สภาวะวิกฤตเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะคริสตจักรที่เน้นการสอนพระคัมภีร์และการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เชื่อย่อมกระทบต่อค่านิยมในสังคมอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นระดับส่วนตัวไปจนถึงระดับสังคม และเมื่อกระทบในระดับที่กว้างขึ้น จะมีบางประเด็นที่จะเป็นที่น่าสนใจของสื่อมวลชน สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ การเดินหนีสื่อมวลชนหรือการพยายามปิดข่าวจะยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้นไปอีก คริสตจักรจึงควรตระหนักและเตรียมความพร้อมในการพูดคุยกับสื่อเพื่อให้ข้อมูลอย่างถูกต้องในส่วนของเราเท่าที่จะทำได้
ที่ผ่านมาไม่นานนี้ เราจะเห็นข่าวใหญ่ที่ท้าทายความเชื่อของสังคมไทย เช่น การสัมมนาเรื่องความเบี่ยงเบนทางเพศ จัดโดยกลุ่มสามัคคีธรรมของผู้ปกครองคริสเตียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน หัวข้อสัมมนากลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง การจัดการข่าวสารในเวลานั้นอาศัยความสามารถของ ศจ.ชาติชาย จารุวาที เป็นตัวแทนในการตอบสื่อมวลชน (ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีการจัดการอย่างเป็นระบบล่วงหน้าหรือไม่) แต่เรื่องนี้ก็ผ่านไปได้อย่างดี
นอกจากนี้คริสตจักรยังจะต้องพบกับอีกหลายเรื่อง เช่น การไม่สามารถยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันแม้จะมีกฏหมายออกมา การไม่ยอมรับการทำแท้ง การไม่ยอมรับการอยู่ด้วยกันแบบสามีภรรยาก่อนแต่งงาน แม้แต่เรื่องภายในเช่น การป่วยร้ายแรงหรือแม้แต่การเสียชีวิตของบุคคลสำคัญในคริสตจักร หรือล่าสุดกับวิกฤตเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีแนวโน้มสูงจนคาดว่าจะระบาดไปทั่วโลก หรืออาจมีผู้ติดเชื้อในคริสตจักรเหมือนอย่างเกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ เป็นต้น
รายงานข่าวพบอย่างน้อย 2 คริสตจักรในสิงคโปร์ที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 (28 ก.พ. 2020)
ภาพจาก https://www.todayonline.com
การเตรียมแผนการสื่อสารในสภาวะวิกฤตเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง วิธีการที่อาจทำได้คือการระบุเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นออกมาอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการกำหนดตัวบุคลากรอย่างกว้างๆ แล้วเมื่อวิกฤตในแต่เรื่องเข้ามาค่อยหาบุคลากรเพื่อตอบในจุดต่างๆ ได้ เช่น
- กำหนดโฆษกของคริสตจักรที่จะเป็นคนเดียวที่สื่อเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากศิษยาภิบาล
- การปรับปรุงข้อมูลเบื้องต้นของคริสตจักรให้ทันสมัยอยู่เสมอ
- การกำหนดจุดรับแขกให้พร้อมสำหรับการให้สัมภาษณ์จากนักข่าว
- การกำหนดบุคคลกรที่จะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในคริสตจักรหรือแม้แต่จากภายนอก เพื่อตอบคำถามสำคัญๆ ในเรื่องเจาะจง
- การกำหนดการซ้อมเป็นระยะๆ โดยกำหนดสภาวะวิกฤตสมมติ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การจัดการข่าวสารในภาวะวิกฤตอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับการบริหารจัดการในคริสตจักรไทย ปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือ ขาดการเห็นคุณค่า และขาดการจัดลำดับความสำคัญอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะคริสตจักรอาจเน้นเรื่องพื้นฐาน เช่น การประกาศ การสร้างสาวก การจัดค่ายต่างๆ การนมัสการ ความเจริญเติบโตด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเรื่องหล่านี้ใช้เวลา ความทุ่มเท และทรัพยากรมากอยู่แล้ว ทำให้เรื่องการจัดการข่าวสารในภาวะวิกฤตอย่างเป็นระบบอาจถูกมองข้ามไป โดยมักจะเน้นการจัดการเมื่อปัญหาเข้ามา
อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือ ความหลากหลายของปัญหาเป็นเหตุให้การเตรียมการล่วงหน้าเมื่อต้องให้ข่าวเกิดความไม่แน่นอน ยากที่จะระบุตัวผู้รับผิดชอบหลัก สุดท้ายมักหนีไม่พ้นศิษยาภิบาลและกรรมการคริสตจักรที่จะเป็นผู้ตอบสื่อในกรณีที่เกิดวิกฤตต่างๆ ขึ้น
คำถามที่คริสตจักรต้องตอบตัวเองวันนี้คือ เรามีความพร้อมมากแค่ไหนในการให้ข่าวในสภาวะวิกฤตหากสภาวะวิกฤตนั้นๆ เข้ามาและเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
อ้างอิง: Vassallo, Wanda. Communicating in a Crisis
บทความ: กนก ลีฬหเกรียงไกร
ออกแบบภาพ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น