บทความ

วิธีจัดการความปรารถนาของตัวเอง เพื่อเติบโตขึ้นในพระเยซู

คำพูดแรกและคำพูดท้ายๆ ของพระเยซูในพระกิตติคุณยอห์นต่างก็เป็นคำถามทั้งคู่

“ท่านหาอะไร?” (What do you want?) คือสิ่งที่พระเยซูถามสาวกสองคนที่ติดตามพระองค์ไปทันที หลังจากทรงรับบัพติศมา

“เจ้ารักเราหรือ?” (Do you love me?)  คือสิ่งที่พระองค์ถามเปโตร 3 ครั้งหลังจากฟื้นคืนพระชนม์

คำถามเหล่านี้ไม่ใช่คำถามเหน็บแนมจากพระเยซู และไม่ใช่คำถามชี้นำ ไม่ใช่คำพูดประชดประชัน หรือคำพูดที่ต้องการทำให้อีกฝ่ายอับอาย

ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่จริงใจเพื่อช่วยให้คนที่ฟังได้ยอมรับและพูดความปรารถนาของตัวเองออกมา

“ท่านหาอะไร?” (What do you want?)

คุณ(ตาม)หาอะไร? คือ คำถามสำคัญสำหรับสาวกทุกคนของพระเยซู

แต่ความปรารถนา (หรือความต้องการ) นั้นทำให้เรากังวลใจ เรากระวนกระวายว่าอาจไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือจริงๆ แล้ว เราไม่ควรคาดหวังกับมันแต่แรก คริสเตียนเราจึงมี 2 วิธีการหลักเพื่อใช้จัดการกับความปรารถนา นั่นคือ

กำจัดมันทิ้ง หรือ เติมเต็มมันซะ

กำจัดความปรารถนาทิ้ง: ทางเลือกของ “ศาสนา”

‘คริสเตียนตามขนบ’ (conservative) บางคนหวาดกลัวความปรารถนาอย่างสุดขั้ว เพราะความปรารถนานำพาเราเข้าสู่ความบาป (เพราะยากอบกล่าวว่า มารคอยวนเวียนเสาะหาผู้ที่มันจะกัดกินได้ คือผู้ที่มีความปรารถนา)

ดังนั้นคริสเตียนอนุรักษ์นิยมเหล่านี้จึงพยายามกำจัดความปรารถนาทิ้งเสีย การกำจัดความปรารถนานั้นรวมไปถึง การทำให้ใจชินชา การเพิกเฉย ทำใจให้นิ่ง หรือปฏิเสธความปรารถนาของตัวเอง ซึ่งเราเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ในคริสตจักรผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น

“นักบุญผู้ไม่เห็นแก่ตัว”

นักบุญผู้ไม่เห็นแก่ตัวจะดูเหมือนว่ามี “หัวใจแห่งผู้รับใช้” พวกเขามักเป็นคนแรกที่อาสาช่วยเหลือผู้อื่น บ่อยครั้งก็สละเวลาและพลังงานจำนวนมากให้แก่ผู้คนที่ร้องขอ

แต่นี่อาจเป็นวิธีที่เราใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดถึงสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หลายคนที่ดูไม่เห็นแก่ตัวนั้น ถูกสอนว่า การที่พวกเขาต้องการอะไรเพื่อตัวเองเป็นความเห็นแก่ตัวและเป็นเรื่องผิด

เมื่อเวลาผ่านไป การใช้วิธีกำจัดความปรารถนาโดยโฟกัสที่ความต้องการของผู้อื่นนั้น กลับก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจ เหล่าผู้รับใช้ที่ไม่เห็นแก่ตัวจึงใช้ชีวิตโดยปราศจากเสียงของหัวใจตนเอง ตัดขาดจากความปรารถนาที่ลึกสุดในใจของพวกเขาเพื่อคำว่า “รับใช้ผู้อื่น”

แน่นอนในฐานะคริสเตียน เราถูกเรียกให้รับใช้ผู้อื่น แต่ไม่ใช่ด้วยการละทิ้งหัวใจของเราไป การรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก ควรนำเราให้รับรู้ถึงความปรารถนาของเราเอง ไม่ใช่แยกเราออกจากมัน

“นักบุญผู้อดทน”

นักบุญผู้อดทนดูเป็นคนที่มั่นคง ไม่มีสิ่งใดรบกวนหรือทำให้พวกเขาหวั่นไหวได้ พวกเขาเป็นคนที่มีเหตุผล มีความคิดเป็นตรรกะ นิ่ง สุขุม และเยือกเย็น

แม้ว่าการมีความมั่นคงในอารมณ์เป็นสิ่งที่ดีแง่ศีลธรรม และการรู้จักบังคับตนคือหนึ่งในผลพระวิญญาณ แต่นักบุญผู้อดทนอาจเป็นผลลัพธ์ของการใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากหัวใจและความปรารถนาของเราได้เช่นกัน คือการที่เราไม่ได้รู้สึกอะไรเลยจริงๆ

ในทางประสาทวิทยา นักบุญผู้อดทนใช้ชีวิตส่วนใหญ่จากสมองซีกซ้าย (ส่วนตรรกะและการวิเคราะห์) โดยไม่ได้ประสานสัมพันธ์กับสมองซีกขวา (ส่วนความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์) ผลลัพธ์คือ นักบุญผู้อดทนเหล่านี้จะใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากหัวใจ แยกส่วน ติดอยู่ในความคิดตัวเอง ไม่ตระหนักหรือคำนึงถึงสิ่งที่ตัวเองปรารถนาจริงๆ

ทั้งผู้รับใช้ที่ไม่เห็นแก่ตัวและนักบุญผู้อดทน ถูกยกย่องในหลายๆ แวดวงคริสเตียนให้เป็นบุคคลตัวอย่างแห่งความเชื่อ และเราก็อยากยอมรับในความเป็นผู้รับใช้และการบังคับตนของคนทั้งสองแบบ แต่เราก็ยังอยากบอกอีกด้วยว่า ตัวตนของคริสเตียนเช่นนี้ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตในฐานะคริสเตียนอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ได้เช่นกัน

เติมเต็มความปรารถนา: ทางเลือกของวิถี “อเมริกัน”

หากวิธีการของศาสนากล่าวว่า ความปรารถนาเป็นเรื่องชั่วร้ายและเราต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ไม่วางใจในความปรารถนาของเราเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัยแล้ว วิถีอเมริกันกลับมองว่าความปรารถนาส่วนบุคคลนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“ความรอด” ประกอบด้วยการเอาชนะสิ่งใดก็ตามที่ขัดขวางหรือยับยั้งความปรารถนาของคุณ ในทางเลือกแบบอเมริกันนั้น สิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริงนั้นบ่งบอกถึงตัวตนของเรา และเราเชื่อใจมันได้อย่างไม่ต้องสงสัย เราจึงตัดสินใจทำในสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพราะอำนาจจากแหล่งภายนอก ประเพณี สติปัญญา หรือศีลธรรม ใดๆ แต่จากความปรารถนาภายในของเราเท่านั้น

ประเทศอเมริกานั้นขับเคลื่อนด้วยการบริโภค เศรษฐกิจถูกสร้างบนการเก็บเกี่ยวและการเติมเต็มความปรารถนาของผู้บริโภค สินค้าและบริการแต่ละตัวถูกนำเสนอด้วยคำสัญญามากมาย: เติมเต็มความปรารถนาของคุณสิ แล้วคุณจะได้รับในสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ ข่าวประเสริฐในอเมริกาบอกว่า การเติมเต็มความปรารถนาเป็นวิธีที่แน่นอนและรวดเร็วที่สุดที่พาคุณไปถึงชีวิตที่วาดฝันมาตลอด

แน่นอนว่าเราส่วนใหญ่รู้ (จากประสบการณ์ส่วนตัว) ว่ามันไม่จริงเลย! หลายคนที่ไม่ใช่คริสเตียนก็ยืนยันในเรื่องนี้ได้เช่นกันว่า การเติมเต็มความปรารถนาของเรานั้นไม่ได้นำไปสู่ความสุขเลย

ทางเลือกแบบอเมริกันนำเราสู่การเสพติด แรงกดดัน และการยึดถือรูปเคารพแบบต่างๆ สุดท้ายเราตกอยู่ในพันธนาการของความปรารถนา จนไม่สามารถมีจุดมุ่งหมายใดๆ นอกจาก ความปรารถนาที่คอยบอกเราว่าต้องมีสิ่งนี้สิ่งนั้น

ทั้งทางเลือกแบบอเมริกันและทางเลือกของศาสนา ไม่ได้มอบความหวังให้แก่มนุษยชาติ พระเยซูต่างหากที่แสดงให้เราเห็นวิธีการที่ดีกว่าในการจัดการกับความปรารถนาของเรา

รู้จักแยกแยะความปรารถนา: ทางเลือกของพระเยซู

งานหลักของพระเยซูคือ การช่วยให้ผู้คน “ยอมรับ” และ “พูดถึง” ความปรารถนาของพวกเขา พระองค์ทรงมองว่าความปราถนาเป็นประตูสู่ที่นั่งในหัวใจของผู้คน พระเยซูมักแสดงออกให้เราเห็นหลายต่อหลายครั้งว่าชอบช่วยผู้คนให้เปิดเผยสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริงออกมา เช่น พระเยซูกับหญิงชาวสะมาเรีย พระเจ้าทรงพบเราได้อย่างสมบูรณ์ในจุดที่เราเป็น (เพราะนั่นคือสิ่งที่พระเจ้าทรงเป็น) และความปรารถนาเป็นดั่งหน้าต่างที่เปิดเข้าสู่ความเป็นจริงของเรา

ความปรารถนาเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของมนุษย์ และความปรารถนาของแต่ละบุคคลนั้นไม่ใช่สิ่งดีหรือชั่วในตัวเอง พวกมันแค่มีอยู่ และเหมือนกับทุกส่วนในชีวิตของเรา ความปรารถนาต้อง “ถูกช่วยให้รอด” เช่นกัน นั่นคือความปรารถนาของเราต้องถูกขัดเกลาและจัดลำดับผ่านชีวิตของพระเยซู

เราใช้เวลาไปมากกับการตัดสิน แก้ไข ปฏิเสธ แสวงหา เติมเต็ม และปกปิดความปรารถนาของเรา แต่พื้นฐานของการเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้านั้นคือ การที่เราเพียงแค่ครอบครอง ระบุ ยอมรับ และปล่อยมือจากความปรารถนาเหล่านั้น นี่คือวิธีที่คุณจะสามารถแยกแยะความปรารถนาได้โดยพระเยซู:

1. ครอบครองความปรารถนาของคุณ (Own your desire) 

การมีความต้องการและความปรารถนานั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เราถูกสร้างมาพร้อมกับมันและเราไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากมันได้ การที่เราจะเรียนรู้ครอบครองความปรารถนา (โดยไม่รู้สึกผิดหรือเรียกร้องมากขึ้น) นั้น เป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คนที่เติบโตมากับข้อห้ามที่ไม่ให้เรามีเสรีภาพในการทำเช่นนั้น

2. ระบุความปรารถนาของคุณ (Name your desire)

บ่อยครั้งเป็นเรื่องยากที่เราจะระบุความปรารถนาออกมาอย่างเจาะจง มันเป็นเพียงความต้องการลึกๆ เป็นความรู้สึก หรือความคิดที่คุณกังวลหรือหวาดกลัว การฝึกฝนที่จะระบุความปรารถนาของเรา (ทั้งต่อพระเจ้า ต่อตัวเราเอง และต่อผู้อื่น) ช่วยให้เราสร้าง “ระยะห่าง”​ จากสิ่งที่เราต้องการ ทางเลือกแบบอเมริกันอยากให้คุณเชื่อว่า ความปรารถนาคือตัวตนของคุณ แต่นั่นไม่เป็นความจริง ผมมีความปรารถนา แต่ผมไม่ใช่สิ่งที่ผมปรารถนา การฝึกฝนที่จะระบุความปรารถนาช่วยให้เราแก้ปมความสัมพันธ์ที่ผิดเพี้ยนในความปรารถนาของเรา เพื่อที่เราจะสามารถพบพระเจ้าได้ ณ ที่นั่น

3. ยอมรับความปรารถนาของคุณ (Submit your desire)

การที่เราครอบครองและระบุความปรารถนานั้นไม่ใช่เพื่อให้เราหาทางออก แก้ไข เรียกร้อง หรือละเลยมัน แต่เพื่อให้เราสามารถมอบมันไว้ต่อพระเจ้า เรานำมันออกมาวางไว้ และเรียนรู้ที่จะยอมจำนนอย่างวางใจต่อพระเจ้าในท่ามกลางความปรารถนาเหล่านั้น การยอมรับความปรารถนานั้นเราต้องใช้การเผชิญหน้ากับสิ่งที่ต้องการโดยไม่รู้สึกผิดหรือกลัว พระเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่าเราต้องการสิ่งใด แล้วเรายังต้องกลัวอะไรเล่า?

4. แยกแยะความปรารถนาของคุณ (Discern your desire)

วิธีการอันสัตย์ซื่อที่พระเยซูทรงกระทำต่อความปรารถนาของเรา ไม่ใช่การกำจัดหรือเติมเต็มพวกมัน แต่เป็นการแยกแยะความปรารถนาเหล่านั้นผ่านแสงสว่างแห่งอาณาจักรของพระองค์ การแยกแยะนั้นอาศัยทั้งความรักและสติปัญญา และควรกระทำผ่านชุมชน เป็นกระบวนการในการถวายตัวของเราเพื่อเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิต เพื่อเราจะทราบและแยกแยะน้ำพระทัยของพระเจ้าได้

5. ปล่อยมือจากความปรารถนาของคุณ (Relinquish your desire)

ในที่สุดแล้ว พระคริสต์ทรงมอบเสรีภาพแห่งความปรารถนาให้แก่เรา เราจึงมีเสรีภาพว่าต้องการและปรารถนาในสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่เพราะพระองค์ทรงจัดลำดับและขัดเกลาความปรารถนาของเราด้วยความรัก เราจึงพบว่าตัวเองได้ถูกปลดปล่อยจากเป็นทาสพันธนาการแห่งความปรารถนาของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากเสรีภาพที่ได้จากวัฒนธรรมอื่นๆ ทางศาสนา

เป้าหมายไม่ใช่การไม่ต้องการสิ่งใด แต่เพื่อให้ความต้องการของเราถูกชำระโดยความรักของพระเจ้าที่สำแดงในพระเยซู จนสามารถรู้ว่าเราต้องการสิ่งใด หรือไม่ต้องการสิ่งใด หรือต้องการเพียงบางสิ่งก็ได้ เราเรียนรู้ที่จะมีความต้องการอย่างถูกต้อง เพราะความปรารถนาของเราถูกควบคุมโดยความรักอันบริสุทธิ์

 

บทความ:  What To Do With Desire in Discipleship
แปล:  Yuta
ภาพ:  nacho-dominguez-argenta on Unsplash
ออกแบบ:  Zippy

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง