บทความ

คริสตจักรทำอะไรได้บ้างในช่วงโควิดยืดเยื้อ

คริสตจักร คือ ชุมชนผู้เชื่อที่ตั้งใจร่วมผูกพันกันโดยตระหนักว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน โดยมีพระเยซูทรงเป็นศีรษะ (เอเฟซัส 4:12–15; โคโลสี 2:19) ฉะนั้นความหมายของคริสตจักรจึงไม่ใช่ตัวอาคารหรือเพียงแค่การประชุมวันอาทิตย์ เมื่อคริสตจักรเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยผู้เชื่อ การเปิดการประชุมหรือปิดการประชุมเพราะการระบาดของไวรัสโควิดจึงไม่เกี่ยวกับความเชื่อในจิตใจของคริสเตียนแต่อย่างใด

มาร์ติน ลูเธอร์ ได้กล่าวไว้ในช่วงการระบาดของเชื้อโรคในสมัยของท่านว่า

“Therefore I shall ask God mercifully to protect us. Then I shall fumigate, help purify the air, administer medicine, and take it. I shall avoid places and persons where my presence is not needed in order not to become contaminated and thus perchance infect and pollute others, and so cause their death as a result of my negligence. … See, this is such a God-fearing faith because it is neither brash nor foolhardy and does not tempt God.”

“ฉะนั้นข้าพเจ้าจะทูลขอต่อพระเจ้าด้วยเมตตาให้คุ้มครองเรา ข้าพเจ้าจะรมยา ช่วยฟอกอากาศ จัดการและรับประทานยาตามคำแนะนำของแทพย์ จะหลีกเลี่ยงสถานที่และบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องไปเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงและทำให้ผู้อื่นติดเชื้อหรือทำให้พวกเขาเสียชีวิตอันเป็นผลมาจากความประมาทของฉัน … ดูเถิด นี่เป็นเรื่องของความยำเกรงในพระเจ้า ไม่โอ้อวด โง่เขลา และไม่ทดลองพระเจ้า”

ความเชื่อกับความประพฤติจึงเดินไปด้วยกันอย่างไม่ขัดแย้ง เราอธิษฐานและดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดไม่เข้าไปสู่ความเสี่ยง ไม่ทดลองพระเจ้า มีตอนหนึ่งแม้มารจะพยายามทดลองพระเยซู แต่พระองค์ตรัสชัดเจนว่าอย่าทดลองพระเจ้า

มัทธิว 4:6–7 แล้ว​ทูล​พระ​องค์​ว่า “ถ้า​ท่าน​เป็น​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า จง​กระ​โดด​ลง​ไป เพราะ​พระ​คัม​ภีร์​มี​เขียน​ไว้​ว่า ‘พระ​เจ้า​จะ​รับ​สั่ง​เรื่อง​ท่าน​ต่อ​บรร​ดา​ทูต​สวรรค์​ของ​พระ​องค์ และ​ทูต​สวรรค์​จะ​เอา​มือ​ประ​คอง​ชู​ท่าน​ไว้ ไม่​ให้​เท้า​ของ​ท่าน​กระ​ทบ​หิน’ ” พระ​เยซู​จึง​ตรัส​ตอบ​ว่า “พระ​คัม​ภีร์​มี​เขียน​ไว้​อีก​ว่า ‘อย่า​ทด​ลอง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ผู้​เป็น​พระ​เจ้า​ของ​ท่าน’ ”

ชุมชนแห่งความเชื่อคือคริสตจักรของพระเจ้าจึงควรประเมินสถานการณ์แล้วตัดสินใจอภิบาลดูแลสมาชิกอย่างเข้าใจ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำในภาคปฏิบัติ และตักเตือนสติเพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิต

สิ่งที่คริสตจักรสามารถทำได้

1. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องสมดุล

คริสตจักรสามารถให้คำแนะนำด้วยหลักการพระคัมภีร์ และขณะเดียวกันให้หลักการข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์ควบคู่กันไป เพราะเรื่องโรคระบาดเกี่ยวข้องกับการแพทย์ด้วย ศิษยาภิบาลต้องตระหนักในเรื่องนี้และหนุนใจเชิญชวนแพทย์ในคริสตจักรให้ช่วยกันให้ข้อมูลและหาวิธีรับมือในภาคปฏิบัติเพื่อให้สมาชิกปลอดภัยที่สุด

รายการที่ให้ความรู้เรื่องวัคซีนโควิดของเพจ ChristLike
(ชมคลิปย้อนหลัง)

วัคซีนโควิดเป็นยารักษาโรคระบาดจากไวรัสโควิดที่ระบาดตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน วัคซีนมีทั้งการใช้เชื้อตายซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนปกติ และวัคซีนที่มาจากการใช้ mRNA เป็นสื่อในการนำยารักษาที่ผลิตจากหนาม (Spike) ของไวรัสโควิดเข้าไปสร้างภูมิในระดับ DNA ซึ่ง mRNA จะสลายตัวไปหลังจากนำยาเข้าไปในร่างกายและไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ DNA ของมนุษย์

