บทความ

3 ประเด็นสะกิดว่าคุณใช้ชีวิตได้คุ้มค่าแค่ไหน?

1. ตระหนักถึงความสำคัญของ “การลงมือทำ”

เมื่อปี 1930 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งหางานจากหนังสือพิมพ์ จึงเข้าไปสมัครงานอ่านรหัสมอร์ส (Morse code) ที่เขาเคยเรียนมา

เมื่อถึงออฟฟิศพบว่ามีคนรอสมัครก่อนหน้า 25 คน ซึ่งดูอายุมากกว่า ประสบการณ์สูงกว่า เมื่อเจ้าของบริษัทยื่นใบสมัครให้กรอก เด็กหนุ่มรู้สึกสิ้นหวังว่าคงไม่ได้งาน แต่ขณะที่ทุกคนกำลังกรอกแบบฟอร์ม อยู่ดีๆ เด็กหนุ่มก็ลุกขึ้นเดินตรงเข้าไปที่ห้องทำงานเจ้าของ จากนั้นเจ้าของจึงเดินออกมาจากห้อง พร้อมประกาศว่า “เด็กหนุ่มคนนี้ได้งานนี้แล้ว”

ทุกคนที่นั่งอยู่ประหลาดใจและถามว่า “เกิดอะไรขึ้น” เจ้าของบริษัทจึงพูดขึ้นว่า “เมื่อครึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา ผมเพิ่งได้เคาะกระจกเป็นรหัสมอร์ส ข้อความที่ผมสื่อคือ “ถ้าคุณได้ยินข้อความนี้ ให้เดินมาที่ห้องทำงานผม แล้วคุณจะได้งานนั้น” แต่เพราะทุกคนต่างจดจ่อเรื่องกรอกใบสมัคร จึงไม่มีใครสนใจฟังข้อความ ยกเว้นเด็กหนุ่มคนนี้ที่ฟังอยู่

หลายครั้งชีวิตเรายุ่งเกินไปจนพลาดได้ยินสัญญาณที่พระเจ้าเคาะเรียกเรา พระเจ้าพยายามดึงความสนใจเรา พยายามจะนำทางเรา แต่เราเองจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะฟังด้วยเช่นกัน

ในพระคัมภีร์ การฟัง เป็นเรื่องเดียวกับ การลงมือทำ คำว่า “ฟัง” ของชาวยิว มาควบคู่กับ การลงมือทำ ฉะนั้น การลงมือทำ ก็คือบทพิสูจน์ของการฟัง หรือ คุณฟังก็เพื่อจะลงมือทำนั่นเอง

ในชีวิตเรา การลงมือทำ ดีกว่า มีเพียงแค่คำพูด พระเยซูพูดใน มัทธิว 25:21 ว่า WELL DONE ไม่ใช่ WELL SAID ในการเป็นสาวก ความเป็นเราไม่ได้ถูกหล่อหลอมจาก “คำพูด” แต่จาก “การกระทำ” ของเรา

ในมัทธิว 28 พระมหาบัญชาพระเยซูทรงเน้นย้ำให้เรา ลงมือทำ “…สอนพวกเขาให้ถือรักษา (observe) สิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกท่านไว้” คำนี้มาจาก obey and do นั่นก็คือ สอนให้เชื่อฟังและทำตามสิ่งสารพัด…

อาจารย์เอ็ดมันด์ ชาน หนุนใจผ่านชีวิตที่ท่านเรียนรู้ที่จะไวต่อการนำของพระเจ้าเสมอๆ ครั้งหนึ่งกำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยพระคัมภีร์ ขณะนั่งวุ่นทำรายงานอยู่ในห้องสมุด พระเจ้าตรัสกับท่านว่า “ลูกเอ๋ย จงไปที่ห้องอธิษฐานและอธิษฐาน” ท่านก็ตอบสนองและเดินไปที่ห้องนั้น และพูดกับพระเจ้าว่า “ผมอยู่ที่นี่แล้ว ขอทรงตรัสกับผม ผมพร้อมที่จะรับฟังจากพระองค์” พระเจ้าก็ตรัสอย่างเรียบง่ายว่า “เราเพียงต้องการทดสอบว่าเจ้าพร้อมที่จะตอบสนองต่อการนำของเราหรือไม่” จากนั้นท่านจึงกลับไปทำรายงานต่อ พร้อมเต็มด้วยความรู้สึกชื่นชมยินดี ที่รู้สึกเช่นนั้นก็เพราะท่านได้รู้และมั่นใจว่าพระเจ้านำชีวิตท่านอยู่

บางทีคุณอาจรู้สึกว่า ก็พระเจ้าไม่พูดกับเราแบบที่พูดกับอาจารย์ อันที่จริงพระเจ้าทรงตรัสกับเราเสมอ ผ่านทางพระพระวจนะ สิ่งที่เราจำเป็นต้องมั่นใจคือ พระเจ้าทรงรู้ว่าจะนำทิศทางชีวิตเราอย่างไร ทรงรู้ว่าจะทำให้เราเติบโตได้อย่างไร พระองค์ไม่เคยพลาด เพราะทรงรู้ทุกสิ่ง สิ่งที่เราควรตอบสนองก็คือ อะไรก็ตามที่พระองค์ทรงพูดกับเรา JUST DO IT

ฉะนั้นสาระสำคัญของการดำเนินชีวิตตามการทรงเรียก จึงอยู่ที่ เราจะตอบสนองลงมือทำสิ่งที่พระองค์ตรัสหรือไม่

2. ทำมาก ไม่สำคัญเท่า ลงมือทำสิ่งที่สำคัญ

ขณะที่คริสเตียนส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าพระเจ้าต้องการให้ทำอะไร อีกส่วนหนึ่งก็กลายเป็นนักกิจกรรมตัวยง ที่วุ่นวายอยู่กับลงมือทำ ลงมือทำ และลงมือทำ พวกนี้จะพูดว่า “เราไม่มีเวลาพัก เราจะพักเมื่อไปที่สวรรค์”

มันมีความแตกต่างระหว่าง รู้ว่าการลงมือทำนั้นสำคัญ กับ รู้ถึงสิ่งสำคัญที่ต้องลงมือทำ แบบแรกคุณจะเข้าใจว่าการลงมือทำเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนแบบหลังคุณต้องเข้าใจว่า อะไรคือสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เราทำ

เรามักตั้งคำถามผิดว่า ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง? (what can I do?) แต่ที่เราควรถามคือ อะไรคือสิ่งที่ฉันจะต้องทำ? (what must can I do?) หรือพูดอีกอย่างคือ อะไรคือสิ่งที่พระเจ้าเรียกให้ฉันทำ? อะไรคือน้ำพระทัยพระเจ้าในชีวิตคุณ? มันจึงไม่ใช่การทำเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำแล้ว แต่แก่นสำคัญคือการกระทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา

หัวใจของเรื่องนี้ คือการกลับมาโฟกัส ถึงน้ำพระทัยพระเจ้า (God’s will) ที่ทรงมีต่อคุณ เพราะชีวิตคุณสามารถทำหลายร้อยสิ่งได้ แต่อะไรล่ะคือสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้คุณทำ บางทีคุณอาจต้องใช้ชีวิตให้ช้าลง และแสวงหาพระเจ้าจริงๆ จนชัดเจนในใจว่าพระเจ้าต้องการให้คุณทำอะไร

3. ทำไมน้ำพระทัยพระเจ้าจึง “สำคัญสุดสูง” กับชีวิต

ก่อนอื่น พระเยซูทรงมองว่าทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของผู้ที่ทรงใช้เรามาและทำให้งานของพระองค์สำเร็จ” (ยอห์น 4:34)

“เพราะเหตุนี้ อย่าเป็นคนโง่เขลา แต่จงเข้าใจว่าอะไรคือพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (เอเฟซัส 5:17) นั่นคือคำอธิบายที่เปาโลบอกว่า “ความโง่เขลา” คือ การพลาดจากน้ำพระทัยพระเจ้า

น้ำพระทัยพระเจ้าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชีวิตเราดำเนินไปอย่างมีคุณค่าบนการทรงเรียก “เพราะเหตุนี้ นับตั้งแต่วันที่เราได้ยินเรื่องนี้ เราก็ไม่ได้หยุดอธิษฐานและทูลขอเพื่อท่านทั้งหลาย เพื่อให้ท่านเต็มเปี่ยมด้วยความรู้เรื่องพระประสงค์ของพระองค์โดยสรรพปัญญาและความเข้าใจฝ่ายจิตวิญญาณ” (โคโลสี 1:9)

เหตุที่เน้นคำถามว่า “ทำไม” เพื่อพาคุณกลับไปมองภาพพระเจ้าให้ชัดเจน เพราะเมื่อคุณเห็นไม่ชัด คุณจะมีแนวโน้มทำตามใจตัวเอง (your will) มากกว่าทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า (God’s will)

การทำตามใจตัวเอง ถือเป็น ความหยิ่ง แต่การทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า มันอยู่บนรากฐานที่คุณต้องรับรู้ว่าบนจักรวาลนี้ไม่มีอะไรจะดีงามเท่ากับพระเจ้าแล้ว พระองค์สัพพัญญู ทรงบริบูรณ์ด้วยรักและใหญ่ยิ่งเหนือทุกสิ่ง (อิสยาห์ 55:9)

และนั่นคือเหตุผลอันหนักแน่นที่เราต้องโบกมือลาเส้นทางเก่าของตัวเอง และหันมาตั้งใจดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่ดีที่สุด และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ถนนเส้นใหม่นี้ที่ชื่อว่า “น้ำพระทัยพระเจ้า”

ชีวิตแบบไหนที่คุ้มค่าและมีความหมายสำหรับเราล่ะ?

ลองสำรวจตัวเราเองว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ใช้ชีวิตอย่างไร ผ่านตารางความแตกต่าง 10 ประการระหว่าง การใช้ชีวิตอย่างจงใจหรือตั้งใจ (Intentional life) หรือ การใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ (Incidental life)

อ้างอิง:

  • เรียบเรียงจากสัมมนา IDMC 2020, หัวข้อ Unto every divine calling for our life by Edmund Chan
  • ตาราง ความแตกต่าง 10 ประการ อ้างอิงจาก Facebook ของ Suthida Westwood


เรียบเรียง:  JK

ภาพ:  Aaron Burden, Ben White, Photo by Jens Johnsson on Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง