บทความ

การประกาศข่าวประเสริฐแก่กลุ่มคนชั้นกลางระดับสูง ตอนที่ 1 คริสเตียนไทย กับภาวะเศรษฐกิจไทย

กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากสังคมเกษตรกรรมในชนบทที่มีรายได้น้อยพึ่งพาผลผลิตทางการการเกษตรเป็นหลักไปเป็นสังคมชนชั้นกลางที่อาศัยรวมตัวในเมืองใหญ่มีรายได้จากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็ง (เบเคอร์ และ พงษ์ไพจิตร 2015, 289) และเกิดการอพยพผู้คนอย่างมีนัยสำคัญจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสทางการศึกษา รายได้ที่มากขึ้น ความสะดวกสบาย และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น (พิริยะรังสรรค์ และ พงษ์ไพจิตร 1993, 19)

ตามการจัดประเภททางเศรษฐกิจของธนาคารโลก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-Middle-Income) โดยอิงจากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของภาคครัวเรือนไทย (Household Income) ตามรายงานปี 2562 (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปี 2562) โดยกิริดา เผือกจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก ให้ความเห็นไว้ว่า สิ่งนี้เป็นจริงแม้เรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2554 (2011) ประเทศไทยมีการยกระดับรายได้ (เป็นรายได้ปานกลางระดับบน) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่น่าจดจำของประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยรายได้ประชาติต่อหัว (Gross National Income – GNI) เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขณะที่ความยากจนลดลงอย่างมาก ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตรและประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและบรรลุการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นและการส่งออกที่ขยายสู่ตลาดเกิดใหม่ในต่างประเทศ (Walker 2011, ย่อหน้า 3)

ชนชั้นกลางระดับสูงของไทยหมายถึงผู้ที่มีรายได้ต่อปีระหว่าง 3,996 ถึง 12,375 เหรียญสหรัฐ (The World Bank 2020) โดยกลุ่มนี้มักจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ มีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น เศรษฐกิจในประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นอย่างมากทำให้ผู้คนที่อาศัยในชนบทมีการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประเทศไทยดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ในปี 2536 (1993) ชนชั้นกลางระดับสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และค่อยๆ เข้ามามีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองในประเทศไทย (เอียวศรีวงศ์ 2536, 49-66)

อย่างไรก็ตาม หากเรากลับมามองที่คริสเตียนไทย เมื่อพิจารณาตามมุมมองของเศรษฐกิจ งานวิจัยพบว่าคริสเตียนไทยมีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งระบุไว้ที่ 26,946 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2562, 287) ถือเป็นคนระดับรากหญ้าของประเทศ โดยปัจจุบันคริสเตียนไทยเพียง 21.41% จัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป ที่เหลือคือ 78.59% มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่ารายได้คนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2562; มูลนิธิอีสตาร์ 2019)

 

แผนภาพ : จำนวนคริสเตียนไทยจำแนกตามรายได้ครัวเรือน ปี 2019

ที่มา : Kanok Leelahakriengkrai. 2021. “A Model for Evangelism to the Upper-middle-class of Urban Thailand” Doctoral Dissertation, AGST Alliance-Bangkok Bible Seminary, Figure 4.

งานวิจัยพบว่าประชากรคริสเตียนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่ชนบทของประเทศไทย โดยจำนวนประชากรคริสเตียนที่มีมากที่สุดอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย (eSTAR Foundation 2020) เมื่อพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจ พบว่าจังหวัดเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจน้อยมาก ส่งผลให้ประชากรมีรายได้ครัวเรือนน้อยที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ขณะเดียวกันพบว่าประชากรคริสเตียนในพื้นที่เหล่านี้มักมีระดับรายได้และการใช้ชีวิตไม่สะท้อนวิถีคนเมือง (Urbanist) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (เบเคอร์ และ พงษ์ไพจิตร 2015, 278)

ข้อมูลจากตารางนี้พบว่าคริสเตียน 40.53% มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน ขณะที่ 6.06% ของคริสเตียนไทยมีรายได้ครัวเรือน 28,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และถึงแม้ภาพความจริงจะเป็นเช่นนั้น จำนวนคริสเตียนทั้งยังไม่สามารถสะท้อนหรือเป็นตัวแทนอย่างมีนัยยะในวิถีการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ

พระเยซูตรัสไว้ในพระธรรมยอห์น 4:35 “พวกท่านบอกว่าอีกสี่เดือนจะถึงฤดูเกี่ยวข้าวแล้วไม่ใช่หรือ? ส่วนเราบอกพวกท่านว่า เงยหน้าขึ้นดูนาเถิด ทุ่งนาเหลืองอร่ามและถึงเวลาเกี่ยวแล้ว” ให้เราร่วมกันว่าข่าวประเสริฐเป็นของคนทุกประเภท และเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนในสังคมจะเป็นพรนำพระกิตติคุณไปถึงผู้คนมากมายด้วยความเข้าใจและไว้วางใจในพระเจ้า

ดังนั้นคริสตจักรและคริสเตียนไทยน่าจะจำเป็นต้องพิจารณาแนวคิด เรียนรู้ และพัฒนาวิธีการเพื่อเข้าถึงกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว เพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะเติบโต เบ่งบาน และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมของไทย

ในบทต่อไป ผู้เขียนจะสำรวจปัจจัยที่นิยามความหมายของกลุ่มคนชั้นกลางระดับสูงในประเทศไทย เพื่อเราจะมีความเข้าใจถึงที่มาและความสำคัญในการประกาศข่าวประเสริฐกับกลุ่มดังกล่าวนี้

อ้างอิง:

  • Baker, Chris and Phongpaichit, Pasuk. 2015. A History of Thailand, 3rd Edition. Bangkok: Matichon Publishing House.
  • eSTAR Foundation. 2020. Harvest database: Thai Church Directory. ThaiChurches.org. Accessed May 19, 2020. https://bit.ly/2zbrNJv.
  • Leelahakriengkrai, Kanok, 2021. A Model for Evangelism to the Upper-middle-class of Urban Thailand. Doctoral Dissertation, AGST Alliance – Bangkok Bible Seminary.
  • Ministry of Digital Economy and Society. 2019. Statistical Yearbook Thailand 2019. Bangkok: National Statistical Office.
  • Ministry of Interior-Community Development Department. 2018. Thai Living Standard from Basic Minimum Need (BMN) Report 2018. Bangkok: BTS Press.
  • The World Bank. 2019. Classifying countries by income. Accessed September 9, 2019. https://bit.ly/3tZnt6H.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. 1993. วัฒนธรรมชนชั้นกลาง: ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: คณะสังคมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • พิริยะรังสรรค์, สังศิต และ พงษ์ไพจิตร, ผาสุข (บรรณาธิการ). 1993. ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 


บทความ:  กนก ลีฬหเกรียงไกร
ออกแบบ:  Nantharinee 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง