จากบุคคลทั้งหมดในพระคัมภีร์ที่โดดเด่น ไม่มีใครที่น่าโมโหไปเท่ากับเหล่าเพื่อน ๆ ของโยบ จริงอยู่ว่าถ้าเป็นเฮโรด เขาอาจจะประหารคุณ ยูดาสอาจจะหักหลังคุณ แต่เอลีฟัส บิลดัดและโศฟาร์จะทำร้ายคุณด้วยข้อพระคัมภีร์
การสูญเสียของโยบจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นภายในแค่ 2 บท (โยบ 1-2) แต่บทสนทนาที่แสนทรมานที่ตามมานั้นยาวนานถึง 35 บท (โยบ 3-37) ผมเริ่มสงสัยว่าอะไรที่ทรมานโยบมากกว่ากันระหว่างความสูญเสียที่เกิดขึ้นในตอนต้น หรือคำกล่าวหาอันยืดยาวที่ตามมา
ปัญหาของเหล่าเพื่อนผู้คอยปลอบประโลมไม่ใช่ว่าพวกเขาเชื่อผิด สิ่งที่พวกเขาพูดส่วนมากนั้นเป็นความจริง แต่ปัญหาของพวกเขาคือมุมมองด้านจริยธรรมที่ตั้งอยู่เหนือความสัมพันธ์ของพวกเขากับโยบ นั่นทำให้พวกเขามีเหตุผลในเชิงย้อนกลับว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความบาป
เป็นเรื่องง่ายที่เราจะวิจารณ์เพื่อน ๆ ของโยบ แต่ความจริงแล้วเราก็อาจจะจะเป็นเหมือนพวกเขาได้เช่นกัน ตัวชี้วัดว่าใจของเรานั้นยังอยู่ในเส้นทางเดียวกันกับข่าวประเสริฐหรือไม่นั้น คือการตอบสนองของเราเมื่อเราเจอปัญหาแบบเดียวกับโยบ ไม่ว่าเราจะมีมุมมองต่อโลกแบบใด จะเชื่อในพระคุณหรือว่าผลกรรมก็ตาม ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นจะดึงสิ่งที่เราเชื่อให้แสดงออกมาภายนอก
มีอย่างน้อย 4 อย่างที่เราควรจะหลีกเลี่ยงเมื่อต้องอยู่กับคนที่กำลังทนทุกข์ ลองนึกภาพว่านี่คือ 4 วิธีซึ่งเราที่เป็นเหมือนเพื่อนของโยบสามารถทำได้ เป็นการเทก้อนถ่านที่กำลังร้อนระอุลงบนศีรษะของเพื่อนของเราที่กำลังนั่งอย่างโศกเศร้าอยู่บนกองเถ้าถ่านนั้น
1. รีบสรุปว่าพระเจ้าทรงควบคุมอยู่อย่างรวดเร็วเกินไป
แม้ว่าพระคัมภีร์จะสอนเราว่า “ทุกสิ่งร่วมกันก่อผลดี” ต่อคนเหล่านั้นที่อยู่ในพระคริสต์ (โรม 8:28) และพระเจ้าสามารถใช้การร้ายให้กลายเป็นดีได้ (ปฐมกาล 50:20) แต่อย่างไรก็ตาม เพียงเพราะว่าสิ่งเหล่านี้มาจากพระคัมภีร์นั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือมีประโยชน์เสมอที่เราจะพูดออกมา
ประโยคที่ว่า “พระเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี” นั้นถูกพูดโดยโยเซฟหลังจากที่เขาผ่านการทนทุกข์แล้วหลายปี ไม่ใช่ระหว่างที่เขากำลังทุกข์อยู่ ลองจินตนาการว่าโยเซฟจะโกรธและเคียดแค้นขนาดไหนถ้าเหล่าพี่ชายยืนล้อมที่ปากหลุมแล้วตะโกนให้กำลังใจเขาว่า “ไม่ต้องห่วงนะโยเซฟ พระเจ้าจะทรงดำริให้เกิดผลดีเอง!”
ในทำนองเดียวกัน หลังจากที่เปาโลสอนว่า “ทุกสิ่งร่วมกันก่อผลดี” ท่านกำชับให้เรา “ร้องไห้ร่วมกับผู้ที่ร่ำไห้” (โรม 12:15) หากเราจะอ้างพระคัมภีร์ในตอนก่อนหน้า ก็อย่าให้เราลืมที่จะเชื่อฟังสิ่งที่ตามมาจากนั้นด้วยเช่นกัน
2. รีบเข้าสู่คำพยานว่าพระเจ้าเคยใช้ความทุกข์ของเราให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะเชื่อมโยงเรื่องราวของคนอื่นเข้ากับชีวิตของตัวเอง แน่นอนว่าแม้เราจะมองโลกผ่านสายตาของเรา แต่การเรียนรู้อย่างแท้จริงผ่านชีวิตของคนอื่นก็เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของการเติบโต ไม่ใช่เพียงแค่การที่ต้องผ่านประสบการณ์ด้วยตัวเองเท่านั้น นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราสามารถใช้กับคนที่กำลังทนทุกข์ได้ด้วยสาเหตุ 2 ประการ
ประการแรกคือ เรื่องราวของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางครั้งพระเจ้าอาจจะประทานบ้านหลังใหม่ที่ดีกว่าแทนที่บ้านหลังเก่าที่เพิ่งถูกไฟไหม้ไป หรือบางครั้งพระเจ้าทำให้เรามองเห็นด้านดีของเพื่อนที่หักหลังเรา แต่ในโลกที่สับสนและเสื่อมลงนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อนของเราที่กำลังทุกข์จะไม่มีวันมีประสบการณ์เช่นเดียวกันนั้น ความทุกข์บางอย่างอาจไม่ได้รับการเยียวยาเลยจนกว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะมาถึง ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากได้ว่า “ในที่สุดแล้ว คุณจะต้องดีใจที่เรื่องร้ายๆ นี้เกิดขึ้น” อย่างน้อยที่สุด เราก็ควรรับฟังเรื่องราวเขาอย่างตั้งใจแม้กระทั่งในรายละเอียดต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มเปรียบเทียบกับเรื่องของเราเอง
ประการที่สอง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ของเรากับเขาอาจจะคล้ายกัน แต่เพื่อนของเราอาจจะไม่ได้ต้องการรับฟังเรื่องดังกล่าวในตอนนี้ คำถามที่ต้องคำนึงถึงคือ “การแบ่งปันเรื่องราวนี้นั้นเกี่ยวกับการตอบสนองความต้องการของเราหรือช่วยเหลือในความต้องการของเพื่อนของเรา?”
3. พยายามลดทอนความสำคัญของการกระทำผิด ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ยากนั้น
ผมไม่มั่นใจว่าเพราะเหตุใด แต่เรามักจะมีสัญชาตญาณต่อเหตุการณ์ต่างๆ หลายครั้งเราพูดว่า
“ฉันแน่ใจว่าอีกฝ่ายคงจะมีเจตนาดีที่ทำอย่างนั้นนะ” หรือ
“เรื่องราวมันคงไม่แย่ขนาดนั้นหรอก” หรือ
“จริงๆ แล้วในทุกความขัดแย้งก็มีฝ่ายที่ผิดกันทุกฝ่ายนั่นแหละ”
แต่ความจริงแล้วเราไม่มีทางรู้ได้ว่าเจตนาของคนอื่นเป็นอย่างไร บางครั้งเขาอาจจะคิดร้ายจริงๆ เราไม่มีทางรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะไม่แย่ขนาดนั้น มันอาจจะเป็นเรื่องที่แย่มากๆ และบางเหตุการณ์ก็ไม่ใช่ความผิดของคู่กรณีแบบ 50/50 บางครั้งอาจจะเป็น 80/20 หรืออาจจะมีแค่ฝ่ายเดียวที่ผิดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนที่พระเจ้าเคยบอกกับโยบและเพื่อนๆ ของเขา (โยบ 42:7)
ในขณะที่คุณนั่งอยู่กับคนที่กำลังทุกข์ใจ อย่าลดทอนความบาปที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากของพวกเขา การยอมรับว่ามีความผิดบาปโดยปราศจากข้อแก้ตัวใดๆ จะเป็นเหมือนการรดน้ำลงบนจิตใจที่แห้งเหือดของเพื่อนของเรา
4. เน้นการสร้างลักษณะนิสัยใหม่โดยละเลยการปลอบประโลมด้วยความรัก
หากในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่มีการเน้นย้ำเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์ยากใดๆ นั่นหมายความว่าพระเจ้ากำลังใช้ความทุกข์ยากลำบากนั้นเพื่อสร้างเราให้เป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น (เช่นใน โรม 5:3-5, ยากอบ 1:2-4) แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับคนที่กำลังอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยาก นี่ไม่ใช่จุดที่เราควรจะเน้นย้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีพอให้เขาไว้ใจเรา และหากต้องพูดถึงประเด็นนี้เราก็ควรจะพูดให้สมดุลควบคู่กับการใช้ความรักและการปลอบโยน
สำหรับกรณีที่ความทุกข์นั้นยากลำบากมากๆ การหลีกเลี่ยงหรือใช้คำพูดให้น้อยที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก เรามักจะมีสัญชาตญาณแบบเดียวกับเอลีฟัส “…ถึงกระนั้น ผู้ใดจะอดพูดได้?” (โยบ 4:2) แต่สำหรับเพื่อนของเรา เขาอาจต้องการความรักและใครสักคนที่อยู่ด้วยมากกว่าความคิดเห็นหรือการตีความต่อเหตุการณ์ของเรา มากกว่าการพยายามบรรเทาหรือพยายามจะเข้าใจ การแค่เราอยู่ด้วยก็มีประโยชน์ยิ่งกว่า ก้าวไปในความมืดมิดร่วมกับเขา อยู่กับเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้น ในที่เดียวกันนั้น ในความเจ็บปวดแบบเดียวกันนั้น
น้ำตาของอัสลาน
ในทำนองเดียวกันนี้เราก็ได้เป็นเหมือนพระเยซูในเรื่องการทนทุกข์ เพราะนี่คือสิ่งที่พระองค์ทำในชีวิตของเรา พระองค์ไม่ได้กันเราให้ไม่พบเจอความทุกข์ยาก หรือไม่ได้แค่พูดให้กำลังใจแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เวลาที่ความมืดกำลังปกคลุมลงมา แต่พระองค์ทรงสัญญาว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง พระองค์จะทรงอยู่กับเรา ความจริงแล้วเราสามารถพบพระองค์ได้อย่างแท้จริงในช่วงเวลาที่หัวใจของเรานั้นแตกสลาย:
- “พระยาห์เวห์ทรงอยู่ใกล้ผู้ที่ใจแตกสลาย” สดุดี 34:18
- “พระองค์ทรงรักษาคนที่ใจแตกสลาย” สดุดี 147:3
- “พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้าไปเพื่อปลอบโยนคนชอกช้ำใจ” อิสยาห์ 61:1
มีตอนหนึ่งในวรรณกรรมเรื่องกำเนิดนาร์เนีย เด็กชายคนหนึ่งชื่อดิกกอรี่ได้พบกับสิงโตอัสลาน แม่ของเขาป่วยและเขาอยากให้อัสลานช่วย แต่เด็กชายก็กลัวอัสลาน ซีเอส ลูอิสได้บรรยายในหนังสือว่า:
จวบจนบัดนี้เด็กชายได้มองที่อุ้งเท้าหน้าอันน่าเกรงขามและกรงเล็บอันใหญ่โตของเจ้าสิงโต แต่ในขณะที่เขากำลังสิ้นหวัง เด็กชายมองไปที่ใบหน้าของมัน สิ่งที่เขาพบกลับทำให้เขาประหลาดใจยิ่งกว่าสิ่งใดที่เขาเคยประสบมาในชีวิต เพราะใบหน้าสีน้ำตาลอ่อนนั้นดูเศร้าสร้อยและ(น่าประหลาดยิ่งกว่าสิ่งใด) น้ำตาที่เปล่งประกายปรากฏในดวงตาของเจ้าสิงโต หยดน้ำตานั้นช่างดูใหญ่โตและเปล่งประกายเมื่อเทียบกับน้ำตาของดิกกอรี่เอง ในเวลานั้นเขาสัมผัสได้ราวกับว่าเจ้าสิงโตนั้นเสียใจเรื่องแม่ของเขายิ่งกว่าตัวของเด็กน้อยเองเสียอีก “บุตรเอ๋ย บุตรเอ๋ย” อัสลานกล่าว “ข้ารู้ดี ความเศร้านั้นใหญ่นัก ในแผ่นดินนี้มีเพียงเจ้าและข้าที่รู้ ให้เราดีต่อกันเถิด”
การปลอบประโลมใดในโลกจะเทียบเท่าคำว่า “เรารู้” พระคริสต์ทรงอยู่ใกล้ผู้ที่ใจเป็นทุกข์ก็เพราะพระองค์เองเป็นผู้ที่รับการทนทุกข์อันใหญ่ยิ่ง พระองค์เป็นยิ่งกว่าโยบ ถูกซัดด้วยภัยพิบัติที่พระองค์ไม่สมควรได้รับ ทรงเป็นยิ่งกว่าโยเซฟ ทรงถูกหักหลังจากเพื่อนพี่น้องของพระองค์เอง และบนกางเขนนั้นพระเยซูทรงรับเอาความบาปและโทษทัณฑ์ทั้งหมดแทนเรา ทรงจมลงไปยังก้นบึ้งของนรกและถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครที่เคยเผชิญสิ่งเหล่านี้เช่นพระองค์ ไม่มีใครสามารถทำได้ ความรักแบบนี้แหละที่ปลอบโยนเราในช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด ฉะนั้นหากมีผู้ที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่รอบตัวเรา ขอให้เราไม่เป็นเช่นเพื่อนโยบ แต่ให้เป็นเหมือนพระเยซู
บทความต้นฉบับ: Gavin Ortlund (คลิกที่นี่), 18 กุมภาพันธ์ 2017
แปล: คุณจิรัฎฐ์ สำราญสุข
เรียบเรียง: ธารา วงศ์ศิริสิน
ออกแบบ: Mantana
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น