บทความ

6 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด19

ปัจจุบัน วัคซีนโควิด คือ หนึ่งในเรื่องที่ทุกคนควรจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ แต่ด้วยกระแสข้อมูลมากมายที่ถาโถมมาจากสื่อต่างๆ นั้นสร้างความงงในงง จนเราต่างไม่แน่ใจกับทางเลือกที่หลากหลายว่าฉีดหรือไม่ฉีด อะไรดีกว่ากัน และถ้าฉีดจะเอาตัวไหนดี

ฉะนั้นบทความนี้ ChristLike ได้เชิญ นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ มาช่วยเราอธิบายให้เห็นภาพรวมของวัคซีน ทั้งข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิด ผลข้างเคียงจากการฉีด และมุมมองที่คริสเตียนควรมีต่อการฉีดวัคซีน 


วัคซีนมีกี่แบบ?

โดยหลักแล้ว ไม่ว่าวัคซีนชนิดใดก็ตาม จะทำหน้าที่กระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกัน เหมือนการซ้อมรบ หรือจำลองสถานการณ์การติดเชื้อ ให้ร่างกายรู้จักเชื้อโควิดก่อน เมื่อเชื้อเข้ามาจะได้ป้องกันได้ หรือต่อสู้ไม่ให้โรครุนแรง แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือวิธีกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 4 รูปแบบ

1. วัคซีนเชื้อตาย (inactivated Vaccine)

ถือว่าเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมสุด มีการใช้มานาน หลักการคือการนำเชื้อโรคตัวนั้นๆ มาทำให้ตาย 

วัคซีนที่ใช้วิธีผลิต คือ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนตับอักเสบเอ

วัคซีนโควิดที่ผลิตโดยวิธีนี้ = ซิโนแวค – Sinovac,  ซิโนฟาร์ม – Sinopharm 

2. วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine)

ถ้าวัคซีนเชื้อตายคือการนำไวรัสทั้งตัวให้ร่างกายรู้จัก วิธีนี้คือนำโปรตีนของเชื้อไวรัส ให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายได้รู้จัก วิธีนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในการทำวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนตับอักเสบบี 

วัคซีนโควิดที่ผลิตโดยวิธีนี้ = โนวาแวกซ์ – Novavax 

ส่วนสองวิธีหลัง จะเป็นวิธีรูปแบบใหม่ แทนที่เราจะใส่ตัวเชื้อที่ตาย หรือใส่ส่วนประกอบของเชื้อโรคเข้าไป แต่เป็นการใส่สารทางพันธุกรรมเข้าไป แล้วให้เซลในร่างกายสร้างส่วนประกอบของไวรัสนั้นๆขึ้นมา 

3. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) 

วิธีการ คือ จะดัดแปลงสารพันธกรรมของไวรัส Covid แล้วใส่ผ่านเข้าไปผ่านไวรัสที่ไม่ก่อโรค (เราเลยเรียกว่า Viral Vector เปรียบเสมือนซองจดหมายนั่นเอง) เพื่อพาสารพันธุกรรมนั้นเข้าไปในเซลล์ของเรา ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 ขึ้นมา ให้ภูมิคุ้มกันเรารู้จัก 

วีธีนี้เราเคยใช้ในการผลิตวัคซีน Ebola มาก่อนหน้านี้ 

วัคซีนโควิดที่ผลิตโดยวิธีนี้ = แอสตร้าเซนเนก้า – Astraceneca,  จอห์นสัน​แอนด์จอห์นสัน – Johnson and Johnson 

4. วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA)

ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยการสังเคราะห์ mRNA หรือชุดออกคำสั่งให้เซลผลิตโปรตีน โดยเมื่อร่างกายรับ mRNA เข้าไปแล้ว ก็จะผลิตโปรตีนสไปค์ (ตัวหนามๆ รอบๆ ไวรัส) ออกมากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน 

วัคซีนโควิดที่ผลิตโดยวิธีนี้ = ไฟเซอร์ – Pfizer และ โมเดอร์นา – Moderna 

ผลข้างเคียงที่อาจะเกิดขึ้นกับคนสุขภาพปกติมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากวัคซีนก็จะมีระดับแตกต่างกันไป 

1. รุนแรงน้อย-ปานกลาง (Mild-Moderate)

  • อาการปวดบริเวณตำแหน่งที่ฉีด 
  • เป็นปฏิกริยาจากการที่ร่างกายเราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เช่น มีไข้ปวดเมื่อยตามตัว อาการอ่อนเพลีย (Flu-like symptom)

2. รุนแรงมาก ( Severe) โอกาสเป็นประมาณ 1 ในแสน

  • Anaphylaxis แพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบในวัคซีน จะมีอาการใน 30 นาที สามารถรักษาด้วยการให้ยาอะดรีนารีน (จึงเป็นเหตุผลให้สังเกตอาการ 30 นาที)
  • อาการอ่อนแรง คล้ายอัมพาต แต่จากข้อมูลพบว่าจะหายปกติได้ภายใน 3 วัน

3. เสียชีวิต (Death)  

  • ปัจจุบันข้อมูลพบว่าพบน้อยมากกว่า 1 ในล้าน
    (ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 คือ 1 ใน 100 )

