1. โปรเตสแตนท์ไม่ต่อต้านนางมารีย์
เราประทับใจในความรักพระเจ้าและการยอมจำนนของนางมารีย์ต่อน้ำพระทัยของพระเจ้าซึ่งนับว่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์สำหรับความคิดของมนุษย์ แต่ทุกสิ่งเป็นไปได้ในพระเจ้า
2. ความเชื่อของคริสเตียนอยู่บนฐานของพระวจนะเป็นสำคัญ
ในความคิดและความรู้สึกของมนุษย์ เรารักพระเยซูคริสต์และประทับใจในทุกคนที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ทั้งอัครทูตต่างๆ รวมทั้งนางมารีย์และโยเซฟ แต่ความรักประทับใจไม่สามารถพัฒนาขึ้นแทนที่หรือเสมอเหมือนความรักที่เรามีต่อพระเยซูคริสต์ได้ ผู้เชื่อจึงต้องปรับท่าทีจิตใจความรู้สึกให้สอดคล้องกับพระคัมภีร์มากกว่ารับเอาความรู้สึกต่างๆ ที่ส่งผ่านวัฒนธรรมความเชื่อต่อๆ กันมา
3. นางมารีย์ในฐานะผู้รับใช้พระเจ้าที่ยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างถึงที่สุด
มารีย์ไม่ต่อรองพระประสงค์พระเจ้าแม้ไม่เข้าใจ และแม้จะยากที่สุดในความเป็นผู้หญิง (ลูกา 1:38) ในเนื้อหาของบทเพลงของมารีย์ สะท้อนให้เห็นว่ามารีย์เข้าใจเนื้อหาของน้ำพระทัยพระเจ้าที่ทรงประสงค์จะประทานพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อไถ่อิสราเอล (ลูกา 1:46–55)
นางมารีย์สนับสนุนพระเยซูให้กระทำตามพระประสงค์พระเจ้าโดยไม่ขัดขืน แม้ท้ายสุดในความรู้สึกของความเป็นแม่จะพบว่า พระเยซูคริสต์ต้องดำเนินไปสู่กางเขนก็ตาม
4. นางมารีย์ในฐานะผู้ใคร่ครวญพยายามเข้าใจน้ำพระทัยพระเจ้า
เมื่อทูตสวรรค์กาเบียลแจ้งว่าพระเยซูจะมากำเนิดในครรภ์ของมารีย์ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ นางมารีย์ไม่เข้าใจแต่รำพึงในใจและยอมรับน้ำพระทัย (ลูกา 1:29) นางมารีย์เมื่อเห็นผู้เลี้ยงแกะมาเฝ้าพระกุมารเยซูก็เก็บสิ่งเหล่านี้ใคร่ครวญอยู่ในใจ (ลูกา 2:19) และครั้งที่นางมารีย์และโยเซฟตามหาพระเยซูที่หลงไปในงานเทศกาลปัสกา เมื่อพบแล้วพระเยซูกลับถามว่า “ท่านตามหาเราทำไม พ่อกับแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในพระนิเวศของพระบิดา” ทั้งคู่ไม่เข้าใจคำของพระเยซูแต่ก็ไม่ได้ต่อว่าหรือคัดค้านแต่อย่างใด (ลูกา 2:48–50)
สิ่งที่มารีย์แสดงออกเมื่อพบกับความประหลาดใจมากมายในน้ำพระทัยพระเจ้าคือ รำพึงอย่างเงียบๆ และอธิษฐาน พยายามปรับความคิดใคร่ครวญถึงพระประสงค์ของพระเจ้าโดยไม่บ่นต่อว่าพระเจ้าแต่อย่างใด
คริสเตียนควรรักษาท่าทีแบบนางมารีย์เมื่อพบกับสถานการณ์ที่ไม่เข้าใจ แทนที่จะบ่นต่อว่าแต่กลับอธิษฐานเพื่อปรับความคิดของเราให้เข้าใจน้ำพระทัยพระเจ้ามากกว่า
5. นางมารีย์เป็นแบบอย่างชีวิตแห่งความเชื่อในการติดตามพระเจ้า
มารีย์เฝ้าติดตามพระเยซูอย่างเงียบๆ แต่สัตย์ซื่อ พระคัมภีร์บันทึกถึงนางมารีย์ (ทั้งที่ปรากฏชื่อและไม่ปรากฏชื่อ) เช่น ติดตามพระเยซูไปในขณะที่พระเยซูกำลังสอนท่ามกลางผู้คน, อยู่กับพระเยซูคริสต์ในวาระสุดท้ายของพระองค์ที่กางเขน, อยู่ร่วมกับสาวกเพื่ออธิษฐานรอคอยการเสด็จมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นต้น (กิจการของอัครทูต 1:1)
มารีย์ไม่ได้แสดงตัวให้โดดเด่นในฐานะมารดาของพระเยซู ซึ่งต่างจากสาวกในตอนนั้นที่พยายามแสวงหาตำแหน่งสำคัญๆ จากพระองค์ (ลูกา 22:24, มัทธิว 20:20–22, มาระโก 10:35–27)
อ้างอิง
- Michael G. Lawler. A Theology of Ministry. Sheed & Ward, 1990.
- Jean-Pierre Isbouts. Who’s Who in the Bible: Unforgettable People and Timeless Stories from Genesis to Revelation. National Geographic, 2013.
- The Road to Nicaea, Heroes of the Fourth Century, icene and Post-Nicene Fathers, Second Series
- The doctrine of Immaculate Conception. The Catholic Encyclopedia.
บทความ: กนก ลีฬหเกรียงไกร
ภาพ: Grant Whitty on Unsplash
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น