ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีพี่น้องคริสเตียนหลายคนถามผมว่า ตามหลักพระคริสตธรรมคัมภีร์แล้ว คริสเตียนควรจะคิดและปฏิบัติตัวอย่างไรในท่ามกลางมรสุมของความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ เราควรจะเป็นผู้ชมอยู่เฉยๆ หรือเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ หรือเราสามารถร่วมมีส่วนในการแสดงออกทางการเมืองด้วย
ผมมักจะตอบว่า “มีคำตอบสั้นกับคำตอบยาว คุณอยากจะได้คำตอบแบบไหน?”
ถ้าเป็นคำตอบยาว เราคงจะต้องใจเย็นๆ นั่งเปิดพระคัมภีร์พูดคุยกันสักชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อจะได้รายละเอียดที่สมดุลรอบด้าน แต่ถ้าเป็นคำตอบสั้น เราอาจจะคุยและสรุปโดยใช้เวลาแค่ 5 หรือ 10 นาทีเท่านั้น แต่มีความเสี่ยงต่อการเข้าใจบางประเด็นผิดหรือคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรจะเป็น!!!
ในเนื้อที่ที่จำกัดอย่างมากของบทความนี้ แม้จะเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ผมอยากจะเสนอข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางอย่างบนพื้นฐานความเข้าใจของผมในเนื้อหาของพระคริสตธรรมคัมภีร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อเป็นการจุดประกายการพูดคุยกันในหมู่พี่น้องคริสตียน เพื่อหาแนวทางในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในสภาวการณ์อย่างที่กำลังเป็นอยู่นี้ โดยจะแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นและตามมาด้วยข้อเสนอแนะบางอย่าง
1. การดำเนินการปกครองโดยรัฐบาลเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในสังคมบนโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้
ตั้งแต่อาดัมได้ทำบาปและถูกขับออกจากสวนเอเดน สังคมของมนุษย์ก็เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ (ปฐก. 4-11) พระเจ้าจึงทรงอนุญาตให้มนุษย์มีระบบการปกครองของพวกเขาขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และจรรโลงความยุติธรรมเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ในท่ามกลางมนุษย์ซึ่งเป็นคนบาป
ถ้าปราศจากการปกครองของรัฐบาลแล้ว มนุษย์ก็จะกลับไปใช้กฎของป่าซึ่งก็คือ “พละกำลังเป็นเครื่องตัดสินความถูกต้อง” (Might is right) ความรุนแรงจะกลับกลายเป็นกฎกติกาของสังคม เมื่อนั้นสังคมมนุษย์จะกลายเป็นสังคมอนาธิปไตย (anarchy) มีแต่เพียงผู้ที่มีกำลังมากเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางความหายนะของผู้ที่อ่อนแอกว่า
จนกว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมาด้วยพระสิริของพระองค์ (มธ. 24:30-31) การปกครองโดยรัฐบาลที่มีมนุษย์เป็นผู้ดำเนินการปกครองยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่
2. โลกนี้ไม่เคยมีรัฐบาลที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเต็มร้อย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐบาลต่างๆ ล้วนประกอบไปด้วยคนบาปที่ไม่สมบูรณ์แบบ และอยู่ท่ามกลางความเย้ายวนของสิ่งต่างๆ สภาพการณ์แบบนี้เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบราชาธิปไตย เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นมหาอาณาจักรอัสซีเรีย บาบิโลเนีย เปอร์เซีย กรีก โรมันหรือประเทศทั้งหลายในปัจจุบัน
เพียงอ่านเนื้อหาในพระคริสตธรรมคัมภีร์เกี่ยวกับการปกครองของบุคคลต่าง ๆ เท่านั้น เราก็จะเห็นหลักฐานเกินพอที่ยืนยันถึงความจริงข้อนี้ และเพียงแค่เปิดดูดัชนีความสุจริตของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนี้เท่านั้น (www.transparency.org/cpi2012/results) เราก็จะพบว่าความจริงเรื่องนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยในปัจจุบัน
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการลุแก่อำนาจและทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็คือ ความจริงที่ว่าการปกครองของรัฐเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจและการบริหารผล ประโยชน์จำนวนมหาศาล ซึ่งถ้าไม่ระมัดระวังแล้วก็สามารถถูกใช้อย่างอยุติธรรมเห็นแก่ตนเองและพวกพ้อง เพื่อสนองตอบตัณหาของตนเองได้อย่างง่ายดาย
ดังเช่นที่ ลอร์ดจอห์น แอคตัน นักการเมืองชาวอังกฤษกล่าวไว้เป็นอมตะวาทะในศตวรรษที่ 18 ว่า
“อำนาจมีแนวโน้มทำให้เสื่อมทราม อำนาจเบ็ดเสร็จทำให้เสื่อมทรามอย่างเบ็ดเสร็จ”
(Power tends to corrupt, absolute power corrupts absolutely)
ดังนั้นผู้ใช้อำนาจรัฐจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและการตรวจสอบ เพื่อปรามและระงับยับยั้งการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ดังกล่าว
3. พระคริสตธรรมคัมภีร์สอนให้ผู้เชื่อยอมอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นการยอมที่มีข้อจำกัด ไม่ใช่การยอมแบบเบ็ดเสร็จสิ้นเชิง
ยกตัวอย่างเช่น พระดำรัสของพระเยซูที่ตรัสว่า “ของของซีซาร์จงถวายแด่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า” (มก. 12:17) บ่งบอกเป็นนัยยะว่าซีซาร์ไม่ใช่พระเจ้าอย่างที่ชาวโรมันในสมัยนั้นแอบอ้าง มีบางอย่างที่ซีซาร์ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องจากเรา เพราะอยู่นอกขอบเขตอำนาจของซีซาร์ การยอมอยู่ภายใต้อำนาจของซีซาร์อยู่ภายในกรอบข้อแม้ที่ว่า การยอมดังกล่าวต้องไม่ละเมิดต่อความจงรักภักดีที่ผู้เชื่อมีต่อพระเจ้า นอกจากนั้น พระเยซูยังไม่ทรงลังเลที่จะเรียกเจ้าหน้าที่รัฐที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมอย่างเฮโรด อันทิปาสว่า “เจ้าหมาจิ้งจอกตัวนั้น” (ลก. 13:32)
เป็นความจริงที่อัครทูตเปาโลสอนผู้เชื่อที่กรุงโรมว่า “ทุกคนจงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง” (รม 13:1) แต่คำสอนนี้สะท้อนถึงสัจภาพ 2 อย่างด้วยกัน
อย่างแรกก็คือ เปาโลเขียนพระธรรมโรม (ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี คศ. 55-57) ในระหว่าง 5 ปีแรกของการปกครองของจักรพรรดินีโร (ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ Quinquennium Neronis นีโรครองราชย์ระหว่าง คศ. 54-68) ในช่วงเวลานั้นภายใต้อิทธิพลของเซเนคาซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวโรมันและเบอร์รุสหัวหน้าทหารองครักษ์ นีโรได้ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์และตั้งคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ทำให้การปกครองในช่วงนั้นมีประสิทธิภาพและเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะฉะนั้น คำสอนของเปาโลในพระธรรมตอนนี้จึงสะท้อนถึงยามปกติเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ที่พึงกระทำ
สัจภาพอย่างที่ 2 ก็คือเปาโลให้เหตุผลไว้ 2 อย่างด้วยกันว่า เพราะสาเหตุใดผู้เชื่อจึงต้องยอมอยู่ใต้บังคับของเจ้าหน้าที่รัฐ และเหตุทั้งสองนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน กล่าวคือ เจ้าหน้าที่รัฐได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า (13:1-2) และเจ้าหน้าที่รัฐเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” ในแง่ที่พวกเขาเป็นตัวแทนของพระเจ้าในการบริหารความยุติธรรมด้วยการลงโทษคนที่ทำชั่วและสนับสนุนคนที่ทำดี (13:3-4) ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐพึงปฏิบัติอยู่แล้ว
คำถามที่น่าคิดก็คือ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำตามบทบาทที่ควรของตน แต่กลับเอา “ดาบ” ที่พระเจ้าประทานแก่เขามาลงโทษเข่นฆ่าทำร้ายคนที่ทำดีและสนับสนุนคนที่ทำชั่ว พวกเขาจะยังเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” อยู่ต่อไปหรือไม่? ถ้าหากเปาโลเขียนพระธรรมตอนนี้ในช่วงเวลาที่นีโรข่มเหงฆ่าฟันคริสเตียนอย่างบ้าคลั่ง เปาโลจะยังเขียนเนื้อความเหมือนอย่างที่ปรากฏในพระธรรมตอนนี้หรือไม่
ในตอนปลายของศตวรรษที่ 1 เมื่ออัครทูตยอห์นเขียนพระธรรมวิวรณ์ ซีซาร์ได้กลับกลายเป็น “สัตว์ร้าย” ไปแล้วด้วยการสวมบทบาทและเรียกร้องให้ประชาชนเทิดทูนนมัสการมันเป็นพระเจ้า ผู้ที่ยอมจะอยู่ยัง ผู้ที่ขวางจะต้องตาย ผู้เชื่อที่จงรักภักดีต่อพระคริสต์ย่อมไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนตามได้ พวกเขายืนหยัดไม่ยอมทำตามแม้จะหมายถึงการสละชีวิตของตนก็ตาม (วว. 13:1-10)
ดังนั้น โรมบทที่ 13 จึงควรได้รับการถ่วงดุลย์ด้วยวิวรณ์บทที่ 13 ในการพิจารณาถึงท่าทีของผู้เชื่อต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีแต่พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่สมควรจะได้รับการเทิดทูนบูชาและเชื่อฟังอย่างสิ้นเชิง เมื่อถึงเวลาคับขันอย่างนั้น ผู้เชื่อเลือกที่จะยืนเคียงข้างอัครทูตเปโตรเมื่อท่านกล่าวว่า “เราจำเป็นต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังมนุษย์” (กจ. 5:29)
4. การขัดขืนอย่างสงบต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (civil disobedience) เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐลุแก่อำนาจจนกระทำการอย่างอยุติธรรมและเสื่อมทราม เป็นสิ่งที่ผู้เชื่อสามารถร่วมมีส่วนได้
ไม่เพียงแต่วิวรณ์บทที่ 13 ข้างต้นเท่านั้นที่ชี้ถึงสิ่งนี้ แต่เนื้อหาทั้งในพันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่ และประวัติศาสตร์คริสตจักรต่างแสดงให้เห็นตัวอย่างของคนของพระเจ้าที่ปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อพวกเขาเชื่อว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่อยุติธรรมและเสื่อมทราม ยกตัวอย่างเช่น
- หญิงผดุงครรภ์ชาวฮีบรูที่ไม่ทำตามคำสั่งของฟาโรห์ในการฆ่าเด็กชายชาวฮีบรู (อพย. 1:15-22)
- เพื่อนทั้งสามของดาเนียลที่ไม่ยอมนมัสการรูปเคารพตามพระบัญชาของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ (ดนล. 3)
- ตัวดาเนียลเองแม้จะทราบว่ากษัตริย์ดาริอัสทรงออกกฎหมายห้ามคนอธิษฐานต่อพระใดๆ แต่ท่านก็ยังขัดขืนด้วยการอธิษฐานต่อพระเจ้าของท่านเหมือนปกติ (ดนล. 6)
- พวกโหราจารย์แม้จะได้รับบัญชาจากเฮโรดมหาราชว่า เมื่อพบที่ประทับของพระกุมารแล้ว ให้พวกเขากลับไปรายงานให้ทราบ แต่พวกโหราจารย์ก็ฝ่าฝืนไม่กระทำตามเพราะความเชื่อฟังขอพวกเขาต่อการสำแดงของพระเจ้า (มธ. 2:12)
- บรรดาอัครทูตถูกลงโทษและกำชับห้ามไม่ให้เทศนาในพระนามของพระเยซูอีก แต่เมื่อถูกปล่อยตัวพวกเขาก็กลับไปเทศนาข่าวประเสริฐอีก (กจ. 4-5)
- ผู้เชื่อหลายต่อหลายคนในประวัติศาสตร์คริสตจักรเดินไปในทางสายเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นชาวดัทช์อย่างเช่น
– คอรี่ เทนบูม ขัดขืนต่ออำนาจของรัฐบาลนาซีที่ต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวด้วยการเสี่ยงชีวิตช่วยชาวยิวให้รอดจากการล่าสังหาร
– ดีทรีช บอนฮอฟเฟอร์ ผู้นำคริสตจักรในเยอรมันที่ต่อต้านการปกครองอันโหดเหี้ยมของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
– การต่อต้านคัดค้านลัทธิการแบ่งแยกสีผิวซึ่งบังคับใช้โดยคนผิวขาวในแอฟริกาใต้ในตอนกลางของศตวรรษที่ 20 อันนำไปสู่การล้มล้างกฎหมายที่อยุติธรรมและเสื่อมทรามนั้นในที่สุด เป็นต้น
5. การใช้ความรุนแรงไม่ใช่วิถีของประชากรที่อยู่ภายใต้พระเยซูคริสต์ผู้เป็นองค์สันติราช
พระธรรมหลายตอนในพันธสัญญาใหม่สะท้อนความจริงนี้ให้เราเห็น
- เมื่อฝูงชนตามหาพระเยซูเพื่อจะตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ตามแบบของพวกเขาในการปลดแอกชนชาติยิวจากการปกครองของโรม ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการใช้ความรุนแรงในการบรรลุผลดังกล่าว พระเยซูเสด็จไปยังที่อื่น (ยน. 6:15)
- ในสวนเกทเสมนี เมื่อเปโตรชักดาบออกมาฟาดฟันคนที่จะมาจับพระเยซู พระองค์ตรัสกับ เปโตรว่า “จงเอาดาบของท่านใส่ฝักเสีย ด้วยว่าบรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ” (มธ. 26:52)
- พระเยซูตรัสกับปีลาตที่กำลังไต่สวนพระองค์ว่า “ราชอำนาจของเรามิได้เป็นของโลกนี้ ถ้าราชอำนาจของเรามาจากโลกนี้ คนของเราก็คงจะได้ต่อสู้ไม่ให้เราตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกยิว แต่ราชอำนาจของเรามิได้เป็นของโลกนี้” (ยน. 18:36)
ด้วยสาเหตุนี้ เมื่อสาวกของพระเยซูขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ เมื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวบังคับพวกเขาให้ทำสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อ พวกเขายอมให้เจ้าหน้าที่จับกุม ลงโทษ ไม่ขัดขืน ไม่ต่อสู้ด้วยคมดาบ คมหอก หรือความรุนแรงใดๆ (เช่น กจ. 4:1-3, 18-22; 5:40-41; 12:1-4; 16:20-24; วว. 12:11 เป็นต้น)
จากข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ผมอยากเสนอแนะข้อปฏิบัติบางอย่างดังนี้ คือ
1. คริสเตียนพึงอธิษฐานเพื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ (1 ทธ. 2:1-7)
ประเด็นใหญ่ของเปาโลในพระธรรมตอนนี้ก็คือ การอธิษฐานเพื่อความรอดของคนทั้งปวง (คำว่า “ทุกคน” ปรากฏถึง 4 ครั้งด้วยกันในพระธรรมตอนนี้) เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะพวกเขาสามารถกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในทางของพระเจ้าได้ นี่เป็นสิ่งที่น้อยที่สุดที่คริสเตียนไทยทุกคนสามารถกระทำได้และพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอไม่เฉพาะในช่วงวิกฤตเท่านั้น แต่เป็นประจำจนกว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะมาตั้งอยู่
2. คริสเตียนต้องติดตามความเคลื่อนไหวที่สำคัญทางการเมืองอย่างรอบด้าน และใช้วิจารณญาณในการรับรู้และวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
นอกจากความไม่รู้ไม่ได้เป็นคุณธรรมแล้ว ความไม่รู้ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีในการตัดสินใจ คงจะเป็นความจริงว่าเราไม่มีข้อมูลทั้งหมด แต่ในโลกนี้มีกี่เรื่องที่เรามีข้อมูลทั้งหมดก่อนการวิเคราะห์และการตัดสินใจ!!!
ในเรื่องนี้ อย่าฟังความข้างเดียว อย่าปล่อยให้อารมณ์นำหน้าจนเราไม่สามารถมองมุมต่างๆ ได้ อย่าเบื่อการเมืองจนไม่แยแสสนใจ เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้นการเมืองก็จะกลายเป็นเรื่อง “ของมืออาชีพ โดยมืออาชีพ และเพื่อมืออาชีพ” ไป
3. คริสเตียนควรยอมให้มีความคิดเห็นและการสนองตอบที่แตกต่างกันในท่ามกลางประชากรของพระเจ้า
บางคนอาจเลือกสนองตอบแตกต่างจากเราด้วยความเชื่อที่จริงใจ เหตุผลที่เขาพิจารณาว่ามีน้ำหนักเพียงพอและมุมมองที่ต่างจากเรา เราไม่ควรตำหนิซึ่งกันและกันในเรื่องนี้ แต่ละคนควรมีเสรีภาพในการทำตามการตัดสินใจที่ดีที่สุดของแต่ละคน ตราบเท่าที่การตัดสินใจนั้นยังอยู่ในกรอบของพระวจนะพระเจ้า
4. คริสเตียนควรเรียนรู้ที่จะสื่อสารกัน และเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อเสริมความเข้าใจของกันและกัน
ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ “ร้อนแรง”และมีทัศนคติที่ต่างกันมาก เรายิ่งต้องตั้งใจที่จะฟังเพื่อเรียนรู้จากคนที่คิดต่างจากเรา คำเตือนสติของยากอบเป็นสิ่งที่เราพึงระลึกถึงเสมอในสถานการณ์อย่างนี้ “ทุกคนจงไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ” (ยก. 1:19)
การฟังให้เข้าใจก่อนที่จะพูด และ การพูดให้กระจ่างอย่างใจเย็น จะช่วยเราในการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน แม้ว่าในท้ายที่สุดเราอาจมีข้อสรุปต่างกัน แต่นั่นจะเป็นความแตกต่างที่อยู่บนฐานของความเข้าใจคนอื่น ไม่ใช่บนฐานของความไม่รู้ไม่เข้าใจ
ในท้ายที่สุด พี่น้องที่เห็นต่างจากเราก็ยังคงเป็นพี่น้องของเราและเราจะอยู่กับเขาตลอดไปในนิรันดร์กาล ผู้ที่สละชีวิตเพื่อไถ่เราจากโทษทัณฑ์ของความบาปและทำให้เรามีความหวังเสมอ ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ไม่ใช่นักการเมืองคนหนึ่งคนใด พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใด กลุ่มชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่เป็นพระเยซูคริสต์จอมกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของเรา และพระองค์จะทรงสร้างฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่หลังจากที่ทรงเสด็จกลับมา
บทความ: ศจ.ดร.เอษรา โมทนาพระคุณ
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น