ในประเทศสหรัฐอเมริกามีเว็บไซต์และวารสารที่น่าสนใจที่ชื่อว่า History Today ซึ่งได้รวบรวมและเรียบเรียงว่า “วันนี้” ในอดีตมีเหตุการณ์ที่สำคัญอะไรบ้าง และเนื่องในโอกาสที่วันอีสเตอร์กำลังจะมาถึง ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนในรูปแบบเดียวกันกับ History Today
โดยจะนำเสนอให้เห็นว่านอกจาก “วันฟื้นคืนพระชมน์ของพระเยซู” ที่มีความสำคัญมาก ๆ สำหรับคริสเตียนแล้วยังมีเหตุการณ์สำคัญใดอีกบ้างที่เกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกันในอดีต
เป็นที่ทราบและยอมรับกันว่าพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชมน์ในวันอาทิตย์ที่ 17 เดือนนิสาน (เดือนนิสานเป็นเดือนที่หนึ่งตามปฏิทินของชาวยิว ซึ่งมักจะตรงกับเดือนเมษายนของปฏิทินแบบสุริยคติที่เราใช้กันในปัจจุบัน) เรามาดูกันว่ามีเหตุการณ์ใดในพระคริสตธรรมคัมภีร์บ้างที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 เดือนนิสานเช่นกัน ตามผมมานะครับ
เหตุการณ์ที่ 1 : เรือโนอาห์จอดที่เทือกเขาอารารัต
ปฐมกาล 8:4 – ณ วันที่สิบเจ็ดของเดือนที่เจ็ด เรือก็ค้างอยู่บนเทือกเขาอารารัต
ในระบบปฏิทินชาวยิว (Civil Calendar) เดือนที่หนึ่งคือเดือนทิสชริ (Tishri) โดยจะมีการเปลี่ยนเลขปีในวันที่ 1 ของเดือนนี้ แต่ในภายหลังพระเจ้าตรัสกับโมเสสและอาโรนให้เปลี่ยนเดือนที่เจ็ด คือเดือนนิสาน (Nisan) ให้เป็นเดือนที่หนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับเทศกาลทั้งเจ็ดที่ทรงกำหนดให้พวกเขา (อพยพ 12:2) ซึ่งเป็นระบบปฏิทินตามหลักศาสนา (Religious Calendar)
ดังนั้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่าเรือโนอาห์จอดที่เทือกเขาอารารัตในวันที่ 17 เดือนนิสานนั่นเอง
เหตุการณ์ที่ 2 : ชนชาติอิสราเอลเดินข้ามทะเลแดง
พระธรรมกันดารวิถี 33:1-8 ได้ระบุเส้นทางการอพยพออกจากอียิปต์ของชาวยิว (ในข้อที่ 3) จนถึงวันที่ทะเลแดงแหวกออกให้พวกเขาเดินผ่านไป (ในข้อที่ 8) และเข้าสู่ถิ่นทุรกันดาร ซึ่งในข้อที่ 3 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าชาวอิสราเอลเริ่มออกเดินทางในวันที่ 15 เดือนที่หนึ่ง (เดือนนิสาน) และหากอ้างอิงจาก อพยพ 5:3 จะพบว่าการเดือนทางจะใช้เวลา 3 วัน
ดังนั้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่าชนชาติอิสราเอลเดือนข้ามทะเลแดงในวันที่ 17 เดือนนิสานนั่นเอง
เหตุการณ์ที่ 3 : ชนชาติอิสราเอลเริ่มรับประทานผลแรกจากแผ่นดินพระสัญญา
โยชูวา 5:10-12 ชาวอิสราเอลได้ถือปัสกาวันที่ 14 เดือนนิสาน (เลวีนิติ 23:5) และมานาหยุดลงในวันที่ 16 เดือนนิสาน
ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า ชนชาติอิสราเอลเริ่มรับประทานผลแรกจากแผ่นดินพระสัญญาในวันที่ 17 เดือนนิสานนั่นเอง
เหตุการณ์ที่ 4 : กษัตริย์เฮเซคียาห์เปิดใช้พระนิเวศเป็นวันแรก
2 พงศาวดาร 29:17 ระบุว่าชาวเลวีชำระพระนิเวศเสร็จในวันที่ 16 เดือนนิสาน และในวันรุ่งขึ้นกษัตริย์เฮเซคียาห์ ก็เริ่มต้นใช้ในการถวายเครื่องบูชา
ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า กษัตริย์เฮเซคียาห์เปิดใช้พระนิเวศเป็นวันแรกในวันที่ 17 เดือนนิสานนั่นเอง
เหตุการณ์ที่ 5 : ฮามานศัตรูของชนชาติอิสราเอลถูกแขวนคอ
เอสเธอร์ 3:12 ระบุว่าฮามานได้เขียนกฤษฏีกาในวันที่ 13 เดือนนิสานเพื่อแจกจ่ายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อทำลายล้างชนชาติอิสราเอล ต่อมา เอสเธอร์ 4:16 ระบุว่าเอสเธอร์บอกให้อดอาหารอธิษฐานเป็นเวลา 3 วัน ก่อนไปเข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัส และวันที่ 17 กลับเป็นฮามานที่ถูกแขวนคอบนตะแลงแกง
ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ฮามานศัตรูของชนชาติอิสราเอลถูกแขวนคอในวันที่ 17 เดือนนิสานนั่นเอง
ข้อคิดที่น่าสนใจ
วันที่ 17 เดือนนิสานเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่
ทั้ง 5 เหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น มีลักษณะร่วมกันอยู่หนึ่งอย่างที่น่าสนใจ คือ “การเริ่มต้นใหม่” กล่าวคือ
เรือโนอาห์ – ครอบครัวของเขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ
การข้ามทะเลแดง – ชนชาติอิสราเอลได้เริ่มต้นชีวิตใหม่และเปลี่ยนเจ้านายใหม่จากฟาโรห์เป็น พระยาห์เวห์
การเข้าคานาอัน – ชนชาติอิสราเอลได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ในดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้
การเปิดใช้พระนิเวศ – ชาวยูดาห์ได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพระเจ้าอีกครั้ง
ฮามานถูกแขวนคอ – ชาวอิสราเอลได้มีความหวังใหม่ ไม่ต้องหวาดกลัวจากการถูกทำลาย
ในทำนองเดียวกัน วันที่พระเยซูทรงเป็นขึ้นจากความตายก็เป็นวันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่และการมีความหวังใหม่ผ่านทางพันธสัญญาใหม่โดยพระโลหิตของพระเยซู
วันที่ 17 เดือนนิสานเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ของวันคืนพระชนม์
เราอาจจะมองว่าทั้ง 5 เหตุการณ์เป็นเหมือนกับจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ทำให้เห็นภาพใหญ่ของการคืนพระชนม์ กล่าวคือสิ่งนี้ช่วยอธิบายเหตุการณ์ในวันคืนพระชนม์
เรือโนอาห์ – ความรอดมีทางเดียวผ่านทางเรือโนอาห์ ผู้ที่เชื่อคำเตือนของโนอาห์ก็จะรอด ซึ่งสอดคล้องกับ ความรอดมีทางเดียวผ่านทางพระเยซู ผู้ที่เชื่อและวางใจก็จะรอด (ยอห์น 3:16)
การข้ามทะเลแดง – แสดงถึงการเปลี่ยนสถานะจากทาสของฟาโรห์ มาเป็นประชากรของพระเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็นทาสของความบาป (ยอห์น 8:34) มาเป็นลูกของพระเจ้า (ยอห์น 1:12)
การเข้าคานาอัน – มานาที่เป็นการดูแลแบบชั่วคราวได้หยุดลง และเป็นการเริ่มต้นการดูแลที่ยั่งยืนกว่าผ่านทางดินแดนพระสัญญา ซึ่งสอดคล้องกับการที่เลือดสัตว์ซึ่งเป็นการปกคลุมความบาปแบบชั่วคราวได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นเลือดของพระเยซูคริสต์ที่กำจัดบาปได้แบบถาวร (ฮีบรู 7:27; 9:12)
การเปิดใช้พระนิเวศ – กษัตริย์เฮเซคียาห์เป็นผู้เริ่มต้นในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างชาวยูดาห์กับพระเจ้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลาย ๆ ด้าน เช่น การทำลายแท่นบูชาพระต่างด้าว, การรื้อฟื้นเทศกาลต่าง ๆ , รวมไปถึงการชำระวิหาร โดยมีการเปิดใช้พระนิเวศเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการที่พระเยซูทรงเป็นคนผู้เริ่มต้นและเป็นคนกลางอย่างเป็นรูปธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า (ฮีบรู 9:15)
ฮามานถูกแขวนคอ – พระนางเอสเธอร์เห็นคุณค่าของชนชาติตนเองมากกว่าชีวิตของพระนางเอง ซึ่งเป็นการยอมจ่ายราคาแบบทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง อำนาจ ชื่อเสียง รวมไปถึงชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูทรงแสดงให้เราเห็นที่ไม้กางเขน คือการเสียสละทั้งชีวิตของพระองค์เพื่อเรา (โรม 5:8)
วันที่ 17 เดือนนิสานเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบไว้หรือเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
เป็นที่น่าคบคิดต่อไปว่าพระเจ้าทรง “ออกแบบ” ให้วันที่ 17 เดือนนิสาน เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นจิ๊กซอว์ตามที่ได้กล่าวข้างต้น หรือเป็นเพียง “ความบังเอิญ” ที่ทำให้ทั้ง 6 เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันเดียวกัน หากเป็นการออกแบบก็นับได้ว่าเป็นการออกแบบที่ล้ำลึกและอัศจรรย์เกินกว่าที่จะมีมนุษย์คนไหนที่จะควบคุมให้ทั้ง 6 เหตุการณ์เกิดในวันเดียวกันได้ หรือหากเป็นเพียงความบังเอิญก็เป็นความบังเอิญที่น่าอัศจรรย์ใจเช่นกัน ไม่ว่าเราจะถกเถียงกันอย่างไร เราที่เป็นมนุษย์คงไม่มีทางทราบได้ แต่มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่รู้คำตอบ
แม้ผมจะเข้าใจประวัติความเป็นมาของวันนี้พอสมควร โดยส่วนตัวแล้วผมก็ยังมีเหตุผลหลายประการที่ไม่ชอบการตั้งชื่อวันนี้ว่า “อีสเตอร์” ดังนั้นตลอดบทความผมจึงเจตนาจะใช้คำว่า “วันฟื้นคืนพระชมน์ของพระเยซู” หวังว่าผู้อ่านคงให้อภัยนะครับ ผมอยากจะสรุปบทความนี้ด้วยการแบ่งปันความรู้สึกอัศจรรย์ใจที่มีต่อวันอีสเตอร์
- ประการแรก ผมมีความรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก เมื่อพบว่าหลักฐานเกี่ยวกับการตรึง, การถูกฝัง และ การฟื้นคืนพระชมน์ของพระเยซู มีความหนักแน่นและน่าเชื่อถือที่สูงมาก (ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมมีความมั่นใจในความเชื่อของคริสเตียน)
- ประการที่สอง เมื่อพบว่าทั้ง 6 เหตุการณ์ที่มีความสำคัญและความหมายใกล้เคียงกัน เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ในฐานะของนักคณิตศาสตร์คนหนึ่งก็มีความประทับใจ และ เชื่อว่าแผนการณ์ของพระเจ้าต่อความรอดของมนุษย์ช่างงดงามอะไรเช่นนี้
- ประการที่สาม ในพระคัมภีร์เดิมไม่เพียงบันทึกเหตุการณ์ทั้ง 5 นี้เท่านั้น แต่ยังพยากรณ์ในแง่มุมอื่น ๆ ของพระเยซูอีกด้วย และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็น “เงา” ของพระเยซู เช่น ภาชนะในวิหาร, เทศกาลทั้งเจ็ดของพระเจ้า ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่าทำให้ผมมีความอัศจรรย์ใจถึงความสอดคล้องของพระเยซูที่มีต่อคำพยากรณ์เหล่านี้เป็นอย่างมาก
- ประการที่สี่ ผมรู้สึกประทับใจในความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ ที่ยอมจ่ายราคาในระดับที่เกินกว่าผมจะจินตนาการได้ มันเป็นความอัศจรรย์ใจที่เห็นถึงแผนการความรอดที่เปี่ยมไปด้วยความชาญฉลาด, ความรัก, ความยุติธรรม, ความกล้าหาญ และ อีกมากมาย มันเป็นความปีติยินดีจริง ๆ ที่ได้มาสัมผัสถึงความหมายอันลึกซึ้งของ “วันฟื้นคืนพระชมน์ของพระเยซู”
บทความ: ดร.อาณัติ เป้าทอง นักวิชาการด้านศาสนศาสตร์และการปกป้องความเชื่อ
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น