หลังจากเพิ่งผ่านปีที่โหดร้ายมา ในฐานะผู้นำคริสตจักรคุณคาดหวังจะเห็นอะไรในปี 2021 นี้บ้าง?
ในปี 2021 นี้ ดูเหมือนว่าคริสตจักรต้องมุ่งไปสู่โลกในยุคหลังโควิด แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ไม่ใช่ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม กลับกัน เรากำลังก้าวเข้าสู่อนาคตที่ไม่มีใครคาดเดาได้ที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะตระหนักว่าโรคระบาดนั้นกลายเป็นอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว และเรากำลังก้าวไปสู่อนาคตที่เราไม่อาจคาดเดาได้
คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคตข้างหน้า?
และสำหรับผู้นำคริสตจักรแล้ว มันจะเป็นโลกที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงแน่นอน
ณ ตอนนี้คงยังไม่มีใครที่บอกได้ชัด ๆ ว่า อนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร แต่ผมพอมองเห็นว่ามีอยู่ 8 สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น จึงขอเชิญชวนคุณรวมถึงทีมของคุณให้ลองคิดตามไปด้วยกัน
1. สมาชิกส่วนมาก มีแนวโน้มจะไม่กลับเข้ามาร่วมนมัสการในห้องประชุมแบบปกติอีก
ผู้คนที่มาพบปะสามัคคีธรรมกันจริงๆ ในคริสตจักรนั้นมีจำนวนลดลงมาหลายสิบปีแล้ว แต่ COVID-19 ช่วยเร่งให้จำนวนลดลงเร็วยิ่งขึ้น
ค่าเฉลี่ยของจำนวนคนที่กลับมาคริสตจักรอยู่ที่ประมาณ 36% เมื่อเทียบกับจำนวนคนมาคริสตจักรช่วงก่อนหน้ามีโควิด-19 และแทบไม่มีผู้นำคนไหนที่คาดหวังว่าจำนวนตัวเลขผู้มาคริสตจักรนี้จะกระโดดกลับไปอยู่ในตัวเลขระดับเดียวกับก่อนการระบาดได้อย่างน้อยอีกสักระยะหนึ่ง
หลายปีที่ผ่านมา ศิษยาภิบาลส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อจะสื่อสารข้อมูลข่าวสารหรืองานพันธกิจให้กับผู้คนที่ไม่ได้เข้ามาคริสตจักร
แต่นับจากนี้ บรรดาผู้นำคริสตจักรจะเริ่มตระหนักได้ว่า จำนวนคนที่เข้ามามีส่วนร่วมรับใช้ทั้งที่อยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่อื่นๆ ก็มีคุณค่าเทียบเท่ากับจำนวนคนที่อยู่ในคริสตจักร
ในช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายสิ่งหลายอย่างปรับมาอยู่ที่บ้าน ทั้ง WFH ช้อปปิ้งหรือสั่งอาหารออนไลน์ ฟิตเนสหน้ากระจก โรงเรียนออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่คริสตจักรออนไลน์ (น่าจะเป็นอย่างนี้ไปสักพัก)
ผู้คนเริ่มตระหนักว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปที่โบสถ์เพื่อจะมีส่วนร่วมรับใช้ ส่งผลให้ในอนาคตจะมีคนบางกลุ่มเลือกที่จะไม่ไปโบสถ์แล้ว
ในปี 2021 นี้ เราจะเห็นการเติบโตของกลุ่มคนที่ไม่ผูกติดกับการเข้าโบสถ์ (ทั้งกลุ่มที่สามัคคีธรรมตามบ้าน การรวมกลุ่มขนาดเล็ก และ การแบ่งกลุ่มย่อย ๆ กระจายกันออกไป) มากกว่ากลุ่มคนที่อยู่ในโบสถ์ นั่นหมายความว่า กลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าโบสถ์วันอาทิตย์ แต่ก็มีส่วนร่วมรับใช้ในพันธกิจต่าง ๆ จะมีจำนวนแซงหน้ากลุ่มคนที่เข้าโบสถ์อยู่เป็นประจำ
คริสตจักรที่กำลังเติบโตจำนวนมาก จะเปิดรับเรื่องรอบนมัสการออนไลน์ เรื่องสามัคคีธรรมกลุ่มย่อย และรวมถึงการมีโบสถ์ขนาดเล็กมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้นเรื่องที่ศิษยาภิบาลจำเป็นต้องเข้าใจอย่างเร่งด่วน ก็คือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการหายไปของสมาชิก แต่เป็นการทำให้สมาชิกคล่องตัวขึ้นต่างหาก
ในอนาคต กลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าโบสถ์วันอาทิตย์ แต่ก็มีส่วนร่วมรับใช้ในพันธกิจต่างๆ จะมีจำนวนแซงหน้ากลุ่มคนที่เข้าโบสถ์อยู่เป็นประจำ
หากคุณเชื่อในกลุ่มสามัคคีธรรมย่อยๆ การกระจายให้กลุ่มเล็กลง และการร่วมนมัสการออนไลน์จากที่บ้าน คุณก็จะสามารถขับเคลื่อนคริสตจักรได้แบบเดียวกับเวลาที่คุณเคลื่อนสมาชิกที่มาเข้าโบสถ์ปกติ
เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกที่ก็ต้องเข้าใจว่าลูกค้าออนไลน์นับเป็นลูกค้าเหมือนกัน เจ้าของร้านอาหารก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าลูกค้าแบบ drive-thru ซื้อกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่ถึงบ้านนั้น ก็ช่วยเติมเต็มยอดขายของพวกเขาได้ ฉะนั้นผู้นำคริสตจักรต้องเดินหน้าด้วยข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันนี้ คือสมาชิกของคุณไม่ได้อยู่ในห้องประชุมโบสถ์เหมือนแต่ก่อน
คริสตจักรไม่ได้ห่างหายไป คริสตจักรยังคงอยู่ แค่ออกมาจากตัวอาคารมากขึ้นเท่านั้นเอง
หลังการแพร่ระบาด เป็นไปได้ว่าสมาชิกจำนวนหนึ่ง อาจไม่ได้เข้ามานั่งอยู่ในโบสถ์เป็นประจำอีกแล้ว แม้แต่หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในคริสตจักรคุณ
2. คริสตจักรที่กำลังเติบโต จะเปลี่ยนโฟกัสจาก “การรวมตัว” ไปสู่ “ใกล้ชิดกัน”
ในอดีตคริสตจักรต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรวบรวมผู้คนเข้ามาในตัวอาคาร แต่ในปีนี้ คริสตจักรที่เติบโต จะไม่โฟกัสเรื่องการรวมตัวกัน (gathering) แต่หันมาใส่ใจในการทำให้ผู้คนเข้าใกล้ชิดกันมากขึ้น (connecting)
การเชื่อมต่อสมาชิกจากที่บ้านหนึ่งมาสู่ที่คริสตจักรและไปสู่สมาชิกอีกบ้านหนึ่งได้นั้น จะกลายเป็นทักษะที่จำเป็นของบรรดาผู้นำคริสตจักร
ในปี 2021 คุณจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ใหม่ในการนำคนมาถึงพระคริสต์ ที่ไม่ใช่เพียงการพาคนมารับเชื่อในตัวอาคารคริสตจักรของคุณตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ คริสตจักรที่เติบโตจะโฟกัสในการทำผู้คนรู้จักใกล้ชิด มากกว่าเพียงการพาผู้คนมารวมตัวกัน
แนวคิดนี้ไม่ต่างอะไรจากแนวคิดเรื่องกลุ่มสามัคคีธรรมย่อยที่เรามีมาตลอด 25 ปี
ทุกวันนี้แทบไม่มีผู้นำคริสตจักรคนไหนที่รู้สึกมีปัญหากับการที่สมาชิกหลายร้อยหลายพันคนต้องสามัคคีธรรมกันกับคนอื่นๆ ที่บ้าน เพราะคริสตจักรเน้นการ “ส่งเสริม” ให้เกิดกลุ่มย่อยต่างๆ ขึ้น แต่ไม่ต้องเป็น “ศูนย์กลาง” ที่ต้องใช้สถานที่เพื่อรองรับสมาชิกต่อไป
กลับกันผู้นำแค่ต้องหาวิธีพาสมาชิกที่อยากมีส่วนร่วม ให้ไปพบปะกับคนอื่นๆ และเชื่อมต่อพวกเขาสู่พันธกิจและงานรับใช้
โดยปกติการสามัคคีธรรมกลุ่มย่อยมักทำให้คนใกล้ชิดและสนิทกันอยู่แล้ว ดังนั้นการที่สมาชิกมาพบปะกันตามบ้านในเช้าวันอาทิตย์ หรือนัดเจอกันข้างนอกระหว่างสัปดาห์ จึงกลายเป็นเหมือนคริสตจักรเล็กๆ ที่มุ่งความสนใจไปยังผู้คนนอกโบสถ์ ลองนึกถึงกลุ่มมากมายที่เต็มไปด้วยพลังขับเคลื่อนในการประกาศข่าวประเสริฐ
ข่าวดีก็คือ การรวมตัวนมัสการเป็นกลุ่มย่อยๆ แบบนี้ ใช้ทรัพยากรที่น้อยลง แต่ให้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น
การนำผู้คนมาเข้ารอบนมัสการในเช้าวันอาทิตย์จะยังคงมีความสำคัญเหมือนที่ผ่านมา
เพียงแต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นในตัวอาคารของคริสตจักรเท่านั้นเอง
3. จะมีศิษยาภิบาลบางกลุ่มที่ยังคงพยายามทำให้คนเต็มห้องประชุม ขณะที่อีกกลุ่มจะเริ่มมุ่งเน้นในการทำนิมิตและพันธกิจของพระเจ้าให้สำเร็จ
2 เทรนด์แรกอาจสร้างความสับสนและทำให้ผู้นำหลายคนท้อใจได้ง่าย ๆ แต่มันคือระนาบความคิดใหม่ที่คริสตจักรกำลังมุ่งไป
เพียงแค่ลองเสิร์ชหาความคิดเห็นในบล็อกหรือในโซเชียลมีเดีย คุณก็จะพบว่าผู้นำคริสตจักรกำลังเจอเรื่องท้าทายในการรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผมเข้าใจดีว่ามันยาก
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้นำเลือกจะละเลยเทรนด์การเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ข้อแรก และหันกลับมาพยายามเติมจำนวนสมาชิกเให้เต็มห้องประชุมนมัสการอีกครั้งเมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นั่นอาจส่งผลที่ดีในระยะสั้น แต่จะสูญเสียและพลาดโอกาสดีในระยะยาว ท้ายที่สุดผู้นำที่เน้นทำให้สมาชิกเต็มห้องประชุมจะพบความท้าทายที่ยากขึ้นกว่ายุคก่อนหน้าโรคระบาดเสียอีก
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผู้นำยังยึดติดอยู่กับเรื่องการเติมสมาชิกให้เต็มห้องประชุม?
บ่อยครั้งเราได้รับเหตุผลทำนองว่า “คริสเตียนอย่าขาดการประชุม” หรือ “เราจำเป็นต้องรวมตัวเป็นชุมชน” นั่นเป็นเรื่องจริงที่สุด
แต่สิ่งที่ไม่จริง (ไม่ใช่หลักการพระคัมภีร์) คือ “การสามัคคีธรรมจะต้องเกิดขึ้นในตัวอาคารของโบสถ์เท่านั้น” (ย้อนกลับไปอ่านหัวข้อที่ 1-2)
ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำคริสตจักรมากว่า 20 ปี ผมยอมรับตรงๆ เลยว่า ผมเองก็ชอบห้องประชุมที่มีคนเต็มห้องเช่นกัน
การมีคนเต็มห้องประชุม นอกจากจะทำให้คุณมีภาพสวยๆ ไว้ลงใน Facebook หรือ IG แล้ว ยังทำให้คุณรู้สึกดีว่าตัวเองทำสำเร็จ แต่นั่นไม่ได้การันตีว่าพันธกิจของพระเจ้าจะสำเร็จ
ห้องประชุมที่เต็มไปด้วยผู้คนไม่ได้รับประกันว่าพันธกิจของพระเจ้าจะสำเร็จ
สาเหตุของเรื่องทั้งหมดนี้จริง ๆ แล้วคืออะไร? ผมขอยกตัวอย่างข้อความที่เพื่อนคนหนึ่งส่งมาให้ผมเมื่อเร็ว ๆ นี้
มันคงน่าสนใจถ้าได้รู้ว่าศิษยาภิบาลให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมแบบไหนมากกว่ากันระหว่างการมาเจอหน้ากันตัวเป็น ๆ การเข้าร่วมกลุ่มย่อย หรือการเข้าร่วมทางออนไลน์
บนหน้าฟีดโซเซียล ฉันเห็นศิษยาภิบาลหลายต่อหลายคนชอบยกเอาสถิติในปี 2020 ที่บอกว่า การมาพบกันหน้าต่อหน้าเท่านั้นที่ทำให้สุขภาพจิตของผู้คนดีขึ้น
ความเห็นส่วนตัว ฉันคิดว่านี่เป็นมุมมองการรับใช้ที่เอาตัวเองเป็นหลักและค่อนข้างอันตราย เพราะเดี๋ยวจะมีคำพูดจากผู้นำว่า “เห็นไหมล่ะเหมือนที่ผมบอกคุณแล้วไง คุณน่ะควรจะต้องกลับมาคริสตจักรนะ”
ผมเองก็เห็นแบบนั้นในหน้าฟีดผมเช่นกัน (และยังไม่เห็นศิษยาภิบาลคนไหนที่จะกล่าวถึงประเด็นอื่น ๆ ในผลสำรวจเดียวกัน เช่น ผู้ที่มีรายได้น้อย, หนุ่มสาว และคนโสดมีพัฒนาการดีกว่าคนอื่น รวมถึงไม่มีใครพูดถึงเรื่องการเมืองกับการเลือกตั้งอเมริกาด้วยเช่นกัน)
เป็นการเดิมพันว่า ระหว่างห้องประชุมที่เต็มแน่นด้วยผู้คน กับการทำให้งานพันธกิจพระเจ้าสำเร็จ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน
ในอนาคต ผู้นำที่สนใจเพียงเรื่องการทำให้คนเต็มห้องประชุมจะพลาดโอกาสครั้งใหญ่ที่จะนำคนให้บรรลุถึงงานพันธกิจของพระเจ้า
หากขนาดของนิมิตที่คุณมีขึ้นอยู่กับขนาดของห้องประชุมของคุณ คุณก็กำลังพลาดไปจากพันธกิจหลักสำหรับคริสตจักร
4. คริสตจักรที่กำลังเติบโต ต้องมองเห็นความแตกต่างเรื่อง “อินเตอร์เน็ต” และ “อาคารสถานที่”
แล้วคุณจะทำยังไงกับตัวอาคารคริสตจักรของคุณ? นั่นเป็นคำถามที่ดี
คุณควรใช้สถานที่เพื่อเสริมสร้างชีวิตผู้คน ไม่ใช่แค่เพื่อรวมคน
หลายปีที่ผ่านมา ศิษยาภิบาลหลายต่างมุ่งเน้นไปที่เรื่องเดียว คือ การทำให้จำนวนสมาชิกในห้องประชุมมีตัวเลขสูงที่สุดให้ได้
บางครั้งที่เราเน้นสิ่งนี้ก็เพราะอยากเห็นงานพระเจ้าเติบโต แต่ขณะที่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องอีโก้ของตัวเราเองด้วย แม้แต่ผมก็ขอสารภาพว่าตัวเองมีทั้งสองเรื่อง
อาคารคริสตจักรในอนาคต จะเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการรวบรวมผู้คนเข้ามารับการเสริมสร้างได้ตลอดทั้งสัปดาห์ โดยทฤษฎีเราคิดกันแบบนั้นมาตลอด แต่มักจะไม่เป็นเช่นนั้นในทางปฏิบัติ บ่อยครั้งสิ่งที่เราเชื่อกับสิ่งที่เราทำแตกต่างกันอย่างมาก
สิ่งที่แตกต่างไปก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่ที่คุณสร้างชีวิตนั้นจะไม่ได้เข้ามาอยู่ในห้องประชุม คุณอาจพูดคุยและสื่อสารกับพวกเขาผ่านจากห้องประชุม แต่พวกเขาจะอยู่ที่บ้าน อยู่ในรถ ในที่ทำงาน หรืออยู่ในชุมชนของพวกเขา
ปัจจุบันศิษยาภิบาลส่วนใหญ่มักใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อนำพาคนเข้ามาสู่อาคารคริสตจักร แต่ในอนาคต พวกเขาจะใช้อาคารคริสตจักรเพื่อเข้าถึงผู้คนบนโลกออนไลน์
การที่ผู้คนไม่ได้มาเข้าร่วมโบสถ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เชื่อมโยงผูกพันกับคริสตจักร หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน พวกเขาสามารถไปรวมตัวกันข้างนอกอาคารคริสตจักรได้
ในอนาคต เราจะเห็นคริสตจักรที่เสริมสร้างผู้เชื่อโดดเด่นกว่าคริสตจักรที่เอาแต่รวบรวมผู้เชื่อไว้
5. มีแค่ “เนื้อหา” อย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างชุมชนให้ใกล้ชิดผูกพันกันด้วย
ปี 2020 เป็นปีที่ต่างผู้คนเร่งผลิตเนื้อหาต่างๆ ขึ้นสู่โลกออนไลน์จนกลายเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่เราควรทำ แต่ถ้าจะมุ่งสู่ปี 2021 การรับรู้เกี่ยวกับเนื้อหากำลังจะเปลี่ยนไป
มีศิษยาภิบาลที่บ่นว่า จำนวนคนดูออนไลน์ของเขาลดลง เพราะรู้สึกเมื่อยล้าจากการจ้องหน้าจอนานเกินไป แน่นอน จำนวนเวลาที่ผู้คนใช้บนหน้าจอในทุกแพลตฟอร์มพุ่งขึ้นสูงอย่างน่าตกใจ ตัวผมเองก็เช่นกัน
เพียงเพราะส่วนตัวคุณรู้สึกว่าเมื่อยล้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนอื่นๆ จะเป็นแบบนั้นด้วย
ถ้าคุณคิดว่าผู้คนอ่อนล้าจากการดูหน้าจอ ลองหันมาดูจำนวนคนที่เล่น TikTok หรือ Instagram คุณจะพบว่ามันแตกต่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เราคิด
นี่จึงนำเราไปสู่เทรนด์ถัดไป จริงอยู่ แม้ว่า “เนื้อหา” เป็นสิ่งสำคัญเพราะการแบ่งปันพระคำพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคริสเตียนหลายคนรู้ดีว่า การดูหรือฟังคำเทศนาที่ชื่นชอบจากนักเทศน์คนโปรด หรือช่องรายการผลิตเนื้อหาดีๆ นั้นสามารถทำได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเสียเงิน และพวกเขาก็ติดตามสิ่งเหล่านี้อยู่
ฉะนั้นผู้นำบางคนจึงพยายามนำเสนอตัวเองให้ดูดีมีทักษะการสื่อสารเป็นเลิศเทียบเท่ากับพวกนักเทศน์เก่ง ๆ แต่วิธีนี้ไม่ใช่คำตอบสำหรับผู้นำส่วนใหญ่ เพราะไม่ง่ายเลยที่คุณทำแบบนั้นได้
คริสตจักรที่กำลังเติบโต (แน่นอนรวมถึงคริสตจักรขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย) จะต้องตระหนักว่า ท้ายที่สุดแล้ว “ความใกล้ชิดและการสร้างชุมชนที่ดี” สำคัญกว่า “การแค่มีเนื้อหาดี” และพวกเขาจะหันมาให้ความสำคัญและลงแรงกับเรื่องนี้มากขึ้น
อย่าให้ใครทำให้คริสตจักรท้องถิ่น “ออกห่าง” จากชุมชน จงผลิตเนื้อหาให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ก็ต้องตั้งเป้าจะสร้างความใกล้ชิดกับผู้คนด้วย
เมื่อคุณเริ่มสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดผ่านการไปพบปะผู้คน พาพวกเขามาอยู่ในชุมชน ห่วงใยใส่ใจกันและกัน คุณก็กำลังสร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่พวกเขาจะหาจากที่อื่นไม่ได้
ดังนั้น จงตั้งเป้าที่จะทำให้เนื้อหาในโลกดิจิทัลของคุณเพื่อ “สร้างความสัมพันธ์”(Connection) ไม่ใช่สร้างผู้บริโภคเนื้อหา (Consumption)
6. ช่องว่างและความแตกต่างระหว่างวัย จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขอเปลี่ยนมาพูดถึงประเด็นที่ถูกพูดถึงกันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นั่นคือ ความแตกต่างของคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นและมากขึ้น
จากผลการสำรวจของ Barna/Stadia ในหัวข้อการเข้าร่วมคริสตจักรในยุคหลังโควิด พบว่ามีถึง 71% ของคนยุค Baby boomer ที่ชื่นชอบการมาเข้าร่วมรอบนมัสการแบบพบปะเจอหน้า ซึ่งสวนทางกับเด็กยุค Gen Z ที่ชื่นชอบเพียงแค่ 41% ผลการสำรวจพบว่า นอกจากคนรุ่น Baby Boomer คนในยุคอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดชื่นชอบการมาพบปะเจอกันทั้งสองรูปแบบ (hybrid church) หรือไม่ก็พบกันผ่านทางดิจิทัลล้วนๆ
ปัจจุบันเราเห็นการศึกษาอีกมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า
ขณะที่ผู้นำมักเลือกพิจารณาเฉพาะข้อมูลตรงนี้ เราสามารถลองวิธีที่ง่ายกว่า คือถ้ามุมมองของคุณที่มีต่อรูปแบบการร้องเพลงนมัสการ เรื่องการเหยียวผิว เรื่องเพศวิถี เรื่องสภาพเศรษฐกิจ แม้กระทั่งเรื่องวิกฤตโลกร้อน มันไม่ได้เปลี่ยนไปมากมายนักจากจุดยืนของคุณในอดีต (พูดง่าย ๆ คือ ความคิดของคุณค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมเกินไป) คุณควรหาเวลาไปคุยผู้นำกลุ่ยวัยรุ่นของคุณบ้าง
เพราะผู้นำกลุ่มวัยรุ่นจะเป็นคนที่สังเกตได้เร็วที่สุด ถึงแนวโน้มและทิศทางของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
และหากคุณอยากข้อมูลที่ลึกยิ่งขึ้น ก็ลองไปคุยกับเด็กวัยรุ่นทั้งที่อยู่ในโบสถ์และอยู่นอกโบสถ์
แม้ว่ามุมมองดังกล่าวจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักข้อเชื่อของคริสเตียน แต่ผู้นำที่ชาญฉลาดจะนั่งคิดถึงการปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
และเมื่อคน Gen Z ก้าวเข้าสู่งานรับใช้ การตั้งแง่หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้นำส่วนใหญ่คิดทั้งเรื่องมุมมองและความเชื่อ จะกลายเป็นปกติ
ดังนั้นผู้นำที่เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวัฒนธรรม การสื่อสาร และสิ่งที่สังคมให้คุณค่า ก็จะมีโอกาสเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
7. คริสตจักรที่ยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองจะสูญเสียอิทธิพลต่อคริสเตียนที่อยู่นอกโบสถ์
ปี 2020 แสดงให้เห็นว่าคริสตจักรแต่ละแห่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไรและมากน้อยขนาดไหน
เป็นเรื่องง่ายที่จะรวบรวมกลุ่มคนที่มีความคิดคล้าย ๆ กันเข้าไว้ด้วยกันในคริสตจักร (อาจเป็นความเห็นในเรื่องการเมือง ไม่ว่าฝั่งซ้ายหรือขวา) แต่ในระยะยาวแล้วนั่นกลับจะลดทอนอิทธิพลของคริสตจักรต่อคนข้างนอกที่มีความคิดต่างออกไปจากคุณ
สำหรับคริสเตียนที่ไม่ได้ผูกพันตัวกับคริสตจักร เขาอาจไม่ได้มองหาคริสตจักรที่มีความคิดแบบเดียวกันกับตัวเอง แต่กำลังมองหาทางเลือกที่ต่างออกไป
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า คริสตจักรจะเต็มไปด้วยคริสเตียนอยากมีชีวิตแบบพระเยซู มากกว่าจะเป็นเหมือนนักการเมืองที่เขาชื่นชอบ
ความจริงที่ผู้นำคริสตจักรส่วนใหญ่จะต้องเผชิญก็คือ ผู้เชื่อเหล่านี้ไม่ได้กำลังมองหาคริสตจักรที่มีอุดมการณ์หรือนักการเมือง แต่เป็นคริสตจักรที่มีพระคริสต์
ผมอธิษฐานขอให้พวกเขาได้พบพระองค์ในคริสตจักรของคุณ
8. ผู้บุกเบิกจิตวิญญาณจะมีบทบาทสำคัญ
นี่เป็นช่วงเวลายากลำบากของบรรดาผู้นำ แต่เมื่อทุกอย่างสงบลงและเราก้าวเข้าสู่โลกหลังการแพร่ระบาด ผู้นำที่ขับเคลื่อนคริสตจักรให้เติบโตได้ คือผู้นำที่มองเห็นโอกาส ไม่ใช่อุปสรรค
ของประทานที่ขาดหายไปในคริสตจักร คือ ผู้บุกเบิกจิตวิญญาณ หรือที่ในพันธสัญญาใหม่เรียกว่า “ของประทานอัครทูต” เป็นคนที่มุ่งมั่นร้อนรน ชอบทำสิ่งใหม่ และจริงจังสุดขั้วเหมือนอย่างอัครทูตเปาโล
ขณะที่คริสตจักรในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยคนที่เป็นผู้เลี้ยง จนบางทีทำให้ผู้เลี้ยงเหล่านั้นกลายมาเป็นภาพลักษณ์ของการนำคริสตจักรไปข้างหน้า แต่กลุ่มคนที่เราต้องการมากที่สุดเพื่อนำเราไปสู่น่านน้ำใหม่ในการรับใช้ยุคนี้ ไม่ใช่ผู้เลี้ยง แต่คือผู้บุกเบิกจิตวิญญาณ
ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่า ผู้บุกเบิกฝ่ายจิตวิญญาณ หรือ ของประทานอัครทูต ก็ตาม สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือ อัครทูตเปาโลรุ่นใหม่ผู้พาเรารับมือกับสิ่งใหม่ๆ ได้
ผู้ริเริ่มและลองทำอย่างกล้าหาญและด้วยหัวใจแน่วแน่
ผู้บุกเบิกจิตวิญญาณเป็นผู้นำที่จะมองเห็นทิศทางที่ต้องมุ่งไปในอนาคต ขณะที่ผู้นำส่วนใหญ่จะมองเห็นเพียงปัญหาในปัจจุบัน
ในแวดวงธุรกิจที่กำลังหลงใหลการทำสตาร์ตอัปและเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทาย เราจึงต้องการผู้นำประเภทที่พร้อมใช้ชีวิตของเขาบนพื้นที่เหล่านั้น โดยใช้ของประทานจากพระเจ้า ทุ่มพลังและเวลาเพื่อสนับสนุนพันธกิจของคริสตจักรอย่างเต็มที่
จะมีไอเดียซึ่งจะถูกยอมรับอย่างกว้างขวางในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ที่ได้กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นแล้วในตอนนี้
แนวทางใหม่ๆ ในการรวบรวมผู้คน การขับเคลื่อนและเสริมสร้างผู้คน รวมถึงการขับเคลื่อนพันธกิจไปข้างหน้ากำลังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่
คริสตจักรขนาดเล็ก คริสตจักรแบบกระจายตัว คริสตจักรที่เน้นการสร้างชุมชน คริสตจักรที่ไม่ยึดติดกับตัวอาคาร และคริสตจักรที่มีรูปแบบการแสดงออกใหม่ ๆ คริสตจักรเหล่านี้กำลังเบิกทางไปสู่คริสตจักรในอนาคต
แม้ว่าตอนนี้แนวคิดเหล่านั้นจะถูกวิจารณ์มากกว่าชื่นชม เช่นเดียวกับที่คนส่วนใหญ่ไม่มองว่าการใช้บ้านและรถส่วนตัวของคนอื่นอย่าง AirBnb และ Uber เป็นไอเดียที่ดีในช่วงแรกๆ ดังนั้นแนวคิดมากมายสำหรับคริสตจักรที่คุณอยากเห็นในปี 2021 นี้จะเป็นสิ่งที่ถูกคัดค้านและไม่ถูกยอมรับอย่างแน่นอน… จนกว่ามันจะปังขึ้นมา
สิ่งนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมของเรา คือ ผู้นำที่ถูกคุณวิจารณ์ในวันนี้สามารถเป็นผู้นำที่ให้คำแนะนำแก่คุณได้ในวันข้างหน้า
ดังนั้นจงเปิดใจ กำลังจะมีทั้งสิ่งดี สิ่งแย่ สิ่งที่ยังไม่ได้ลองทำ และแนวคิดใหม่ ๆ ที่ดูเหมือนไม่เวิร์กกำลังจะก่อตัวขึ้น และแน่นอนอนาคตของเราจะแตกต่างจากที่เคยเป็นมา
บทความต้นฉบับ : 8 DISRUPTIVE Church trends that will RULE in 2021, Carey Nieuwhof
แปลและเรียบเรียง : Zoozie, Yuta
ออกแบบภาพ : Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น