บทความ

เราจะเป็นนักดนตรีนมัสการได้ไหม?

คำตอบสั้นๆ คือ ได้!
แต่ก่อนที่จะเป็นนักดนตรีนมัสการ เราจะต้องถามตัวเราก่อนว่า ทำไมเราต้องเป็น?

การเป็นนักดนตรีนมัสการ รวมไปถึงผู้นำนมัสการ นักร้อง นักร่ายรำ หรือแม้แต่คนมิกซ์เสียง คนดูแลงานด้านมีเดีย ซึ่งเป็นส่วนประกอบร่วมกันในงานดนตรีนมัสการ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างกลมกลืนในการทำงานในหน้าที่ เปรียบเสมือนสะพานที่แข็งแกร่ง เป็นทางเดินที่มั่นคง ที่จะนำพี่น้องคริสเตียน เดินไปสู่หน้าบัลลังก์ของพระเจ้า เพื่อนมัสการพระองค์

เราจะต้องรับผิดชอบต่อทุกจิตใจ ความรู้สึก และความลึกซึ้งของจิตวิญญาณของทุกคน ที่กำลังนมัสการพระเจ้า นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจที่จะเข้ามามีส่วนในการรับใช้พระเจ้าในด้านนี้

มี 3 ปัจจัยที่ช่วยให้เรารู้ว่า เราจะเป็นนักดนตรี หรือผู้รับใช้ในด้านนมัสการได้หรือไม่ คือ

1. เราอยากที่จะทำ

ให้เราวิเคราะห์ความตั้งใจของเราโดยจิตสำนึกผิดชอบที่แท้จริงก่อนเป็นอันดับแรก ตัวอย่างเช่น

เราอยากทำงานนี้ เพราะเราต้องการปลดปล่อยความสามารถที่มีอยู่ เพราะดูแล้วรู้สึกว่าได้เป็นคนสำคัญ เพราะดูดีเมื่อได้อยู่บนเวที เป็นที่ยอมรับในสายตาคนมากมาย แนวคิดทำนองนี้เป็นทัศนะที่ถูกต้องหรือไม่? ในการตัดสินใจที่จะรับใช้ด้านดนตรีนมัสการ

คริสตจักรขาดคนทำงานด้านนี้ แล้วเราอาสาตัว เพื่ออยากจะทำให้งานนมัสการขับเคลื่อนไปได้ หรือเราอยากมีส่วนร่วมในการรับใช้ เพราะเชื่อว่าพระเจ้าทรงประทานความสามารถให้เราในการทำสิ่งนี้ เราจึงมีความอยากที่จะทำ

หรืออีกหลายเหตุผลที่เกิดขึ้น เราต้องยอมรับด้วยความจริงใจก่อนว่า ความอยากทำของเรา เป็นทัศนะที่ถูกต้องสำหรับการเข้ามารับใช้ในงานด้านนี้หรือไม่?

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า เราต้องรับผิดชอบต่อจิตวิญญาณของพี่น้องคริสเตียน และตัวของเราเอง ในการนมัสการพระเจ้า คำว่ารับใช้ก็คือการทำให้กับผู้อื่น ทำให้กับพระเจ้า เราไม่ได้ขึ้นไปยืนบนเวทีเพื่อรับเสียงปรบมือ หรือรับความชื่นชม และยอมรับในความสามารถเหมือนดารานักแสดงบนเวที

เราจึงต้องแน่ใจว่าความอยากที่เรามีนั้น เป็นทัศนะที่ถูกต้อง เพราะผลที่ตามมาจากทัศนะที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลโดยตรงกับภาพลักษณ์ของคริสตจักร

การนมัสการ การเทศนา กิจกรรมหลักต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นบนเวทีทั้งสิ้น เวทีจึงเปรียบเสมือนเป็นหน้าตาของคริสตจักร ทุกกิจกรรมและการกระทำของเราที่แสดงออกต่อคนมากมายที่เข้ามาในคริสตจักร เมื่อมองมาที่เรา เขาจะต้องสามารถสัมผัสได้ว่า พระเจ้าทรงสถิตอยู่

ทุกสิ่งที่เราทำ ต้องทำให้คนเห็นภาพของพระเจ้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในทุกมิติ ไม่ใช่มองเห็นแค่การแสดงออก หรือเสียงดนตรีที่เราเล่นและร้อง เป็นเพียงแค่คอนเสิร์ต หรือแค่การสร้างความบันเทิง

2. เราต้องมีทักษะความสามารถในด้านดนตรี

งานด้านดนตรีนมัสการ เป็นงานรับใช้ที่ต้องใช้ความสามารถที่มีอย่างเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างในพระคัมภีร์ เช่น 1 พงศาวดาร 15:16-22 เราจะเห็นการคัดสรรนักดนตรีที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาทำงานนี้อย่างเจาะจง

การขาดทักษะในการรับใช้ เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องไปยังผู้ร่วมรับใช้อื่นๆ เพราะเราต้องทำงานเป็นทีม นักดนตรี ต้องมีความเข้าใจ และความสามารถใกล้เคียงกัน หรือสามารถเข้าใจในแนวคิดการเล่นดนตรีของกันและกันได้

รวมถึงผู้นำนมัสการ นักร้อง นักดนตรี จะต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฝึกซ้อมและในการรับใช้จริง ซึ่งทักษะยิ่งมากเท่าไหร่ จะทำให้การขับเคลื่อนในทีมเป็นไปอย่างราบรื่นมากเท่านั้น

