ภาษิตจีน บทหนึ่งกล่าวว่า “ความมั่งคั่งไม่เคยตกถึงคนรุ่นที่สาม” ซึ่งนับเป็นคำท้าทายสำคัญขององค์กรต่างๆ รวมทั้งโบสถ์เช่นกัน และปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นกับโบสถ์ในหลายประเทศ โดยสถิติผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่ระบุว่าเขาเป็นคริสเตียนลดลงจาก 78% เหลือ 71% แต่สำหรับคนอายุ 18-29 ปีนั้น เหลือเพียง 20% ซึ่งคนกลุ่มนี้คิดเป็นเพียง 10% ของสัดส่วนผู้ร่วมนมัสการในโบสถ์*
ที่ สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 1980-2019 สถิติการเข้าโบสถ์ของคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (แถบสีแดง) กำลังลดลงอย่างมาก ขณะที่คนวัยอื่นลดลงบ้างเล็กน้อย ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าหลังการเปลี่ยนผ่านจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งในอนาคตอันใกล้
เรากำลังสูญเสียคนรุ่นต่อไป! ซึ่งนี่ไม่ใช่ความล้มเหลวของความจริงของพระเจ้า แต่เป็นผลจาก “ความล้มเหลวในการถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไป”
เทรนด์นี้กำลังเกิดขึ้นกับหลายศาสนาเช่นกัน ผู้คนกำลังไปสู่ทิศทางของการไม่มีความเชื่อต่อศาสนาใด และผลทางลบที่เกิดขึ้นตามมา คือ อัตราการป่วยด้านจิตใจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างทวีคูณในกลุ่มวัยรุ่นทั่วโลก
ช่องว่างระหว่างวัยที่กว้างขึ้น อันเนื่องจากความต่างของสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา สภาพเศรษฐกิจ ขนาดและรูปแบบครอบครัว ความท้าทายของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลที่กว้างขวางกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ทำให้คนรุ่นใหม่มีวิธีคิดและมุมมองต่างออกไป พวกเขาตั้งคำถามกับวิธีปฏิบัติดั้งเดิม เพราะได้รับรู้วิธีปฏิบัติอีกหลายแบบที่ต่างออกไป
ดังนั้นแทนที่จะมุ่งอนุรักษ์สิ่งเดิม โบสถ์ควรปรับตัวให้คนเห็นความเชื่อมโยงของความเชื่อกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป สอนคนให้มีเหตุผลวิจารณญาณในการแยกแยะ โบสถ์ควรใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง แทนที่จะต่อต้าน และเปลี่ยนกรอบความคิดจากที่ว่า “อะไรที่มันดีกับเรา ก็ต้องดีกับคนรุ่นลูกของเรา” แต่ให้ตั้งคำถามว่า “อะไรที่จะนำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงแก่นความจริงของพระเจ้าได้ดีที่สุด?” แทน
อย่างไรก็ตาม แม้โลกและผู้คนจะเปลี่ยนไป แต่แก่นสาระที่ผู้คนต้องการยังคงเดิม และพระเจ้ามอบสิ่งนั้นให้คนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งหนังสือ Growing Young ได้ให้แง่มุมและผลวิจัยที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยบอกว่าคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญความท้าทาย 3 ด้านในเรื่องอัตลักษณ์ (identity) การเป็นส่วนหนึ่ง (belonging) และวัตถุประสงค์ (purpose)
1. Identity – “ฉันเป็นใคร?”
คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญวิกฤตด้านอัตลักษณ์ของตนเอง บางคนจึงหาทางออกด้วยสร้างตัวตนบนสิ่งภายนอก ตามศิลปินที่ชื่นชอบ ยอดไลค์ จำนวนผู้ติดตาม แฟน แฟชั่น หรือความเก๋ แต่สิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนได้ จึงเป็นตัวตนที่ไม่มั่นคง และเมื่อใดที่ตัวตนเหล่านี้ล้มเหลวก็จะทำให้วัยรุ่นรู้สึกด้อยค่า
แต่อัตลักษณ์ที่พระเจ้ามอบให้นั้นต่างออกไป มันนำไปสู่การความเข้าใจตนเอง และรับรู้คุณค่าของตนเอง คริสเตียนเชื่อว่าพระเจ้าสร้างเราอย่างมีเอกลักษณ์ ทรงรับเราเป็นบุตร (กาลาเทีย 4:6-7) และให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข
อัตลักษณ์นี้มาจากสิ่งที่เราเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาด้วยการกระทำ ซึ่งนั่นส่งผลที่ต่างกันอย่างมากกับการเชื่อว่ามนุษย์เป็นเพียงผลจากอุบัติเหตุของธรรมชาติ ความเชื่อในพระเจ้าจึงส่งเสริมคุณค่าจากตัวตนภายใน ทำให้ใจมั่นคงและสงบ
โบสถ์จึงต้องเสริมสร้างความเข้าใจในอัตลักษณ์นี้แก่คนรุ่นใหม่ ไม่ตัดสินคนบนผลงาน หรือเปลือกภายนอกของเขา โบสถ์ที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ได้ดีจะมุ่งส่งเสริมเขาให้มีความสัมพันธ์กับพระเยซู ไม่ใช่เป็นเพียงสมาคมที่มาร่วมกิจกรรม
แต่มุ่งเน้นไปที่การสอนพระกิตติคุณ การติดสนิท การเดินกับพระเจ้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งนั่นเป็นการกลับสู่แก่นแท้ของการเป็นสาวกพระเยซู โดยให้เขาเป็นเจ้าของความเชื่อของตน มีตัวตนที่เป็นสาวกแท้ในชีวิตจริง (Authentic Discipleship) และก้าวไปไกลมากกว่าแค่การทำตามเช็คลิสต์ของคริสเตียน
2. Belonging – “ฉันเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหน?”
สมัยก่อน ในวัยเด็กเรามีพี่น้องหลายคน หลังเลิกเรียนหรือวันหยุดเราวิ่งไปเล่นกับเพื่อนแถวบ้าน แต่ทุกวันนี้ครอบครัวมีลูกน้อยลง เด็กนั่งอยู่หน้าจอหลังเลิกเรียน เติบโตมากับเพื่อนในจอที่มากขึ้น แต่พบปะเพื่อนที่เป็นคนจริงๆ น้อยลง คนรุ่นนี้จึงถูกเรียกว่า Lonely Generation หรือ คนรุ่นที่แสนโดดเดี่ยว
โบสถ์เป็นคำตอบของคนรุ่นนี้ได้ เพราะโบสถ์เป็นครอบครัวของพระเจ้า ไม่ใช่แค่องค์กรศาสนา (เอเฟซัส 2:19) พระเยซูมอบหัวใจแห่งบัญญัติให้คริสเตียนยึดถือ คือ ให้รักกันและกัน (ยอห์น 13:34) นั่นทำให้โบสถ์เป็นชุมชนที่อบอุ่น และเป็นที่ต้องการของคนรุ่นใหม่
กุญแจสำหรับการทำงานกับคนรุ่นใหม่จึงเป็นการแสดงความเข้าใจ มีความรู้สึกร่วม เข้าไปมีส่วนในชีวิต ร่วมเฉลิมฉลองในความฝัน และร่วมในความทุกข์ยามโศกเศร้า ซึ่งนั่นเป็นการกลับสู่แก่นแท้ของโบสถ์ ที่ไม่ใช่เป็นแค่โรงมหรสพเพื่อรับชมการแสดง หรือเพียงรอบนมัสการตามกำหนดเวลา แต่เป็นครอบครัว
คนหนุ่มสาวคริสเตียนต้องการโบสถ์ที่เป็น “ครอบครัว” ที่ซึ่งพูดว่าเขาสามารถ “เป็นตัวจริง” และ “เป็นตัวเอง” ได้ เขาไม่ได้พูดถึงความเจ๋งหรือความเก๋ของโบสถ์ แต่ให้คุณค่ากับ “ความอบอุ่น” ว่านั่นคือสิ่งที่เจ๋งที่สุด
ซึ่งจากการสำรวจ 250 ผู้นำโบสถ์ในอเมริกาจากคณะต่างๆ ที่ดูแลโบสถ์ 100-10,000 คน ซึ่งมีอายุ 5 ปีจนถึงกว่า 100 ปี ถึงยุทธศาสตร์ในการรองรับกลุ่มคนในวัย 15-29 ปี สิ่งที่พบจากการสำรวจ คือ รูปแบบการนมัสการ ตัวอาคารที่ดี งบประมาณที่สูง หรือรูปแบบโปรแกรมที่บันเทิงใจ ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ แต่ปัจจัยหลัก คือ แก่นของการเป็นโบสถ์
3. Purpose – “ฉันอยู่เพื่อสิ่งใด?”
วัยรุ่นแสวงหาความสุขเช่นเดียวกับคนวัยอื่น แต่ความสุขที่แท้จริงเกิดจากอะไรน่ะหรือ? ทิม เคลเลอร์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ความสุขจะเกิดขึ้น เมื่อเราแสวงหาสิ่งที่ใหญ่กว่าความสุข” ด้วยเหตุนี้การไขว่คว้ากอบโกยความสุขจึงไม่นำความอิ่มใจมาให้ แต่การอยู่เพื่อวัตถุประสงค์ที่มีความหมายต่างหากที่ช่วยเติมเต็มได้
พระเจ้าทำให้ชีวิตเรามีวัตถุประสงค์ (ฟีลิปปี 2:13) พระองค์บรรจุนิรันดร์กาลไว้ในใจมนุษย์ จิตใจของเราจึงแสวงหาวัตถุประสงค์ที่มีค่าและช่วยเติมเต็ม แก่นแท้ของโบสถ์จึงไม่ใช่แค่ที่สังสรรค์พบเพื่อน หรือดูแลแต่สมาชิกในโบสถ์เท่านั้น แต่เรามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแตกต่างที่ดีให้แก่โลก เราอยู่เพื่อคนนอกโบสถ์!
จากการสำรวจพบว่า เด็กยุคหลังปี 2000 ที่ยังอยู่ในโบสถ์มักกล่าวว่า พวกเขาเรียนรู้ว่าจะเป็นพรแก่สังคมได้อย่างไร พวกเขากล่าวว่า “โบสถ์ทำให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของชีวิต” โบสถ์ทำให้เข้าใจถึง “การงาน” ที่ควบคู่กับ “การทรงเรียก” ไม่ว่าจะทำอาชีพใดหรืออยู่ที่ไหน พวกเขาก็อยู่ในพื้นที่พันธกิจ โบสถ์จึงควรเน้นสร้างทักษะและความรู้ให้วัยรุ่นใช้ปฏิสัมพันธ์และสร้างความแตกต่างที่ดีให้กับโลก ให้เขารู้ว่าจะนำหลักพระคัมภีร์ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ชีวิตได้อย่างไร
เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่! ในสายตาของคนรุ่นใหม่มักมองโบสถ์เป็นองค์กรที่มีลำดับชั้นมาก แต่โบสถ์ต้องช่วยให้ผู้เชื่อวัยรุ่นค้นพบพันธกิจของเขา ไม่ใช่แค่บอกให้รอไปก่อน คนรุ่นใหม่ไม่กลัวงานหนัก วิธีที่ดีที่สุดในการปลดปล่อยเขา คือ สื่อสารนิมิตใหญ่ที่มีคุณค่าสำหรับการอุทิศตัว
พวกเขายังคงต้องการผู้นำ แต่ต้องเป็นคนที่นำด้วยวิธีที่เหมาะสม และยินดีปรับเปลี่ยนโดยไม่ยึดติดกับวิธีการของอดีต อย่าเอากล่องมาครอบเขา แต่ให้เขาคิดในแนวทางใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพราะนี่คือยุคใหม่ที่ต่างออกไปกับโลกที่เราโตมา ผู้นำต้องมองเขาเป็นมิชชันนารีต่อคนในโลกยุคหลังสมัยใหม่ เป็นผู้นำที่มีสิทธิอำนาจแต่ไม่เผด็จการ มีความชัดเจนเด็ดขาดแต่ไม่ครอบงำ ไม่เน้นการสั่งการแบบ Top-down แต่คอยเป็น mentor ให้คำปรึกษาแก่เขา โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงจากชีวิตภายในไม่ใช่แค่ยึดติดกับโปรแกรมภายนอก
บทส่งท้าย
การทำงานกับคนรุ่นใหม่ ไม่ได้สำเร็จด้วยการค้นพบสิ่งใหม่ แต่เป็นการทำให้แก่นแท้ดั้งเดิมชัดเจนขึ้น!
โบสถ์ที่ยึดมั่นในแก่นคำสอนแท้ จะเป็นคำตอบให้แก่โลกได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่ใช่สิ่งคุกคาม แต่เป็นสิ่งย้ำเตือนให้เราตรวจสอบตนเอง และกลับมายึดมั่นในแก่นแท้ของโบสถ์ตามเจตนารมย์ของพระเยซู เราไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือช่องว่างระหว่างวัยนี้ แต่ขอให้เราเข้าใจมัน และหยิบยื่นความจริงของพระเจ้าแก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังกระหายได้เข้าใจอัตลักษณ์ (Identity) รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belonging) และได้มีวัตถุประสงค์ที่มีค่า (purpose) เหล่านี้
“ถ้าคนรุ่นหนึ่งละเลย คนรุ่นต่อไปจะละทิ้ง” คำกล่าวนี้ได้ย้ำเตือนเราถึงหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง อนาคตข้างหน้า กำลังอยู่ในมือเราวันนี้ และขอให้เราได้ทำจนแน่ใจได้ว่าไม้ผลัดที่เราได้รับมา จะต้องถูกส่งต่อไปยังนักวิ่งคนต่อไปเพื่อเข้าสู่เส้นชัย
..ไม่ว่าคุณจะมีอายุมากกว่าคนหนุ่มสาวเท่าใด คุณยังคงสำคัญต่อพวกเขาเสมอ..
*สถิติจากหนังสือ Growing Young: Six Essential Strategies to Help Young People Discover and Love Your Church, ED STETZER
บทความ: Thanon
ภาพ: Anthony DELANOIX on Unsplash
ออกแบบ: Nan Tharinee