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับคนมีโรคประจำตัวที่ต้องระวัง

ปัจจุบันกลุ่มคนที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน คือ 

  • คนท้องที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ 
  • คนที่มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้ ยังมีอาการไม่คงที่ 
  • คนที่เคยแพ้วัคซีนหรือ ส่วนประกอบของวัคซีน 

ส่วนอื่นๆ ถ้าไม่ได้เข้าข่ายในกลุ่มนี้พบว่าสามารถให้วัคซีนได้ โดยหากมีโรคประจำตัวที่รักษาอยู่ ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของเราก่อนฉีด

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน

ความเชื่อ : ฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องป้องกันแล้ว ไม่ตายชัวร์
ความจริง : การฉีดวัคซีนสามารถลดโอกาสติดเชื้อได้แต่ไม่ 100% ในช่วงที่มีการระบาดของโรคเราจึงควรปฏิบัติตัวป้องกันอย่างเต็มที่เหมือนเดิม 

ความเชื่อ : วัคซีนคือการฉีดเชื้อโควิดเข้าไปในร่างกาย
ความจริง : ปัจจุบันไม่มีการใช้ฉีดวัคซีนเชื้อเป็นในโรคโควิด19 ทุกชนิดคือเชื้อโรคที่ตายแล้ว เป็นส่วนประกอบของไวรัส หรือเป็นชุดคำสั่งให้ร่างกายสร้างส่วนประกอบของไวรัสขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่ใช่การทำให้ร่างกายติดโควิด

ความเชื่อ : การฉีดวัคซีนทำให้เป็นหมัน เป็นออทิสติก เป็นโรคสมองเสื่อม เป็นมะเร็ง
ความจริง : ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ใดๆ ที่สนับสนุนถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว 

ถ้าเราไม่ฉีดวัคซีนเลยได้ไหม ผลดีและผลเสียของการไม่ฉีดคืออะไรบ้าง

การตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีด อยากแนะนำให้ใช้หลักคิดแบบนี้ คือ ให้ชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยง (Risk) จากวัคซีน และประโยชน์ (Benefit) จากวัคซีน 

หากเราคิดว่าเราอยู่คนเดียวไม่เจอคนเลย เราอาจพิจารณาไม่ฉีดก็เป็นได้ แต่หากเป็นคนทั่วๆ ไปความเสี่ยงที่เราพบคือ  ความเสี่ยงในการติดโควิดแล้วเสียชีวิตคือ 1:100 และ การฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตคือ 1:1,000,000 

ฉะนั้นเราจึงต้องเป็นคนชั่งน้ำหนักด้วยตนเอง

ความเชื่อในการรักษาของพระเจ้ากับการรักษาทางการแพทย์ไปด้วยกันได้อย่างไร

ในมุมมองส่วนตัวที่เป็นคริสเตียน ผมคิดว่า

  1. เรามีหน้าที่ดูแลร่างกายของเราให้ดีที่สุด เพราะเป็นวิหารของพระเจ้า หากเราดูแลร่างกายให้แข็งแรง เราก็สามารถรับใช้พระเจ้าได้นานขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนัก ระหว่างประโยชน์ (Benefit) กับ ความเสี่ยง (Risk) เสมอ ซึ่งก็ขึ้นกับบริบทของแต่ละคน และข้อมูลสนับสนุนในขณะนั้น ซึ่งถ้าไม่มองแค่เพียงวัคซีน ทุกวันนี้เราก็ชั่งน้ำหนักเพื่อตัดสินใจใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการดูแลสุขภาพอยู่แล้วเช่น เราทานยาปฏิชีวนะเมื่อเราติดเชื้อ เราใช้ยาสลบในการผ่าตัด เพื่อลดอาการปวด วัคซีนก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ ที่เราเองต้องเป็นคนชั่งน้ำหนัก และตัดสินใจ
  3. นอกจากมุมเรื่องการดูแลร่างกายของตัวเองแล้ว เราก็สามารถมองถึงการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อคนรอบตัวได้เช่นกัน อย่างในกรณีวัคซีนนี้ ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคได้ เช่น เด็ก หรือ คนท้อง หากเราฉีดวัคซีนที่ตัวเรา ก็เป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับคนในบ้าน หรือคนรอบตัวเราได้ หากมองในมุมมองพระคัมภีร์ผมก็คิดว่า มันก็เป็นคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วย เหมือนเรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  (สำหรับตัวผู้เขียนเอง มีลูกน้อยสองคน เหตุผลนี้เป็นเหตุผลใหญ่ที่สุดในการตัดสินใจฉีดวัคซีน)
  4. แต่การฉีดหรือไม่ฉีดนั้น ผมคิดว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราควรต้องเคารพการตัดสินใจของทุกคน ไม่ควรมีการกดดัน หรือ แบ่งแยก เพราะการชั่งน้ำหนักตัดสินใจ ในบริบทของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกัน ขอเพียงว่าเราต้องชั่งน้ำหนักด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นความจริง

Disclaimer 

  • ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทยาแต่อย่างใด
  • ผู้เขียนบทความได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกด้วย Sinovac ในเดือน มิ.ย 2021

อ้างอิง

 

บทความ:  Dr.Kanapon Phumratprapin
ภาพ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง