ในพระธรรม มัทธิว 28:19-20 ได้กล่าวคำกำชับสุดท้ายของพระเยซูไว้ดังนี้
“19เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเราให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ 20สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค”
เราจะสังเกตเห็นสิ่งที่พระเยซูกำชับมี 2 คำที่มีความสำคัญหลักๆ ดังนี้คือคำว่า
“จงออกไป” และ “จงสั่งสอน”
ทั้ง 2 คำ เป็นคำสั่ง เป็นบทบาทของเรา นั่นหมายความว่าเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่เกี่ยวกับเรา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เดี๋ยวก็มีคนมาทำเอง ซึ่งหลายคนเข้าใจดี และผ่านจุดนั้นมาแล้ว แต่คำถามสำคัญคือ เราจะประกาศข่าวประเสริฐอย่างไรในยุคนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด?
สำหรับบทความนี้ก่อนที่ผมจะพูดถึงเรื่องการประกาศข่าวประเสริฐในยุคนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง มีวิธีการอะไรที่เราสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้บ้าง แนวทางอะไรทำให้คนเชื่อได้ง่ายขึ้น ผมขออธิบายให้เห็นภาพทฤษฎีของ BERLO’S MODEL ประกอบความเข้าใจก่อนดังนี้
เบอร์โล (Berlo) เป็นผู้คิดค้นกระบวนการของการติดต่อสื่อสารไว้ในลักษณะรูปแบบจำลอง S M C R Model ซึ่งประกอบด้วย
1. ผู้ส่งสาร (Source) ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความชำนาญในการสื่อสาร เนื้อหาข่าวสาร มีเจตคติที่ดีต่อผู้รับเพื่อผลในการสื่อสาร มีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่จะส่ง และควรจะมีความสามารถในการปรับระดับของข้อมูลนั้นให้เหมาะสมและง่ายต่อระดับความรู้ของผู้รับ ตลอดจนพื้นฐานทางสังคม และวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับผู้รับด้วย
2. ข้อมูลข่าวสาร (Message) เกี่ยวข้องทางด้านเนื้อหา สัญลักษณ์ และวิธีการส่งข่าวสาร
3. ช่องทางในการส่ง (Channel) หมายถึงการที่จะส่งข่าวสารโดยการให้ผู้รับได้รับข่าวสารข้อมูลโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง คือ การได้ยิน การดู การสัมผัส การลิ้มรส หรือการได้กลิ่น
4. ผู้รับ (Receiver) ต้องเป็นผู้มีทักษะความชำนาญในการสื่อสารโดยมีความสามารถใน “การถอดรหัสสาร” (decode) เป็นผู้ที่มีเจตคติ ระดับความรู้ และพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม เช่นเดียวหรือคล้ายคลึงกันกับผู้ส่งสารจึงจะทำให้การสื่อความหมายหรือการสื่อสารนั้นได้ผล
ตามลักษณะของ S M C R Model นี้ มีปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อขีดความสามารถของผู้ส่งและผู้รับ ที่จะทำให้การสื่อความหมายนั้นได้ผลสำเร็จหรือไม่เพียงใด ได้แก่
1. ทักษะในการสื่อสาร (Communication Skills) หมายถึง ทักษะซึ่งทั้งผู้ส่งและผู้รับควรจะมีความชำนาญในการส่งและการรับสาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันได้อย่างถูกต้อง
2. ทัศนะคติ (Atitudes) เป็นทัศนะคติของผู้ส่งและผู้รับซึ่งมีผลต่อการสื่อสาร ถ้าผู้ส่งและผู้รับมีทัศนะคติที่ดีต่อกัน ก็จะทำให้การสื่อสารได้ผลดี รวมไปถึง การยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างผู้ส่งและผู้รับด้วย
3. ระดับความรู้ (Knowledge Levels) ถ้าผู้ส่งและผู้รับมีระดับความรู้ที่ใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้การสื่อสารนั้นลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าหากความรู้ของผู้ส่งและผู้รับมีระดับที่แตกต่างกันมากก็จะทำให้ประสิทธิภาพการรับรู้ลดลงไปตามลำดับ
4. ระบบสังคมและวัฒนธรรม (Socio – Culture System) ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติ สังคมและวัฒนธรรมในแต่ละชาติย่อมมีความแตกต่างกันไป
จากภาพที่ได้อธิบายมาทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า การประกาศข่าวประเสริฐนั้นเป็นกระบวนการการสื่อสารของคน 2 ฝั่งเช่นกันคือ “ผู้ส่งสาร” และ “ผู้รับสาร” โดยมีข่าวประเสริฐที่เป็น “สาร” และมีช่องทาง หรือ “สื่อ” ที่จะมาช่วยนำพาให้สารไปถึงผู้ส่งสารได้ดียิ่งขึ้น ดังภาพนี้
จากภาพที่เห็น มีสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแน่ๆคือ สาร หรือข่าวประเสริฐ แต่สิ่งที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จนเราต้องปรับตัวให้เข้าใจ และนำไปใช้ได้จริงก็คือ
ผู้ส่งสาร (Source) : ในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมี AI มาช่วยในการประกาศข่าวประเสริฐ การตอบคำถามด้วย AI Chatbot ซึ่ง ณ ปัจจุบันเริ่มมีบ้างแล้ว หรือการติดตาม สนใจพฤติกรรมของคนที่กำลังตัดสินใจต้อนรับพระเยซูคริสต์ว่า อะไรคือจุดตัดสินใจหลัก ของแต่ละช่วงอายุ อาจจะเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของการประกาศยุคใหม่เลยก็ว่าได้
ช่องทางในการส่ง (Channel) : ในสมัยก่อนอาจจะเป็น การเดินประกาศพูดปากต่อปาก การแจกใบปลิว การติดป้ายเหลืองๆไว้ตามต้นไม้ การโฆษณาตาม TV ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ยังคงมีการทำลักษณะดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว
แต่ก็มีช่องทางของเครื่องมือใหม่ๆในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้น และส่งผลดีอย่างมหาศาลให้กับเราในการประกาศข่าวประเสริฐ เช่น
Facebook Page : มีหลายคริสตจักรใช้สิ่งเหล่านี้เปิดเป็น Page ที่สร้างการรับรู้เรื่องพระเจ้า, พระเยซู, กำลังใจ, ที่ปรึกษา, คำพยาน, กิจกรรมสร้างสรรค์ประโยชน์, Call center ปรึกษาปัญหาหัวใจ, ที่ปรึกษาโรคซึมเศร้า และอีกหลายๆไอเดีย
Google Adwords : ในสังคมมีคนกำลังใช้ Google เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆอย่างมากมายเช่น คำว่า
“Who is Jesus”
มีคนให้ความสนใจค้นหาคำนี้ทั่วโลกกว่า 32,000 ครั้งต่อเดือน อาจจะมีจากความสงสัยหลังจากที่ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้จากคนที่มาเล่าให้ฟัง หรืออาจจะมีจากการค้นหาความจริงบางอย่าง ถ้ามีความอยากรู้ อยากพิสูจน์มากขึ้นเท่าไร ความจริงก็จะยิ่งปรากฎนั่นเอง ในเรื่องนี้ถ้าเราสามารถทำ Website ที่มี “สาร” หรือเนื้อหาที่ดี ให้คำตอบตามที่คนค้นหาได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ก็จะสามารถนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องความรอด ก็จะส่งผลทำให้คนตัดสินใจต้อนรับพระเยซูมากยิ่งขึ้น
YouTube
ณ วันนี้ YouTube กลายเป็นช่องทางสื่อที่ทรงอิทธิพลไม่ต่างอะไรกับ TV เมื่อก่อนเลย แต่มีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาถูกลงมาก และเป็น Platform อิสระในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆมาให้ดู หลายคนสร้าง Channel ส่วนตัวขึ้นมาเพื่อสื่อสาร และตอบคำถามยากๆที่ต้องการการอธิบายซ้ำๆ กับผู้ที่เพิ่งเชื่อใหม่ๆได้อย่างดี จากสถิติการใช้ Youtube เราจะพบว่า
- ผู้ใช้จะดูวีดีโอบน YouTube เฉลี่ย 40 นาที/ครั้ง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ในทุก ๆ ปี
- YouTube มีผู้ใช้เข้ามาดูคอนเทนต์กว่า 5,000 ล้านครั้ง/วัน
- โดยเป็นการใช้งานผ่านมือถือ 500 ล้านครั้ง/วัน
- ทุก 1 นาที จะมีคอนเทนต์วีดีโอถูกอัพโหลดลงบน YouTube รวมกันถึง 300 ชั่วโมง
ไม่ว่าสิ่งต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เทคโนโลยีจะเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายขนาดไหน สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเนื้อหาเลยคือ “ข่าวประเสริฐ” สิ่งที่ตามมาคือ “หัวใจ” ที่รักคน เป็นห่วงคนที่ยังไม่ได้รับความรอด ถ้าทั้ง 2 อย่างโคจรมาเจอกันเมื่อไรนั่นย่อมทำให้ “ความรอด” ไปสู่คนอันมากมาย และเป็นสิ่งที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย
วันนี้คุณประกาศหรือยัง?
สนับสนุนบทความโดย Andrew Lifestyle กระบวนการสร้างนิสัย เปลี่ยนจากวิธีมาเป็นวิถีชีวิตในการเป็นพระพรต่อคนรอบตัว
เนื้อหาอ้างอิง
https://www.thumbsup.in.th/2019/03/youtube-stats-2019/
https://mobileministryforum.org/can-chatbots-deliver-the-gospel-message/
เรียบเรียง : พร้อมมิตร
ตกแต่งภาพ : พร้อมมิตร
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น