หากคุณต้องการประกาศกับกลุ่มคนยุคใหม่ คนในรุ่นถัดไป หรือที่ในบางประเทศเรียกว่า post-Christian (คือกลุ่มคนในประเทศที่คริสต์ศาสนาเคยรุ่งเรืองแต่ปัจจุบันเริ่มถดถอย) คำถามคือ คุณจะทำอย่างไรหรือจะใช้วิธีการใดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด?
บางทีคุณอาจไม่ทราบเกี่ยวสถานการณ์ของคริสตจักรในปัจจุบัน แต่หากคุณได้อ่านและวิเคราะห์ข้อมูลหรือติดตามข่าวสารจากสื่อโซเชียลแล้ว คุณจะพบว่าคริสตจักรส่วนใหญ่ในโลกกำลังอยู่ในสภาวะ “คงสภาพ” หรือ “กำลังค่อยๆ ตายลง” แม้กระทั่งในบรรดากลุ่มคริสตจักรที่มีการเติบโตขึ้นในเชิงปริมาณ การเติบโตดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดจากการมีกลุ่มคนที่ไม่มีพื้นเพคริสเตียนมาก่อน (หรือคนใหม่ๆ) มาเชื่อเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าก็ยังมีคริสตจักรบางแห่ง (ย้ำว่าบางแห่ง) ที่พยายามเน้นโดยเฉพาะเรื่องการเสริมสร้างชุมชนผู้เชื่อปัจจุบันให้เข้มแข็ง อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กลุ่มผู้เชื่อได้รวมตัวกัน
แต่หากคุณลองมาวิเคราะห์ดูจำนวนเปอร์เซ็นต์คริสตจักรที่สามารถดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้จริงๆ แล้วล่ะก็ คุณอาจประหลาดใจเมื่อพบว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นต่ำขนาดไหน
โดยทั่วไปแล้ว มีการตอบสนองอยู่ 3 แบบต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น คือ 1) น้อยใจว่าทำไมโบสถ์ที่เติบโตนั้นทำได้ดีกว่าเรา 2) เริ่มตำหนิพวกผู้นำโบสถ์ที่เราอยู่ และ 3) มัวแต่คร่ำครวญอยู่กับความย่ำแย่ของวัฒนธรรมสังคมในปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุปัญหา แต่ความจริงแล้ว การตอบสนองทั้ง 3 แบบนั้นไม่ได้ช่วยนำเราไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพหรือก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไรเลย
ดังนั้น ทำไมเราไม่ลองมาจดจ่อ มาโฟกัสที่ตัวประเด็นปัญหาจริงๆ ล่ะ? เราต้องระบุให้ได้ว่าตัวปัญหาจริงๆ คืออะไร และหาทางว่าจะนำข่าวประเสริฐไปถึงผู้คนที่ยังไม่รู้จักพระเยซูได้อย่างไร?
ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ผมรู้สึกขอบคุณแอนดี้ สแตนลีย์ (Andy Stanley) ผู้ก่อตั้งและศิษยาภิบาลอาวุโส คริสตจักร North Point Ministries คริสตจักรขนาดใหญ่ที่มีผู้ร่วมนมัสการกว่า 38,000 คน (ข้อมูลปี 2020, https://outreach100.com/largest-churches-in-america/2020) ที่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดในช่วงที่ผ่านมา
ในหนังสือเล่มใหม่ของแอนดี้ ที่มีชื่อว่า Irresistible: Reclaiming the New That Jesus Unleashed on the World (เกินจะต้านทาน: ประกาศการครอบครอง “สิ่งใหม่” ที่พระเยซูได้ทรงปลดปล่อยให้แก่โลกแล้ว; ผู้แปล) ได้พาเราดำลึกลงไปสำรวจในประเด็นต่างๆ ที่คริสเตียนจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะสามารถเชื่อมต่อกับเหล่าผู้คนที่อยู่นอกโบสถ์และอีกหลายคนที่เคยอยู่ในโบสถ์มาก่อน
คุณสามารถรับฟัง บทสัมภาษณ์ของผมกับ Andy Stanley ในแนวคิดใหม่ของเขาเกี่ยวกับเรื่อง apologetics ได้ที่นี่
ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับสิ่งที่แอนดี้เขียนไว้ในหนังสือทั้งหมดหรือไม่ (มีนักวิจารณ์บางท่านเสนอข้อโต้แย้งในสิ่งที่แอนดี้กล่าว) แต่สิ่งที่นักวิจารณ์เหล่านั้นดูเหมือนจะมองข้ามไปคือประเด็นที่ว่า ผู้นำคริสตจักรในรุ่นนี้กำลังค่อยๆ สูญเสียบทสนทนากับกลุ่มผู้คนที่ยังไม่เชื่อไป หรือถ้าจะให้พูดกันตรงๆ แล้วคือ “เราได้ขาดการสื่อสารกับพวกเขาไปแล้วเรียบร้อย”
นี่เองที่ทำให้สิ่งที่แอนดี้จำเป็นต้องออกมาพูดนั้นมีคุณค่ายิ่งนัก เราจำเป็นต้องเปลี่ยนบทสนทนาที่กำลังสื่อสารกับคนในยุคนี้ เพราะตอนนี้ สิ่งที่เรากำลังพูดกับพวกเขา กำลังมีความสำคัญน้อยลงๆ ทุกวัน
สิ่งที่เป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมในสังคมของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป และผู้นำคริสเตียนหลายคนก็กำลังพลาดสิ่งเหล่านี้ไป
การมัวแต่โต้เถียงกันเองในเรื่องเดิมๆ หรือการหยิบเอาแนวคิดเรื่องการปกป้องหลักข้อเชื่อในยุคดึกดำบรรพ์กลับมาใช้อีกนั้น จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาเรื่องความเมินเฉยที่คริสเตียนต้องเผชิญเมื่อเราออกไปแบ่งปันความเชื่อในยุคปัจจุบันได้เลย
ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิงเช่นนี้ เราก็จำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน อัครทูตเปาโลเองก็ยังเปลี่ยนแปลงวิธีการประกาศไปตามผู้ฟังของท่าน เช่นเมื่อประกาศกับชาวกรีกในเมืองเอเธนส์ ก็จำเป็นต้องใช้ข้อโต้แย้งที่ต่างออกไปจากตอนประกาศกับคนยิว (1 โครินธ์ 9:19-23; ผู้แปล)
ผมคิดว่าแอนดี้พูดถูกในเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องส่งสัญญาณเตือนทางวัฒนธรรมออกมา ว่าวิธีการปัจจุบันของเรานั้นมันไม่เวิร์คแล้ว
ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิงเช่นนี้
เราก็จำเป็นต้องใช้วิธีการประกาศที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน
นี่เป็น 5 เหตุผลที่จะบอกว่า ทำไมสิ่งที่พวกเราหลายคนกำลังทำอยู่ทุกวันนี้นั้น จะไม่ทำให้พันธกิจของพระเจ้าก้าวหน้าไปอย่างที่เราคาดหวังให้เป็น
1. เสียงของคุณ (คริสตจักรและผู้นำ) ไม่ใช่เสียงเดียวที่ผู้คนจะฟังอีกต่อไป
ย้อนไปแค่รุ่นก่อนหน้าเรานี่เอง ประชากรคริสเตียนส่วนใหญ่ยังไปโบสถ์กันเป็นประจำ และสำหรับในทวีปอเมริกาเหนือนั้น พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ไปโบสถ์พอเป็นพิธีหรือเป็นคริสเตียนแค่ในนามเท่านั้น ในตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต และข้อมูลข่าวสารก็มาถึงแต่ละบ้านเรือนได้ยากกว่าในยุคนี้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงเชื่อในสิ่งที่พวกเขาได้ยินได้ฟังจากศิษยาภิบาลคริสตจักรท้องถิ่นของเขา และสำหรับในบางพื้นที่ ศิษยาภิบาลคือกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงสุดและมักเป็นคนที่ผู้คนจะยอมฟังมากที่สุดในชุมชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสตจักรของพวกเขา
แต่ปัจจุบันนั้นกลับต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง อินเตอร์เน็ตทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ทุกสถานที่ และผู้คนในยุคนี้ต่างก็ใช้อินเตอร์เน็ตกันทั้งนั้น
ซึ่งเราทุกคนก็รู้ดีว่านี่คือความจริงที่เปลี่ยนไปของโลก แต่เชื่อไหมว่าในคริสตจักรส่วนใหญ่แล้ว เรากลับยังทำเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไปโบสถ์ของคุณหรือคนที่คุณพยายามจะประกาศกับพวกเขา ต่างล้วนก็ใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาคำตอบและความเห็นในแทบทุกเรื่องของชีวิตกันทั้งสิ้น พวกเขาติดตามข่าวสาร อ่านบทความ ฟัง podcast และรับเอาความเห็นต่างๆ จากโลกออนไลน์กันเป็นประจำ ทุกคนต่างก็เดินเข้ามาในโบสถ์พร้อมกับความคิดเห็นมากมายที่ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในหัวของแต่ละคนก่อนที่คุณจะเริ่มสอนอะไรพวกเขาเสียอีก
และเช่นกัน ปัญหาเรื่องการละทิ้งความเชื่อในยุคปัจจุบันจึงไม่แค่การที่ผู้เชื่อในวัยรุ่นย้ายไปเรียนต่างจังหวัด หรือผู้เชื่อที่เรียนจบแล้วได้งานในพื้นที่ที่โบสถ์ไม่สามารถดูแลได้ ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ใช้ Facebook Twitter Youtube หรือ Pantip เพื่อเป็นคำตอบและเป็นมุมมองที่พวกเขามีต่อพระเจ้า พระเยซู ชีวิตฝ่ายวิญญาณ และคริสตจักร
แล้วมุมมองจากสื่อเหล่านี้นั้นมีน้ำหนักและเชื่อถือได้จริงๆ ไหม? คำตอบคือ แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะเลิกเชื่อหรือเลิกมีมุมมองแบบนั้น
แค่เพราะว่ามุมมองเหล่านั้นดูไม่น่าเชื่อถือในสายตาของเรา
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะไม่ยอมรับมุมมองนั้น
2. การเป็นศัตรูต่อโลกคือการยอมจำนนต่อความเพิกเฉย
ถ้าคุณมองดูวิธีที่คริสเตียนจำนวนมากตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกวันนี้ หลายวิธีที่พวกเขาแสดงออกมาบ่งบอกว่าคริสตจักรไม่เป็นของโลก คริสเตียนไม่ยอมรับวัฒนธรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไปของสังคม คุณอาจคิดว่าเมื่อมีการแสดงความเห็นเช่นนี้เกิดขึ้น คริสตจักรก็กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ซึ่งนั่นก็อาจเป็นความจริงในแง่หนึ่ง
แต่หากมองให้ลึกลงไป คุณจะพบว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นไม่ใช่การที่คริสตจักรเป็นศัตรูต่อโลก แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการเพิกเฉยต่อสังคมมากกว่า
และการเพิกเฉยนั้นเป็นประเด็นที่จัดการได้ยากยิ่งกว่าเสียอีก การเป็นศัตรูหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันอาจทำให้ผู้คนโกรธและไม่พอใจคริสตจักร แต่อย่างน้อยนั่นก็ยังทำให้เราสามารถสื่อสารกับพวกเขาได้ แต่การเพิกเฉยหมายความว่าคุณได้สูญเสียพวกเขาไปแล้ว… แม้อาจไม่ใช่ตลอดกาล แต่อย่างน้อยมันก็เกิดขึ้นแล้ว ณ ตอนนี้
“การเพิกเฉย” เป็นศัตรูที่ช่างแตกต่างจาก
การไม่เห็นด้วยหรือการเป็นปฏิปักษ์อย่างมาก
บางทีปัญหานี้อาจมีรากมาจากความจริงที่ว่า คริสตจักรได้หยุดคิดที่จะห่วงใยโลกนี้ไปเสียแล้ว และเมื่อคริสตจักรไม่สนใจโลกอีกต่อไป ก็ไม่แปลกใจเลยที่โลกจะไม่สนใจคริสตจักรแล้วเช่นกัน
3. ผู้คนกำลังมองหาความรัก ไม่ใช่การพิพากษา
คริสเตียนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และแน่นอนว่าเราก็ควรต้องตื่นตัวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน
แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เราตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนไปนั้นคือ การพยายามพิพากษาตัดสินโลก ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นหน้าที่ของพระเจ้า
และหากพระเจ้าทรงรักโลกนี้ (จนได้ประทานพระบุตร) แล้วใครเล่าที่อนุญาตให้คริสเตียนอย่างเราเกลียดโลก?
เมื่อมีใครสักคนเข้ามาในโบสถ์ของคุณ (และของผมด้วย) พวกเขาหวังว่าจะได้พบกับพระเยซู และนั่นหมายความว่าลึกๆ แล้ว พวกเขาหวังว่าจะได้พบความรัก
แต่บ่อยครั้งเหลือเกิน ที่พวกเขาตอบว่าสิ่งที่พวกเขาได้พบคือ:
ความชอบธรรมของมนุษย์
การพิพากษาตัดสิน
ความเย่อหยิ่ง
การเพิกเฉย
และนั่นเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก
ประเด็นที่แอนดี้พูดเกี่ยวกับความรักจึงน่าสนใจและมีน้ำหนักอย่างยิ่ง เพราะนี่คือหัวใจของความเชื่อคริสเตียน นั่นทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่พระเยซูและอัครทูตเปาโลเคยกล่าวไว้ว่า หากปราศจากความรักแล้ว สิ่งที่เราทำก็ไม่มีค่าอะไรเลย (1 โครินธ์ 13:1-3, ยอห์น 13:34; ผู้แปล)
และนี่นำไปสู่ความย้อนแย้งที่น่าเศร้าคือ ความรักที่เราเห็นกันว่ากำลังขาดหายไปจากหลายคริสตจักร คือสิ่งที่โลกนี้กำลังตามหาอยู่
ก่อนที่คุณจะโต้แย้งหรือหาเหตุผลเพื่อปกป้องตัวเอง ลองถามใจตัวเองด้วยคำถามนี้: ครั้งสุดท้ายที่คุณหวังให้ใครสักคนมาตัดสินคุณคือเมื่อไหร่?
เห็นไหมล่ะ? ว่า การพิพากษาตัดสินนั้นเป็นยุทธวิธีการในประกาศที่แย่
ความรักที่เราเห็นกันว่ากำลังขาดหายไปจากหลายคริสตจักร
คือสิ่งที่โลกนี้กำลังตามหาอยู่
4. คริสตจักรเริ่มรู้สึกเป็นเหมือนชมรมที่ไม่เปิดรับคนนอกมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งวัฒนธรรมในสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ จำนวนของผู้คนที่เริ่มไม่มั่นใจว่า ตัวพวกเขาเองต้องเข้าหาคริสตจักรอย่างไร ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเท่านั้น
คริสตจักรให้ความรู้สึกเป็นเหมือนอาคารที่มีป้ายเขียนข้างหน้าว่า “ยินดีต้อนรับทุกคน แต่เราไม่ให้ความสำคัญหรอก”
ลองคิดดูว่ากลับกัน หากอาทิตย์นี้ คุณซึ่งเป็นคริสเตียนต้องเดินดุ่มๆ เข้าไปในสถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวพุทธหรือมัสยิดของชาวมุสลิมโดยที่ไม่รู้จักใครเลย คุณจะรู้สึกอย่างไร?
ใช่แล้ว!
