บทความ

ถาม: คริสเตียนพนมมือไหว้ร่างของผู้วายชนม์ที่ตนนับถือได้หรือไม่?

คริสเตียนพนมมือไหว้ร่างของผู้วายชนม์ที่ตนนับถือได้หรือไม่? | Christlike

ตอบ :

โดยพื้นฐานแล้วเราต้องเข้าใจก่อนว่าพระเจ้าทรงบัญชาไว้ว่า “ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้องบน หรือบนแผ่นดินเบื้องล่าง หรือในน้ำใต้แผ่นดิน ห้ามกราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น…” (อพยพ 20:3-5) ดังนั้นคริสเตียนไม่ควรกราบไหว้สิ่งใดๆ หรือบุคคลใดๆ ในฐานะเทพเจ้า หรือในสถานะที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงพระยาห์เวห์ ซึ่งการกราบไหว้บุคคลหรือวัตถุใดๆ ในสถานะเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เราเรียกว่า “การนมัสการ”
อย่างไรก็ตาม ในวัฒนธรรมไทยนั้นการพนมมือ “ไหว้” (หรือการกราบ) มีด้วยกันหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีความหมายแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ตามบริบทและการแสดงออก ทั้งนี้เราอาจจะจัดประเภทของการไหว้แบบไทยได้เป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ

1) การไหว้เพื่อแสดงการ “ทักทาย”

คนไทยในปัจจุบันทักทายผู้อื่นด้วยคำว่า “สวัสดี” พร้อมการยกมือไหว้ ในขณะที่ชนชาติอื่นก็มีวิธีการทักทายที่แตกต่างกันไป เช่น ชาวตะวันตกมักจะยกฝ่ามือขึ้นมาโบก หรือจับมือกัน หรือสวมกอดกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และระดับความสนิทสนม แต่คนไทยเลือกใช้วิธีการไหว้ในการทักทายกัน

2) การไหว้เพื่อแสดง “ความนับถือ”

คนไทยแสดงการนับถือและให้เกียรติผู้อื่นด้วยการไหว้ที่มีลักษณะนบนอบมากกว่าการทักทาย เช่น การไหว้พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีเกียรติอันสมควรแก่การนับถือ การแสดงความนับถือต่อคนที่สมควรแก่การนับถือนี้เป็นคำสั่งในพระคัมภีร์ให้ผู้เชื่อปฏิบัติเพื่อความสงบสุขในสังคมด้วย (โรม. 13:7; มัทธิว 22:21)

3) การไหว้เพื่อแสดง “การนมัสการ”

แต่ละวัฒนธรรมมีวิธีการแสดงออกซึ่งการนมัสการที่แตกต่างกัน บ้างก็ใช้วิธีการคุกเข่าแล้วก้มหัวลงจรดพื้น บ้างก็ใช้วิธีการจุดเครื่องหอมบางประเภท บ้างก็ใช้วิธีการเปล่งเสียงร้องหรือใช้บทสวด บ้างก็ใช้วิธีการยืนหรือนั่งโค้งคำนับ และบ้างก็ใช้ภาษากายอื่นๆ อีกหลายวิธีตามที่คนในสังคมนั้นๆ จะตกลงร่วมกันว่าการแสดงออกหรือภาษากายนั้นๆ มีความหมายว่า “นมัสการ” แต่สำหรับคนไทยและบางชนชาตินั้นเราเลือกใช้วิธีการพนมมือไหว้และในบางกรณีก็ใช้การกราบเพื่อสื่อให้เห็นว่าเรากำลังนมัสการ
ดังนั้นหากเรากราบร่างของผู้วายชนม์โดยเห็นว่าผู้วายชนม์นั้นเป็นเทพคือเป็นวิญญาณที่มีฤทธิ์อำนาจสามารถให้คุณให้โทษแก่เราได้หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว (โดยเฉพาะถ้าเราอธิษฐานขอ หรือกล่าวยกย่องในเชิงสรรเสริญสักการะผู้วายชนม์ในขณะที่เราพนมมือ) เราก็กำลังทำผิดด้วยการ “นมัสการ” ผู้วายชนม์นั้นอยู่ เพราะการกราบไหว้เช่นนี้เข้าข่ายการกราบไหว้เพื่อแสดงการนมัสการในบริบทของวัฒนธรรมไทย แต่หากว่าเรากราบร่างผู้วายชนม์ด้วยความรู้สึก “นับถือ” เหมือนที่เรานับถือบุคคลผู้สมควรได้รับการนับถือนั้น ก็ไม่ถือเป็นการนมัสการ (เพียงเพราะเราไหว้ไม่ได้แปลว่าเรานมัสการเสมอไป เช่น การไหว้เพื่อทักทาย หรือเพื่อแสดงความนับถือ ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น)
แต่ที่สำคัญคือเราต้องระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้าใจผิดคิดว่าการแสดงการ “นับถือผู้วายชนม์” ของเรานั้นคือการ “นมัสการผู้วายชนม์” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีคนเห็นสิ่งที่เราทำแล้วตีความการแสดงออกของเราว่าอย่างไร หรือมีคนตั้งคำถามและแสดงความเคลือบแคลงต่อความเชื่อที่เรามีในพระเจ้าองค์เดียวของเราจากการแสดงออกด้วยการไหว้ของเราหรือไม่ หากเราไหว้เพื่อแสดงความนับถือแล้วมีคนเข้าใจผิดว่าเราไหว้เพื่อแสดงการนมัสการ เราก็ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นในการแสดงความนับถือผู้วายชนม์นั้นแทน หรือถ้าตัวเราเองไหว้ผู้วายชมน์แล้วเราทำใจให้เป็นเพียงการ “นับถือ” ไม่ได้เพราะเราเคยอยู่ในศาสนาที่มีการไหว้ร่างผู้วายชนม์ในฐานะเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก่อน เราจึงยังปรับเปลี่ยนความคิดนี้ไม่ได้ ถ้าใจเรายังคิดเช่นนี้เราก็ไม่ควรใช้วิธีการไหว้เพื่อแสดงการนับถือผู้วายชนม์ เพราะความไม่ชัดเจนในจิตใจของเราทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่เราจะทำการนมัสการผู้วายชนม์นั้น เรื่องนี้ผู้เชื่อแต่ละคนจะรู้สึกไม่เหมือนกัน (ดูหลักการจาก 1 โครินธ์ 8:7; 10:28 และบริบทใกล้เคียง) นั่นเป็นเหตุที่พระเยซูคริสต์ตรัสไว้ในทำนองที่ว่าการนมัสการที่แท้จริงนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการแสดงออกภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือท่าทีในจิตใจเป็นสำคัญ (ยอห์น 4:24)
.
ครั้งหนึ่งขณะที่พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนประชาชนอยู่นั้น พวกฟาริสีและพวกเฮโรดได้ทูลถามพระองค์ในลักษณะที่ว่า “คนของพระเจ้าควรเสียภาษีให้ซีซาร์หรือไม่?” (มัทธิว 22:17) พระเยซูตรัสถามพวกเขาว่า “รูปและคำจารึกบนเหรียญที่เราใช้กันนี้เป็นของใคร?” พวกเขาตอบว่า “เป็นของซีซาร์” พระองค์จึงตรัสว่า “เพราะฉะนั้น ของของซีซาร์จงถวายแด่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า”
วันนี้ถ้ามีคนถามผมว่า “เรายกมือไหว้ร่างของผู้วายชนม์ที่เรานับถือได้หรือไม่?” ผมคงจะขอใช้หลักการของพระเยซูคริสต์เพื่อตั้งคำถามในบริบทของวัฒนธรรมไทยว่า “การไหว้นั้นควรแก่ผู้ใดและมีจุดประสงค์ใด?” และผู้ถามก็คงจะตอบผมด้วยแนวทางการไหว้ 3 แนวทางที่กล่าวมาแล้วด้านบน และผมก็คงจะตอบว่า “จงกราบไหว้พระเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงสมควรได้รับการกราบไหว้ (การนมัสการ) และจงไหว้ผู้วายชนม์อย่างที่เขาสมควรได้รับการไหว้ (ความนับถือ)”
การแสดงออกที่สมควรต่อพระเจ้า (ไหว้แบบนมัสการ) จงถวายแด่พระเจ้า
การแสดงออกที่สมควรต่อผู้ที่คุณนับถือ (ไหว้แบบนับถือ) จงให้แก่คนที่คุณนับถือ
_____________
บทความ:  ศจ.ชาติชาย จารุวาที
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง