ถ้าพูดถึงการรับน้อง น้องๆ บางคนตื่นเต้นรอคอยวันที่จะได้แต่งชุดนักศึกษา รีบวิ่งเข้าห้องเชียร์เพื่อบอกตัวเองว่าได้เข้าสู่การเป็นนักศึกษาเต็มตัวแล้ว บางคนไม่ตื่นเต้นอะไร มีการรับน้องก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร ส่วนบางคนออกแนวจะต่อต้าน ไม่ยอมรับการรับน้องไม่ว่าจะประเภทไหนก็ตาม แน่นอนว่าในสังคมของเรามีความหลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปะทะขัดเกลากันทางความคิดจะป้องกันไม่ให้ความคิดใดความคิดหนึ่งแข็งตัวเป็นอคติหรือเป็นลัทธิที่กดขี่กัน แต่น่าเสียดาย ในรั้วมหาวิทยาลัยของไทยเรา ถ้าไม่คิดไปทางขวา ก็ต้องไปทางซ้ายเลยอย่างสุดโต่ง อีกทั้ง “ความรัก” ในแบบของรุ่นพี่ก็ถูกส่งต่อๆ กันมาและแทรกซึมเข้าไปในความคิดเราโดยไม่รู้ตัว
อำนาจนิยมที่แฝงอยู่ในการรับน้อง และ Propaganda ที่กล่อมให้น้องอยู่ในมือ
“ที่พวกพี่ทำเนี่ยเพราะพี่รักน้อง รักน้องจริงๆ … เอ้าก้มหัวลงไป ไหว้พี่ซะ!!!”
เป็นคำพูดที่คุ้นชิน คุ้นหูมากที่สุดในรั้วมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอนาคตของชาติ การเป็นรุ่นพี่นั้นเป็นอำนาจที่ใครก็ยากจะปฏิเสธ เพราะได้มาโดยไม่จำเป็นต้องขวนขวาย ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพียงแค่ขึ้นปี 2 ก็สามารถบังคับน้องๆ ทุกคนให้ไหว้เพื่อแสดงความเคารพ กำหนดให้ทำอะไรบางอย่าง ให้ทำท่าทางต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความต้องการของรุ่นน้อง อีกนัยหนึ่งก็พูดได้ว่า เป็นการใช้อำนาจข่มรุ่นน้อง ด้วยวิธีการต่างๆ ในระหว่างการรับน้อง
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามี Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ที่แฝงตัวอยู่ในทุกส่วนของ “ความรัก” นี้ รุ่นพี่พร่ำบอกว่า “นี่คือความรักของรุ่นพี่ พี่ๆ ทำให้น้องๆ ด้วยความรัก” วาทกรรมดังกล่าวดูจะย้อนแย้ง เพราะในความรักนั้น มีการโจมตีนักศึกษาที่ไม่มาเข้าร่วมกิจกรรมว่า “ทิ้งเพื่อน” ส่งผลกระทบต่อไปถึงกลุ่มรุ่นน้องว่า “พวกเราอย่าไปคบพวกมัน (กลุ่มคนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรม)” โดยที่ไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือความคิดใดที่ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นไม่เข้าร่วมกิจกรรม มีการสถาปนาคุณค่าบางอย่างที่จับต้องไม่ได้เช่นคำว่า “รุ่น” มาเพื่อหล่อหลอมและสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรักของรุ่นพี่ และมองว่า “ยุติธรรม” แล้วที่รุ่นพี่สามารถทำอะไรกับรุ่นน้องก็ได้เพื่อแลกกับคำว่า “รุ่น”
ความอ่อนน้อมต่อระบบอำนาจนิยมที่ไม่เป็นธรรม
อีกด้านหนึ่ง เมื่ออำนาจนิยมแฝงตัวอยู่ในระบบรับน้องอย่างแนบเนียน ช่วยไม่ได้เลยที่ไม่ว่ารุ่นพี่หรือรุ่นน้องก็ต้อง “นอบน้อม” ต่อระบบ ธรรมเนียม และจารีตของการรับน้องของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งการนอบน้อมต่อระบบนี้เองส่งผลกระทบอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงระบบ “ยุติธรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเองจากความรักของรุ่นพี่ที่มีให้รุ่นน้องอย่างสุดใจ(หรือป่าว) การเคารพระบบ การทำตามธรรมเนียม การเป็นรุ่นพี่ที่มีความรุนแรง ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจอาจทำให้ภาพรวมดูเหมือนทุกคนมีความสุขดี แต่ในแง่สิทธิส่วนบุคคลแล้ว เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักศีลธรรมหรือ?
John Stuart Mill นักปรัชญาชาวอังกฤษ กล่าวไว้ว่า
“การละเมิดสิทธิของใครก็ตามเท่ากับเป็นการทำร้ายคนคนนั้น”
การกดขี่ข่มเหงนั้น แม้มีผลกระทบต่อใครคนใดคนหนึ่ง และแม้คนส่วนมากเห็นด้วย มันก็ยังเป็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นต่อเขา หรือพวกเขา (คนส่วนน้อย)ในฐานะปัจเจกอยู่ดี การนอบน้อมต่ออำนาจนิยมนี้เองได้ทำร้ายคนส่วนน้อยโดยที่คนส่วนมากไม่รู้สึกผิดด้วยซ้ำ
ในฐานะคริสเตียน
แล้วในฐานะคริสเตียนที่พระเจ้าทรงเรียกให้เราเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ล่ะ เราทำอย่างไรได้บ้างในเรื่องการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมที่เห็นในรั้วมหาวิทยาลัยของเรา พระเจ้ามองเรื่องนี้อย่างไร ในพระคัมภีร์ มีตัวอย่างหนึ่งในมาระโก 10:42–45
42 พระเยซูจึงทรงเรียกเขาทั้งหลายมา ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายรู้อยู่แล้วว่า คนที่นับว่าเป็นผู้ครอบครองของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายอยู่เหนือเขาทั้งหลาย และพวกที่เป็นใหญ่ก็ใช้อำนาจบังคับพวกเขา
43ในพวกท่านจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามีใครต้องการจะเป็นใหญ่ท่ามกลางท่าน คนนั้นจะต้องเป็นผู้ปรนนิบัติของท่านทั้งหลาย
44 และถ้าใครต้องการจะเป็นนาย คนนั้นจะต้องเป็นทาสของคนทั้งหลาย
45 เพราะว่าบุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อจะปรนนิบัติคนอื่น และให้ชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก”
เมื่อเราใคร่ครวญดูทัศนคติในเรื่องอำนาจของรุ่นพี่ส่วนใหญ่เทียบกับผู้ครอบครองของคนต่างชาติ มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง หรือการรักษาธรรมเนียม จารีต ที่ต้องนอบน้อมประพฤติตาม
ผู้อ่านที่รัก หากท่านยังเป็นคนหนึ่งที่กำลังอมความหวานจากอำนาจรุ่นพี่ เวลารุ่นน้องทำอะไรที่ไม่ถูกใจเรา เราก็รู้สึกพองโตโกรธเกรี้ยว หรือท่านเป็นคนหนึ่งที่กำลังถูกความรักของรุ่นพี่กดขี่ หรือแม้ท่านเป็นคนหนึ่งที่ไม่ไยดีต่อระบบความรักของรุ่นพี่ วันนี้พระเจ้าให้เรามอง “ความรักของรุ่นพี่” อย่างไร มีข้อพระคัมภีร์มากมายที่พูดว่า พระเจ้าทรงปรารถนาให้เรามีความยุติธรรม มีอะไรบ้างที่เราต้องเปลี่ยน เราจะสร้างกระบวนการรับน้องที่สร้างสรรค์ หรือบอกเพื่อนของเราให้ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร
สิ่งที่สำคัญคือการตั้งคำถาม พระเยซูได้ตั้งคำถามมากมายเวลาพบกับฟารีสี เจ้าพ่อแห่งธรรมเนียมจารีต เช่นในลูกา 14:1–6
พระเยซูตั้งคำถามต่อกฎที่แม้พระบิดาเองเป็นคนตั้งไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ฟาริสีเห็นถึงแก่นแท้ของกฎบัญญัติข้อนี้ คือการพัก อีกทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นในวันสะบาโตก็เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่าและควรทำ
คำถามต่อไปคือ ลองถามตัวเองว่า คุณได้รักรุ่นน้อง ปรารถนาดีกับเขา อยากให้เขาเริ่มต้นในมหาวิทยาลัยอย่างดีจริงๆ หรือเปล่า สุดท้ายแล้ว “ความรักของรุ่นพี่” ที่แท้จริงคืออะไร?
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น