ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงรุนแรงจนต้องมีการล็อคดาวน์และทำงานจากที่บ้าน เด็กๆ ต้องเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์ แต่สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนจะละเลยไม่ได้คือ การอบรมสั่งสอนบุตร เรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงในบทความนี้คือ การสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูก
ลักษณะนิสัยคืออะไร?
ดี.แอล.มูดี้ อดีตเด็กขัดรองเท้าที่พัฒนาตนเองจนกลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจรองเท้าและนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงได้กล่าวว่า “ลักษณะนิสัยก็คือสิ่งที่คุณเป็นในยามที่ไม่มีคนเห็น”
หมายความว่ามันเป็นลักษณะธรรมชาติของเรา ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังคนเราก็จะเป็นแบบนั้น คนที่มีลักษณะนิสัยที่ดีคือคนที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้ในชีวิต
ประการแรก : คนที่มีหลักการที่ดีและถูกต้องในการดำเนินชีวิต
หลักการเหล่านี้คือบรรทัดฐานในการประพฤติ ได้แก่ การเป็นคนดี ความซื่อสัตย์และโปร่งใส ความเมตตากรุณาและโอบอ้อมอารีย์ การไม่เห็นแก่ตัว การไม่เอารัดเอาเปรียบ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสามารถในการควบคุมตัวเอง เป็นต้น
ประการที่สอง : มีจิตสำนึกที่เข้มแข็ง
เพราะจิตสำนึกคือเข็มทิศทางศีลธรรมที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ มันทำหน้าที่ชี้ว่าอะไร “ถูก” อะไร “ผิด” มันจะช่วยให้เราสามารถแยกแยะดี-ชั่วออกจากกัน มันเป็นเหมือนเสียงที่คอยเตือนสติเราให้รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร จิตสำนึกที่เข้มแข็งจะทำให้คนนั้นชื่นชมกับความถูกต้อง และรู้สึกผิดกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ลูก ๆ ของเราจึงจำเป็นจะต้องได้รับการปลูกฝังสิ่งนี้ขึ้นในชีวิต
ประการที่สาม : มีความกล้าหาญทางศีลธรรม
คือ มีพลังและกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าอาจจะต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง ต้องเสี่ยงหรืออาจสร้างความไม่พอใจให้กับคนอื่น แต่ยังยืนหยัดและกล้าที่จะทำสิ่งนั้น ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ประการที่สี่ : คนที่มีลักษณะนิสัยที่ดีคือคนที่รู้จักควบคุมตัวเอง
พ่อแม่ต้องวางรากฐานเรื่องนี้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ยกตัวอย่าง บางครั้งเด็กอาจจะรู้สึกไม่พอใจกับอะไรบางอย่าง เด็กต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกนั้น ๆ ไม่ใช่แสดงความไม่พอใจหรือไม่สบอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลเสียทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
ประการที่ห้า : มีความน่าเชื่อถือ
การเป็นคนน่าเชื่อถือนั้นจะต้องประกอบด้วย
1) ความซื่อตรง หมายถึง ความสอดคล้องกันทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ และยังหมายรวมถึงการยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมอย่างเคร่งครัดด้วย แม้สังคมยุคปัจจุบันจะมองข้ามความซื่อตรงไปมาก แต่กระนั้นพ่อแม่ก็ต้องปลูกฝังคุณสมบัติดังกล่าวให้กับลูก ทั้งการสอนและการเป็นแบบอย่างให้กับลูก เพื่อว่าเมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาจะได้มีพื้นฐานที่ดีในการดำเนินชีวิต และมีความกล้าหาญที่จะเอาชนะการยั่วยุให้ทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความซื่อตรง
2) ความซื่อสัตย์ คำๆ นี้มีความหมายว่า
(1) ความจริง หมายถึง ไม่พูดโกหก หรือพูดความจริงไม่หมด ไม่แต่งเติมเสริมต่อ พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกซื่อสัตย์ในการพูดและในการแสดงออก สอนให้ลูกถือภาษิตที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” เพราะในสังคมของเราเคยชินกับการพูดปดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น บอกคนที่โทรเข้ามาว่าคนนั้นคนี้ไม่อยู่ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ หรือโกหกว่ารถติดเลยมาทำงานสาย ซึ่งก็ติดจริง ๆ แต่สาเหตุหลักคือตื่นสายเลยออกจากบ้านสาย รถจึงติด เป็นต้น
(2) ความจริงใจ หมายถึงทุกอย่างที่แสดงออกมาต้องออกมาจากความจริงใจ ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำเพื่อกลบเกลื่อนหรือทำให้คนอื่นเข้าใจผิด
(3) ตรงไปตรงมา การเป็นคนตรงไปตรงมาคือการไม่บิดเบือนความจริงและไม่แต่งเติมเสริมต่อ แต่ยังแฝงไว้ด้วยความสุภาพอ่อนโยนและการให้เกียรติ
3) ความน่าเชื่อถือ การสอนให้ลูกเป็นคนที่น่าเชื่อถือคือการสอนให้เขาเป็นคนที่รักษาคำพูด รักษาคำมั่นสัญญา การเป็นคนตรงต่อเวลา การเป็นคนที่สามารถไว้วางใจได้ ไม่ใช่เป็นคนโลเล ผัดวันประกันพรุ่ง
4) ความจงรักภักดี การเป็นคนจงรักภักดีคือการไม่ทรยศหรือหักหลังคนอื่น รวมทั้งการเป็นคนที่กตัญญูรู้คุณ พ่อแม่ต้องสอนลูกให้มีความจงรักภักดีต่อเพื่อน ต่อญาติพี่น้อง ต่อครูบาอาจารย์และต่อผู้มีอุปการะคุณ ถึงแม้ความจงรักภักดีจะเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ แต่พ่อแม่ก็ต้องสอนลูกให้รู้จักแยกแยะว่าควรจะจงรักภักดีในสิ่งที่ถูกต้อง
ประการที่หก : รู้จักให้เกียรติผู้อื่น
โดยทั่วไปแล้วการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้เกียรติหมายถึงการเห็นคุณค่าและความสำคัญของคนอื่น การเกรงอกเกรงใจ การคำนึงถึงความคิด ความรู้สึก ความต้องการ และความพึงพอใจของคนอื่นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และเราตอบสนองสิ่งเหล่านี้โดยเห็นแก่เขา
ประการสุดท้าย : มีความรับผิดชอบ
ซึ่งหมายถึงคนที่
1) เต็มใจยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง ไม่ใช่หลีกเลี่ยง หรือโทษโน่นโทษนี่ การเป็นคนที่มีความรับผิดชอบเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนๆ นั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
2) เป็นคนที่รักษาคำมั่นสัญญา คือ ถ้ารับปากว่าจะทำอะไรก็จะรับผิดชอบทำสิ่งเหล่านั้นจนสำเร็จ เพราะการละทิ้งสิ่งที่ได้สัญญาไว้จะทำให้คนอื่นๆ ขาดความเชื่อถือและไว้วางใจเรา ไม่เพียงแต่การรักษาคำมั่นสัญญาเท่านั้น การเป็นคนที่มีความรับผิดชอบยังหมายถึงการสนใจและเอาใจใส่สิ่งที่ได้รับมอบหมาย คือ ไม่เพิกเฉย ลืม หรือต้องคอยให้คนอื่นมาเตือนว่าจะต้องทำอะไร
3) เป็นคนที่เป็นที่น่าไว้วางใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ทำให้คนอื่นผิดหวังในตัวเรา และการแสดงออกทุกอย่างของเราทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคำพูดหรือการแสดงออกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ การที่เราจะเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจนั้นต้องอาศัยระยะเวลานานพอสมควรที่จะพิสูจน์ตัวเอง
4) เป็นคนที่คาดหวังผลเลิศ คือ จะทุ่มสุดตัว สุดกำลัง สุดความสามารถ เพื่อให้ผลงานหรือสิ่งที่เขาทำเกิดผลในแบบที่เป็นเลิศ จริงอยู่แม้ว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเกิดผลเลิศ แต่ท่าทีแบบนี้บ่งบอกให้รู้ว่าคนๆ นั้นเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เขาจะไม่ทำอะไรแบบขอไปที แต่จะทำอย่างสุดความสามารถ
5) เป็นคนที่มีความมุ่งมั่น นี่คือคุณสมบัติอีกประการหนึ่งของคนที่มีความรับผิดชอบ เมื่อเขาตกลงใจที่จะทำหรือรับปากที่จะทำ เขาจะพากเพียรทำให้สำเร็จแม้ว่าสิ่งนั้นจะยากลำบากเพียงไร
6) เป็นคนที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณธรรมจริยธรรม คนที่มีความรับผิดชอบทุกคนจะมีคุณลักษณะนี้ในชีวิตของเขา อันที่จริงความรับผิดชอบเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าใครจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เขาจะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมไปโดยปริยาย
พ่อแม่จะสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกได้อย่างไร?
การมีคุณลักษณะนิสัยที่ดีนั้นไม่ใช่ยีนส์ที่สามารถถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมได้ แต่เกิดจากการอบรมสั่งสอนและการปลูกฝังของพ่อแม่ ดังนั้นเพื่อให้ลูกเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยที่ดีพ่อแม่จึงจะต้อง
1. สอนอย่างจริงจัง คือ เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปลูกฝังคุณลักษณะเหล่านี้ในชีวิตของลูก และพ่อแม่ (ในฐานะครูคนแรกของลูก) จะเป็นผู้ลงมือสอนและอบรมลูกๆ ของตน
2. สม่ำเสมอและจริงจัง การสอนลูกให้เป็นคนที่มีลักษณะที่ดีนั้นพ่อแม่จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง จะทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ไม่ได้
3. การสนับสนุน คือ การส่งเสริมและผลักดันให้ลูกมีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงาม ไม่ปล่อยให้กระแสสังคมหรือค่านิยมมาเป็นตัวกำหนด หรือปล่อยให้เป็นไปตามใจปรารถนาของลูก ตรงกันข้ามพ่อแม่ต้องผลักดันและชี้นำในเรื่องการมีพฤติกรรมที่ดี
4. แบบอย่าง พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างของการเป็นคนมีลักษณะนิสัยที่ดี มีคำกล่าวหนึ่งที่ทุกคนรู้จักดีคือ “การกระทำย่อมดังกว่าคำพูด” ไม่ว่าคุณจะอบรมสั่งสอนของคุณมากหรือเข้มข้นแค่ไหนในเรื่องการเป็นคนที่น่าไว้วางใจ นั่นยังไม่เท่ากับการที่คุณเองในฐานะพ่อและแม่เป็นแบบอย่างในเรื่องนั้นๆ ให้กับลูก เพราะหลายต่อหลายครั้งที่การสั่งสอนล้มเหลวก็เพราะขาดแบบอย่างที่ดี ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
จงจำไว้ว่าไม่ว่าคุณจะสอนเรื่องอะไรกับลูก คุณต้องประพฤติเป็นแบบอย่างให้เขาได้เห็น ไม่เช่นนั้นคำสอนของคุณจะไม่มีความหมายเลย ดังนั้นเมื่อคุณกำลังสร้างลักษณะนิสัยต่างๆ ให้กับลูก คุณก็ต้องสร้างลักษณะนิสัยเหล่านั้นให้กับตัวเองควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้คำสอนของคุณเป็นคำสอนที่มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง และเมื่อลูกๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ หรือเมื่อเขาคิดถึงใครสักคนหนึ่งที่เป็นแบบอย่างของคนที่มีบุคลิกนิสัยที่ดี เขาจะคิดถึงคุณ
บทความ: ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี (D. Min., D.C.Ed.)
ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
ผู้อำนวยการสถาบันพระคริสตธรรมศึกษาออนไลน์เฟธ
ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวไทย
ภาพ: Graphic Node on Unsplash
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น