บทความ

‘เป้ง จุลนภ’ จากโรคซึมเศร้ากลายเป็นผู้จุดพลังวิธีคิดช่วยเหลือให้ผู้ป่วยหายจากซึมเศร้า

ข้อมูลจากรายงาน WHO เมื่อปี 2017 พบว่าทั้งโลกมีผู้ป่วยซึมเศร้าราว 322 ล้านคน คาดการณ์ว่าเฉพาะประเทศไทยน่าจะมีประมาณ 2.9 ล้านคน หรือประมาณ 4.4% ของคนไทยทั้งประเทศ ส่วนตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตบอกว่าน่าจะมีผู้ป่วยซึมเศร้าในไทยราว 1.5 ล้านคน แม้ข้อมูลทั้งสองแหล่งไม่ตรงกัน แต่ก็ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ มีคนไทยป่วยซึมเศร้าในระดับ ‘หลักล้านคน’

กรมสุขภาพจิตยังเปิดเผยอีกว่า ในปี 2018 มีคนไทยพยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 คน หรือมากกว่า 53,000 คนต่อปี และเสียชีวิต ราว 4,000 คน ถือเป็นสาเหตุการตายของคนไทยลำดับต้นๆ รองจากโรคร้ายแรงอื่น เช่น มะเร็ง หัวใจ ปอด เบาหวาน ไปจนถึงการประสบอุบัติเหตุ โดยมีวัยรุ่นหรือประชากรที่อายุระหว่าง 15-24 ปี ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราวปีละ 300 คน

หากเราเทียบสถิติการเป็นโรคซึมเศร้า 4.4% กับจำนวนสมาชิกในคริสตจักร นั่นแสดงว่าถ้าคริสตจักรมีสมาชิก 100 คน ก็เป็นไปได้ว่าอาจพบคนที่มีอาการซึมเศร้า หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าปะปนอยู่ในกลุ่มพี่น้องของเราถึง 4-5 คน หรือพูดอีกอย่าง อาจมีพี่น้องในคริสตจักร 4-5 คนที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้

คำถามสำคัญก็คือ หากเรามีคนใกล้ตัวที่เป็นโรคนี้ เรารู้แนวทางช่วยเหลือพวกเขาแบบถูกวิธีหรือไม่ หรือทำยังไงที่คำพูดและการแสดงออกของเราจะช่วยประคองความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ไว้จนนำไปสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกต้อง

สำหรับบทความนี้ ChristLike ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘คุณเป้ง’ จุลนภ ชมัฒพงษ์อดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ผ่านความรู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่า ไร้ความหมาย ไม่มีความหวังจะอยู่ต่อในโลกใบนี้ จนครั้งหนึ่งเคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตายมาแล้ว อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของสาเหตุที่ป่วยเป็นโรคนี้ และพระเจ้าช่วยเขาผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้อย่างไร รวมถึงให้ข้อคิดในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

โรคซึมเศร้า พันธุกรรม หรือการถูกกระตุ้น

คุณเป้งได้เล่าชีวิตก่อนการเป็นโรคซึมเศร้าให้ฟังว่า

ก่อนหน้านี้ปกติก็เป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแบ่งปันความรู้สึกหรือประเด็นส่วนตัวให้ใครฟัง และคิดว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง ในด้านชีวิตส่วนตัวก็เติบโตมากับครอบครัวที่ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ได้มีปัญหาอยู่ง่ายกินง่าย มีเพื่อนฝูงทั่วไป ครอบครัวก็ไม่มีใครมีประวัติเป็นโรคนี้ ไม่มีสัญญาณอะไรเลยว่าจะเป็นโรคนี้

ซึ่งโดยพื้นฐานของโรคนี้ถ้าได้มีโอกาสไปปรึกษาแพทย์หมอก็จะซักประวัติ เพื่อดูว่าเราเข้าเกณฑ์ในการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เช่นประวัติครอบครัว สุขภาพทั่วไป หรือเหตุการกระตุ้นเร้าที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ ฯลฯ

สาเหตุของการเป็นโรคนี้เกิดจากอะไร

ขอย้อนกลับไปถึงชีวิตก่อนที่จะรู้จักกับพระเจ้า เป็นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ จนกระทั่งมารู้จักพระเจ้าและได้มีส่วนรับใช้ในคริสตจักร

มาภายหลังค้นพบว่า จากนิสัยตัวเองที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ทำให้เรามองเห็นความผิดพลาดและข้อบกพร่องของทั้งตัวเองและผู้อื่นง่ายมาก จึงก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย และมันค่อยสะสมทีละนิดๆ จนก่อตัวอยู่ในจิตใจเป็นระยะเวลายาวนาน ที่สำคัญคือ เราไม่ค่อยเปิดเผยความรู้สึกนี้ให้ใครรับรู้ ชอบเก็บไว้คนเดียว ไม่ปลดปล่อย เลือกที่จะไม่คุยกับใคร ไม่ต้องการแบ่งปันความอ่อนแอให้ใครฟัง บวกกับผิดหวังในความรักอีกด้วย ยิ่งส่งเสริมให้อาการเครียดก่อตัวเร็วขึ้น เกิดอาการเหนื่อยล้าภายใน

เริ่มรู้สึกตัวว่าอาการแบบนี้ไม่ปกติแล้ว เริ่มนอนไม่หลับติดกันหลายวัน จนท้ายที่สุดตัดสินใจไปปรึกษาแพทย์ด้วยตัวเอง ตอนนั้นหมอบอกว่า มีภาวะซึมเศร้า หากพ้นระยะนี้ไปแล้วเข้าสู่การเป็นโรคซึมเศร้าก็มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้

ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ‘โรคซึมเศร้า’ อาจไม่ได้เป็นกระแสเหมือนในปัจจุบันความเข้าใจว่าการไปปรึกษาแพทย์ในเรื่องนี้ดูเป็นสิ่งที่น่าอาย ไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ หากรู้สึกว่ามีภาวะเสี่ยงแล้วรีบดูแลก็สามารถจะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติหรือหายได้

บางคนที่อ่านถึงตอนนี้ หากรู้สึกไม่แน่ใจว่าตัวเองดูมีหลายๆ อย่างที่เข้าข่ายเหมือนจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หากสงสัยว่าตัวเองจะเป็นหรือเปล่า ลองไปทำแบบสอบถามนี้ดูครับ หรือหากไม่แน่ใจจริงๆ การเดินเข้าไปปรึกษาแพทย์น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า https://med.mahidol.ac.th/infographics/76

จริงๆ แล้วอาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่างๆ มากมาย แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไรเพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น

รู้สึกไม่มีใครเห็นคุณค่าของเรา แม้กระทั่งตัวเราเอง

อาการที่เกิดขึ้นต่อมา หลังจากสะสมความเครียดมาเป็นระยะเวลายาวนานนั่นก็คือ การรู้ว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่มีใครมองเห็นคุณค่าในชีวิตของเรา ไม่มีเรา โลกนี้ก็ยังหมุนต่อไปได้ แม้ว่าเราทำดีไปเท่าไรก็ไม่มีใครมองเห็น ถ้าเราหายไปก็คงไม่มีใครเห็นเช่นกัน นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่วนเวียนอยู่ในความคิดตลอดเวลาในช่วงนั้น

ปกติเวลาไปโบสถ์แล้วจะมีคนที่เราเคยนั่งด้วยเป็นประจำ แต่ถ้าวันนั้นไม่เห็นเขามานั่งใกล้เรา แค่นี้ก็สามารถทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าขึ้นมาเลย ร้องไห้เสียน้ำตาได้เลย เราคิดว่าเขาไม่เห็นคุณค่าเรา เขาไม่เหมือนเดิม เขาเปลี่ยนไป

ทุกคนอยากมีตัวตน อยากให้คนรอบตัวเห็นคุณค่า ต้องการการยอมรับ ต้องการคนสักคนนึงมองเห็นคุณค่าของเรา แต่คนที่เป็นโรคนี้จะมองว่าไม่มีใครเห็นคุณค่าของเราเลย แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ยังไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งอาการ ‘ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง’ นี้ก็คืออาการของโรคนี้ เหมือนกับคนเป็นหวัดก็ต้องไอ จาม น้ำมูกไหล เป็นธรรมดา

เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทำร้ายตัวเอง

ก่อนเข้าสู่กระบวนการที่ได้ชื่อว่าเป็นโรคซึมเศร้าอย่างเต็มรูปแบบ จะมีภาวะของอาการที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมีความคิดแบบนี้อยู่ในสมองเลย นั่นก็คือ ต้องการทำร้ายตัวเอง คิดซ้ำๆ กับตัวเองว่าตนไม่มีคุณค่า ไม่มีใครเห็นคุณค่าในตัวเรา ไม่อยากอยู่ในโลก และสิ่งแรกที่ทำก็คือ การเอาไม้กวาด และไม้แขวนเสื้อมาฟาดร่างกายให้เกิดความเจ็บปวดและบอบช้ำ หรือเผลอคิดในใจว่าอยากเอามีดมากรีดแขนตัวเอง

ระหว่างนี้ก็เริ่มกินยาที่หมอให้มา ผลของยาก็จะมีอาการมึนๆ รู้สึกอยากนอน ในตอนที่เป็นโรคนี้นั้น มักจะนอนไม่หลับ เพราะคิดวนๆ แต่เรื่องเดิมๆ ไม่หยุด แม้หลับได้เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะคิดเรื่องเดิมต่อ มันเศร้าแบบบอกไม่ถูก บางครั้งเห็นคนอื่นเขาหัวเราะกัน แต่เรากลับร้องไห้ เพียงเพราะรู้สึกว่าทำไมเราไม่มีความสุขเหมือนคนอื่นๆ เขาบ้าง

ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นโรคนี้ และจะไม่บอกให้ใครรู้ด้วยว่าเราเป็น แต่สุดท้ายภายหลังคนอื่นมารู้เพราะว่าเราหายหน้าไป พี่น้องในโบสถ์ก็มาตามเรา

รับฟัง สำคัญกว่า ชี้แนะ

สิ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้าต้องการมากที่สุดก็คือ เพื่อน ต้องการมีคนสักคนที่รู้สึกว่าเข้าใจเขา ดังนั้น การมีคนคุย มีคนอยู่เป็นเพื่อน ที่เข้าใจจะช่วยได้มาก แต่ท้ายที่สุดแม้รู้สึกว่าจะได้รับความใส่ใจมากขึ้น แต่ก็ยังรู้สึกไม่พอ

ในช่วงที่เราต้องเผชิญกับโรคนี้นั้น เราจะรู้สึก Sensitive ไปหมดทุกอย่าง Sensitive ไปกับคำพูดของคนอื่นๆ ซึ่งตัวอย่างคำพูดที่เราไม่คิดว่าเป็นปัญหา ก็เป็นปัญหา เช่น คำว่า “สู้ๆ” รู้นะว่าคนตรงหน้ากำลังให่กำลังใจ แต่มันคิดไปว่าเขาก็ไม่เข้าใจและผลักเราออกไปให้สู้คนเดียว

คือ คนเป็นโรคนี้จะรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่แล้ว การที่เขามาคุยกับเราหรือมาหาเรา ก็เพียงเพราะต้องการเพื่อนที่จะร่วมเดินไปด้วยกัน ซึ่งคำพูดแบบนี้ มันทำให้เขาเข้าใจว่า เราพยายามจะผลักเขาออกไปจากเราเพื่อให้ไปเผชิญความโดดเดี่ยวเหมือนเดิม คำพูดที่ดีกว่าอาจเป็น เช่น เป็นกำลังใจให้นะ ซึ่งจะช่วยเขาได้มากกว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกอย่างคือ อย่าไปรับปากด้วยคำสัญญาใดๆ นะ เพราะถ้าเราสัญญาไปแล้ว เราไม่สามารถทำตามนั้นได้ สิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำร้ายเขา และตอกย้ำเขามากขึ้นไปอีก เช่น “เราจะอยู่เคียงข้างเธอนะ” ถ้าวันใดเขาพบปัญหาแล้วต้องการคุยกับเรา แต่ติดต่อเราไม่ได้ จะเปิดช่องให้เขาจะคิดไปเองว่าเราไม่ทำตามที่พูด เราไม่เห็นอยู่เคียงข้างเขาเลย หรือรู้สึกว่าถูกปฏิเสธเหมือนเคย

กินยา 40 เม็ดเพื่อให้หลับไปไม่ต้องตื่นมาอีกเลย

ปกติแพทย์สั่งทานยา 2-3 เม็ดต่อครั้ง แต่วันนั้นความรู้สึกที่มีก็คือ มียาเท่าไรกินให้หมด จำได้ว่ามีอยู่ในมือ 40 เม็ดก็ทานไปหมดเลยในครั้งเดียว นอนหลับไป 48 ชั่วโมง มารู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อมีคนมาเคาะประตูอยู่นานมากถึงจะตื่น ตอนนั้นไม่ได้อยากตายนะ แต่หลับแบบไม่ต้องตื่นอีก ไม่อยากตื่นขึ้นมารับรู้อะไรอีก

ได้รับกำลังจากพระเจ้า และตัดสินใจเดินหน้าออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จนเริ่มดีขึ้น

ตอนนั้น เราคิดไปว่าในเมื่อไม่มีใครเห็นคุณค่าชีวิตเรา เราก็เห็นคุณค่าตัวเองมันซะเลย ใช้เวลา 1 ปีเต็ม กับการแสวงหาพระเจ้าอย่างจริงจัง และต่อสู้กับความรู้สึกลบของตัวเอง ลุกขึ้นจากความเศร้าหมอง ออกจากชุมชนเดิมๆ เปลี่ยนเพื่อนใหม่ เปลี่ยนสังคมใหม่ เปลี่ยนอยู่ที่ใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ ทิ้งสิ่งเดิมแบบโดยไม่เสียดาย (ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก)

ต้องบอกเลยว่าเวลานั้นจำได้เลยว่าใช้พลังงานหนักมากจริงๆ ในการต่อสู้ แต่ปรับความคิดใหม่ ปรับโฟกัสใหม่ หันมามองที่พระเจ้า หันมาดูแลตัวเองจริงจัง ซึ่งรู้เลยว่าสิ่งเหล่านี้มาจากการแสวงหาพระเจ้าอย่างจริงจัง ทำให้เราเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น ปรับตัวได้ และอาการของโรคนี้ก็เริ่มจางหายไป และดีขึ้นเป็นลำดับ จนไม่ต้องทานยาอีกต่อไป

ต้องการอยู่เพื่อเป็นพรกับคนที่เป็นโรคนี้ อยากมีส่วนทำให้พวกเขาดีขึ้น

จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาได้ เราเลยตั้งใจอยากมีส่วนในการประคับประคองคนกลุ่มนี้ได้บ้าง เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะมารักษาทำให้ใครๆ หายจากโรคนี้ได้ แต่เราจดจำความรู้สึกตอนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ โลกมันมืด หมดหวัง ไร้ทางออก เหมือนกับคนกำลังจมน้ำอยู่ ใกล้จะหมดลมหายใจ ขอเพียงได้พ้นออกมาเหนือน้ำแล้วสูดลมหายใจก็เพียงพอแล้ว เราจำความรู้สึกเหล่านั้นได้ดี เลยมีความตั้งใจอยากใช้ประสบการณ์ และความเข้าใจที่มีของเราทำพันธกิจช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ อยากมีส่วนในชีวิตของคนๆ นึง เพื่อส่งต่อความเข้าใจ และการช่วยเหลือประคับประคองต่อๆ ไป

สิ่งที่เราต้องระลึกเสมอก่อนให้คำปรึกษาคนที่ก้าวมาหาเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม หรือแม้จะทำอะไรผิดมามากแค่ไหน ความจริงก็คือเราต้องมองให้ออกว่า “ทุกชีวิตมีคุณค่าเสมอ เพราะเขาถูกสร้างจากพระฉายของพระเจ้า” เราไม่ได้เห็นชอบกับความผิดของเขา แต่เริ่มต้นเราต้องมองเขาอย่างเข้าใจ เราต้องให้โอกาสคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องพร้อมที่จะให้อภัย และการเริ่มต้นใหม่เสมอ สิ่งนี้ทำให้เรามองเห็นคุณค่าของคนมากขึ้น รู้สึกได้ทำประโยชน์ และมีส่วนช่วยให้คนๆ หนึ่งดีขึ้น

มันไม่มีประโยชน์เลยกับการมานั่งกังวลกับอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ถ้าเราตั้งใจทำแต่ละวินาทีต่อไปให้ดีที่สุด พอมองย้อนกลับมาเราจะไม่นึกเสียดายเลย

พระเจ้าทอดพระเนตรสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้ ดูสิ ทรงเห็นว่าดียิ่งนัก… ปฐมกาล 1:31

นี่คือข้อพระคัมภีร์ประจำใจที่ยึดไว้ตลอด เราถูกสร้างมาอย่างดี สมบูรณ์แบบ พระเจ้าไม่ผิดพลาด ไม่มีใครทำร้ายเรา นอกจากตัวเราเองที่มองตัวเองด้อยค่า ดังนั้นข้อนี้ช่วยตอกย้ำให้เรามั่นใจในพระเจ้าผู้ทรงเห็นคุณค่าเราจริงๆ

DO & DON’T กับคนที่เป็นโรคนี้

นี่เป็นคำแนะนำจากประสบการณ์จริงที่คุณเป้งบอกว่าสำคัญมากเวลาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ สิ่งที่ควรทำ/ไม่ควรทำ สิ่งที่ควรพูด/ไม่ควรพูด ถือเป็นข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์กับเราโดยเฉพาะเมื่อเราต้องอยู่ใกล้ชิดพวกเขา

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • อย่าทำกับเขาเหมือนเขาเป็นตัวประหลาด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงท่าทางกิริยา คำพูด และการแสดงออกอื่นๆ ซึ่งเขาจะไวมากกับความรู้สึกแบบนี้ เขาจะรู้สึกยิ่งโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก
  • เมื่อเขามาเล่าเรื่องบางเรื่องให้ฟัง อย่าไปคิดว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องเล็กสำหรับเขา เพราะสำหรับเขาแล้วการเล่าให้ฟังคือเขาไว้ใจเรา เขาคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา อย่าไปใช้คำพูดว่าไม่เป็นไร เรื่องแค่นี้เอง เดี๋ยวก็หาย
  • อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น คำว่าสู้ๆนะบางครั้งอาจจะทำร้ายเขาได้อย่างรุนแรง เพราะเหมือนกับว่าเราส่งเขาไปสู้ โดยเราไม่ได้ไปกับเขา ซึ่งในความรู้สึกตอนนั้นเขาหมดเรี่ยวแรงจะต่อสู้แล้ว เขาต้องการกำลังใจ ให้เราฟังเขา แบกรับความรู้สึกร่วมไปกับเขาเท่านั้นเอง
  • อย่าไปรับปากเขาแล้วเราไม่สามารถทำได้ เช่นเราจะอยู่เคียงข้างเธอนะซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถอยู่เคียงข้างกันไปตลอด ในวันที่เราไม่สามารถรับสายโทรศัพท์ หรือติดธุระไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้แล้ว จะยิ่งทำให้เขาหมดหวัง

สิ่งที่ควรทำ

  • ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า มีตัวตน อย่าให้คุณค่าตัวเองมาจากสายตาของคนอื่น
  • รับฟัง ให้กำลังใจ ช่วยเป็นพื้นที่ในการระบายความรู้สึก
  • ควรแนะนำให้เข้าสู่กระบวนการการรักษาของแพทย์ ถ้าจำเป็นต้องกินยาก็ต้องกิน
  • เราปฏิเสธเขาได้นะ ถ้าเราไม่พร้อม

CHRISTLKE ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับโรคนี้อยู่ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนป่วยหรือต้องใกล้ชิดคนป่วยก็ตาม ขอให้มั่นใจว่าเราทุกล้วนมีคุณค่าในสายพระเนตรพระเจ้า การมีมุมมองแบบนี้ต่อชีวิตผู้คนจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและคนอื่นได้มากขึ้น และมีส่วนช่วยเหลือคนอื่นได้ดีขึ้น

ขอพระเจ้าอวยพระพร

อ้างอิง

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียง :  MS.PROMISE
ภาพ:  MS.PROMISE

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง