บทความ

“การชอบเปรียบเทียบ” กับดักที่ห้ามพลัดตกลงไป

เมื่อช้อปปิ้ง สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือ เปรียบเทียบราคา คุณภาพ ซึ่งมักใช้เวลาอยู่นานกว่าจะเลือกของที่ค่อนข้างแน่ใจว่าคุ้มที่สุด แต่พอกลับบ้านไปเจอของที่ดีกว่าถูกกว่า ก็มานั่งบ่นเสียดาย รู้งี้ยังไม่ซื้อ มารอซื้อจากเจ้านั้นเจ้านี้ดีกว่า

ชีวิตคนส่วนใหญ่ตกอยู่ในวงล้อมการเปรียบเทียบ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่รอบตัวตลอดเวลา บางทีก็ชอบคิดว่าอยากมีชีวิตเหมือนคนนี้จัง เมื่อเข้า social เราเห็นภาพคนกินของดีๆ เห็นคนเที่ยวและพักโรงแรมหรู คนนี้ได้แต่งงาน ลูกของคนนั้นเก่งจัง ไม่ว่าอยู่ในกลุ่มเพื่อน นั่งที่โต๊ะประชุม เดินผ่านผู้คนบนท้องถนน มันมีเรื่องให้คิดเปรียบเทียบได้เสมอ

สิ่งรอบตัวนี้จึงเป็นเหมือน กับดักการเปรียบเทียบ (Relativity Mind Trap) เมื่อใดที่เราวัดคุณค่า วัดความพึงพอใจด้วยการเอาสิ่งที่ตัวเองมีไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนอื่นมี เรามักพบว่า ชีวิตเต็มด้วยความรู้สึกแย่ รู้สึกด้อยค่า เพราะเรามักเห็นคนที่ดีพร้อมกว่าเราอยู่เสมอ

ธีโอดอร์ โรสเวลต์ จึงกล่าวว่า “การเปรียบเทียบ คือ โจรที่ปล้นเอาความสุขของชีวิตไป” (Comparison is the thief of joy)

มีงานสำรวจที่ยืนยันให้เห็นความจริงเรื่องการเปรียบเทียบ โดยไปสอบถามนักศึกษาที่กำลังจบว่า ถ้าให้เลือกงาน 2 งานที่มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด แต่งานแรกได้เงินเดือน 75,000 เหรียญ งานที่สองได้ 100,000 เหรียญ คุณคิดว่าจะเลือกงานไหน? แน่นอนทุกคนเลือกงานที่ 2 หมด

แต่เมื่อให้เงื่อนไขเพิ่ม คือกรณีที่คุณเลือกงานแรก 75,000 เหรียญ เพื่อนคุณที่จบมาด้วยกันทั้งหมดมาทำงานที่บริษัทเดียวกัน งานแบบเดียวกัน จะได้เงิน 50,000 เหรียญ กับถ้าคุณเลือกงานที่สองได้เงิน 100,000 เหรียญ เพื่อนคุณทั้งหมดที่จบมาด้วยกัน และให้ทำงานแบบเดียวกันด้วย จะได้เงินเดือน 125,000 เหรียญ เป็นคุณจะเลือกงานไหน? ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่กลับเลือกเงื่อนไขแรก ที่ได้เงินเดือนน้อย แต่เพื่อนๆ ได้เงินเดือนน้อยกว่า

สิ่งที่น่าสนใจจากตัวอย่างนี้ คือ คนให้ค่าของ “การรู้สึกอยู่เหนือคนอื่น” มีมูลค่ามากกว่า “เงิน”

ขอให้ตัวอย่างอีกเรื่อง เป็นการทำสำรวจระหว่าง คนซึ่งร่ำรวยที่สุดที่อาศัยอยู่ในย่านคนยากจน เช่น นาย A ซึ่งมีเงินอยู่ 1 แสนเหรียญ  กับ คนซึ่งยากจนที่สุดที่อาศัยอยู่ในย่านคนร่ำรวย เช่น นาย B ซึ่งมีเงินอยู่ 1 ล้านเหรียญ คุณคิดว่าใครควรจะมีความสุขมากกว่ากัน? ผลสำรวจพบกว่านาย A กลับมีความสุขมากกว่านาย B

และเมื่อพูดถึงการแข่งขันกีฬา คนที่ได้เหรียญเงิน กับ คนที่ได้เหรียญทองแดง คุณคิดว่าใครควรจะมีความสุขกว่ากัน? ผลที่ออกมา คือ คนที่ได้เหรียญเงินกลับมีความสุขน้อยกว่า เพราะพวกเขาเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่ได้เหรียญทอง แล้วรู้สึกผิดหวังที่พลาดเป็นที่ 1 ส่วนคนที่ได้เหรียญทองแดงมักเปรียบตัวเองกับคนที่ไม่ได้เหรียญ จึงมีความสุขกว่า

จาก 2 ตัวอย่างนี้ดูเหมือนจะสอนให้เรารู้จักเลือกเปรียบเทียบ เลือกปรับมุมมองเพื่อที่จะช่วยให้ชีวิตมีคุณค่ามีความสุขขึ้นได้ แต่ในชีวิตจริง คุณอาจพบว่าตัวเองยังไม่เคยได้สักเหรียญรางวัลเลย คุณอาจเป็นคนฐานะปานกลางในย่านที่ปานกลาง คำถามก็คือ ชีวิตเราจำเป็นต้องคอยมองหาตัวเปรียบเทียบเพื่อมาช่วยยกระดับตัวเราให้สูงขึ้นหรือ?