อย่างแรกสุด คุณอาจคิดว่ามันคงไม่ค่อยเหมาะนัก อย่างน้อยที่สุดน่าจะต้องมีใครสักคนจากที่นั่นชวนเราไป บางคนอาจคิดไปเองว่าที่เหล่านั้นคงไม่ต้อนรับคนใหม่ๆ เป็นแน่
อย่างที่สอง คุณอาจไม่มั่นใจว่าต้องวางตัวอย่างไร ต้องแต่งตัวแบบไหน ควรต้องไปกี่โมง ต้องไปที่ไหน แน่นอนว่าเกิดคำถามตามมาไม่รู้จบ
เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าฉงนอะไรเลย ที่ทำไมผู้คนในยุคนี้จึงไม่ค่อยอยากมารวมตัวกันในคริสตจักรส่วนใหญ่
ในฐานะที่ผมอาศัยอยู่ในแคนาดา ประเทศที่มีสภาพสังคมแบบ post-Christian มาก่อนอเมริกากว่า 20-30 ปี ผมสามารถบอกคุณได้เลยว่า สำหรับคนข้างนอกแล้ว ยิ่งนับวัน คริสตจักรจะยิ่งดูเหมือนเป็นชมรมหรือสโมสรลับจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เปิดรับคนนอกมากขึ้นและมากขึ้นเข้าทุกวัน
สะพานอันเดียวที่จะเชื่อมต่อคริสตจักรกับผู้คนได้นั้น คือ การที่เราเชิญชวนพวกเขาเป็นการส่วนตัว
และมันจะเป็นการเชิญชวนที่มีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อ คนที่คุณชวนนั้นรักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณ
และนั่นนำเรากลับไปสู่ประเด็นก่อนหน้าที่เราพูดไปแล้ว ว่ามันเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับคนที่ไม่ใช่คริสเตียน (จริงๆ ก็ทุกคน; ผู้แปล) ที่จะเชื่อว่าคุณรักเขา หากคุณไม่ได้ทำตัวเหมือนว่าคุณรักพวกเขาจริงๆ
มันเป็นเรื่องยากสำหรับที่คนคนหนึ่งจะเชื่อว่าคุณรักเขา
หากคุณไม่ได้ทำตัวเหมือนว่าคุณรักเขาจริงๆ
5. พวกเราหลายคนเหลือเกินที่พยายามตอบคำถามในสิ่งที่ไม่มีใครถาม
มีนักเทศน์หลายคนเหลือเกินที่กำลังตอบคำถามที่ทุกวันนี้ไม่มีใครถามกันอีกต่อไปแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น หลายครั้งในคำเทศนาผมเอง ผมจะพยายามเน้นย้ำหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระคัมภีร์ที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้นั้นเป็นหนังสือที่แทบจะไม่มีการแก้ไขจากต้นฉบับดั้งเดิมเลย จะมีก็แต่ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ จากการแปลภาษาต้นฉบับเดิมเมื่อหลายพันปีก่อนเท่านั้นเอง หากจะพูดให้เห็นภาพก็คือ เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่า จดหมายฝากของเปาโลที่พวกเราได้อ่านกันในทุกวันนี้ คือสิ่งที่เปาโลเขียนถึงคริสตจักรในยุคแรกจริง ๆ
มีเหตุผลมากมายหลายว่าทำไมการรู้เรื่องพวกนี้ถึงเป็นสิ่งสำคัญ (อย่างน้อยก็สำหรับผม) และสำหรับคริสเตียนในรุ่นก่อนหน้านี้ การได้รู้ในเรื่องนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะโน้มน้าวให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจและมีความเชื่อมากขึ้น
แต่สำหรับทุกวันนี้ มีจำนวนผู้คนไม่น้อยที่อาจกล่าวว่า “ฉันไม่สนใจหรอกว่าสิ่งที่พวกคุณอ่านกันวันนี้เป็นจดหมายต้นฉบับที่เปาโลเขียนเองหรือเปล่า และต่อให้มันเป็นต้นฉบับ แล้วไงล่ะ?”
เห็นไหมว่าคำถามของผู้คนนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
แต่ยังคงมีนักเทศน์หลายคนที่พยายามตอบคำถามว่า ศาสนาคริสต์คือ “อะไร”? (ซึ่งนั่นก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ) แต่พวกเขากลับละเลยคำถามที่ว่า “แล้วยังไงล่ะ?”
ในทุกพื้นที่การสื่อสารของเรา เราควรจะต้องเจาะลงไปให้ลึกถึงประเด็นที่เป็นแก่นของปัญหานั้นๆ
และหากคุณล้มเหลวในการตอบคำถาม “แล้วยังไง?” ของพวกเขา นั่นหมายความว่า คุณกำลังล้มเหลวในการตอบคำถามที่ลึกซึ้งและสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์เสียแล้ว
มีนักเทศน์หลายคนเหลือเกินที่กำลังตอบคำถาม
ที่ผู้คนในยุคนี้ไม่ได้ถาม
บทความต้นฉบับ : Why andy Stanley is right about reaching post-christians, แครี่ นิวฮอฟ (Carey Nieuwhof) – 26 กันยายน 2018
ผู้แปล: Yuta
ภาพ: Marek Piwnicki, Adrien Olichon, Josh Applegate – Unsplash
ออกแบบ: RainnieDesign
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น