บทความ

มุมมองพระคัมภีร์ กับ การเชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครองบ้านเมือง

ช่วงที่การเมืองกำลังร้อนระอุ ผมเห็นการถกเถียงกันในวงกว้าง เช่น คริสเตียนแสดงความเห็นทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน ในบทความนี้ผมจึงพาพี่น้องไปสำรวจดูแนวคิดของคริสเตียนที่มี “การเชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครองบ้านเมืองต่อการเมือง” ว่ามีแบบไหนบ้าง รวมไปถึงแนวทางในภาคปฏิบัติว่าพระคัมภีร์ให้เราทำอะไรได้บ้าง

สองแนวคิดเรื่อง “การเชื่อฟังผู้ปกครองบ้านเมือง”

จากการศึกษาพบว่าคริสเตียนมีแนวคิดแบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ คือ (1) เชื่อฟังทุกกรณี และ (2) เชื่อฟังเฉพาะที่ไม่ขัดแย้งกับพระคัมภีร์

1. เชื่อฟังทุกกรณี (Radical Patriot)

แนวคิดนี้เน้นความสำคัญของ สิทธิอำนาจ โดยมองว่าทุกสิทธิอำนาจมาจากพระเจ้า (โรม 13:1-4) ดังนั้นจึงสรุปว่าพระเจ้าคาดหวังให้ทุกคนเชื่อฟังในสิทธิอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม (ทิตัส 3:1) โดยไม่ขึ้นกับว่าผู้มีอำนาจนั้นจะเป็นอย่างไร (1 เปโตร 2:13)

ในคริสตจักรสมัยแรก กษัตริย์เนโรถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองที่โหดร้าย แต่เปาโลก็ยังหนุนใจให้คริสเตียนยอมรับและเชื่อฟังอำนาจของเนโร และยังมองว่าเนโรเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าอีกด้วย (โรม 13:4) คริสเตียนส่วนใหญ่ในโลกไม่ยอมรับแนวคิดนี้ และมองว่าแนวคิดนี้ตกขอบ

2. เชื่อฟังเฉพาะที่ไม่ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ (Biblical Submission)

หลักคิดของแนวคิดนี้ คือ พระคัมภีร์มีสิทธิอำนาจสูงกว่าคำสั่งของรัฐ ดังนั้นคริสเตียนจะเชื่อฟังเฉพาะกรณีที่คำสั่งของรัฐไม่ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง หลักคิดที่สนับสนุนแนวคิดนี้ คือ

1) พระเจ้าแต่งตั้งผู้มีอำนาจ แต่ไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ผิด

ไม่มีสักครั้งในพระคัมภีร์ที่พระเจ้าพึงพอใจผู้มีอำนาจที่ชั่วร้าย แต่ตรงกันข้ามมีหลายครั้งที่พระเจ้าส่งผู้เผยพระวจนะมาตักเตือนผู้มีอำนาจที่หลงผิด เช่น

  • ซามูเอลเตือนซาอูล (1 ซามูเอล 13:13)
  • นาธันเตือนดาวิด (2 ซามูเอล 12:9)
  • อิสยาห์ต่อว่าผู้ออกกฎหมายอธรรม (อิสยาห์ 10:1)

ซึ่งนัยยะก็คือ การที่พระเจ้าแต่งตั้งผู้มีอำนาจไม่ได้แปลว่า พระเจ้ายอมรับทุกคำสั่งของเขา

2) พระคัมภีร์ให้เชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าผู้มีอำนาจ

โดยทั่วไปพระคัมภีร์ให้เราเชื่อฟังผู้มีอำนาจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้เชื่อฟังแบบไม่มีขอบเขต เราเห็นหลายตัวอย่างในพระคัมภีร์ที่ผู้เชื่อไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจ เพราะว่าคำสั่งนั้นขัดแย้งหลักศีลธรรม หรือ หลักการในพระคัมภีร์ เช่น

  • อพยพ 1:15-21 – นางชิฟราห์และปูอาห์ ไม่ทำตามคำสั่งของฟาโรห์ เพราะพวกนางยำเกรงพระเจ้ามากกว่า ซึ่งการสั่งให้ฆ่าทารก เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักศีลธรรม (เหตุการณ์ตอนนี้อยู่ก่อนที่จะมีการเขียนพระคัมภีร์)
  • 1 พงศ์กษัตริย์ 18 – โอบาดีห์ ยำเกรงพระเจ้ามากกว่าคำสั่งของราชินีเยเซเบล โดยซ่อนผู้เผยพระวจนะเอาไว้
  • ดาเนียล 3 – พระเจ้ารับรอง ชาวยูดาห์ 3 คน ที่ขัดคำสั่ง กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ ในเรื่องการกราบไหว้รูปเคารพ
  • ดาเนียล 6 – พระเจ้ารับรอง ดาเนียล ที่ขัดคำสั่ง กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ ในเรื่องการห้ามอธิษฐาน
  • กิจการฯ 4:19 – เปโตร เชื่อฟังพระเจ้ามากกว่า คำสั่งของสภาสูง ในเรื่องการประกาศข่าวประเสริฐ
  • วิวรณ์ 13 – การที่ไม่ต้องเชื่อฟัง ปฏิปักษ์พระคริสต์ ในเรื่องรูปเคารพ

แม้ว่าแนวคิดนี้จะเป็นที่ยอมรับโดยกว้างขวาง แต่ก็ได้สร้างความยุ่งยากเช่นกัน เพราะแนวคิดนี้ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า ประเด็นไหนบ้างที่ไม่ควรเชื่อฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสเตียนที่มีการตีความพระคัมภีร์ที่หลากหลาย ก็ย่อมทำให้เส้นแบ่งนี้แตกต่างกันออกไป

หลักปฏิบัติเมื่อไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้มีอำนาจ

1. ปฏิเสธ ไม่ใช่ปฏิวัติ

คริสเตียนมีสิทธิปฏิเสธไม่ทำตามกฎหมายที่ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ได้ เพราะว่า พระเจ้ามีสิทธิอำนาจสูงกว่า แต่เราทำได้เพียงปฏิเสธเท่านั้น ไม่สามารถขยายไปถึงการล้มสิทธิอำนาจที่พระเจ้าแต่งตั้ง ตัวอย่างหญิงผดุงครรภ์ชาวอียิปต์ หรือ ดาเนียล ก็ทำเพียงปฏิเสธคำสั่ง แต่ก็ไม่รวบรวมพรรคพวกเพื่อล้มอำนาจของผู้ปกครอง

2. พยายามทำตามกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายอธรรม

หากมีช่องทางตามกฎหมายที่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายอธรรมได้ ก็ให้ทำตามช่องทางนั้น หลักคิดคือ หาช่องทางที่ทำให้ผู้มีอำนาจเปลี่ยนใจ โดยที่ไม่ไปล้มสิทธิอำนาจของผู้นั้น

3. หนีออกจากกฎหมายอธรรม

หากไม่อยากอยู่ภายใต้กฎหมายอธรรม หรือ ผู้ปกครองที่ไม่ดี เพราะว่ามีโอกาสที่เราจะต้องถูกลงโทษ เราก็สามารถหนีไปอยู่ที่อื่นได้ การหนีเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เห็นได้ในพระคัมภีร์ เช่น โอบาดีห์หนีจากราชินีเยเซเบล หรือ โยเซฟพานางมารีย์กับทารกเยซูหนีกษัตริย์เฮโรดไปที่อียปต์

4. อดทนยอมรับการลงโทษ

แน่นอนว่าสำหรับบางคนที่มีความจำกัด ไม่สามารถหนีได้ และในเมื่อเราปฏิเสธกฎหมาย ก็ย่อมมีการลงโทษโดยกฎหมายนั้น เราเองก็ยอมรับโทษที่เกิดขึ้นเพื่อเห็นแก่พระคริสต์ (1 เปโตร 4:12-13, วิวรณ์ 3:10)

5. วางใจในพระเจ้า

การพิพากษาและการแก้แค้นเป็นของพระเจ้า จงมอบการนั้นไว้กับพระเจ้า (โรม 12:19) เราต้องมั่นใจว่า พระเจ้ายังควบคุมทุกอย่าง และมีบ่อยครั้งที่พระเจ้าเปลี่ยนสิ่งที่ดูเหมือนไม่ดีให้กลายเป็นสิ่งที่ดีได้ เช่น โยเซฟพูดกับพวกพี่ชายถึงแผนการของพระเจ้า (ปฐมกาล 50:20)

6. อธิษฐานเผื่อผู้มีอำนาจ

เปาโลหนุนใจให้ผู้เชื่ออธิษฐานเผื่อผู้ปกครองให้เขาปกครองอย่างชอบธรรม เพื่อเราจะได้อยู่อย่างสงบ

“สิทธิอำนาจ” ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ สมมติว่าเราทำงานอยู่ในบริษัท A และ นาย Α ออกข้อบังคับที่เราไม่เห็นด้วย (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้) สิ่งที่เราทำได้ ขึ้นกับรูปแบบของบริษัท

รูปแบบที่ 1เราเป็นลูกจ้าง และ นาย Α เป็นเจ้าของ 100%

สิ่งที่เราทำได้ คือ (1) หาช่องทางสื่อสารกับนาย Α เพื่อให้เปลี่ยนข้อบังคับนั้น หรือ (2) ลาออกจากบริษัทเพื่อไปทำงานในบริษัทที่เราเห็นด้วย โดยที่ทั้งสองกรณีนี้ เราไม่มีสิทธิไปล้มล้างนาย Α เพราะว่าเขามีสิทธิอำนาจเต็มในบริษัทนั้น

รูปแบบที่ 2 – เราเป็นลูกจ้าง และ นาย Α, B, C และ D เป็นเจ้าของร่วมกันคนละ 25%

แบบนี้เราจะมีทางเลือกที่สาม เพิ่มขึ้นมา คือ หาช่องทางสื่อสารกับ Β, C, D ให้เปลี่ยนข้อบังคับนั้น เพราะว่า นาย Β, C, D มีสิทธิอำนาจในบริษัทเช่นกัน

รูปแบบที่ 3 – เรา และ นาย Α, B, C และ D เป็นเจ้าของร่วมกันคนละ 20%

เราจะมีอีกทางเลือก คือ เรียกประชุม A, B, C และ D เพื่อโหวตหาข้อตกลง เพราะว่า ทุกคนมีสิทธิอำนาจในบริษัทเท่ากัน


หลายวันที่ผ่านมา ผมเห็นคริสเตียนฝั่งอนุรักษ์นิยมออกมาแสดงความเห็นว่า คริสเตียนควรอยู่ใต้อำนาจผู้ปกครอง ไม่มีสิทธิ์ไปแตะต้องอำนาจที่พระเจ้าตั้งเอาไว้ โดยมักยกตัวอย่างดาวิดที่ไม่ไปแตะต้องกษัตริย์ซาอูล ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ารูปแบบการปกครองสมัยอาณาจักรอิสราเอล เป็นแบบกษัตริย์นิยม ดังนั้นกษัตริย์ซาอูลจึงเป็นผู้มีสิทธิอำนาจในการปกครองเพียงผู้เดียว ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองจึงไม่มีสิทธิ์ไปแตะต้องอำนาจของท่าน  หรือในกรณีที่พระเจ้าลงโทษอาโรนกับมีเรียมที่ไปต่อว่าโมเสส ก็ใช้หลักการเดียวกัน ดังนั้นคำถามที่สำคัญในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน คือ ใครเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ?

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีอำนาจสูงสุด และมีสิทธิในการร่วมปฏิรูปประเทศได้ (โดยยึดหลักจากเสียงของคนส่วนใหญ่)

จุดยืนส่วนตัวต่อประเด็นนี้

  1. ผมเห็นด้วยว่า เราควรอธิษฐานเผื่อผู้ปกครองบ้านเมือง ให้เขาปกครองบ้านเมืองแบบชอบธรรม
  2. ผมเห็นด้วยว่า เราไม่ควรใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ แม้แต่การใช้คำพูดก็ตาม
  3. บทบาทของคริสเตียนต่อการเมือง ขึ้นอยู่กับการทรงเรียกของแต่ละคน หากพระเจ้าเรียกก็ทำตามบทบาทนั้น หากพระเจ้าไม่เรียกก็สังเกตการณ์และอธิษฐานเผื่อแบบห่างๆ

 

อ้างอิง : Geisler, L. N. (2010). Christian Ethics: Contemporary Issues & Options. Grand Rapids, MI: Baker Academic.

 

บทความ: ดร.อาณัติ เป้าทอง 
ภาพ:  Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง