ซีรีส์ คำถามเด็กหลังห้อง ตอนที่ 2
ช่วงที่ผู้เขียนเป็นคริสเตียนใหม่ๆ เคยถูกสอนว่าพระเจ้าของคริสเตียนเป็นพระเจ้าที่รักมนุษย์มาก จนขนาดส่งพระเยซูพระบุตรองค์เดียวของพระองค์มาตายที่กางเขนเพื่อไถ่บาปให้เรา แต่เมื่อได้เริ่มอ่านพระคัมภีร์ในส่วนของพันธสัญญาเดิม ผู้เขียนเริ่มสงสัยในความรักของพระเจ้า โดยเฉพาะคำสั่งที่ให้ชาวอิสราเอลกวาดล้างเด็กชาวคานาอัน (ฉธบ.7:1-2, 20:16-18) ว่าทำไมพระเจ้าที่รักมนุษย์ ถึงมีคำสั่งแบบนี้
————————————–
คำถาม : ทำไมพระเจ้าสั่งให้ชาวอิสราเอลกวาดล้างเด็กชาวคานาอัน?
วิเคราะห์คำถาม:
คำถามในลักษณะนี้เป็นอีกคำถามที่มีความพยายามโจมตีพระลักษณะพระเจ้าในด้าน “ความรักและความยุติธรรม” ก่อนจะอธิบายการตอบคำถามแนวนี้ ผู้เขียนอยากวางกรอบแนวคิดสำคัญให้เบื้องต้น
คนที่เชื่อว่ามีพระเจ้า (Theist) มองความยุติธรรมเป็น Objective
ส่วนคนที่ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง (Atheist) มองความยุติธรรมเป็น Subjective
* แนะนำอ่านบทความนี้เพื่อเข้าใจความหมายเพิ่มเติมของ Objective vs Subjective
เมื่อเรามองดูกฎหมายของแต่ละรัฐ จะพบว่าแต่ละรัฐจะมีบทลงโทษที่ไม่เหมือนกัน เพราะมุมมองและการตีความคำว่า “ยุติธรรม” ของแต่ละรัฐไม่เหมือนกัน โดยผู้ที่มีสิทธิอำนาจสูงสุดของรัฐจะมีสิทธิ์ในการกำหนดว่า อะไรคือความยุติธรรม
ในมุมมองของ Theist เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจสูงสุดของจักรวาล จึงเป็นผู้มีสิทธิ์ในการกำหนดว่าอะไรถูก อะไรผิด จึงทำให้ความยุติธรรม เป็น Objective ดังนั้นสำหรับ Theist การที่จะบอกว่าความยุติธรรมของเรา “ยุติธรรมมากกว่า” ของคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยเปรียบเทียบกับความยุติธรรมของพระเจ้า
แต่ Atheist ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง จึงไม่มีผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ดังนั้นความยุติธรรมจึงขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน ซึ่งทำให้ความยุติธรรมเป็น Subjective และมนุษย์มีปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกัน (เช่น อายุ เพศ การศึกษา ความเชื่อ การเลี้ยงดู และอื่นๆ) จึงทำให้มุมมองในเรื่องความยุติธรรมแตกต่างกัน ดังนั้นสำหรับ Atheist การที่จะบอกว่า ความยุติธรรมของเรา “ยุติธรรมมากกว่า” ของคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่มีมาตรฐานในการเปรียบเทียบ
แนวทางการตอบคำถาม:
แนวทางที่ 1 – บาปกำเนิด (Original Sin)
คำถามนี้มีสมมติฐานว่าเด็กชาวคานาอันไม่เคยทำผิดอะไร ยังไม่มีบาป ดังนั้นคำสั่งของพระเจ้าแบบนี้จึงไม่ยุติธรรม แต่อย่างไรก็ตามคริสเตียนสามารถตอบคำถามเหล่านี้ด้วยแนวคิดของ original sin ว่าทุกคนที่เป็นพงศ์พันธ์ของอาดัมย่อมต้องรับผลความบาปของอาดัมด้วย แม้ว่าเด็กเหล่านี้จะยังไม่เคยทำบาปด้วยตัวเองเลยก็ตาม
* อ่าน original sin เพิ่มเติมที่ ทำไมมนุษย์ต้องรับผลความบาปของอาดัม?
แนวทางที่ 2 – ช่วงวัยที่รับผิดชอบได้ (Age of Accountability)
แนวคิด Age of Accountability คือ หลักคิดที่ว่า เด็กยังไร้เดียงสาจะไม่ต้องรับผิดชอบความบาปต่อพระเจ้าจนกว่าอายุจะเกิน Age of Accountability กล่าวคือ พระเจ้าจะยกโทษความผิดบาปของเด็กโดยอัตโนมัติ นักวิชาการยังถกเถียงกันในวงกว้างว่า “เป็นหลักการในพระคัมภีร์จริงหรือไม่” (หากมีโอกาสผู้เขียนจะลงรายละเอียดในส่วนของการถกเถียงในบทความถัดไป) และ “หากจริงจะเริ่มนับที่อายุเท่าไร”
บ้างก็บอกว่า อายุ 8 วัน โดยอ้างอิงจากการเข้าสุหนัต (ปฐก.17:12)
บ้างก็บอกว่า 12 ปี โดยอ้างอิงจากอายุของพระเยซูที่วิหาร (ลก.2:42)
บ้างก็บอกว่า 13 ปี โดยอ้างอิงจากธรรมเนียมของชาวยิว
บ้างก็บอกว่า 20 ปี โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์เข้าคานาอัน (กดว.32:11)
บ้างก็บอกว่าไม่มีอายุที่แน่นอนขึ้นกับแต่ละคน
แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของผู้เขียน พบว่านักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับว่า Age of Accountability เป็นหลักการที่น่าเชื่อถือ แต่ก็ยอมรับว่าพระคัมภีร์ไม่ได้บอกอย่างเจาะจงว่าอายุเท่าไร
โดยทั่วไปคริสเตียนแบ่งความตายออกเป็น 2 แบบ คือ ความตายฝ่ายร่างกาย (Physical Death) และ ความตายฝ่ายวิญญาณ (Spiritual Death) โดยที่ ความตายฝ่ายร่างกาย เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเผชิญ เพื่อเป็นประตูไปสู่ชีวิตหลังความตาย ในขณะที่ความตายฝ่ายวิญญาณหมายถึงในส่วนของการพิพากษา ที่ต้องถูกแยกออกจากพระเจ้าไปตลอดกาล ดังนั้นหากอ้างอิงจาก Age of Accountability เด็กชาวคานาอันที่ถูกฆ่าจึงเป็นเพียงการเปิดประตูสู่โลกหลังความตาย ไม่ใช่การพิพากษาลงโทษแต่อย่างใด จึงไม่ขัดแย้งกับความยุติธรรมของพระเจ้า
แนวทางที่ 3 – ความสัพพัญญูของพระเจ้า (God’s Omniscience)
นอกจากพระเจ้าเป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจสูงสุดในจักรวาลแล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้พระเจ้ามีความชอบธรรมในการกำหนดถูกผิด ก็คือ การที่พระเจ้ารู้ทุกอย่าง (Omniscience) การที่มีข้อมูลมากขึ้นจะช่วยให้การตัดสินใจอะไรก็ตามแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น สำหรับมนุษย์ที่ข้อมูลจำกัด การตัดสินใจย่อมอาจผิดพลาดได้ แต่คำสั่งของพระเจ้าอยู่บนฐานที่ว่าพระเจ้ารู้ข้อมูลทุกอย่าง ดังนั้นคำสั่งของพระเจ้าจึงไม่มีข้อผิดพลาด จึงเป็นไปได้ว่าการตายของเด็กชาวคานาอันมีความจำเป็น เพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
แนวทางที่ 4 – การปกป้องของพระเจ้า (God’s Protection)
พระเจ้าเรียกชนชาติอิสราเอลมาเพื่อเป็นพรให้กับโลก พระเจ้าย่อมปกป้องดูแลชนชาตินี้ให้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทินจากชนชาติอื่น ดังนั้นเมื่ออิสราเอลยึดครองดินแดนพระสัญญา พระเจ้าจึงต้องสั่งให้จัดการชาวคานาอันให้หมด เพื่อขับไล่ความชั่วร้ายของชาวคานาอัน และปกป้องชนชาตินี้ให้บริสุทธิ์ (ฉธบ.9:5)
————————————–
ผู้เขียนหวังว่า คำตอบเหล่านี้จะช่วยให้ผู้อ่านมั่นใจในสิ่งที่เชื่อ และสามารถปกป้องความเชื่อของตัวเองได้ดีขึ้นนะครับ
“เราหวังว่าทุกข้อสงสัย จะมีคำตอบที่มีเหตุผล”
บทความ: ดร.อาณัติ เป้าทอง
ออกแบบภาพ: Mantana
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น