บทความ

ทำไมคำว่า “พระเจ้าอวยพร” ถึงเป็นคำฮิตของคริสเตียน

ขอพระเจ้าอวยพร

มีคำถามจากนักศึกษาออนไลน์ของสถาบัน Faith Bible Institute ถามเข้ามาว่า… “คำถามเกี่ยวกับการอวยพรของคริสเตียนที่เราใช้กันทุกวันนี้ เช่นคำว่า ขอพระเจ้าอวยพร ซึ่งไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ และเราใช้กันจนติดปาก จนกลายเป็นธรรมเนียม

มีคริสเตียนบางกลุ่มมีทัศนะเห็นว่า ไม่ควรใช้ โดยอ้างอิงเอเฟซัส 1:13 ว่าพระเจ้าได้ทรงอวยพรเราทุกประการแล้วในพระคริสต์ และสาวกก็ไม่ได้ใช้คำนี้ในการทักทาย อำลากัน เหมือนในปัจจุบัน อยากถามว่าอาจารย์มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ?”


ก่อนอื่นต้องบอกว่าการอวยพรกันเป็นวัฒนธรรมของคนทุกชาติ ก่อนมาเป็นคริสเตียน เราอวยพรกันว่า “โชคดี” หรือ “ขอคุณพระคุณเจ้าปกป้องคุ้มครอง” แต่เมื่อมาเป็นคริสเตียนแล้ว เรารู้ว่าของประทานที่ดีนั้นจะมาจากพระเจ้าเท่านั้น เราจึงอวยพรเขาให้ได้รับพระพรจากพระเจ้า

ในเรื่องการอวยพรของคริสเตียนนั้น คำว่า “พระเจ้าอวยพร” ที่เราใช้ๆ กันจนติดปากนั้น ที่จริงเป็นคำของพระคัมภีร์ ต้นตอจริงๆ ของคำนี้มาจาก กันดารวิถี 6:24 “ขอพระเจ้าทรงอำนวยพระพรแก่ท่าน” คำนี้ถูกใช้ทั้งในคำกล่าวเชิงการยืนยันถึงการอวยพรของพระเจ้า และในการกล่าวอวยพรคนอื่นโดยขอให้พระเจ้าอวยพรเขา (นรธ. 2:4, 20; 3:10; 1 ซมอ. 23:21 เป็นต้น)

ทีนี้เมื่อมีบางกลุ่มสอนว่าเราไม่ต้องพูดคำว่า “พระเจ้าอวยพร” เพราะพระเจ้าอวยพรเราอยู่แล้ว โดยอ้างอิงเอเฟซัส 1:3 และพวกสาวกก็ไม่เคยใช้คำนี้ในการทักทายหรือการอำลากัน การอ้างพระคัมภีร์ในลักษณะนี้เป็นวิธีการที่เรียกว่า Proof texting คือ การเอาพระคัมภีร์ที่มีข้อความหรือคำที่เราต้องการมาสนับสนุนศาสนศาสตร์หรือคำสอนของเรา โดยไม่สนใจบริบทและละเลยภาพรวมของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ซึ่งมีคนไม่น้อยที่นิยมทำแบบนี้จนก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อพระวจนะของพระเจ้า

เพราะถ้าบอกว่าสาวกไม่เคยพูดว่าพระเจ้าอวยพรเมื่อพบกันหรือเมื่อลาจากกัน โดยเฉพาะในพระคัมภีร์ใหม่ เราจะพูดอย่างไรกับข้อความนี้ซึ่งเป็นคำพูดก่อนจากลากัน

ขอพระเจ้าแห่งสันติสุข ผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้าของเราเป็นขึ้นมาจากความตาย คือผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีเลิศ โดยโลหิตแห่งพันธสัญญานิรันดร์นั้น ทรงกระทำให้ท่านทั้งหลายมีทุกสิ่งที่ดี เพื่อจะได้ปฏิบัติตามพระทัยพระองค์ และทรงทำงานในท่านทั้งหลาย ให้เกิดผลเป็นที่ชอบในสายพระเนตรของพระองค์ โดยพระเยซูคริสต์ ขอพระสิริจงมีแด่พระองค์สืบๆ ไปเป็นนิตย์ อาเมน (ฮีบรู 13:20-21)

ขอพระเจ้าแห่งสันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด อาเมน (โรม 15:33)

ขอให้องค์พระเจ้าแห่งสันติสุขทรงให้ท่านเป็นคนบริสุทธิ์หมดจด และทรงรักษาทั้งวิญญาณ จิตใจและร่างกายของท่านไว้ให้ปราศจากการติเตียน จนถึงวันที่พระเยซูคริสตเจ้าของเราเสด็จมา (1 เธสะโลนิกา 5:23)

พระคัมภีร์ 2-3 ตอนที่กล่าวไปข้างต้นเป็นคำอวยพร ซึ่งพระพรนี้จะเป็นมาจากพระเจ้าเท่านั้น แม้จะไม่มีคำว่า “พระเจ้าอวยพร” ตรงๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าภายใต้คำนี้ก็หมายถึง การแสดงความปรารถนาดีและเป็นการทูลขอต่อพระเจ้าให้ทรงอวยพรคนนั้นๆ

อาจารย์เปาโลไม่ได้รู้สึกว่าก็ในเมื่อเราได้รับพระพรจากพระเจ้าแล้ว (ตามเอเฟซัส 1:3 ซึ่งท่านเป็นคนเขียนเอง) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอวยพรกันอีกเลย แต่เรากลับพบว่าท่านอวยพรพี่น้องคริสเตียนบ่อยๆ ในจดหมายฝากทุกฉบับท่านกล่าวคำอวยพรผู้อ่านของท่าน

อันที่จริงเมื่อสาวกพบกันหรือลาจากกัน พวกเขาจะพูดคำว่า “ชาโลม” แปลตรงๆ คือ สันติสุขและสันติภาพ (Peace) ซึ่งก็คือการกล่าวคำอวยพรกัน และภายใต้คำว่า “ชาโลม” ก็หมายรวมถึงสิ่งดี ๆ หรือพระพรที่พระเจ้าจะทรงกระทำต่อประชากรของพระองค์ เหมือนดังที่โมเสสได้รับคำบัญชาให้กล่าวอวยพรต่อคนอิสราเอลว่า

“จงกล่าวแก่อาโรนและบุตรทั้งหลายของอาโรนว่า ท่านทั้งหลายจงอวยพรแก่คนอิสราเอลดังต่อไปนี้ คือว่าแก่เขาทั้งหลายว่าขอพระเจ้าทรงอำนวยพระพรแก่ท่าน และพิทักษ์รักษาท่าน ขอพระเจ้าทรงให้พระพักตร์ของพระองค์ทอแสงแก่ท่าน และทรงพระกรุณาท่าน ขอพระเจ้าทรงเงยพระพักตร์ของพระองค์เหนือท่าน และประทานสวัสดิภาพแก่ท่าน ดังนั้นแหละให้เขาประทับนามของเราเหนือคนอิสราเอล และเราจะได้อวยพรแก่เขาทั้งหลาย” (กันดารวิถี 6:22-27)

ทำไมคำว่า พระเจ้าอวยพร หรือ God bless you จึงแพร่หลายจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ นั่นก็เป็นเพราะว่าในราว ค.ศ. 590 เกิดโรคระบาดใหญ่ขึ้น และมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้ทุกคนมาร่วมกันวิงวอนอธิษฐานเพื่อขอให้พระเจ้าทรงช่วยเหลือและขับไล่โรคร้ายให้หมดสิ้นไป ส่วนหนึ่งในคำสั่งนี้ก็คือ “ทุกคนที่จาม (เพราะเชื่อว่าการจามคือตัวบ่งชี้ว่าคนนั้นได้รับเชื้อโรค) จงได้รับการอวยพรโดยทันทีทันใด” ซึ่งคำที่พระสันตะปาปาใช้ก็คือ God bless you หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่มีใครจาม ผู้คนก็จะตอบสนองด้วยคำว่า God bless you หรือ พระเจ้าอวยพร และแม้ว่าโรคระบาดจะจบสิ้นลงไปแล้ว แต่คำว่า “พระเจ้าอวยพร” ก็ยังใช้ต่อเนื่องกันมา เพราะเห็นว่าเป็นคำกล่าวที่ไพเราะน่าฟัง

อาจมีคำถามต่อมาอีกว่าทำไมผู้คนเชื่อแบบนี้ เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปจนถึงตอนปลายของศตวรรษแรก ผู้คนทางตะวันตกมีความเชื่อว่าการจามอาจมีผลทำให้วิญญาณหลุดออกจากร่างกายได้ นั่นก็หมายความว่าเมื่อจามจนทำให้วิญญาณหลุดออกจากร่าง ร่างกายก็จะว่างเปล่า วิญญาณชั่วก็อาจจะเข้ามาสิงในร่างกายได้ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการจามเกิดขึ้น จึงมีการพูดคำว่า “พระเจ้าอวยพร” เพื่อเป็นเกราะป้องกันวิญญาณชั่ว ในขณะที่บางวัฒนธรรมมองว่าการจามคือสัญลักษณ์ของพระพรและสุขภาพแข็งแรง การพูดคำว่า “พระเจ้าอวยพร” จึงเป็นเหมือนการยืนยันถึงพระพรที่เขาได้รับจากพระเจ้า


ผมเล่าเรื่องเหล่านี้เพื่อจะตอบว่าทำไมคำว่า “พระเจ้าอวยพร” จึงกลายเป็นคำที่แพร่หลายในหมู่คริสตียน แต่ประเด็นสำคัญคือ การกล่าวอวยพรกัน แสดงออกถึงความเชื่อของเราว่าพระเจ้าเท่านั้นคือแหล่งแห่งพระพร อีกทั้งเราปรารถนาให้พี่น้องคริสเตียนของเราได้ประสบกับพระพรของพระเจ้า เราจึงพูดคำว่า “ขอพระเจ้าทรวงอวยพร” ต่อกันและกัน

ขอพระเจ้าอวยพรครับ!

บทความ:  ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี
                  ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
                  อาจารย์สถาบันพระคริสตธรรมศึกษา Faith Bible Institute
                  ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวไทย
ภาพ:  Joel Mott on Unsplash
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง