อะไรที่เป็นรากจะมองไม่ค่อยเห็น แม้จะมีบางส่วนโผล่พ้นดินมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่รากจะเจาะลงลึกเข้าไปในดิน และเป็นส่วนที่ทำให้ทุกอย่างที่มองเห็นได้ภายนอกแข็งแรง คือ ส่วนของลำต้น ใบ ดอก และผล ในทางกลับกันหากรากที่อยู่ในดินเน่าเสียไป แม้ภายนอกต้นไม้ยังดูดี แต่ในที่สุดทุกอย่างที่มองเห็นจะแห้งและยืนต้นตายไป
ชีวิตคริสเตียนก็เช่นกัน การแสดงออกของเราเป็นผลจากรากชีวิตที่หยั่งรากลงลึกในความวางใจพระเจ้าซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์รู้จักพระเจ้าเป็นการส่วนตัวผ่านประสบการณ์มากมายในวิถีของพระองค์
เยเรมีย์ 17:7-8
7คนที่วางใจในพระยาห์เวห์ย่อมได้รับพระพร คือผู้ที่ความวางใจของเขาอยู่ในพระยาห์เวห์ 8เขาเป็นเหมือนต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมน้ำ ซึ่งหยั่งรากของมันออกไปข้างลำน้ำ เมื่อแดดส่องมาถึงก็ไม่กลัว เพราะใบของมันคงเขียวอยู่เสมอ และไม่กระวนกระวายในปีที่แห้งแล้ง เพราะมันไม่หยุดที่จะเกิดผล
การปลูกสร้างวินัยชีวิตฝ่ายวิญญาณจึงเป็นรากแก้วของทีมนมัสการ เมื่อเราหยั่งรากในพระเจ้า เราจะเกิดผลอย่างยั่งยืน วินัยฝ่ายวิญญาณสำหรับทีมนมัสการมีอะไรบ้าง ให้เรามาพิจารณาร่วมกัน
1. การเปิดรับประสบการณ์การรู้จักพระเจ้า
สดุดี 27:4
ข้าพเจ้าทูลขอสิ่งหนึ่งจากพระยาห์เวห์ ซึ่งข้าพเจ้าจะเสาะแสวงหา คือที่ข้าพเจ้าจะได้อยู่ในพระนิเวศของพระยาห์เวห์ ตลอดวันคืนแห่งชีวิตของข้าพเจ้า เพื่อจะดูความงามของพระยาห์เวห์ และเพื่อจะพินิจพิจารณาอยู่ในพระวิหารของพระองค์
สดุดี 119:71
ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก เพื่อข้าพระองค์จะเรียนรู้กฎเกณฑ์ของพระองค์
การรู้จักพระเจ้าในวิถีชีวิตจึงสำคัญมากเพราะจะช่วยให้เราเรียนรู้จักพระองค์ในความเป็นพระองค์จริงๆ ไม่ใช่ความเป็นพระเจ้าที่เราอยากให้พระองค์เป็นในมุมมองของเรา
กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) จะช่วยในการพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบชีวิตกลายเป็นสิ่งแง่บวกเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้จักพระเจ้า
กรอบความคิดที่ถูกนี้จึงสำคัญมากต่อการเรียนรู้ เพราะใจของเราจะไม่ต่อต้านหรือมองสถานการณ์ในแง่ลบ เช่น
(1) ใจชื่นชมในพระเจ้า คริสตจักร และงานรับใช้ที่พระเจ้ามอบไว้ในมือเรา ทำให้เราเห็นคุณค่าพระเจ้าและงานรับใช้
(2) ใจเชื่อมั่นในพระเจ้าที่อยู่ในชีวิตพี่น้อง ทำให้เราให้อภัยกันและให้โอกาสกันและกัน
(3) การมองเห็นความเป็นไปได้ในการเติบโตฝ่ายวิญญาณ ทำให้เราเห็นโอกาสที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรียนรู้จากความผิดพลาด การหาที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการช่วยแก้ปัญหา
(4) การพูดให้กำลังใจกันเสมอ มีคำพูดที่ติดปาก พูดเป็นประจำว่าขอบคุณ ขอโทษ ไม่เป็นไร ลองดูใหม่ ขอพระเจ้าเสริมกำลัง เป็นต้น
มุมมองของเราที่มีต่อพระเจ้าสามารถขยายได้จากการอ่านพระคัมภีร์ อ่านหนังสือต่างๆ ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณ การเรียนพระคัมภีร์ด้วยความตั้งใจอยากรู้จักพระเจ้ามากขึ้น เป็นต้น มากกว่านั้นประสบการณ์การรับใช้พระเจ้าในบริบทคริสตจักรจะช่วยได้พัฒนามุมมองของเราต่อพระเจ้าได้มาก เราสามารถเรียนรู้จากการให้ เช่น การแบ่งปันข้าวของหรือสิ่งดีให้กัน การรู้จักให้กำลังใจกัน การให้อภัยกัน การเสริมสร้างกัน และการเห็นคุณค่าพี่น้อง เป็นต้น เป็นการพัฒนาความเชื่อและหนุนใจพี่น้องไปด้วยกัน
2.ตระหนักว่าชีวิตแห่งการนมัสการเกิดขึ้นนอกเวลาแสดงบนเวที
สดุดี 90:14
ขอทรงให้ข้าพระองค์ทั้งหลายอิ่มความรักมั่นคงของพระองค์ในเวลาเช้า เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้ร้องเพลงด้วยความชื่นบานและยินดีตลอดวันเวลาของพวกข้าพระองค์
วินัยในการนมัสการส่วนตัวสำคัญมาก เราควรเห็นคุณค่าและจัดเวลาในการนมัสการส่วนตัวเสมอ การสัมผัสความรักพระเจ้าผ่านการนมัสการส่วนตัว เป็นประสบการณ์เดียวกันที่เราจะแสดงออกในการการนำบนเวที
ทีมนมัสการควรย้ำเตือนในเรื่องนี้ก่อนเริ่มรอบนมัสการ เพื่อนักร้องนักดนตรีจะให้ความสำคัญกับชีวิตฝ่ายวิญญาณมากกว่าทักษะการแสดงบนเวที อาจจะเริ่มด้วยการอธิษฐาน และนมัสการด้วยกันก่อนเริ่มรอบจริง เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทั้งทีมจะแสวงหาพระเจ้าด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ในมุมปฏิบัติ การซ้อมนมัสการในวันจริงไม่กี่นาทีก่อนเริ่มรอบเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ควรให้บรรยากาศแห่งการยำเกรงพระเจ้าด้วยความเงียบสงบ และยำเกรงพระเจ้าเกิดขึ้นก่อนเริ่มรอบนมัสการสัก 10-15 นาที เพื่อจิตใจของทีมนมัสการ และพี่น้องในคริสตจักรจะนิ่งสงบ สำรวม รอคอยพระเจ้า
3.พัฒนาทักษะในการร้องเพลงและเล่นดนตรี
สดุดี 144:1
สาธุการแด่พระยาห์เวห์ พระศิลาของข้าพระองค์ ผู้ทรงฝึกมือของข้าพระองค์ให้ทำสงคราม และฝึกนิ้วมือของข้าพระองค์ให้ทำศึก
บริบทตอนนี้เป็นการขอบพระคุณพระเจ้าทรงช่วยกษัตริย์ดาวิดและชนชาติอิสราเอลให้พ้นภัยและเกิดความมั่นคง ซึ่งกษัตริย์ดาวิดตระหนักว่าทักษะการสู้รบในสงครามได้ดีนั้นเพราะเขามีพระเจ้าอยู่เบื้องหลังในการฝึกฝน และเมื่อเข้าสู่สงครามจริง กษัตริย์ดาวิดตระหนักว่าชัยชนะของเขามาจากพระเจ้า และการฝึกฝนทั้งหมดที่พระเจ้าทรงสนับสนุน
ในการพัฒนาทักษะการร้องเพลงและดนตรีก็เช่นกัน เราอาศัยการฝึกฝนที่ตระหนักในการสนับสนุนของพระเจ้า การทำอย่างดีที่สุดในการเล่นจริงบนเวทีจึงเกิดขึ้นเมื่อเราพัฒนาทักษะของเราเสมอ โดย (1) ทักษะส่วนตัว สามารถพัฒนาขึ้นจากการซ้อมดนตรีส่วนตัว คำแนะนำในภาคปฏิบัติคือซ้อมทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที และ (2) ทักษะการเล่นดนตรีเป็นทีม ที่สามารถพัฒนาขึ้นได้จากการซ้อมดนตรีด้วยกัน
ให้เราตระหนักว่า เมื่อทีมนมัสการมารวมตัวกัน การสร้างบรรยากาศแห่งการหนุนน้ำใจกันสำคัญมาก เราต้องสร้างวัฒนธรรมของทีมนมัสการที่ดี เช่น การมีวินัยตรงต่อเวลา เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน สร้างบรรยากาศแห่งความชื่นชมยินดี หลีกเลี่ยงการต่อว่า การวิจารณ์แบบห้วนๆ การใช้น้ำเสียงที่ไม่เป็นมิตร เมื่อมีการประเมินพยายามรักษาน้ำใจกันเสมอ เป็นต้น
4.ให้ความสนใจกับคริสตจักร
สดุดี 36:8
พวกเขาอิ่มด้วยความอุดมสมบูรณ์แห่งพระนิเวศของพระองค์ และพระองค์ทรงให้เขาดื่มจากแม่น้ำแห่งความสุขเกษมของพระองค์
พระคัมภีร์ให้ภาพคริสตจักรเป็นเหมือนพระกายของพระคริสต์ โดยมีพระองค์เป็นศีรษะ ฉะนั้นศูนย์กลางแห่งน้ำพระทัยพระเจ้าจึงอยู่ที่คริสตจักรเสมอ
เอเฟซัส 4:15
15แต่ให้เรายึดถือความจริงด้วยความรัก เพื่อจะเจริญขึ้นในทุกด้านสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะคือพระคริสต์ 16เนื่องจากพระองค์นี้เอง ร่างกายทั้งหมดจึงได้รับการเชื่อมและประสานเข้าด้วยกันโดยทุกๆ ข้อต่อที่ประทานมานั้น และเมื่อแต่ละส่วนทำงานตามหน้าที่แล้ว ก็ทำให้ร่างกายเจริญและเสริมสร้างตนเองขึ้นด้วยความรัก
ฉะนั้นให้เราหมั่นสังเกตทิศทางที่คริสตจักรกำลังเคลื่อนไป และปรับเส้นทางการพัฒนาทีมนมัสการในเส้นทางเดียวกัน เช่น สนับสนุนงานประกาศต่างๆ ด้วยเพลงที่ง่าย ซาบซึ้ง ไม่ซับซ้อน, การเห็นคุณค่าพี่น้องเสมอ เวลาวิจารณ์เน้นการได้มาซึ่งชีวิตมากกว่าได้งานแต่ทำให้พี่น้องต้องบาดเจ็บ, การเสริมเนื้อหาคำเทศน์ให้แข็งแรงขึ้น, การเตรียมเพลงและบรรยากาศสนับสนุนวันสำคัญ อีสเตอร์ วันแม่ คริสต์มาส เป็นต้น
หากทีมนมัสการเน้นการพัฒนารากแก้วฝ่ายวิญญาณคือวินัยชีวิตที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ลงลึกในพระเจ้า เราจะเกิดผลดี และมีชีวิตอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์เสมอ
ข้อมูลอ้างอิง
- Cherry, Constance M. The Worship Architect: A Blue Print for Designing Culturally Relevant and Biblically Faithful Services. MI: Grand Rapids, 2010.
- 7 Disciplines of a Good Worship Leader. Beyond Sunday Worship. [Available Online at] shorturl.at/ mnqtv, Modified on June 11, 2010.
- Peterson, David. Engaging with God: A Biblical Theology of Worship. IL: InterVersity Press, 1992.
- Wright, N.T. Freedom and Framework, Spirit and Truth: Recovering Biblical Worship. Journal of Studia Liturgica, 2002.
บทความโดย : ดร.กนก ลีฬหเกรียงไกร
กราฟิก : Nan Tharinee
รูปภาพ : Photo by Wilhelm Gunkel on Unsplash
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น