คริสตจักรไม่ควรเชื่อมโยงประเด็นวัคซีนโควิดกับคำพยากรณ์ในวิวรณ์ในเหตุการณ์วาระสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญลักษณ์ของมาร 666 หรือการมาของปฏิปักษ์พระคริสต์ (1 ยอห์น 2:18) เพราะเป็นคนละเรื่องกัน การรับสัญลักษณ์ของมารหมายถึงการปฏิเสธพระคริสต์เพื่อแลกกับการที่จะสามารถดำเนินชีวิตในโลกได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม (วิวรณ์ 13:16–18) ซึ่งการรับวัคซีนไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธความเชื่อในพระเจ้าแต่อย่างใด หรือการระบาดของไวรัสโควิดทำให้รัฐบาลสั่งปิดคริสตจักรได้ก็ไม่เกี่ยว เพราะการปิดในที่นี้เป็นเพียงปิดสถานที่เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโรค ไม่ได้ปิดกั้นความเชื่อหรือบังคับให้ปฏิเสธพระคริสต์แต่อย่างใด

ผู้นำคริสตจักรจึงไม่ควรสร้างความกลัวโดยนำเรื่องวัคซีนไปเชื่อมโยงกับคำพยากรณ์ในวิวรณ์

2. ให้ความร่วมมือกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ

คริสตจักรไม่ใช่ตัวอาคารหรือการประชุม ฉะนั้นหากต้องปกป้องสมาชิกในช่วงโรคระบาด คริสตจักรต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกัน และให้ความร่วมมือในคำแนะนำทางแพทย์ เช่น การกำหนดเปิดหรือปิดอาคารประชุมคริสตจักร การจัดระเบียบทางสาธารณสุข จัดเครื่องวัดอุณหภูมิ รักษาระยะการนั่ง ปิดแมส ล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

การฟังผู้เชี่ยวชาญไม่ได้เป็นการขาดความเชื่อแต่อย่างใด ยิ่งทำให้เรารอบคอบและปลอดภัยมากกว่า

สุภาษิต 11:14 เมื่อ​ไม่​มี​การ​ชี้​แนะ ประ​ชา​ชน​ก็​ล้ม​ลง แต่​โดย​มี​ที่​ปรึก​ษา​มาก ก็​มี​ความ​ปลอด​ภัย

3. ดูแลเท่าที่จะทำได้อย่างเหมาะสม

ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลายในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูล การฉีดวัคซีนย่อมให้ประโยชน์มากกว่าไม่ฉีด อย่างไรก็ตามการรับหรือปฏิเสธไม่รับวัคซีนต่างมีเหตุผลมากมายทั้งทางสุขภาพและจิตใจ สิ่งที่คริสตจักรทำได้ดีคือการแนะนำและหนุนใจสมาชิกอย่างเต็มที่ แต่ไม่ควรบังคับขู่เข็ญหรือตัดสินต่อว่าสมาชิกในเรื่องนี้ เราทำทุกอย่างอย่างเหมาะสมเต็มที่ สุดท้ายให้การตัดสินใจอยู่ที่สมาชิกแต่ละคน

4. อธิษฐานเผื่อและหนุนใจเสมอ

เรื่องนี้ควรเป็นประเด็นหลักที่เราควรทำอย่างสมดุลคือการอธิษฐานพึ่งพาพระเจ้า และแสดงออกด้วยความเข้าใจ ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบแค่มุมมองเรื่องโรคและวัคซีนแต่ยังส่งผลโดยตรงต่อปัญหาเศรษฐกิจของสมาชิกด้วย ผู้นำคริสตจักรจึงควรอธิษฐานเผื่อ หนุนใจสมาชิกเสมอในทุกโอกาส โดยใช้เทคโนโลยีทุกช่องทาง เพื่อสมาชิกจะมีกำลังใจต่อสู้ต่อปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในช่วงนี้ได้อย่างไว้วางใจพระเจ้า

ที่สำคัญขอหนุนใจศิษยาภิบาลและผู้รับใช้ให้มีกำลัง มีความเชื่อเพิ่มพูนขึ้น ขอให้อธิษฐานเผื่อและหนุนใจสมาชิกเสมอ ปกป้องฝูงแกะด้วยใจรัก เสริมกำลังความเชื่อ ให้ข้อมูลทางการแพทย์อย่างเต็มที่เพื่อสมาชิกจะปลอดภัยกลับมาพบกันด้วยความรักผูกพันเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

 

บทความ:  กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ:  Cosmic Timetraveler on Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง