ง” จึงยังไม่ใช่ “คนดี”

หลักคิดที่ 3  เงื่อนไขการขึ้นสวรรค์

หากนาย A เป็นต่างด้าวและต้องการถือสัญชาติไทย นาย A ต้องทำตามระเบียบและเงื่อนไขที่ประเทศไทยเป็นคนกำหนด เช่น สมรสกับคนถือสัญชาติไทย ซึ่งระเบียบและเงื่อนไขเหล่านั้นถูกกำหนดโดยผู้ที่มีอำนาจของไทย นาย A ไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ เพราะว่า นาย A ไม่ใช่เจ้าของประเทศ

สำหรับคริสเตียน พระเจ้าเป็นผู้สร้างสวรรค์และถือว่าเป็นเจ้าของสวรรค์ เงื่อนไขการขึ้นสวรรค์จึงถูกกำหนดโดยพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขนั่นก็คือ การยกโทษความผิด ผ่านทางการเชื่อว่าพระเยซูมาตายที่กางเขน (ยน.3:16) และเป็นเงื่อนไขเดียว (ยน.14:6) ไม่เกี่ยวกับการกระทำของเรา (อฟ.2:8-9) ดังนั้นมนุษย์ไม่มีสิทธิ์ไปเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนี้ เพราะมนุษย์ไม่ใช่เจ้าของสวรรค์ ฉะนั้นแนวคิด “ทำดีขึ้นสวรรค์” จึงเป็นแนวคิดของ Agnosticism เท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ในแนวคิดของ Theism ได้

การเข้าใจทั้งสามแนวคิดนี้ช่วยให้เราพร้อมตอบคำถามนี้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพขึ้น

แนวทางการตอบคำถาม:

แนวทางที่ 1 – มีคนทำความดี แต่ไม่มีคนดี

ก่อนอื่นเราต้องยืนยันความยุติธรรมของพระเจ้าว่า “หากเป็นคนดี แม้ว่าไม่เชื่อคุณก็ไม่ตกนรก” แต่หลักคิดที่ 1,2 ทำให้เราสรุปได้ว่า มนุษย์ทุกคนตกจากมาตรฐานความดีของพระเจ้า คือในสายตาของพระเจ้าไม่มีคนดีแม้แต่คนเดียว ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ “คนทำความดีแต่ไม่เชื่อจึงตกนรก” เพราะว่า “คนทำความดี” บางครั้งยังไม่ใช่ “คนดี”

แนวทางที่ 2 – เงื่อนไขการขึ้นสวรรค์คือยกโทษความผิด ไม่ใช่การทำความดี

เราอ้างจากหลักคิดที่ 3 ได้ว่า เงื่อนไขในการขึ้นสวรรค์ของคริสเตียนคือ การที่พระเจ้ายกโทษความผิด ไม่ใช่การทำความดี ดังนั้น คนทำความดีที่ไม่เชื่อจึงตกนรกได้

แนวทางที่ 3 – เปรียบเทียบกับการอภัยโทษ

นอกจาก “ทำไมคนดีที่ไม่เชื่อจึงตกนรก” ยังมีคำถามที่ดูคล้ายกัน “ทำไมคนเลวที่เชื่อจึงขึ้นสวรรค์” ซึ่งมันดูไม่ยุติธรรมเลย โดยทั่วไปผมมักใช้ตัวอย่างการอภัยโทษเพื่ออธิบาย (คนไทยคุ้นเคยกับเรื่องนี้ดี)

นักโทษคนหนึ่ง ถูกประเทศ A พิพากษาจำคุก 5 ปี ในข้อหาลักทรัพย์ แต่เขาได้รับอภัยโทษโดยกษัตริย์ แน่นอนว่าสิ่งที่กษัตริย์ทำนั้น เราไม่เรียกว่าความยุติธรรม เพราะนักโทษไม่ได้รับผลจากสิ่งที่ตัวเองทำ แต่เราเรียกว่า “พระคุณพระเมตตา” ซึ่งกษัตริย์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ทำได้ เพราะพระองค์เป็นเจ้าของประเทศ A ดังนั้น การที่คริสเตียนขึ้นสวรรค์จึงไม่เกี่ยวกับความยุติธรรมเช่นกัน แต่เป็นพระคุณของพระเจ้าซึ่งเป็นเจ้าของสวรรค์นั่นเอง

แนวทางที่ 4 – เปรียบเทียบกับการซื้อประกันอุบัติเหตุ

เรื่องประกันก็เป็นอีกตัวอย่างที่ถูกใช้บ่อยเพื่อตอบคำถามลักษณะนี้

นาย A ได้ทำประกันอุบัติเหตุไว้กับบริษัทประกันแห่งหนึ่ง โดยที่บริษัทนี้จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขว่านาย A ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยทุกเดือนจำนวน 2,000 บาท ตลอดสัญญา ดังนั้นหากนาย A ขับรถไปชน นาย B บริษัทประกันจึงต้องเข้ามารับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด แม้ทางบริษัทจะไม่ได้ขับรถชนเองก็ตาม เพราะว่า นาย A กับ บริษัทมีสัญญาต่อกัน

สำหรับคริสเตียน พระเยซูเปรียบเสมือนบริษัทประกันภัย โดยมี “ความเชื่อ” เป็น “เบี้ยประกันภัย” ตราบใดที่ นาย A ยังรักษาความเชื่อเอาไว้ ความผิดที่นาย A ก่อขึ้นก็จะถูกพระเยซูชดใช้ให้ทั้งหมด ดังนั้นคนที่ไม่เชื่อ ก็เปรียบเสมือนกับคนที่ไม่ได้ซื้อประกันภัย ต่อให้ขับรถเก่งแค่ไหน หากเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้งก็ต้องจ่ายค่าเสียหายด้วยตัวเอง

————————————–

หวังว่า คำตอบเหล่านี้จะช่วยให้ผู้อ่านมั่นใจในสิ่งที่เชื่อ และสามารถปกป้องความเชื่อของตัวเองได้ดีขึ้นนะครับ

เราหวังว่าทุกข้อสงสัย จะมีคำตอบที่มีเหตุผล”

 

บทความ:  ดร.อาณัติ เป้าทอง
ออกแบบภาพ:  Mantana

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง