เมื่อเราพูดถึงการศึกษาไทย บางทีเราอาจไม่อยากย่างกรายเข้าไปเฉียดกับการแก้ปัญหาที่พันยุ่งไปหมด แต่ท่ามกลางความชุลมุนของการศึกษา สิ่งที่คนไทย (รวมทั้งคริสเตียนไทย) เผชิญอยู่ ณ เวลานี้คือนักเรียนไทยติดอันดับชั่วโมงเรียนสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเซียอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น แต่ผลการศึกษาของไทยในเวทีโลกกลับล้าหลังลงไปทุกวันๆ
Programme for International Student Assessment (PISA) report ปี 2018 ได้สรุปผลการการจัดอันดับประสิทธิภาพการศึกษาของเยาวชนโดยจัดสอบทุกๆ 3 ปีให้แก่นักเรียนอายุ 15 ปี จาก 70 ประเทศทั่วโลกใน 3 วิชา คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ประเทศไทยได้คะแนนคณิตศาสตร์อยู่กลุ่มประเทศระดับ 1 (สูงสุดคือระดับ 4) วิทยาศาสตร์อยู่ในประเทศระดับ 2 และการอ่านอยู่ในกลุ่มประเทศระดับ 1
ทางสถาบัน Pearson Plc สถาบันจัดอันดับการศึกษาระดับโลก ในปี 2018 ได้จัดอันดับการศึกษาไทยอยู่ที่อันดับ 37 จาก 40 ประเทศ ซึ่งอันดับการศึกษาของไทยถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย และยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นแต่อย่างใด
ทัศนะการศึกษาที่เราคุ้นเคย
ผมได้มีโอกาสคุยกับครูต่างชาติท่านหนึ่งเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย ต้องบอกก่อนว่าคุณครูท่านนี้ได้ตั้งรกรากอยู่เมืองไทย รักเมืองไทย และเป็นผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในประเทศไทยด้วย ครูชาวตะวันตกท่านนี้กล่าวว่าเขาแปลกใจกับวิธีเรียนของนักเรียนในประเทศไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กหรือโรงเรียนใหญ่ คือเรียนหนัก หลายชั่วโมง ต้องเข้าชั้นเรียนพิเศษในวันเสาร์และอาทิตย์ด้วย ซึ่งดูเหมือนน่าจะดี แต่ผลปลายทางที่เขาเห็นคือไม่มีใครเคยได้รางวัลโนเบลเลย โอ้ เป็นการลากไอเดียทั้งหมดมาที่รางวัลโนเบล จากข้อสรุปของการสนทนาร่วมกันเกี่ยวกับการศึกษาเราพบความจริงบางอย่างในวิธีการเรียนของการศึกษาแบบไทยคือจะเน้นเพื่อให้สามารถสอบได้มากกว่าความสามารถในการคิด แต่ขาดการตั้งคำถามและเข้าใจวิธีหาคำตอบอย่างเป็นระบบ สุดท้ายความรู้ที่มีก็เชื่อมโยงกับชีวิตจริงไม่ค่อยได้ ความเห็นนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี (2561) และสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน (2561)
ในระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์และเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศที่การศึกษาที่ดีที่สุดในอันดับต้นๆ ของโลกนั้น ครูจะเน้นการตั้งคำถาม สอนวิธีคิด สร้างความรับผิดชอบ รวมไปถึงการสอบในลักษณะเดี่ยวและกลุ่ม เพราะเมื่อนักเรียนนักศึกษาจบไปจะต้องเข้าใจการทำงานเป็นทีมในที่ทำงานจริงของเขา ประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งอยู่ในแถวหน้าของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก จีน เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ ต่างให้ความสำคัญกับการศึกษา การพัฒนาคน และที่สำคัญประเทศเหล่านั้นมีอันดับการศึกษาอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกควบคู่ไปด้วย
ผมคิดว่าถ้าเราเรียนเพื่อวุฒิ เกรด การแข่งขัน จนกระทั่งสอบผ่านได้คะแนนดี แต่พอนอกห้องเรียนกลายเป็นคนไม่มีทักษะในการเอาตัวรอดอย่างเพียงพอ ในที่สุดสังคมและชาติจะพัฒนาไปยากเพราะขาดทักษะที่จำเป็นในการต่อยอดความรู้ขึ้นไปแข่งอยู่บนเวทีโลก
มากไปกว่านั้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเรียนของนักเรียนไทยมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมากระหว่างนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาปกติ กับนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษานอกระบบหรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ หมายถึงความสามารถในการจ่ายค่าเรียนพิเศษ การเข้าสู่โรงเรียนเอกชนราคาแพง หรือโรงเรียนนานาชาติ เป็นต้น การออกจากระบบเดิมๆ ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลที่อาจเกินกำลังของคนทั่วไปที่จะสามารถจัดหาได้
คำถามที่น่าสนใจคือ วิธีการศึกษาพระคัมภีร์ของคริสเตียนทั้งในคริสตจักรและสถาบันพระคัมภีร์ต่างๆ เรากำลังเลียนแบบการศึกษาไทยหรือเปล่า? หรือการที่เราเป็นคนที่อยู่ในระบบการศึกษาลักษณะนี้จนคุ้นชินแบบไทยทำให้เราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร?
ทักษะการศึกษาในศตวรรษที่ 21
เจมส์ เบลลันกา (James Bellanca) และ รอน แบรนต์ (Ron Brandt) (2010) ได้นำเสนอทักษะการศึกษาเพื่อความพร้อมในศตวรรษที่ 21 ไว้อย่างน่าสนใจ 4 ประการคือ
ความรู้ในลักษณะสหวิทยาการและความเชี่ยวชาญเจาะจง
หมายถึงการรู้กว้างและรู้ลึกไปพร้อมๆ กัน ในมุมกว้างคือความรู้ที่ฉกฉวยได้จากความสนใจ การอยากรู้อยากเห็น การอ่านหนังสือ การค้นหาข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบ ส่วนการรู้เชิงลึกคือความเชี่ยวชาญที่เป็นตัวเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นจากอาชีพ ความถนัด หรือการศึกษา ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่เป็นนักตั้งคำถามอย่างถ่อมใจ อยากรู้อยากเห็นเพื่อจะเพิ่มความเข้าใจ แต่สิ่งที่อันตรายคือท่าทีที่แข่งขัน เอาชนะ หรือเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองคิดถูกโดยที่ไม่มีข้อมูลอะไรที่หนักแน่นเพียงพอ สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อการเรียนรู้ของเรา
การสังเคราะห์สิ่งยากให้ง่าย
เป็นการสกัดสิ่งที่ยากออกมาเป็นประเด็นที่กระชับชัดเจนง่ายที่จะทำความเข้าใจเป็นอย่างดี ความสามารถในการสังเคราะห์สิ่งที่ยากให้ง่ายพบได้ในยุคนี้เช่น การเขียน Twitter ที่มีการจำกัดจำนวนคำ TikTok ที่เป็นคลิปสั้นที่ต้องสื่อสารให้รู้เรื่องในเวลาสั้นๆ Infographic แผนภาพที่สรุปความคิดมากมาย เป็นต้น
ความรู้พื้นฐาน ICT (Information Communication Technology)
ความรู้มากมายอัดแน่นในโลกอินเตอร์เน็ต ทักษะพื้นฐานที่คนยุคใหม่คุ้นเคยคือการรู้จักใช้เครื่องมือลักษณะนี้ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ความเข้าใจระบบการดิจิตัลที่ทดแทนวิถีชีวิตทั่วไป การจ่ายโอนเงินออนไลน์ โลกของคริปโต (Crypto Currency) ความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ประเภท IoT (Internet of Things)
มากไปกว่านั้นความรู้เท่าทันเทคโนโลยีในโลกดิจิตัล หรือ Digital Literacy เป็นทักษะที่จำเป็น ทำให้เราเข้าใจวิธีคิดของปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) อัลกอริทึม (Algorithm) ซึ่งเป็นกระบวนคิดหรือระเบียบบางอย่าง เพื่อให้เกิดการตัดสินใจเมื่อเจอสถานการณ์ที่เข้ามาตามแผนที่วางไว้อย่างอัตโนมัติโดยใช้การเขียนโปรแกรมรองรับ โลกยุคใหม่จะหลีกเลี่ยงความรู้ความเข้าใจเรื่องลักษณะนี้ไม่ได้
ทักษะชีวิต
เมื่อความรู้ไม่ยากที่จะหา คนที่ลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมจึงสำคัญ ทักษะชีวิตจะเป็นส่วนสับสนุนให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในโลกศตวรรษที่ 21 เช่น ความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม การรู้จักเห็นอกเห็นใจกัน (Empathy) เป็นต้น ขณะที่ผู้คนก้มหน้าก้มตามีทักษะ ICT ดี คนที่มีทักษะชีวิตแบบรอบทิศจะลุกขึ้นมานำผู้อื่น
สิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้แห่งอนาคต
การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ไม่ใช่เพียงแค่ความตระหนักรู้ส่วนตัวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วย
ถ้ามองจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรประเทศ เราจะพบองค์ประกอบที่สำคัญรวมกันเรียกว่าสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการการศึกษาซึ่งได้แก่
- ห้องเรียนที่เน้นสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
- สิ่งแวดล้อมของโรงเรียน ครู เพื่อนนักเรียน สิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) ต่างๆ
- ค่านิยมที่เปิดกว้างจากครอบครัว
- ห้องสมุดสาธารณะที่ทันสมัย
- ศูนย์กลางการนั่งทำงานร่วมกัน (Co-working space)
- พิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์และร่วมสมัย
- การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ของคนในประเทศ
- แหล่งทรัพยากรในชุมชน เช่น การอนุญาตให้เข้าถึงสื่อการเรียนรู้จากส่วนกลาง จังหวัด ตำบล หรือชุมชนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การให้ทุนวิจัยต่างๆ จากส่วนกลาง เป็นต้น
- การกำหนดมาตรฐานการศึกษาและระบบการรับรองวิทยฐานะทางการศึกษา (Accreditation)
- การเปิดกว้างและการให้โอกาสเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ
- นโยบายการเมืองที่กำหนดนโยบายและทิศทางการเรียนรู้ของคนในประเทศ เช่น การกำหนดงบประมาณเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา การกำหนดทิศทางการศึกษา ประเทศสิงค์โปร์หนึ่งในประเทศผู้นำในด้านการศึกษาโลก กล้าตัดสินใจโดยนำทฤษฎี “ภาคีการศึกษาโลกในศตวรรษ 21” มาประยุกต์ จนเป็นวิสัยทัศน์ “สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น” เป็นต้น
เราจะพบว่าประเทศที่เจริญแล้วจะสนใจในเรื่องเหล่านี้ แต่สำหรับประเทศไทย จะเห็นการพัฒนาเป็นจุดๆ ยังไม่พบการประสานงานแบบบูรณาการ (Integration) ในทุกภาคส่วนอย่างมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน
ความท้าทายของการศึกษาของคริสเตียนไทย
คริสเตียนสามารถเรียนรู้แนวคิดการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 แล้วปรับใช้ให้มากที่สุด เร็วที่สุด ไม่ต้องรอเพราะแนวทางการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยมักเป็นนวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไปรวมทั้งในคริสตจักรและสถาบันพระคริสตธรรมด้วย ปัญหาที่คริสเตียนไทยพบจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นปัญหาเดียวกันกับการศึกษาระดับประเทศ เราพบว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของสถาบันพระคริสตธรรมบางแห่งที่สามารถถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาของไทยได้ ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งนี้ก็เป็นตัวช่วยส่วนหนึ่ง เพราะอย่างน้อยวุฒิการศึกษาทางศาสนศาสตร์จะได้รับการยอมรับให้เทียบเท่ากับวุฒิปริญญาตรี โท หรือเอก ของมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่การเรียนรู้และการออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้ได้ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ย่อมสำคัญกว่า
อย่างไรก็ดี คริสเตียนต้องกล้าตั้งคำถามที่สร้างสรรค์ (Constructive Questions) และช่วยกันหาคำตอบ โดยถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในทั้งพระวรกาย เช่น
- การเทศนาในคริสตจักรทุกสัปดาห์เป็นการออกแบบการเรียนรู้แบบทางเดียว ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ได้น้อยกว่า 5% เราจะสามารถเปลี่ยนวิธีได้ไหมโดยไม่ย่ำอยู่กับวัฒนธรรม?
- การเรียนรวี เป็นเรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ไม่ต้องเรียน แล้วผู้ใหญ่เรียนอะไร ทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่ได้เรียนพระคัมภีร์?
- ทำไมหนังสือคริสเตียนถึงขายยาก เป็นเพราะคริสเตียนส่วนใหญ่ไม่อ่านหนังสือหรือเปล่า คริสตจักรจะสร้างระบบหรือค่านิยมรักการอ่านได้อย่างไร? ผมคิดไปถึงพระคัมภีร์ที่เรามีกันทุกคนไม่ว่าจะเป็นเล่มกระดาษหรือ Application ในมือถือ เราอ่านจบทั้งหมด 66 เล่มกันหรือยัง?
- สถาบันพระคริสตธรรมไทยปัจจุบันสร้างความน่าเชื่อถือแก่คริสตจักรและคริสเตียนไทยในระดับไหน? ปัจจุบันมีสถาบันพระคริสตธรรมไทยเพียง 3 แห่งที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะทางศาสนศาสตร์จาก The Association for Theological Education in Southeast Asia (ATESEA) และ Asian Theological Association (ATA) การสร้างความน่าเชื่อถือไม่ใช่การใส่ครุย มีวุฒิบัตร หรือภาพถ่ายปริญญาเท่านั้น เพราะวุฒิบัตรไม่มีประโยชน์เลยหากไม่มีการรับรองวิทยฐานะ และแม้จะจบสถาบันที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ ศักดิ์และศรีของความรู้ที่เรียนมาได้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับคริสตจักรและสังคมคริสเตียนอย่างไร?
- และที่สำคัญที่สุด สถาบันพระคริสตธรรมมีหนังสือ สื่อการเรียนรู้ รูปแบบการสอน หรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้อื่นๆ ให้ทันสมัยรองรับและสร้างทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างไร?
คำถามเหล่านี้คริสเตียนทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ ผมเชื่อว่าหากคริสตจักรและสถาบันพระคัมภีร์ไทยปรับใช้ระบบการเรียนรู้แบบใหม่โดยไม่เอาระบบการศึกษาแบบไทยๆ มาเป็นเป้าหมายในอุดมคติ เราจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางความคิดของคริสเตียนไทยให้ฉลาดล้ำทัดเทียมกับประเทศแถวหน้าทางการศึกษาได้อย่างแน่นอน เป็นความท้าทายที่ผมขอส่งมอบต่อให้ผู้อ่านทุกท่านครับ
อ้างอิง:
- เจมส์ เบลลันกา (James Bellanca) และ รอน แบรนต์ (Ron Brandt). (2010). ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Bookscape.
- สิทธิสมาน, สรวงมณฑ์. (2561) ชั่วโมงเรียน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวน-อยู่ที่คุณภาพ. [ออนไลน์]. แหล่งข้อมูล: https://goo.gl/E8M71i.
- ทรีปาตี, สุริยเดว (2561). เด็กไทยในยุค 4.0. [ออนไลน์]. แหล่งข้อมูล: https://goo.gl/h1eNZU.
- National Training Laboratories at Bethel (2017). The Learning Pyramid.
- PISA. (2018). PISA 2018: Insights and Interpretations. OECD.
- Trilling, Bernie, and Fadel, Charles. 21st Century Skills: Learning for Life in Our Times. CA: Jossey-Bass A Wiley Imprint, 2009.
บทความ: ดร.กนก ลีฬหเกรียงไกร
ออกแบบ: Nantharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น