บทความ

“ดินแดนผู้ตาย” มีอยู่จริง หรือเป็นแค่สีสันของคำอุปมา

“แดนผู้ตาย” หรือ “เฮดีส” (Hades) ได้ถูกอธิบายใน อุปมาเรื่องเศรษฐีและลาซารัส อย่างละเอียด เพื่อให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานของเศรษฐีหลังความตาย ฉะนั้น เฮดีส (Hades) ในอุปมานี้ ถือว่าเป็นดินแดนผู้ตายในทัศนะคริสเตียนได้หรือไม่?

ที่จริงเรื่องนี้เป็นอุปมาที่พระเยซูใช้เพื่อสอนให้ชาวยิวรู้จัก ความเมตตาเห็นอกเห็นใจกันในฐานะพี่น้อง ไม่ได้เน้นเรื่องศาสนศาสตร์วาระสุดท้าย (Eschatology) แม้จะมีเรื่องเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายไว้ก็ตาม

1. แนวคิดของเฮดีส (Hades) หรือแดนผู้ตาย สถานที่ในอุปมาเรื่องเศรษฐีและลาซาลัส เป็นแนวคิดที่พระเยซูนำเรื่องเล่าจากงานเขียนของกรีกโรม (Greeco-Roman Writings) ที่มีชื่อเสียงในสมัยของพระองค์มาประยุกต์เพื่อให้คนในสมัยนั้นคุ้นเคย

รายละเอียดของแดนผู้ตายถูกอธิบายไว้ในงานเขียนที่หลากหลาย ได้แก่ เรื่องราวของเทพเจ้าเสท (Setme) ของอียิปต์, เรื่องราวของเออร์ (Er) ที่เล่าในสมัยเพลโต (Plato), เรื่องของอริเดอูส (Aridaeus) โดย พลูทาร์ช (Plutarch), งานเขียนของลูเซี่ยน (Lucian) เช่น คาทาพลัส (Cataplus) ไมซิลลัส (Micyllus), บทสนทนาของผู้ตาย (Dialogues of the Dead) โดยพูลลักซ์ (Pollux), และเมนิปปัส (Menippus) (Snodgrass 2008, 422-423, 426-427)

2. “ถ้า​มี​ใคร​สัก​คน​หนึ่ง​จาก​พวก​คน​ตาย​ไป​หา​พวก​เขา เขา​คง​จะ​กลับ​ใจ​ใหม่” นี่ไม่ใช่แนวคิดการเป็นขึ้นจากความตายในความคิดของพระคัมภีร์ แต่เป็นวิธีเล่าเรื่องให้ต่อเนื่องลงตัวในลักษณะเรื่องเล่าของคำอุปมา

เศรษฐี​คน​นั้น​จึง​กล่าว​ว่า ‘ไม่​ได้ อับ​รา​ฮัม​บิดา​เจ้า​ข้า แต่​ถ้า​มี​ใคร​สัก​คน​หนึ่ง​จาก​พวก​คน​ตาย​ไป​หา​พวก​เขา เขา​คง​จะ​กลับ​ใจ​ใหม่’  – ลูกา 16:30 – 

ภาษากรีกคำว่า “ไป​” ใช้คำว่า apelthe ไม่ใช่ “ฟื้น”  หรือ anaste ในภาษากรีก

ฉะนั้นสำนวนประโยค “ถ้า​มี​ใคร​สัก​คน​หนึ่ง​จาก​พวก​คน​ตาย​ไป​หา​พวก​เขา เขา​คง​จะ​กลับ​ใจ​ใหม่” จึงไม่ใช่แนวคิดการเป็นขึ้นจากความตาย (resurrection) แบบคริสเตียนที่เชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ (Snodgrass 2008, 428)

3. ไม่มีมาตรฐานการพิจารณาระบุไว้ว่า เหตุใดคนหนึ่งถึงอยู่กับอับราฮัม อีกคนอยู่ในเปลวไฟ ทั้งที่เศรษฐีก็เรียกอับราฮัมว่าเป็นบิดา (ลูกา 16:24) (Snodgrass 2008, 428)

ในวัฒนธรรมยิวถือว่าผู้เป็นบุตรอับราฮัมจะได้รับการปลอบโยน และในพระเยซูถือว่าผู้ที่เชื่อวางใจในพระองค์ได้รับความรอด แต่อุปมานี้กลับไม่เข้ามาตรฐานทั้ง 2 อย่างเลย นี่จึงไม่ใช่คำอุปมาที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการได้รับการช่วยกู้ในมุมของคริสเตียน

และเรายังพบว่าเรื่องเดียวที่เศรษฐีเป็นกังวลคือ การดำเนินชีวิตที่เมตตาเห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้ เขาจึงอยากให้น้องชาย 5 คนของเขากลับใจจากเรื่องนี้ (ลูกา 16:25, 27, 30) ไม่ใช่กังวลเรื่องให้น้องของเขาเชื่อวางใจในพระเยซูว่าทรงเป็นพระเมสิยาห์ (Snodgrass 2008, 428)


ฉะนั้นเรื่องราวในอุปมานี้จึงเน้นถึง ชีวิตของเศรษฐีที่มั่งมีเพื่อตนเอง ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงบำเรอความสุขโดยไม่เคยสนใจหรือแยแสคนที่ยากลำบากกว่า แม้จะนั่งอยู่ภายนอกบ้านของตน และผลของการกระทำอย่างเห็นแก่ตัวของเขาในโลกจะต้องรับผลภายหลังในโลกหลังความตาย

สำหรับผู้ชอบธรรมนั้น (ไม่ว่าจะเป็นผู้ชอบธรรมก่อนหรือหลังพระเยซูเสด็จมาครั้งแรกก็ตาม) เมื่อตายไปจนถึงก่อนการพิพากษาครั้งใหญ่ในเหตุการณ์พระเยซูเสด็จกลับมาครั้งที่ 2 “จะไม่ได้ไปที่เฮดีสแต่อย่างใด” แต่ไปอยู่สถานที่แห่งหนึ่งคือเมืองบรมสุขเกษมเพื่อรอคอยสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อพระเยซูเสด็จกลับมา (อิริคสัน 2009, 1306) พระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่มีบางข้อที่ยืนยันในเรื่องนี้

เพราะ​พระ​องค์​มิ​ได้​ทรง​มอบ​ข้า​พระ​องค์​ไว้​กับ​แดน​คน​ตาย หรือ​ให้​ผู้​จงรัก​ภักดี​ของ​พระ​องค์​ต้อง​เห็น​หลุม​มรณะ​นั้น  – สดุดี 16:10 – (ตอนนี้แดนคนตายใช้คำว่า Sheol ซึ่งฉบับเซ็ปทัวร์จินท์และพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกใช้คำว่า Hades ในความหมายเดียวกัน)

เรา​บอก​ท่าน​ว่า​ท่าน​คือ​เป​โตร และ​บน​ศิลา​นี้ เรา​จะ​สร้าง​คริสต​จักร​ของ​เรา​ไว้และ​พลัง​แห่ง​ความ​ตาย​จะ​มี​ชัย​ต่อ​คริสต​จักร​ไม่​ได้   – มัทธิว 16:18 –

ท่าน​ก็​ล่วง​รู้​เหตุ​การณ์​นี้​ก่อน จึง​กล่าว​ถึง​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์​ว่า ‘พระ​เจ้า​ไม่​ทรง​ละ​พระ​องค์​ไว้​ใน​แดน​คน​ตาย ทั้ง​พระ​กาย​ของ​พระ​องค์ ก็​ไม่​ทรง​เปื่อย​เน่า​ไป’  – กิจการฯ 2:31 –

ฉะนั้นสิ่งที่เราจะพูดได้ดีที่สุดให้สอดคล้องกับศาสนศาสตร์วาระสุดท้าย (Eschatology) คือ สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อ เมื่อตายไปเขาจะไปอยู่ ณ ดินแดนแห่งความตาย (Hades) เพื่อรอคอยการพิพากษาในวันสุดท้าย ที่นั่นเป็นที่แห่งความทุกข์ทรมาน (Grudem 2015, 1140) และไม่จำเป็นต้องให้รายละเอียดโดยยกตัวอย่างจากอุปมาตอนนี้ เพราะลักษณะสถานที่ในอุปมานั้นไม่ได้ต้องการอธิบายสภาพของช่วงคั่นกลางระหว่างความตายกับวันที่พระเยซูเสด็จกลับมาครั้งที่สองแต่อย่างใด (อิริคสัน 2009, 1299)

รายการอ้างอิง

  1. Grudem, Wayne A. Systematic Theology: An Introduction to Biblical Doctrine.
    UK: Inter-varsity Press, 2015.
  2. Snodgrass Klyne R. Stories with Intent. Grand Rapids: Eerdmans Publishing Co., 2008.
  3. อีริคสัน, มิลลาร์ด เจ. ศาสนศาสตร์คริสเตียน เล่ม 2. พระคริสตธรรมกรุงเทพฯ, 2009.
  4. Ladd, George Eldon. A Theology of the New Testament, Revised Edition.
    MI: William B Eerdmans Publishing Co., 1993.

 

บทความ:  กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ:  Mads Schmidt Rasmussen on Unsplash
ออกแบบ:  Sinn

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง