เมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ผม (“ซัน”) ได้มีโอกาสไปทำงานพันธกิจในแคนาดาและอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน
พันธกิจที่ผมทำมีชื่อว่า “FaithTech“ ซึ่งเป็นองค์กรคริสเตียนที่โฟกัสด้านเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม ให้กับคริสตจักรและองค์กรคริสเตียน โดยเรามีกลุ่มเครือข่ายอยู่ทั่วแคนาดาและอเมริกา
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเมืองเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งใน Silicon Valley, Chicago, Toronto และพันธกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง YouVersion ได้เข้าร่วมงานประชุมของคริสเตียนทั้งระดับเล็กและใหญ่ พบป่ะผู้นำโบสถ์และองค์กรคริสเตียน
จากการพูดคุยกับผู้นำพันธกิจและนักเทคโนโลยีคริสเตียนนับร้อย ช่วยผมเปิดมุมมองในการทำพันธกิจในมิติใหม่ๆ
บทความนี้จึงมาเล่าให้ฟังว่า มีบทเรียนอะไรบ้างที่คริสตจักรและองค์กรคริสเตียนในไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้
1. เปิดใจกับโอกาสทางพันธกิจใหม่ๆ
คริสเตียนบางคนอาจรู้สึกหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีว่าจะเป็นศัตรูฝ่ายจิตวิญญาณ ที่ทำให้คนไม่มาโบสถ์และอ่านพระคัมภีร์น้อยลง
แต่ก็ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปนะครับ บางองค์กรสามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ๆได้ และคิดวิธีประยุกต์ใช้ได้อย่างน่ามหัศจรรย์
เช่น Life.Church ทำโบสถ์ออนไลน์ที่มีคนเข้าร่วมสัปดาห์ล่ะไม่น้อยกว่า 70,000 คนทั่วโลก หรือ องค์กรคริสเตียนอย่าง SIL ก็นำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยผู้แปลพระคัมภีร์ หรือ Christian Vision ก็ลองใช้แชทบอทเพื่อการประกาศ
องค์กรเหล่านี้ไม่ได้เริ่มต้นจากว่ามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ บ้าง แต่พวกเขาเริ่มต้นจาก “ปัญหา” ที่อยากแก้ไข และนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เขาทำตามพระมหาบัญชาได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ลองจินตนาการถึงโอกาสใหม่ๆ อย่างโลกที่มีพระคัมภีร์ทุกภาษา หรือโบสถ์ออนไลน์ที่เข้าถึงคนทุกเชื้อชาติ แค่นี้ก็น่าตื่นเต้นแล้วใช่ไหมล่ะครับ
แน่นอนว่า พวกเราก็ต้องหาระดับ “ความเหมาะสม” ในการประยุกต์ใช้เทคนิคเหล่านี้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่คิดแค่ว่าต้องตามเทรนใหม่ๆ
แต่จุดเริ่มต้นนั้นคือ เราต้องเริ่ม “เปิดใจ” เสียก่อน ว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยเปิดโอกาสทางพันธกิจใหม่ๆ ได้
2. เปิดทางให้คนรุ่นใหม่
โอเค เมื่อเราเริ่มต้นเปิดใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว ตอนนี้เราก็อาจจะเจอปัญหาใหม่ นั่นคือไม่มี “คนที่ใช่” เข้ามาทำ
โบสถ์และองค์กรพันธกิจในอเมริกากำลังเผชิญกับปัญหาขาด “คนสายเทคโนโลยี” มาช่วยงานในแวดวงพันธกิจ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก วัฒนธรรมองค์กรพันธกิจไม่สามารถดึงดูดให้คนกลุ่มนี้มาทำงานเต็มเวลาได้
เพราะการไม่เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ไม่ปรับตัวกับวิธีคิด ไม่มีความยืดหยุ่น หรือขาดความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี ล้วนแล้วแต่ผลักไสให้คนกลุ่มนี้ออกไปไกลขึ้นเรื่อยๆ
ส่งผลให้โบสถ์หรือองค์กรคริสเตียนไม่สามารถสร้างนวัตกรรมดีๆ ออกมาได้ อย่างมากก็ทำได้เพียงขออาสาสมัครมาช่วยเป็นบางงานไปก็เท่านั้น
ตอนนี้ หลายองค์กรจึงพยายามปรับตัวอย่างเต็มที่ในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ๆ องค์ที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง World Vision หรือ Alpha ในแคนาดา ล้วนมีทีม “เทคโนโลยี” ภายในองค์กรกันทั้งนั้น (และยังคงหาคนเข้าทีมอยู่เรื่อยๆ)
การจะดึงดูดคนสายเทคโนโลยีเข้ามาในวงการพันธกิจ เราต้องใช้ความกล้าในการ “เปิดทาง” ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีอำนาจในการมีส่วนร่วมและตัดสินใจมากขึ้น
คุณอาจเริ่มต้นจากการให้คนอายุ 20 ปี เข้ามาประจำในคณะธรรมกิจ หรือ จัดตั้งทีมนวัตกรรมภายในองค์กร อย่างไรก็ดี ต้องกล้าให้พวกเขามีอำนาจตัดสินใจและงบประมาณด้วยนะครับ
แน่นอนว่า การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในงานพันธกิจเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายโบสถ์หรือองค์กรคริสเตียนพยายามปรับตัวเองให้ทันสมัย แต่ก็ไม่สำเร็จ
นี่เป็นเหตุผลที่เรามีองค์กรอย่าง FaithTech ครับ #ช่วงขายของ
เราเป็นกลุ่มคริสเตียนสายเทคโนโลยีที่รวมตัวกันในประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์และช่วยคริสตจักรไทยให้ปรับตัวเข้ากับโลก 4.0 ได้
ถ้าคุณสนใจและอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มของเรา ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเราได้ที่
https://faithtech.com/cities/bangkok
แล้วมาช่วยกันทำพระมหาบัญชาของพระเจ้าให้สำเร็จกันนะครับ
บทความ: ซัน สิทธวีร์ ธีรกุลชน
ออกแบบภาพ: Mr.Promise
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น