ถ้าเราขาดทักษะ หรือคนของทีมมีทักษะที่ไม่สมดุลกัน แทนที่จะเป็นสะพานเหล็กที่แข็งแกร่ง ก็อาจกลายเป็นสะพานไม้แขวนเก่าๆ โยกเยกไปมา สภาพผุพังๆ คนจะเดินไปถึงบัลลังก์พระเจ้าก็แสนจะยากลำบาก บางคนก็ล่วงหล่นไปกลางทาง

พี่น้องในคริสตจักรจำเป็นต้องยอมฟังเสียงดนตรีที่ไม่เพราะ และไม่ได้ช่วยให้ส่งเสริมบรรยากาศการนมัสการ จำใจต้องยืนอึดอัดฟังเสียงดนตรีนั้นไปจนจบการนมัสการ เพียงเพราะนี่คือส่วนของพิธีกรรมที่คริสเตียนต้องนมัสการพระเจ้า แม้แต่คนที่ยังไม่ได้เป็นคริสเตียนมาเยี่ยมที่คริสตจักร พอได้ฟังดนตรีหรือระบบเสียงที่ไม่ดี ก็เดินออกไปจากคริสตจักร แบบนี้ก็เคยมี

ความตั้งใจที่อยากจะทำนั้น ยังไม่เพียงพอ ทักษะจึงเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ในงานด้านนี้อีกด้วย

3. การทรงเรียก และ การสนับสนุนจากผู้นำ

ทุกครั้งที่เราอธิษฐานต่อพระเจ้า พระองค์ให้ความรู้สึกหรือตรัสอะไรกับเรา หรือมีเหตุการณ์อะไรเป็นหมายสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเราควรจะทำสิ่งนี้

ให้เราสังเกตและตั้งใจฟัง จนสัมผัสได้ว่า เราได้ถูกเรียกให้มารับใช้ในด้านนี้อย่างแท้จริง จดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ก่อนนำองค์ประกอบเหล่านี้ไปปรึกษากับผู้นำต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น เรามีโอกาสได้เล่นดนตรีในการประชุมกลุ่มเล็กๆ แล้วเริ่มสังเกตเห็นว่า พี่น้องได้รับพระพรจากการนมัสการผ่านการเล่นของเรา หรือมีคนทักว่าเราร้องเพลงได้ดี มีการแสดงออกที่ดีในการนมัสการ

ก็ย้อนกลับไปดูในข้อ 1 ว่า เราอยากทำเพียงเพราะเขาทักว่าเราเสียงดี หรือการทักนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่า เราสามารถทำสิ่งนี้เพื่อพระเจ้าได้

จากนั้นให้เราบอกกับผู้นำถึงความตั้งใจต่างๆ ที่เรามี และให้เขาอธิษฐานเผื่อ และช่วยเราในการตัดสินใจเข้าสู่การรับใช้ โดยตัวเราเองก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้นำด้วย

ผู้นำเปรียบเหมือนกษัตริย์ดาวิดที่จะคัดสรรคนในการเข้ามารับใช้พระเจ้า ดังนั้นจุดตัดสินสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่เราเลือก แต่พระเจ้าจะเลือกเราผ่านความเห็นชอบจากผู้นำนั่นเอง

ถ้าเราขาดคุณสมบัติบางข้อไปล่ะ เช่น เราไม่มีทักษะด้านดนตรีเลย (ข้อ 2) แต่เรามีความตั้งใจจริง (ข้อ 1) เราจะยังเป็นนักดนตรีนมัสการได้ไหม?

คำตอบคือ มีโอกาสเป็นไปได้ แต่เราคงต้องพิจารณาจากทุกข้อที่กล่าวมาเช่นเดิม ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าเราแน่ใจว่าความตั้งใจของเราไม่ใช่ทัศนะที่ผิด เราก็ต้องไปปรึกษาผู้นำ อธิษฐานขอการเจิมจากพระเจ้า ต่อจากนั้นก็คือการลงมือลงแรง จ่ายราคา เราก็ต้องไปเรียนดนตรี เรียนร้องเพลง หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราต้องการรับใช้ จนมีความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง

แล้วก็เริ่มเรียนรู้ในการรับใช้ เราอาจมีส่วนร่วมในการซ้อมไประยะหนึ่ง จนกว่าผู้นำทีมนมัสการจะตัดสินให้เราขึ้นไปรับใช้อย่างเต็มตัว เราก็ต้องเรียนรู้และอดทน มีความสม่ำเสมอ ตั้งใจฝึกฝน และมีวินัย เพื่อจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่องานรับใช้ และไม่เป็นภาระกับผู้ร่วมรับใช้คนอื่นๆ อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นที่จะต้องถามตัวเราเองก่อนว่า เราจะพร้อมทำงานรับใช้ด้านดนตรีได้หรือไม่ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ตัวเราเองและผู้นำจะต้องประเมินต่อไปในการตัดสินใจ

เช่น ลักษณะชีวิตฝ่ายวิญญาณ ความเติบโตในความเชื่อ ระยะเวลาในการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า ความเข้าใจในพระคัมภีร์ และที่สำคัญที่สุดคือ วินัย ความซื่อสัตย์ และความชัดเจนที่แสดงออกให้เห็นได้ในการดำเนินชีวิตในทางพระเจ้า

 

บทความ:  Six Zechariah
ออกแบบภาพ:  RainnieDesign

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง