หลายคนเข้าใจว่าพระคัมภีร์เป็นเอกสารโบราณที่บรรจุคำสอนทางศาสนา หรือเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ใช้สำหรับอ่านประกอบเพื่ออ้างอิงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นพระคัมภีร์คือ หนังสือบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย
ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้เรื่องการบริหารและการจัดการผ่าน กิจการ 6:1-7
1 ในเวลานั้นเมื่อพวกสาวกกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น พวกยิวที่พูดกรีกพากันบ่นติเตียนพวกยิวที่พูดฮีบรู เพราะบรรดาแม่ม่ายของพวกเขาถูกทอดทิ้งไม่ได้รับแจกอาหารประจำวัน
2 อัครทูตทั้งสิบสองคนจึงเรียกพวกสาวกมาประชุมกัน แล้วกล่าวว่า “การที่เราจะละเลยพระวจนะของพระเจ้า มัวไปแจกอาหารก็ไม่สมควร
3 เพราะฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย จงเลือกเจ็ดคนในพวกท่านที่มีชื่อเสียงดี เต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และสติปัญญา เราจะตั้งให้พวกเขาดูแลงานนี้
4 ส่วนเราจะอุทิศตัวในการอธิษฐานและในพันธกิจด้านพระวจนะ”
5 คนทั้งหลายก็เห็นชอบกับสิ่งที่กล่าวนี้ จึงเลือกสเทเฟนผู้เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์ กับฟีลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปารเมนัส และนิโคเลาส์ชาวเมืองอันทิโอกซึ่งเป็นคนเข้าจารีตในศาสนายิว
6 คนทั้งเจ็ดนี้ พวกเขาให้มายืนต่อหน้าพวกอัครทูต แล้วอัครทูตก็อธิษฐานและวางมือบนตัวเขาทั้งหลาย
7 การประกาศพระวจนะของพระเจ้าก็เจริญขึ้น และจำนวนสาวกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในกรุงเยรูซาเล็ม และพวกปุโรหิตจำนวนมากก็มาเชื่อถือ
ข้อคิด 7 ประการในการมอบหมายงานจาก กิจการ 6:1-7
1. ควรเตรียมการมอบหมายงานไว้ตั้งแต่เวลาที่งานยังมีปริมาณไม่มาก (6:1-2)
ทันทีที่บรรดาอัครทูตเริ่มเห็น “งานงอก” คือมีงานรูปแบบใหม่ๆ หรืองานมิติใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานหลักที่ทีมงานของพวกเขากำลังทำอยู่ หรืองานที่ทำอยู่มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
พวกเขาก็ไม่ได้นิ่งดูดายแล้วปล่อยให้งานขยายตัว จนไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นร่วมรับผิดชอบได้ทันท่วงที
แต่พวกเขารีบระดมความคิดและรวบรวมข้อมูล เพื่อมอบหมายหรือแต่งตั้งทีมงานอีกชุดหนึ่งขึ้นมา ให้รับผิดชอบดูแลงานที่งอกขึ้นมานั้น
2. การมอบหมายงานควรเกิดขึ้น เมื่อเห็นว่างานหลักที่ทำประจำกำลังมีผลกระทบ เมื่อเราต้องไปดูแลงานที่เพิ่มเติมขึ้นมา (6:2, 4)
ผู้นำจำนวนมากนำได้ดีเมื่อต้องรับผิดชอบงานเพียงชิ้นเดียว แต่เมื่องานมีปริมาณหรือมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้นำเหล่านี้ก็ล้มพลาดลงในเรื่องการ “จัดลำดับความสำคัญ” (prioritization)
ในพระธรรมตอนนี้เราเห็นว่าบรรดาอัครทูตไม่ได้พ่ายแพ้ต่อแรงกดดันที่สังคมเรียกร้องให้พวกเขาลงมารับมือกับงานชิ้นใหม่ด้วยตนเอง แต่พวกเขาประเมินดูก่อนว่างานดังกล่าวนี้เป็นงานที่ตรงกับหน้าที่ที่พวกเขาได้รับมอบหมายโดยตรงหรือไม่
เมื่อเห็นว่าไม่ตรงกับลำดับความสำคัญแรกๆ พวกเขาจึงตัดสินใจมอบหมายงานนี้ออกไป เพื่อจะไม่ไขว้เขวไปจากหน้าที่อันเป็นลำดับความสำคัญแรกของพวกเขา
วันนี้ลำดับความสำคัญ (priority) ของคุณคืองานชิ้นใด? มีอะไรมาทำให้คุณไขว้เขวไปบ้างหรือไม่? ถึงเวลามอบหมายให้คนอื่นมาดูแลงานที่อาจกระทบต่อหน้าที่หลักของคุณแล้วหรือยัง?
3. คุณสมบัติที่สำคัญของผู้รับมอบหมายงาน (6:3, 5)
การมอบหมายงานนั้นไม่ใช่การให้อำนาจตัดสินใจแก่คนอื่น ด้วยเหตุผลด้านความใกล้ชิดหรือเป็นที่นิยมชมชอบกับผู้มอบหมาย หรืออายุ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่มอบหมาย ดังจะเห็นได้ว่าบรรดาอัครทูตได้มอบหมายงานให้แก่คนที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
3.1 มีชื่อเสียงดี
การที่คนเราจะมีชื่อเสียงดีได้นั้นเกิดจากการมีผลงานที่ดีในอดีต หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มีประวัติดี แต่การมีประวัติดีนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่เคยทำสิ่งใดผิดพลาดมาก่อนเลย (เพราะคนเช่นนั้นคงไม่มีอยู่จริง)
แต่เป็นคนที่ปรับปรุงหรือตอบสนองต่อความผิดพลาดของตัวเองได้อย่างเหมาะสม และมีแนวโน้มตัดสินใจดีขึ้นเป็นลำดับ สิ่งนี้ก็ทำให้เกิด “ชื่อเสียงดี” เช่นกัน
3.2 เต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์
นี่ไม่ได้หมายถึงการร้องห่มร้องไห้มากกว่าคนอื่นในขณะที่อยู่ในห้องนมัสการ หรือกระฉับกระเฉงเสียงดังกว่าคนอื่นในช่วงนมัสการ (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะทำ)
แต่การเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณตามความหมายในพระคัมภีร์นั้น คือ การยอมให้พระวิญญาณทรงควบคุมชีวิต (เอเฟซัส 5:18) และมีแนวทางการดำเนินชีวิตกับการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ภายใต้ผลของพระวิญญาณ (กาลาเทีย 5:22-23)
กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นผู้ที่ “มีความเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายวิญญาณ” ไม่เอาอารมณ์หรือเหตุผลฝ่ายโลกเป็นที่ตั้งในการตัดสินใจนั่นเอง
3.3 มีสติปัญญา
คำว่ามีสติปัญญาในที่นี้หมายถึงมี “ทักษะ” หรือ “ความสามารถ” ในการแก้ไขปัญหางานที่ได้รับมอบหมายนี้ได้
ตามความหมายในพระคัมภีร์ “สติปัญญา” ไม่ได้หมายถึงผลการเรียนหรือระดับ IQ แต่หมายถึงความสามารถในการวินิจฉัยแยกแยะว่าสิ่งใดถูกต้องหรือผิดจากพระประสงค์ของพระเจ้า และรู้ว่าถูกหรือผิดด้วยเหตุผลใด
เนื่องจากงานที่ทำนี้เป็นงานของพระเจ้า ผู้มีสติปัญญาในที่นี้จึงหมายถึง ผู้ที่เข้าใจหลักการของพระเจ้า และประยุกต์ใช้หลักการนั้นได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่ตนกำลังเผชิญอยู่
4. แจ้งให้ผู้รับมอบหมายงานทราบว่าคุณจะทำสิ่งใดหลังจากมอบหมายงานแล้ว (6:4)
บางกรณีผู้รับมอบหมายงานอาจรู้สึกไม่เต็มใจรับมอบหมายงาน เนื่องจากรู้สึกว่าถูกผู้มอบหมายงานเอาเปรียบ คือโยนงานมาให้เขาแล้วตนเองก็สบายไม่ต้องทำงานอะไร
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อันนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างกัน ผู้มอบหมายควรจะแจ้งให้ผู้รับมอบให้ทราบว่า ตนเองจะทำหน้าที่ใด ส่วนผู้รับมอบก็ทำหน้าที่ที่พวกเขาได้รับมอบหมาย
ดังที่เราเห็นในตอนนี้ว่า บรรดาอัครทูตกล่าวว่า “…ส่วนเราจะอุทิศตัวในการอธิษฐานและในพันธกิจด้านพระวจนะ” ซึ่งนี่คือ priority (ลำดับความสำคัญ) หลักในฐานะอัครทูต
(ถ้าเปรียบเทียบกับองค์กร บรรดาอัครทูตก็เปรียบได้กับคณะกรรมการอำนวยการ ที่ต้องดูแลนโยบายหลักขององค์กรนั่นเอง)
วันนี้คุณได้แจ้งให้ผู้รับมอบหมายงานสบายใจและทำงานอย่างมั่นใจแล้วหรือยังว่า คุณเองกำลัง “ทำงานสำคัญ” ชิ้นใดอยู่ ในขณะที่คุณได้ให้เขาทำในสิ่งที่คุณมอบหมายไปนั้น?
5. ถ้าเป็นไปได้ ผู้ได้รับมอบหมายงานควรเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ (6:5)
เราจะสังเกตเห็นว่ารายชื่อของบุคคลทั้ง 7 ที่ได้รับการมอบหมายให้เข้ามาดูแลการแจกอาหารนี้ เป็นชื่อภาษากรีกทั้งหมด (ไม่มีชื่อภาษาฮีบรูเลย)
นั่นแปลว่าทั้ง 7 คนนี้น่าจะพูดภาษากรีกได้คล่อง (โดยเฉพาะ นิโคเลาส์ชาวเมืองอันทิโอก ซึ่งเป็นคนต่างชาติที่มาเชื่อถือพระเจ้าของชาวยิว)
การที่พวกเขาพูดภาษากรีกได้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แม่ม่ายชาวกรีกไม่ได้รับการแจกอาหาร เนื่องจากพูดภาษาฮีบรูไม่คล่อง จึงถูกละเลยโดยพวกคนแจกอาหารซึ่งน่าจะเป็นคนที่ใช้ภาษาฮีบรูเป็นหลัก
ถ้าเป็นไปได้ คุณควรเลือกผู้รับมอบหมายงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง/ได้รับผลกระทบ /เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเขาจะทำงานนี้ ทั้งด้วยความคิดและด้วย “จิตใจ” ของพวกเขาเองด้วย
6. ประกาศให้คนในองค์กรรับรู้ (6:6)
บ่อยครั้งที่เรามอบหมายงานกันอย่างเงียบๆ โดยไม่บอกให้คนอื่นๆ ในองค์กรรับรู้การมอบหมายงานดังกล่าว ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เกิดอุปสรรคด้านการประสานงาน หรืออุปสรรคด้านความไม่ไว้วางใจในการประสานงานอัน เนื่องมาจากการไม่ได้รับข่าวสารจากผู้บริหารที่มอบหมายงานแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายงานนั้น
เราจึงเห็นว่าบรรดาอัครทูตนั้นจัดพิธีประกาศ “การมอบหมายงาน” โดยให้คนทั้ง 7 มายืนอยู่ระหว่างที่ประชุมและคณะอัครทูต และอธิษฐานวางมือบนพวกเขาซึ่งทำให้เกิดผลดี 2 ประการคือ
6.1 เป็นการรับพรจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้มีกำลังในการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
6.2 เป็นการประกาศต่อหน้าที่ประชุมอย่างเป็นทางการ
ว่าทั้ง 7 คนนี้ได้รับมอบอำนาจ ดูแลตัดสินใจบริหารงานแจกอาหาร จากผู้ที่มีอำนาจสั่งการจริงๆ (คือบรรดาอัครทูต) เพื่อจะไม่ให้เกิดข้อสงสัย ข้อถกเถียงในภายหลังได้ว่า “พวกคุณมาตัดสินใจเรื่องนี้โดยอำนาจของใคร?”
– วันนี้คุณได้ทำสิ่งใดบ้างเพื่อกระจายข่าวเกี่ยวกับการมอบหมายงานให้แก่ผู้รับมอบหมายงาน?
– คุณได้แนะนำหน้าที่ใหม่ของพวกเขาแก่คนอื่นๆ ในองค์กรแล้วหรือยัง?
– คนอื่นๆ ในองค์กรได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการมอบหมายงานของคุณแต่ละครั้งผ่านทางสื่อใด?
– สื่อดังกล่าวมีประสิทธิภาพเข้าถึงคนที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ที่คุณได้มอบหมายงานให้นั้นมากเพียงใด?
7. การมอบหมายงานที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทางบวกต่อประสิทธิภาพขององค์กรโดยรวม (6:7)
แม้การมอบหมายงานบางครั้งอาจไม่ได้มีผลโดยตรงต่องานหลักๆ ขององค์กร เหมือนเช่น การแจกอาหารไม่น่าส่งผลต่อการเติบโตของคริสตจักรได้
แต่เราก็พบว่าเมื่อมอบหมายงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกส่วน ก็ทำให้งานหรือเป้าหมายหลักๆ ขององค์กรนั้นไม่ถูกรบกวน ทำให้เกิดองค์กรก้าวหน้าได้อย่างคาดไม่ถึง
จึงเห็นได้ว่าเมื่อการแจกอาหารถูกบริหารได้เหมาะสมขึ้น ก็ทำให้คริสตจักรขยายตัวจนแม้แต่พวกปุโรหิตที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับคริสตจักร ก็ยังกลับใจมาเชื่อในพระเยซูคริสต์ด้วย
ซึ่งเมื่อพิจารณาด้วยเหตุผลของมนุษย์ทั่วไปแล้ว การนำปุโรหิตมาเชื่อนั้น น่าจะต้องถกความรู้ศาสนศาสตร์กับปุโรหิตจนพวกเขากระจ่างแจ้ง
แต่กรณีนี้เราพบว่าพวกปุโรหิตมาเชื่อ เกิดขึ้นเพราะมีการมอบหมายงานเรื่องการแจกอาหาร (แน่นอนว่าเป็นเพราะการประกาศพระวจนะโดยบรรดาอัครทูตไม่ถูกรบกวนโดยงานแจกอาหาร พระวจนะจึงไปถึงพวกปุโรหิตได้อย่างเต็มที่ผ่านทางช่องทางต่างๆ และนำพวกเขามาเชื่อได้ในที่สุด)
ถ้าวันนี้องค์กรของคุณยังไม่ก้าวหน้าตามที่คาด อาจเป็นเพราะคุณยังขาดการมอบหมายงานที่เหมาะสมก็เป็นได้
วันนี้มีงานชิ้นใดบ้างที่กำลังทำให้คุณ (ในฐานะผู้บริหาร) ขาดสมาธิหรือความจดจ่อกับหน้าที่หลักของคุณ? คุณสามารถจะมอบหมายงานดังกล่าวนี้ให้ใครบางคนในองค์กรมาช่วยแบ่งเบาบ้างได้หรือไม่?
บทความ: ศจ.ชาติชาย จารุวาที
ออกแบบ: Jackkrit Anantakul, Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น