“การเปรียบเทียบ ถ้าไม่ทำให้คุณรู้สึกว่า ‘เหนือกว่า’ ก็จะทำให้คุณรู้สึกว่า ‘ด้อยกว่า’ 
แต่ความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้ทำให้พระเจ้าพอพระทัยเลย”
(Comparing makes you feel either SUPERIOR or INFERIOR – neither honors god)
Craig Groeschel

หากชีวิตเราต้องมาพยายามเป็นผู้ชนะตลอดเวลา ต้องไขว่คว้าหาความสำเร็จ ความร่ำรวย ถูกยอมรับ มีอำนาจ มีตำแหน่ง มีแฟนหน้าตาดี หรืออะไรก็ตามที่ช่วยให้รู้สึกว่าตัวเองมั่นคงมีคุณค่า เราอาจทบทวนว่า นี่เป็นเส้นทางที่พระเจ้าต้องการให้เราเดินจริงๆ ใช่หรือไม่

ไม่มี “ชัยชนะใดจากภายนอก” ที่สามารถปลดล็อก “ความไม่มั่นคงภายในตัวเรา” ได้
(Insecurity in us that no external “win” can satisfy)
Craig Groeschel

และยิ่งหากเราล้มเหลว ตกเป็นฝ่ายแพ้ ตัวเราก็ยิ่งแย่ลง ดำดิ่งไปกับความรู้สึกดูถูกตัวเอง อิจฉาคนที่ได้ดีกว่า ไม่ชอบยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น

แน่นอนมีการเปรียบเทียบบางอย่างที่มีประโยชน์ เช่น เรามองบางคนเป็น role model เพื่อจะพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น มองความสำเร็จจากชีวิตใครสักคนเป็นเป้าหมาย เป็น benchmark ที่กระตุ้นตัวเราให้เดินไปข้างหน้าต่อ นั่นก็คือ บางครั้งเราสามารถใช้การเปรียบเทียบเพื่อมาสร้างแรงบันดาลให้ตัวเองได้ (Turn comparison to inspiration) แต่ทั้งหมดก็ต้องแน่ใจว่า วิธีการนี้ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนจากความรู้สึกไม่มั่นคงภายใน

ปัญหาของเรื่องนี้ คือ ถ้าคุณมองทุกสิ่งรอบตัวด้วยการเปรียบเทียบ คุณก็จะพลาดมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามคุณค่าในตัวมันเอง โดยเฉพาะ “คุณค่าในตัวคุณเอง”

รางวัลของชีวิตที่รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือ การมองเห็นคุณค่าชีวิตตัวเองอย่างถูกต้อง ไม่ใช่จากสิ่งที่คนอื่นมองเราหรือเรามองตัวเอง แต่ขึ้นกับว่าพระเจ้าทรงมองเห็นเราอย่างไร และนี่เป็นของขวัญชิ้นโตที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบให้เรา เรากลายเป็นบุตรที่มีค่าในสายพระเนตรพระเจ้า โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ประทับตราเรา เราไม่ใช่คนไร้ค่าจากการตีตราของตัวเองและคนอื่น

ดังนั้น “สถานะใหม่” ของเรานี้จึงจำเป็นต้องมองเห็นจากมุมมองใหม่ และผ่านสายตาใหม่เท่านั้น

“เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีพยานมากมายอยู่รอบข้างอย่างนี้แล้วก็ขอให้เราละทิ้งทุกอย่างที่ถ่วงอยู่ และบาปที่เกาะแน่น ขอให้เรายังคงวิ่งแข่งด้วยความทรหดอดทนในการแข่งขันที่อยู่ข้างหน้าเรา โดยจับตามองที่พระเยซูผู้เบิกทางความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อนั้นสมบูรณ์…” – ฮีบรู 12:1-2 –

ฉะนั้น แต่ละก้าวเดินของคริสตชนควรจับจ้องที่พระเยซู เป้าหมายและสายตาจึงต้องมองขึ้นไปข้างบนที่ผู้บุกเบิกความเชื่อ และมันช่วยละสายตาเราจากการจดจ่ออยู่กับเรื่องอื่นๆ ทั้งใน Facebook ทั้งจากรูปร่างหน้าตาดีของเพื่อน หรือจากความสำเร็จของคนอื่น

“เมื่อการเปรียบเทียบเริ่มขึ้นที่ไหน ความพึงพอใจก็สิ้นสุดลงที่นั่น”
(Where comparison begins, contentment ends)
Craig Groeschel

ขอให้ย่างก้าวเราดำเนินอยู่ในพระคุณ ระวังอย่าพลัดตกไปสู่กับดักการเปรียบเทียบ เพื่อเราจะเดินบนเส้นทางชีวิตด้วยใจยินดี

อ้างอิง


บทความ:  JK
ออกแบบภาพ:  rainniedesign

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง