ในการสนทนาในคลับเฮ้าส์ มีหลายครั้งที่คนต่างความเชื่อถามผมว่า “อะไร คือ จุดสำคัญที่ทำให้ผมเป็นคริสเตียน” ผมมักจะตอบคำถามนี้ในสองจุด คือ (1) “จุดเอ๊ะ” คือ จุดที่ทำให้ผม“สนใจความเชื่อคริสเตียน” ซึ่งจุดนี้เกิดจากการเจอชุมชนที่ดี และ การเริ่มมีประสบการณ์กับพระเจ้า และ (2) “จุดอ๋อ” คือ จุดที่ทำให้ผม “มั่นใจความเชื่อคริสเตียน”
ซึ่งจุดนี้เกิดจากการศึกษาวิชาปกป้องความเชื่อ ซึ่งผมได้ศึกษาในหลาย ๆ วิชา เช่น เหตุผลที่พระเจ้ามีจริง, ความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์, หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเยซู, และ อีกมากมาย
โดยเฉพาะในส่วนของหลักฐานเกี่ยวกับพระเยซู ผมมีความสนใจในหลักฐานของการฟื้นจากความตายค่อนข้างมาก เพราะว่า ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง
การที่จะเชื่อสิ่งที่เหนือธรรมชาติมันต้องอาศัยหลักฐานและหลักคิดสนับสนุนที่แข็งแรงในระดับที่สูงมาก มากไปกว่านั้นความเชื่อเรื่องการฟื้นจากความตายของพระเยซูยังเป็นเอกลักษณ์และเป็นแก่นความเชื่อของคริสเตียน โดยอาจารย์เปาโลได้ให้น้ำหนักเอาไว้ในพระธรรม 1 โครินธ์บทที่ 15 ว่า
17 และถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมา ความเชื่อของพวกท่านก็ไร้ประโยชน์ ท่านก็ยังคงอยู่ในบาปของตน
18 และถ้าอย่างนั้นคนทั้งหลายที่ล่วงหลับในพระคริสต์ก็พินาศไปด้วย
19 ถ้าเรามีความหวังในพระคริสต์เพียงแค่ในชีวิตนี้ เราก็เป็นพวกน่าเวทนาที่สุดของคนทั้งหมด(1คร.15:17-19)
ในบทความนี้เรามาพิจารณาหลักฐานและหลักคิดว่า อะไรที่ทำให้เรามั่นได้ว่า “พระเยซูฟื้นจากความตาย” จริง ๆ
1. ข้อสรุปที่หนักแน่นทางประวัติศาสตร์ (Historical Bedrock)
โดยทั่วไปแล้ว ในการสร้างข้อสรุปของเหตุการณ์ในอดีต นักประวัติศาสตร์จะดึงข้อสรุปทางประวัติศาสตร์ จากหลักฐานต่าง ๆ เช่น เอกสารโบราณ, โบราณวัตถุ, โบราณสถาน และอีกมากมาย ซึ่งหลักฐานที่แตกต่างกันมีโอกาสที่จะชี้ไปสู่ข้อสรุปที่แตกต่างกันได้
ซึ่งเป็นผลทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่านมีข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแตกต่างกัน มากไปกว่านั้น ข้อสรุปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เหล่านี้อาจจะปรับเปลี่ยนได้ เมื่อเจอหลักฐานชิ้นใหม่ที่มีน้ำหนักมากกว่า หรือ เจอคำอธิบายใหม่ที่สอดรับหลักฐานมากกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามหากมีข้อสรุปทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้
(1) หลักฐานหนักแน่นจำนวนมาก ชี้ไปที่ข้อสรุปเดียวกัน และ
(2) นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้การยอมรับข้อสรุปนี้ (ทั้งที่เป็นคริสต์ เป็นยิว เป็น atheist) และ
(3) ยากที่จะมีหลักฐานใหม่มาเปลี่ยนข้อสรุปนี้
เราจะเรียกข้อสรุปประเภทนี้ว่า ข้อสรุปที่หนักแน่นทางประวัติศาสตร์ (Historical Bedrock) โดยที่เรื่องราวการฟื้นจากความตายของพระเยซู มี Bedrocks หลายอย่าง เช่น
(1) พระเยซูตายที่กางเขน
(2) อุโมงค์ที่ถูกฝังศพว่างเปล่า
(3) สาวกของพระเยซูเชื่อว่า พวกเขามีประสบการณ์พบพระเยซูหลังจากความตาย
(4) ผู้ต่อต้าน (เปาโล) และ ผู้ไม่เชื่อ (ยากอบ – น้องชาย) กลับใจมาเป็นคริสเตียน
(5) ชาวยิวบางส่วนเปลี่ยนวันสะบาโตจากวันเสาร์ มาเป็นวันอาทิตย์
(6) มีการขยายตัวของคริสเตียนอย่างรวดเร็วที่กรุงเยรูซาเล็ม
เพื่อไม่ให้บทความยาวเกินไป ผมจึงหยิบ Bedrocks มาเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งหากพี่น้องสนใจเพิ่มเติมผมขอแนะนำเอกสาร 3 เล่ม ที่ผมกล้ารับรองว่า เพียงพอต่อการปกป้องความเชื่อเรื่องนี้แน่ ๆ
1. Gary Habermas (1976). Dissertation – The Resurrection of Jesus: A Rational Inquiry.
2. N. T. Wright (2003). The Resurrection of the Son of God.
3. Michael Licona (2010). The Resurrection of Jesus: A New Historiographical Approach
*** ในแวดวงวิชาการได้ยกย่องนักวิจัย 2 ท่าน ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้แบบละเอียด คือ Gary Habermas และ Michael Licona (คนนี้เคยสอนผมที่ Biola) หากเพื่อนท่านใดสนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถค้นหาผลงานของทั้ง 2 ท่านได้ รับรองว่าท่านจะมีความมั่นใจเกี่ยวกับการฟื้นจากความตายของพระเยซูมากขึ้น
2. คำอธิบายที่ดีที่สุด (The Best Explanation)
ในการหาข้อสรุปทางศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะพิจารณาว่า “ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น” โดยที่คำอธิบายต้องสอดรับกับข้อมูลที่มีมากน้อยเพียงไร จาก Bedrocks ทั้ง 6 ประการข้างต้นได้มีความพยายามในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น โดยคำอธิบายเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ (1) คำอธิบายแบบธรรมชาติ (natural explanation) และ (2) คำอธิบายแบบเหนือธรรมชาติ (supernatural explanation)
2.1 คำอธิบายแบบธรรมชาติ – สมมติฐานสลบ (swoon hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า พระเยซูไม่ได้ตายจริงเป็นเพียงสลบไปเท่านั้น และเมื่อได้พักฟื้นในอุโมงค์ ก็ผลักก้อนหินออกมาจากถ้ำ และ ปรากฎสาวกเห็น
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. ทหารโรมันมีความเข้มงวด ต้องมีการตรวจสอบว่านักโทษกางเขนตายจริง ๆ ไหม เช่น หอกแทง, หักกระดูกที่แขน-ขา จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะไม่ตาย และยากที่จะแอบหลับตอนเฝ้าที่อุโมงค์
2. พระเยซูบาดเจ็บสาหัส ตั้งแต่ก่อนตรึงกางเขน จึงเป็นการยากมากที่จะฟื้นตัวได้เร็วขนาดที่เข็นหินออกจากอุโมงค์ตามลำพัง
3. ช่วงนั้นเป็นเทศกาลปัสกา ที่มีคนจำนวนมากที่กรุงเยรูซาเล็ม ดังนั้นย่อมมีคนเห็นพระเยซูในสภาพปางตายในเมืองแน่นอน
4. สาวกควรจะสิ้นหวังกับพระเยซูมากขึ้น เพราะว่า นี่คือสิ่งที่เป็นหลักฐานว่า พระเยซูหมดสภาพของการเป็นผู้มาช่วยกู้
5. ขัดกับ Bedrock ข้อ 1, 4, 5 และ 6
2.2 คำอธิบายแบบธรรมชาติ – สมมติฐานผิดหลุมศพ (wrong tomb hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า สาวก (ผู้หญิง) ไปผิดหลุมศพ จึงไม่เจอศพของพระเยซู ส่วนปราฏการณ์ต่าง ๆ เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นของสาวก หรือ เป็นเพียงภาพหลอนที่สาวกมองเห็น
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. ทำไมศัตรูของพระเยซู (ฟาริสีและผู้มีอำนาจชาวยิว) และ ทหารโรมัน ไม่เอาศพพระเยซูมาโชว์ เพื่อ ปิดปากการประกาศข่าวประเสริฐของสาวก
2. ขัดกับ Bedrock ข้อ 4 และ 6
2.3 คำอธิบายแบบธรรมชาติ – สมมติฐานขโมยศพ (stolen body hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า สาวกไปที่หลุมศพและขโมยศพออกมาทำลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจชาวยิวบันทึกลงในเอกสาร
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. สาวกไม่มีแรงจูงใจในการขโมยศพ หรือ หากมีแรงจูงใจก็ไม่มีความสามารถพอที่จะต่อสู้กับทหารโรมัน
2. สาวกจะไม่ยอมตายในการถูกข่มเหง หากรู้อยู่แก่ใจว่าพระเยซูไม่ได้ฟื้นขึ้นจากความตาย
3. เมื่อมีการข่มเหง สาวกบางคนอาจจะไม่เห็นด้วย และ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง
4. ขัดกับ Bedrock ข้อ 3 และ 4
2.4 คำอธิบายแบบธรรมชาติ – สมมติฐานสมรู้ร่วมคิด (conspiracy hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า สาวกแต่งเรื่องราวว่าพระเยซูฟื้นจากความตายขึ้นมา
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. สาวกเป็นคนธรรมดา ไม่มีอำนาจเพียงพอในการสร้างข่าว ปิดข่าว
2. สาวกจะไม่ยอมตายในการถูกข่มเหง หากรู้อยู่แก่ใจว่าพระเยซูไม่ได้ฟื้นขึ้นจากความตาย
3. เมื่อมีการข่มเหง สาวกบางคนอาจจะไม่เห็นด้วย และ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง
4. หากเป็นเรื่องแต่ง ผู้แต่งไม่ควรเขียนว่าผู้หญิงไปที่หลุมศพ เพราะว่า ในสมัยนั้นผู้หญิงไม่สามารภเป็นพยานได้
5. ทำไมศัตรูของพระเยซู (ฟาริสีและผู้มีอำนาจชาวยิว) และ ทหารโรมัน ไม่เอาศพพระเยซูมาโชว์ เพื่อ ปิดปากการประกาศข่าวประเสริฐของสาวก
6 ขัดกับ Bedrock ข้อ 3 และ 4
2.5 คำอธิบายแบบธรรมชาติ – สมมติฐานนิยาย (legend hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า มีการบิดเบือนเรื่องราวของพระเยซู อันเนื่องมาจากความคาดเคลื่อนของการเล่าบอกต่อกันมา
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. โดยทั่วไป ต้องอาศัยเวลาในระดับหนึ่งเพื่อสร้างเรื่องเล่าที่เป็นนิยาย แต่พระกิตติคุณถูกเขียนขึ้นมาภายใน 25 ปี ซึ่งทำให้การสร้างนิยายจะถูกโต้แย้งจากพยานรู้เห็นที่ยังมีชีวิตอยู่
2. หากเป็นเรื่องแต่ง ผู้แต่งไม่ควรเขียนว่าผู้หญิงไปที่หลุมศพ เพราะว่า ในสมัยนั้นผู้หญิงไม่สามารภเป็นพยานได้
3. ขัดกับ Bedrock ข้อ 3 และ 4
2.6 คำอธิบายแบบธรรมชาติ – สมมติฐานภาพหลอน (hallucination hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า สาวกเห็นภาพหลอนของพระเยซู
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. พระเยซูปรากฎกับคนจำนวนมาก ซึ่งภาพหลอนไม่ควรเกิดกับคนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน
2. พระเยซูปรากฎในหลายครั้ง ซึ่งภาพหลอนไม่ควรเกิดหลาย ๆ ครั้ง
3. พระเยซูปรากฎในหลายสถานที่ ซึ่งภาพหลอนไม่ควรเกิดหลาย ๆ ที่
4. ทำไมศัตรูของพระเยซู (ฟาริสีและผู้มีอำนาจชาวยิว) และ ทหารโรมัน ไม่เอาศพพระเยซูมาโชว์ เพื่อ ปิดปากการประกาศข่าวประเสริฐของสาวก
5. ขัดกับ Bedrock ข้อ 2 และ 4
2.7 คำอธิบายแบบเหนือธรรมชาติ – สมมติฐานฝาแฝด (twins hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า ผู้ที่ตายไม่ใช่พระเยซู แต่เป็นผู้ที่พระเจ้าทำให้หน้าเหมือน (มุสลิมหลายท่านยืนตามสมมติฐานนี้)
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. สมมติว่าพระเจ้ามีจริง
2. อะไร คือ แรงจูงใจที่พระเจ้าต้องทำให้คริสเตียนทั้งโลก เข้าใจผิด
3. ขัดกับ Bedrock ข้อ 2, 3, 4, 5 และ 6
2.8 คำอธิบายแบบเหนือธรรมชาติ – สมมติฐานฟื้นคืนจากความตาย (resurrection hypothesis)
ความหมาย – สมมติฐานนี้เชื่อว่า พระเยซูฟื้นจากความตาย ซึ่งเป็นจุดยืนของคริสเตียนทั่วโลก
จุดอ่อนของสมมติฐาน
1. สมมติว่าพระเจ้ามีจริง
3. การใช้เหตุผลแบบจารนัย (Abduction reasoning)
หลังจากอ่านหลักคิดข้างต้น คนที่เคยศึกษาวิชาการใช้เหตุผลมาบ้าง จะเข้าใจทันทีว่าหลักคิดแบบนี้ ไม่ใช่การใช้เหตุผลแบบนิรนัย (deduction reasoning) หรือ การใช้เหตุผลแบบอุปนัย (induction reasoning) แต่เป็นการใช้เหตุผลแบบจารนัย (abduction reasoning) ซึ่งเป็นการหาคำอธิบายที่ดีที่สุด ที่สอดรับกับข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งหลักคิดนี้ถูกใช้บ่อย ในกระบวนการสืบสวนของนักสืบ, ตำรวจ, อัยการ, ผู้พิพากษา, แพทย์, นักโบราณคดี และ อีกมากมายที่พยายาม “หาคำอธิบายที่ดีที่สุด”ซึ่งการหักล้างการใช้เหตุผลแบบจารนัยทำได้เพียง 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
3.1 หักล้างว่าข้อมูลที่มีอยู่ขาดความน่าเชื่อถือ
การโจมตีนี้ใช้กับ Bedrock ได้ยากมาก เพราะว่า Bedrock มีหลักฐานหนักแน่นและถูกยอมรับในวงกว้างไปแล้ว
3.2. หักล้างโดยการเสนอข้อมูลชุดใหม่ที่ทำให้ข้อสรุปเดิมไม่น่าเชื่อถือ
การโจมตีนี้ใช้กับ Bedrock ได้ยากเช่นกัน เพราะว่า Bedrock มีหลักฐานหนักแน่นและถูกยอมรับในวงกว้างไปแล้ว
3.3 หักล้างโดยการเสนอคำอธิบายคู่แข่ง (rival explanation) ที่สามารถอธิบายได้ดีกว่าของเดิม
ในอดีตได้มีความพยายามในการเสนอคำอธิบายเพื่อมาแข่งกับ “พระเยซูฟื้นจากความตาย” แต่จากการพิจารณาคำอธิบายคู่แข่งทั้ง 8 ข้างต้นเราจะพบว่า คำอธิบายคู่แข่งเหล่านั้นมีจุดอ่อน และ ขัดแย้งกับ Bedrocks บางข้อ จึงทำให้ไม่สามารถนำมาทดแทน “พระเยซูฟื้นจากความตายได้”
ผมอยากสรุปแบบมั่นใจว่า จากการศึกษาพบว่า ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีคำอธิบายคู่แข่งใด ๆ ที่สามารถอธิบาย bedrocks ได้ดีเท่ากับ “พระเยซูฟื้นจากความตาย” หรือ กล่าวคือ แม้ว่าบางคนจะไม่เห็นด้วย แม้ว่าบางคนจะไม่เชื่อ แต่ด้วยข้อมูลและความรู้ในปัจจุบัน “พระเยซูฟื้นจากความตาย” เป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดครับ
ขอพระเจ้าอวยพระพร
Antony Flew (1923-2010) เป็นนักปรัชญาด้านศาสนาชาวอังกฤษ ที่ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับว่าเป็นงานเขียนที่สนับสนุน atheism มาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2004 เขาเปลี่ยนจุดยืนกลายเป็น theist ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความตกตะลึงให้กับ atheist จำนวนมาก
บทความโดย : ดร.อาณัติ เป้าทอง
กราฟิก : Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น