บทความ

หลักคำสอนในพระคัมภีร์เรื่องการเมืองการปกครอง ตอนที่ 1: พระเจ้า รัฐบาล และอารยะขัดขืน 

1) พระเจ้าเองทรงอนุญาตให้เกิดรัฐบาลและการปกครอง คริสเตียนทุกคนจึงต้องเคารพกฎหมาย 

ทุกคนจงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง เพราะว่าไม่มีอำนาจใดเลยที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า และผู้ที่ถืออำนาจนั้น พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น 2เพราะฉะนั้นผู้ที่ขัดขืนอำนาจนั้น ก็ขัดขืนผู้ซึ่งพระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น และผู้ที่ขัดขืนนั้นจะต้องถูกลงโทษ 3เพราะว่าผู้ครอบครองนั้นไม่น่ากลัวเลยสำหรับคนที่ประพฤติดี แต่ว่าเป็นที่น่ากลัวสำหรับคนที่ประพฤติชั่ว ท่านไม่อยากจะกลัวผู้มีอำนาจหรือ? ถ้าอย่างนั้นก็จงทำแต่ความดี แล้วท่านก็จะได้เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจนั้น 4เพราะว่าผู้ครอบครองนั้น เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าเพื่อให้ประโยชน์แก่ท่าน แต่ถ้าท่านทำความชั่วก็จงกลัวเถิด เพราะว่าผู้ครอบครองไม่ได้ถือดาบไว้เฉยๆ แต่เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และจะเป็นผู้ลงโทษแทนพระเจ้าแก่ทุกคนที่ประพฤติชั่ว

5เพราะฉะนั้นท่านจะต้องเชื่อฟังผู้ครอบครอง ไม่ใช่เพื่อจะหลีกเลี่ยงการลงโทษอย่างเดียว แต่เพื่อมโนธรรมด้วย 6เพราะเหตุผลนี้ ท่านจึงได้เสียส่วยด้วย เพราะว่าผู้มีอำนาจนั้นเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และปฏิบัติหน้าที่นี้อยู่ 7จงให้แก่ทุกคนที่ท่านต้องให้เขา คือ ส่วย แก่คนที่ท่านต้องเสียส่วยให้ ภาษี แก่คนที่ท่านต้องเสียภาษีให้ ความยำเกรง แก่คนที่ท่านต้องให้ความยำเกรง เกียรติ แก่คนที่ท่านต้องให้เกียรติ(โรม 13:1-7)

ไม่ว่ามนุษย์ทั้งหลายจะรู้ตัวหรือไม่ หรือจะยอมรับหรือไม่ พระเจ้าก็ยังทรงปกครองอยู่เหนือสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น แม้มนุษย์บางคนจะไม่ได้เชื่อถือในพระเยซูคริสต์ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่นอกเหนือจากอำนาจการปกครองควบคุมของพระเจ้าไปได้ ถ้าพวกเขายอมรับปกครองของพระองค์พวกเขาก็จะได้รับสันติสุขและชีวิตนิรันดร์ผ่านทางพระเยซูคริสต์ แต่ถึงแม้พวกเขาไม่ยอมรับการปกครองของพระเจ้าก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะเป็นอิสระจากพระราชอำนาจของพระองค์แต่อย่างใด 

ผู้คนที่อยู่ในอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งก็อยู่ใต้กฎหมายและการปกครองของประเทศนั้นๆ ฉันใด มนุษย์ที่อยู่ในอาณาเขตแห่งการทรงสร้างของพระเจ้าก็อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ฉันนั้น การไม่ยอมรับอำนาจของผู้ปกครองอาณาเขตที่ตนอาศัยอยู่นั้นไม่สามารถเป็นเหตุผลในการปฏิเสธอำนาจที่ปกครองอยู่นั้นได้ฉันใด การที่มนุษย์ไม่ยอมรับการปกครองของพระเจ้าก็ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสามารถในการปฏิเสธการปกครองของพระองค์ฉันนั้น ดังนั้นไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือยอมรับหรือไม่ พระเจ้าก็ยังทรงเป็นผู้อนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาปกครองสังคมใดสังคมหนึ่งเสมอ ความจริงในเรื่องการปกครองสูงสุดของพระเจ้านี้ทำให้เรามีหลักการและแนวทางการวางตัวที่เหมาะสมต่อผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่เชื่อถือในพระเยซูคริสต์หรือไม่ก็ตาม เราจึงไม่ได้เชื่อฟังเขาเพราะตัวตนของเขา แต่เราเชื่อฟังพวกเขาเพราะพวกเขาทำหน้าที่แทนพระเจ้าในการรักษาความสงบสุขและให้ความเป็นธรรมต่อผู้คนในสังคม

แต่เมื่อพวกเขาได้ขึ้นมาปกครองแล้ว พวกเขาก็ควรจะปกครองด้วยคุณธรรม พระเจ้ามิได้ทรงแต่ตั้งคนใดคนหนึ่งขึ้นปกครองเพื่อให้เขาทำสิ่งเลวร้าย แต่พระองค์ทรงคาดหวังให้ผู้ปกครองทุกคนทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของผู้คนที่ตนปกครอง ดังนั้นถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองทำในสิ่งที่ไม่ซื่อสัตย์หรือปกครองโดยขาดคุณธรรม พระเจ้าเองก็จะทรงพิพากษาลงโทษเขาทั้งผ่านทางกระบวนการยุติธรรมในโลกนี้และการพิพากษาจากบัลลังก์ของพระองค์ในวันสุดท้ายของโลกนี้ด้วย ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายทั้งในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ เช่น เนบูคัดเนสซาร์ (ดาเนียล 4) หรือกษัตริย์เฮโรดอากริปปา (กิจการ 12) เป็นต้น

เราไม่สามารถกล่าวได้ว่าพระเจ้าทรงตั้งคนผิดขึ้นมาปกครอง เพราะอันที่จริงก็ไม่มีใครเป็นคนดีจริงๆ สักคนเดียว (โรม 3:10)

ทุกคนที่ขึ้นมาปกครองก็ล้วนแล้วแต่ยังมีข้อบกพร่องทั้งสิ้นเพราะพวกเขาเองก็ถูกเลือกมาจากบรรดามนุษย์ที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถกล่าวได้ว่าถ้าพระเจ้าทรงควบคุมอยู่จริง เหตุใดจึงทรงตั้งคนๆ นี้ขึ้นมาปกครอง?” ไม่ว่าใครจะได้ขึ้นมาปกครองก็ตามเมื่อเขาได้รับตำแหน่งหน้าที่ในการปกครองแล้ว เขาต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าทั้งในวันนี้และวันสุดท้าย 

เราจะสังเกตเห็นว่าพระคัมภีร์ข้อนี้ไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เอ่ยถึงหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจ นั่นคือการปกครอง ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าเราจะชื่นชอบหรือไม่ชื่นชอบผู้ที่กำลังมีอำนาจหรืออยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจนั้น เราก็ต้องยอมอยู่ใต้แนวทางการปกครอง (กฎหมายและนโยบายต่างๆ) ที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้เขาทำหน้าที่นี้อยู่ ดังนั้นความรู้สึกที่เรามีต่อคนที่มีอำนาจจึงไม่สามารถเป็นเหตุให้เราฝ่าฝืนกฎหมายหรือระเบียบระบอบที่ได้รับการจัดตั้งผ่านทางบุคคลผู้นี้หรือผู้ที่เขาแต่งตั้งนั้นได้ 

คำถามอีกคำถามคือเราต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้มีอำนาจที่กดขี่ข่มเหงด้วยหรือ? คำตอบคือคำว่าปกครองในที่นี้หมายถึงการบริหารทรัพยากรต่างๆ และรักษาความสงบสุขในสังคม ไม่ได้หมายถึงการข่มเหง (1 เปโตร 5:3) ดังนั้นถ้าบรรดาผู้ปกครองทำผิดต่อหน้าที่ของพวกเขา สังคมก็มีกระบวนการในการตรวจสอบและทักท้วง เราเองก็สามารถทักท้วงได้ตามกฎกติกาที่วางไว้ ซึ่งกฎกติกาดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งอำนาจนี้เช่นกัน เปาโลเองก็เคยทักท้วงผู้ปกครองที่ทำผิดต่อหน้าที่ของตนหรือกฎหมายที่พวกเขาควรจะรักษา เช่น ในตอนที่ท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีทั้งตามกฎหมายจารีตยิวและกฎหมายโรมัน (กิจการ 16:37-39; 22:25-26; 23:3; 25:10-12)

หลักพื้นฐานคือคริสเตียนต้องเชื่อฟังกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่ขัดแย้งต่อพระประสงค์ของพระเจ้าและพระบัญชาของพระองค์ เพราะพระเจ้าทรงอนุญาตให้มีกฎหมายดังกล่าวเพื่อรักษาความสงบสุขของสังคมและเราได้รับพระบัญชาให้เป็นผู้สร้างสันติ (มัทธิว 5:9)

2) มีเพียงกรณีเดียวที่พระเจ้าอนุญาต ให้เราขัดขืนผู้มีอำนาจปกครอง 

15เมื่อสั่งให้เปโตรกับยอห์นออกไปจากที่ประชุมแล้ว พวกเขาจึงปรึกษากัน 16ว่าเราจะทำอย่างไรกับสองคนนี้? เพราะเขาทั้งสองทำหมายสำคัญพิเศษซึ่งทุกคนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มก็รู้และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ 17แต่ให้เราขู่เข็ญไม่ให้เขาทั้งสองพูดชื่อนั้นกับใครอีก เพื่อเรื่องนี้จะไม่เลื่องลือแพร่ หลายไปท่ามกลางประชาชน18พวกเขาจึงเรียกเปโตรและยอห์นมา แล้วสั่งไม่ให้พูดหรือสอนออกพระนามของพระเยซูอีก 19แต่เปโตรกับยอห์นกล่าวตอบพวกเขาว่าเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าเราควรเชื่อฟังพวกท่านหรือควรเชื่อฟังพระเจ้า ขอพวกท่านพิจารณาดู 20เพราะเราไม่สามารถหยุดพูดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยิน” (กิจการ 4:15-20)

หากกฎหมายบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ขัดแย้งต่อพระประสงค์และพระบัญชาของพระเจ้าเราก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดในการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นๆ 

อย่างไรก็ตามเมื่อมีกฎหมายหรือนโยบายหรือระบอบใดที่ขัดกับคำสอนและพระบัญชาของพระเจ้าซึ่งปรากฏในพระคัมภีร์คริสเตียนก็ต้องพิจารณาว่าจะตอบสนองต่อกฎหมายนั้นๆอย่างไรบ้างเช่นในลำดับแรกคือการคัดค้านกฎหมายดังกล่าวในช่วงที่มีการระดมความคิดเห็นในการร่างกฎหมายดังเช่นที่เปโตรและยอห์นคัดค้านคำสั่งของผู้ปกครองชาวยิว (คำสั่งของสภาแซนเฮดรินหรือสภาปกครองของชาวยิวถือเป็นกฎหมายท้องถิ่นในบริบทของพวกเขา) หลังจากนั้นถ้าในที่สุดแล้วมีการตรากฎหมายนี้ขึ้นมาจนได้ คริสเตียนก็ยังคงต้องทักท้วงและอธิบายเหตุผลของการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวอย่างสงบและไม่ใช้ความรุนแรง 

การขัดขืนกฎหมายที่ตนเห็นว่าไม่ชอบธรรมโดยใช้ความสงบนี้ในเชิงรัฐศาสตร์เรียกว่าอารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) ซึ่งเป็นการประท้วงกฎหมายที่ตนเห็นว่าสร้างความไม่ชอบธรรมให้แก่ตนเองหรือคนที่ตนเองต้องการเป็นปากเป็นเสียงให้ หลักสำคัญคือการไม่ใช้ความรุนแรงทั้งด้านวาจาและการกระทำ แต่ใช้พฤติกรรมที่สงบและการอธิบายเหตุผลโดยปราศจากการทะเลาะวิวาท ตัวอย่างการขัดขืนคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองมีให้เห็นทั้งในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ เช่น เพื่อนๆ ของดาเนียลและตัวดาเนียลเอง (ดาเนียล 3:15-18; 6:6-12) เปโตรและยอห์น (กิจการ 4:15-20) อัครทูตเปาโล (ฟีลิปปี 1:12-13; 2 โครินธ์ 11:23) 

สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักไว้ให้มั่นในเวลานี้คือเราต้องเลือกวิธีการที่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายเสียก่อน เพราะระบอบการปกครองต่างๆ ก็มักจะมีกฎกติกาที่เปิดโอกาสให้ประชาชนอยู่ภายใต้การปกครองนั้นมีส่วนร่วมได้ในระดับหนึ่ง แต่หลังจากที่เราทำทุกอย่างตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการทักท้วงอย่างดีที่สุดแล้วกฎหมายที่ขัดต่อพระประสงค์ของพระเจ้าก็ยังคงได้รับการตราเพื่อนำออกมาบังคับใช้อยู่ดี ถึงจุดนี้เราก็ต้องเชื่อฟังพระดำรัสสั่งของพระเจ้ามากกว่ากฎหมายใดๆ  

ผู้ที่เชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ากฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่ไม่ถูกต้องนั้นก็เหมือนกับบรรดาคน “144,000 คนที่มีพระนามของพระเยซูคริสต์และพระนามของพระบิดาของพระองค์เขียนไว้บนหน้าผากของพวกเขา” (วิวรณ์ 14:1) ส่วนคนที่ยอมทำตามกฎหมายที่ขัดแย้งต่อพระประสงค์ของพระเจ้าหมิ่นพระนามของพระองค์ ก็เปรียบเหมือนคนที่มีสัญลักษณ์ 666 อยู่ที่มือขวาหรือที่หน้าผาก คือคนที่ยอมทำตามกฎเกณฑ์หรือกระแสของโลกนี้เพียงเพื่อตนเองจะได้รับความสะดวกและปลอดภัย (วิวรณ์ 13:16-18) แต่ผู้เชื่อแท้จะยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้าต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาในทางกฎหมายก็ตาม

แน่นอนว่าบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คริสเตียนคนหนึ่งคนใดรู้สึกฮึกเหิม ได้ใจ หรือคิดที่จะแสวงหาช่องทางในการทำสิ่งผิดกฎหมายโดยแอบอ้างพระนามของพระเจ้า หากใครทำเช่นนั้นก็จะต้องได้รับโทษทั้งจากพระเจ้าและจากคนที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งไว้ตามที่เราได้ศึกษาไปแล้วในโรม 13:1-7 แต่บทความนี้กำลังพยายามทำให้เรารู้ว่าพระเจ้าทรงครอบครองอยู่เหนือทุกชีวิตไม่ว่าจะรู้จักพระองค์หรือไม่ก็ตาม และการครอบครองของพระองค์นี้ยิ่งใหญ่สูงส่งกว่าการครอบครองใดๆ ของมนุษย์ เราจึงต้องเชื่อฟังการครอบครองสูงสุดของพระองค์ในกรณีที่การครอบครองของมนุษย์นั้นขัดแย้งกับการครอบครองของพระองค์

บทความเรื่องคริสเตียนกับการเมืองการปกครองบน website ของ Christlike นี้มีทั้งหมด 3 ตอน ฉบับนี้เป็นตอนที่ 1 ในฉบับต่อไปเราจะมาตอบคำถามกันว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งในด้านความคิดเห็นทางการเมืองนั้น พระคัมภีร์สอนให้เราจัดการอย่างไร? และในฉบับสุดท้ายคือเราควรจะวางตัวและมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบการปกครองของเราอย่างไรในฐานะที่เราเป็นคริสเตียนภายใต้ระบอบการปกครองในปัจจุบัน?

 

บทความ:  ศจ.ชาติชาย จารุวาที  บรรณาธิการบทความ Christlike
ออกแบบ: Rainniedesign

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง