ทุกท่านที่รับใช้พระเจ้าที่คริสตจักรอาจพบเจอปัญหาที่แก้ไม่ตกคือ “ไมค์หอน” เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร มาติดตามดูคำตอบกัน
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าอาการ “ไมค์หอน” คืออะไร?
เหตุการณ์ที่เรามักเจอบ่อยๆ ขณะที่ร้องเพลงนมัสการในห้องประชุมคริสตจักร ทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดี แต่เมื่อผู้นำชวนให้อธิษฐาน แล้วผู้นำก็ลดมือที่ถือไมค์ลงข้างตัว
ทันใดนั้นก็เกิดเสียงหวีดดังขึ้น (หอน) ทุกคนพากันปิดหูกันแทบไม่ทัน เสียบรรยากาศกันหมด คนคุมเสียงก็ตกใจทำอะไรไม่ถูก ต้องปิดเสียงทุกอย่างลง (รวมถึงเสียงดนตรีที่กำลังคลออยู่ไปด้วย) แล้วเสียงหอนก็หายไป
จากเหตุการณ์นี้สังเกตได้ว่า การหอนเริ่มขึ้นเมื่อผู้นำลดมือที่ถือไมค์ลง บนพื้นตรงหน้าผู้นำมีลำโพงมอนิเตอร์อยู่ นั่นคือ สาเหตุหลักของการหอน
เมื่อไมค์ได้รับเสียงที่ออกมาจากลำโพง เสียงจากลำโพงที่เข้าไปในไมค์นั้น ก็จะถูกขยายให้ดังขึ้นส่งกลับไปที่ลำโพง แล้วก็วนกลับเข้าไมค์อีก ซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้
เสียงที่ดังขึ้น จึงเกิดจากการที่เสียงวนไปวนมาระหว่างลำโพงและไมค์นั่นเอง ในภาษาอังกฤษจะเรียกอาการหอนนี้ว่า Feedback
Feedback ไม่ได้เกิดเฉพาะกับไมค์เท่านั้น อาจเกิดกับเครื่องดนตรีบางชนิดได้อีกด้วย เช่น กีต้าร์โปร่ง และกีต้าร์ไฟฟ้า เป็นต้น
และการหอน อาจเป็นผลมาจากเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่ส่งเสียงดังเข้าไมค์ เช่น กีต้าร์ไฟฟ้าเล่นเสียงดังแล้ว เมื่อไมค์นักร้องหันมารับเสียงของกีต้าร์นั้นพอดีก็ทำให้หอนได้เช่นกัน
—————
เราต้องเริ่มด้วยการป้องกันการหอนตั้งแต่แรกก่อนเริ่มรายการบนเวที การทำ ซาวด์เช็ค (Sound check) นั้นจึงสำคัญมากสำหรับการใช้ระบบเครื่องเสียงทุกชนิดทุกขนาดและทุกสถานที่ ซาวด์เอ็นจิเนียร์มืออาชีพจะทำการเช็คอย่างละเอียดก่อนเริ่มงานเสมอ
แนะวิธีซาวด์เช็กที่เพื่อป้องกันการหอน feedback
1) พูดใส่ไมค์แล้วเดินทั่วบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นหลังเวที ทั่วเวที ลงมาหน้าเวที และทุกๆ บริเวณที่ไมค์ตัวนั้นสามารถถูกถือไปถึงได้
2) เมื่อพบการหอนให้ใช้ Equalizer (กรณี parametric eq) ย่านกลาง หมุนปุ่ม Boost ให้สูงกว่าปกติ แล้วหมุนปุ่ม Frequency กวาดฟังดูความถี่ที่หอนมากที่สุดเมื่อพบความถี่เจ้าปัญหาแล้วก็ Cut ลงจนเสียงหอนหายไป (หมุนกลับด้านที่ Boost อยู่ในข้อ 2)
3) ในกรณีที่ใช้ Graphic Equalizer ให้ดันทีละย่านความถี่ขึ้นสูงๆ แล้วฟัง ค่อยๆ ทำทีละย่านไปจนสุด เมื่อพบความถี่ที่มีปัญหาให้ลดย่านความถี่นั้นลง
4) ทดลองร้องเพลง หรือลองพูดคำที่มีเสียงลมกระแทกมากๆ เช่นคำที่มี “พ ป ท ส” แล้วทำซ้ำข้อ 1, 2, 3
5) หากใช้ลำโพงมอนิเตอร์ให้แกว่งไมค์หันเข้าหาดอกลำโพงเลย แล้วทำข้อที่ 1, 2, 3
เมื่อครบทุกไมค์แล้วก็จะลดปัญหาการหอนได้มากเลยทีเดียว
—————
ปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการหอน
– เสียงเครื่องดนตรีดังเกินไป ทำให้เสียงเข้าไปกวนไมค์นักร้อง
– การเปิดเสียงลำโพงมอนิเตอร์ดังเกินไป
– ตำแหน่งการวางเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังมากๆ เช่น กลองชุด แอมป์กีต้าร์ และ แอมป์เบส
– สภาพอคูสติกของห้องนั้นๆ อาจทำให้บางย่านความถี่สะท้อนไปมาจนเข้าไมค์
การแก้ปัญหาปัจจัยเสริม
1) ลดความดังของการเล่นนดนตรีลง จะส่งผลทำให้นักดนตรีและนักร้องขอมอนิเตอร์เบาลงด้วย เมื่อควบคุมความดังบนเวทีให้น้อยได้ ก็จะเกิดการหอนยาก แถมการมิกซ์ให้ผู้ฟังง่ายขึ้นมาก (FOH; Front of House)
2) หันลำโพงมอนิเตอร์ไปในทิศทางที่นักร้องนักดนตรีได้ยินชัด และต้องไม่มีอะไรมาบัง เช่น ที่วางโน้ต หรือเครื่องดนตรี
3) จัดวางตำแหน่งเครื่องดนตรี และแอมป์ให้คนส่วนใหญ่บนเวทีได้ยิน เพื่อจะได้ไม่ต้องขอเปิดมอนิเตอร์ดัง
4) ติดม่านหนาๆ ฟูก ฟองน้ำ หรือวัสดุปรับอคูสติคเมื่อลดเสียงสะท้อนในย่านความถี่ที่เป็นปัญหา ต้องแน่ใจว่าวัสดุนั้นๆ ดูดซับความถี่ที่เป็นปัญหาได้ เพราะถ้าติดตั้งโดยที่ไม่สามารถกำจัดความถี่เจ้าปัญหาได้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นอีก
5) เปลี่ยนจากการใช้ลำโพงมอนิเตอร์มาเป็น In ear monitor ทางออกนี้ช่วยได้มากที่สุดแต่ต้องใช้ทรัพยากรมากเช่นกัน แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความพร้อมของแต่ละคริสตจักร
—————
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การจัดการเสียงหอนอาจจะดูยาก แต่ถ้านำไปทดลองดูจะพบว่าไม่ยากเลยครับ ฝึกทำบ่อยๆ ก็จะเชี่ยวชาญ จำไว้นะครับ งานด้านเสียงต้องเชี่ยวชาญเรื่อง “หู”
บทความ: ภาษิต ภัทรานุกูล
ออกแบบภาพ: Jackkrit Anantakul, Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น