บทความ

การสร้างบทสนทนาเพื่อเข้าสู่พระกิตติคุณ

การทำให้บทสนทนานำเข้าไปสู่เรื่องจิตวิญญาณนั้น เป็นส่วนที่ยากที่สุดของการเป็นพยานข่าวประเสริฐ
เป็นเรื่องง่ายที่เราพูดคุยกับเพื่อนๆ เกี่ยวเรื่องทั่วๆ ไป แต่เรามักไปไม่เป็นเมื่อต้องเชื่อมโยงเรื่องทั่วไปนั้นเพื่อเข้าสู่เรื่องพระเจ้า

เมื่อพูดเรื่องขับรถไปทำงานทุกเช้า ตีกอล์ฟ ล้างจาน เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก สิ่งเหล่านี้นำไปสู่เรื่องฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร?

เราจะให้มุมมองอย่างไรต่อประเด็นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำให้เพื่อนๆ ถามกลับว่าสิ่งเหล่านั้นมีความหมายอะไรบ้าง?

เราสามารถตั้งคำถาม (ที่อิงมาจากเรื่องราวประจำวัน) จนไปกระตุกความคิดพวกเขาให้กระโดดข้ามมาในขอบเขตเรื่องฝ่ายวิญญาณได้อย่างไรบ้าง?

ผมขอเน้นตรงเรื่องนี้อีกทีว่า การสร้างบทสนทนาเพื่อนำเข้าไปสู่เรื่องจิตวิญญาณนั้น ไม่ใช่เป็น “ของประทานหรือความสามารถพิเศษจากพระเจ้า” เมื่อดูในพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง (เช่น 1 โครินธ์และข้ออื่นๆ) เราไม่พบของประทานลักษณะนี้เลย

ฉะนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้ สิ่งเดียวที่จำเป็นต้องมีก็คือ คุณต้องมีความห่วงใยมากพอต่อเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้รับความรอด จนนำไปสู่การฝึกฝนความคิดและเตรียมตัวล่วงหน้า ว่าในเรื่องราวประจำวันของคุณนั้น คุณอยากจะพูดอะไรบ้างในแต่ละสถานการณ์

เราขอแนะนำแนวทางการสนทนาแต่ละขั้นตอน ที่จะช่วยคุณในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดินฟ้าอากาศจนเข้าไปถึงเรื่องพระกิตติคุณได้ ขั้นตอนเหล่านี้เป็นหลักสากล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคลิกตัวตนของคุณ ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามจึงสามารถสร้างบทสนทนาใน 4 ขั้นตอนนี้กับคนอื่นได้

หากใครก็ตามได้ลองฝึกฝน 4 ขั้นตอนการสนทนานี้ไว้ก่อน เราพบว่าในบางสถานการณ์คุณสามารถที่จะพูดจากขั้นที่ 1 ไปสู่ขั้นที่ 4 ได้ในเวลาสั้นๆ แต่หากเป็นเพื่อนเก่า เพื่อนร่วมงาน ญาติ มันอาจต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะไปถึงขั้นตอนที่ 4

แต่หากคุณได้ลองทำดูก่อน และอธิษฐานอย่างจริงจัง และดำเนินในความยำเกรงพระเจ้า พระองค์อาจจะนำคุณให้ได้พูดคุยจนถึงขั้นตอนที่ 4 กับใครบางคนที่คุณรู้สึกว่ายากมากที่จะรับฟัง

ขอหนุนใจให้คุณได้ลองเรียนรู้และฝึกฝนทั้ง 4 ขั้นตอนนี้จนชำนาญ

แนะนำเบื้องต้นในการสนทนา 4 ขั้นตอน

1. พูดคุยสัพเพเหระ (Surface Talk) – เพื่อดูว่าคนนั้นอยากคุยกับเราไหม?
โดยชวนพูดคุยเรื่องสภาพอากาศ เรื่องกีฬาและเรื่องอื่นๆ

2. พูดคุยเรื่องส่วนตัว (Personal Talk) – เพื่อดูว่าคนนั้นเปิดใจแค่ไหน?
ลองชวนคุยเรื่องครอบครัว เรื่องงานหรือเรื่องที่เขาสนใจ

3. พูดคุยเรื่องความเชื่อ (Religious Talk) – เพื่อดูว่าคนนั้นมีความสนใจเรื่องจิตวิญญาณหรือไม่?
ลองคุยเรื่องศาสนา ความเชื่อ คริสตจักร กิจกรรมที่ทำในคริสตจักร
* ถ้าเพื่อนเรายังไม่สนใจเรื่องพวกนี้ตอนนี้ ให้ย้อนกลับไปคุยหัวข้อในขั้นตอนที่ 2

4. พูดคุยเรื่องจิตวิญญาณ (Spiritual Talk) – เพื่อดูว่าคนนั้นมีความรู้สึกต้องการรู้จักพระเจ้าหรือไม่?
ลองพูดถึงสิ่งที่พระเยซูได้ทำเพื่อเขา ลองถามมุมมองเขาต่อคริสเตียน ลองเชิญเขาหรือเธอมาร่วมชั้นเรียนพระคัมภีร์ หรือแบ่งปันข่าวประเสริฐ

ลองอ่าน โคโลสี 4:2-6 ประกอบ (2) จงอุทิศตัวในการอธิษฐาน จงเฝ้าระวังในเรื่องนี้ด้วยการขอบพระคุณ (3) และอธิษฐานเผื่อเราด้วย เพื่อว่าพระเจ้าจะทรงเปิดประตูให้เราสำหรับพระวจนะนั้น คือให้กล่าวความล้ำลึกของพระคริสต์ (ข้าพเจ้าถูกล่ามโซ่ ก็เพราะเหตุนี้) (4) เพื่อว่าข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงเรื่องนี้ตามที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าวนั้น (5) จงปฏิบัติต่อคนภายนอกด้วยสติปัญญา โดยใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ (6) จงให้ถ้อยคำของท่านทั้งหลายประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ ปรุงด้วยเกลือให้มีรส เพื่อท่านจะได้รู้ว่าควรจะตอบแต่ละคนอย่างไร

การพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป กับผู้คนที่ไม่รู้จักหรือไม่สนิท จะช่วยเปิดประตูไปสู่บทสนทนาที่ลึกขึ้น
และพวกเรามักทำสิ่งนี้เสมอๆ โดยไม่รู้ตัว

การพูดคุยเรื่องส่วนตัว เป็นขั้นตอนในการค้นหา เพื่อให้เราได้รู้จักคนที่เราคุยด้วยมากขึ้นก่อนที่เราจะเปลี่ยนหัวข้อสนทนาไปสู่เรื่องที่จริงจังมากขึ้น เราต้องให้เพื่อนของเราได้เปิดใจพูดคุยเรื่องของพวกเขาเอง

การพูดคุยเรื่องความเชื่อและศาสนา จะช่วยนำพาบทสนทนาให้มุ่งไปสู่เรื่องพระกิตติคุณ เรายังไม่ต้องรีบนำเสนอข่าวประเสริฐในขั้นตอนนี้ เราต้องหาให้ได้ก่อนว่าพวกเขาสนใจเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญาณหรือไม่ แม้แต่ญาติๆ ที่เรารู้จักเป็นอย่างดี พวกเขาอาจมีใจแสวงหาพระเจ้าแต่ไม่เคยมีใครเลยที่จะคุยกับเขาในเรื่องนี้
* ขั้นตอนนี้จึงสำคัญ อย่ารีบเร่งเพื่อไปสู่ขั้นตอนที่ 4

การพูดคุยเรื่องจิตวิญญาณ จะช่วยให้เรารู้ว่า แท้จริงเพื่อนของเราคนนี้ต้องการรู้จักพระเจ้าจริงๆ หรือเพียงแค่อยากหยั่งเชิงความเชื่อของเรา มีคนจำนวนมากที่ดูมีศีลธรรมที่ไม่ได้ต้องการให้พระเจ้าเข้ามายุ่งย่ามในชีวิตพวกเขา ท้ายที่สุดคุณต้องเลือกว่าจะให้อะไรกับเพื่อนคุณ ระหว่าง ให้เวลาเขาค่อยๆ เข้าใจมากขึ้นจนเขากระหายอยากรู้จักพระเจ้า กับบอกให้เขารู้ไปเลยทีเดียวจบถึงวิธีการไปสวรรค์ได้ยังไง

ให้เรามาดู 4 ขั้นตอนต่อไปนี้ด้วยกัน

1. พูดคุยสัพเพเหระ (Surface Talk)

เคยบ้างไหมที่คุณอยู่ในร้านค้ารอพนักงานเอาสินค้าที่คุณสั่งมาให้ คุณยืนอยู่ข้างๆ อีกคนที่คุณไม่รู้จัก ระหว่างที่คุณ 2 คนกำลังรอนั้น ไม่มีใครเริ่มต้นพูดคุยอะไรกัน จนผ่านไปสักพัก พวกคุณก็เริ่มอึดอัด

มีความเป็นไปได้อย่างน้อย 2 ทางที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ คุณจะเขยิบหนีจากที่ตรงนั้นเพื่อเว้นระยะห่างให้ตัวเอง หรือไม่คุณก็เริ่มต้นพูดคุยกันถึงเรื่องทั่วๆ ไป เช่น สภาพอากาศ พูดถึงพนักงานว่าทำไมช้าจัง หรือเรื่องสภาพจราจรที่รถติดหนัก ฯลฯ

โดยส่วนใหญ่เมื่อเราเริ่มบทสนทนาถึงเรื่องทำนองนี้ เพราะเราไม่อยากอยู่ในความเงียบนานเกินไปร่วมกับคนที่เราไม่รู้จักหรือไม่ค่อยสนิท เรื่องสนทนาในระดับนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมเมื่อเราต้องพูดถึงข่าวประเสริฐ

เป้าหมายของขั้นแรกนี้ คือค่อยๆ พาจากเรื่องทั่วไป เรื่องสภาพอากาศ ไปสู่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวคุณเองมากขึ้น เช่น เรื่องครอบครัว เรื่องเรียน งาน เพื่อนบ้าน สัตว์เลี้ยง หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ช่วยเปิดเผยความเป็นตัวคุณเล็กๆ น้อยๆ ให้คนที่ไม่ค่อยรู้จักได้รับรู้ จำไว้ว่าไม่ต้องเล่าเรื่องราวชีวิตให้ยืดยาว จากนั้นลองถามเขากลับไปบ้างในเรื่องเดียวกันกับที่คุณพูด

ตัวอย่างเช่นเมื่อยกเรื่องสภาพอากาศขึ้นมาพูด คุณอาจเริ่มว่า “ผมพักอยู่แถวนี้มานาน ผมรู้สึกว่าอากาศปีนี้มันร้อนมากกว่าช่วงที่ผ่านมา แล้วคุณล่ะอยู่แถวนี้มานานแล้วรึยัง? (ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่อง “อยู่มานาน” หรือ “อากาศร้อนหรือไม่ร้อน”)

การเริ่มพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณกับอีกฝ่าย มักทำให้คุณมีสิทธิ์ถามอีกฝ่ายกลับในเรื่องเดียวกันได้ และยังเพิ่มโอกาสจากการพูดคุยเรื่องทั่วไปไปสู่เรื่องที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น

แต่อย่าลืมว่าเป้าหมายในขั้นตอนนี้นั้น คุณไม่ได้สนใจเล่าเรื่องของตัวคุณ แต่คุณต้องการให้อีกฝ่ายได้เปิดเผยตัวเองมากขึ้น

ฉะนั้นเมื่อเขาเริ่มเล่าเรื่องตัวเขามากขึ้น ก็ให้คุณเปิดเรื่องตัวเองอีกนิด เพื่อจะถามอีกฝ่ายได้มากขึ้นตามไปด้วย คนส่วนมากชอบที่จะเล่าเรื่องของตัวเอง หากคุณลองฝึกเรื่องการฟังคนอื่น มันจะช่วยให้พัฒนาคุณในการเล่าพระกิตติคุณ

2.พูดคุยถึงเรื่องส่วนตัว (Personal Talk)

การสนทนาในขั้นนี้สามารถทำได้ง่าย คุณจะมีเรื่องเล่าให้อีกฝ่ายฟังได้ไม่หมดสิ้น คุณยังถามอีกฝ่ายในเรื่องต่างๆ เช่น เกิดที่ไหน ภูมิลำเนา ครอบครัว จบการศึกษาที่ไหน งานที่ทำ วันหยุดทำอะไร แผนการเกษียณ ความสนใจ งานอดิเรก ดนตรี ศิลปะ การเมือง การทำอาหาร ประวัติศาสตร์ กีฬาทุกชนิด

หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจง่ายต่อการสนทนาพูดคุยที่สุด คือ เรื่องวันหยุดหรือช่วงว่างๆ เพราะความสนุกสนานกลายเป็นเรื่องหลักในสังคมทุกวันนี้

เมื่อมีประเด็นบางอย่างถูกพูดคุยออกมาแล้ว คุณอาจใช้คำถาม 5W ใคร (who) ทำอะไร (what) ที่ไหน (where) เมื่อไหร (when) ทำไม (why) เพื่อต่อยอดบทสนทนาต่อได้

จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในเรื่องที่กำลังพูดคุย เพียงแค่เป็นผู้ฟังที่ดีก็เพียงพอแล้ว ถ้าคุณไม่ชอบสิ่งที่อีกฝ่ายชอบ ก็อย่าพึ่งแสดงออกว่าคุณไม่สนใจเรื่องนั้นๆ อย่าไปขัดหรือพยายามทำให้เขาเปลี่ยนเรื่องมาสนใจแบบเดียวกับคุณ เพราะคุณต้องพยายามนำเขากลับมาหาพระเจ้า ฉะนั้นถามคนนั้นถึงกีฬาที่เขาสนใจแม้บางทีคุณอาจไม่รู้ว่าอะไรเลยเกี่ยวกับกีฬานั้นก็ตาม

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องรู้ชื่อคนที่เราสนทนาด้วย และควรเอ่ยชื่อเขาในตลอดการสนทนา จงรู้ไว้ว่าชื่อของแต่ละคนนั้นเป็นคำที่มีความหมายที่สุดสำหรับตัวคนนั้นเอง และมันสื่อถึงความสนใจที่เรามีต่ออีกฝ่าย

ตลอดการสนทนา ให้สังเกตภาษากายที่อีกฝ่ายแสดงออก เช่น กำลังมองอะไร กำลังยิ้มหรืออึดอัด กำลังขยับเท้าเพราะกังวล น้ำเสียงที่แสดงออกเป็นอย่างไร การสังเกตภาษากายของเขาช่วยให้คุณรู้ว่าอีกฝ่ายสบายใจที่จะพูดคุยต่อหรือไม่

ถ้าอีกฝ่ายพยายามจบบทสนทนาตั้งแต่ขั้นนี้ ก็ไม่ต้องรู้สึกแย่ คุณยังสามารถพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้อีก ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มโจมตีคุณ (เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย) คุณสามารถจบบทสนทนาไปเลยก็ได้ (เช่น ใช้คำพูดประมาณว่า “พระคัมภีร์บอกว่า” “พระเจ้าตรัสว่า” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอีกฝ่ายจะมักจะเดินหนีไปเอง)

ขั้นตอนนี้ง่ายที่จะเรียนรู้ เมื่อคุณลองทำมันดูก็จะพบว่ามันไม่ยากจริงๆ ลองตั้งเป้าว่าสัปดาห์หน้าจะให้เวลา 30 นาทีในการออกไปพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือ คนที่คุณยังไม่สนิท โดยเริ่มต้นด้วยการพูดคุยสัพเพเหระ และค่อยๆ นำไปสู่การพูดถึงเรื่องส่วนตัว ลองดูแล้วคุณจะเห็นจุดร่วม เช่น สิ่งที่คุณชอบเหมือนๆ กัน กิจกรรมที่ทำเหมือนกัน ในระหว่างการสนทนานั้น

3. พูดคุยเรื่องความเชื่อ (Religious Talk)

การสนทนาในขั้นตอนแรกถือเป็นการเตรียมก่อนไปสู่พระกิตติคุณ มันเป็นการสร้างความไว้วางใจ และตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ประเด็นกัน แต่ก่อนอื่นคุณอาจต้องทำลายสมมุติฐานที่ผิด (ถ้ามี) ผู้เชื่อส่วนใหญ่มักคิดว่า คนแปลกหน้าไม่สนใจพูดคุยเรื่องความเชื่อ (หรือศาสนา) ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้แต่พวกที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า (atheist) ก็ยังชอบพูดคุยเกี่ยวกับพระเจ้า

คนแปลกหน้าอาจมีความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลสำหรับผู้เชื่อ แต่พวกเขายินดีที่มีคนรับฟังพวกเขา คนแปลกหน้าบางคนอาจตอบสนองต่อพระกิตติคุณในทางลบ แต่พวกเขาจะชื่นชมเวลามีคนถามถึงความคิดของพวกเขา และรับฟังความคิดเห็นหรือปัญหาของพวกเขาเช่นกัน ดังนั้น การใส่ใจรับฟัง อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องพระเจ้า

ถ้าคุณฝ่าด่านมาถึงขั้นที่สามารถพูดคุยเรื่องความเชื่อได้แล้ว แต่เมื่อเริ่มขั้นที่ 3 อีกฝ่ายกลับดูนิ่งและเงียบลง ขอให้คุณหยุดก่อน แล้วกลับไปขั้นที่ 2 พูดคุยเรื่องส่วนตัวอื่นๆ อย่าลืมว่าเราไม่ได้พยายามยัดเยียดพระกิตติคุณให้ใคร

เมื่อเปาโลเป็นพยานใน กิจการ 17:17 เปาโลอธิบายให้เหตุผลกับพวกยิวและคนที่นับถือพระเจ้า แต่เปาโลไม่ได้ยัดเยียดพระกิตติคุณ เพราะหากอีกฝ่ายยังไม่สนใจพูดคุยเรื่องความเชื่อ ก็ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะให้เหตุผลกับคนๆ นั้น ฉะนั้นให้เราย้อนกลับไปคุยในขั้นที่ 2 และรักษาบรรยากาศการสนทนาที่เป็นมิตรเอาไว้

ในขั้นตอนของการเปลี่ยนบทสนทนาจากเรื่องสัพเพเหระไปสู่เรื่องส่วนตัวนั้น คุณเริ่มจากพูดถึงเรื่องส่วนตัวคุณแล้วจึงถามอีกฝ่ายถึงเรื่องเดียวกันบ้าง การเชื่อมบทสนทนาไปสู่เรื่องความเชื่อก็ทำแบบเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น “ส่วนใหญ่แล้ววันเสาร์ผมจะนอนตื่นสายๆ หน่อย แล้วบ่ายๆ จะไปกินข้าวข้างนอกกับครอบครัว ส่วนวันอาทิตย์ผมจะไปโบสถ์…” พอพูดถึงตรงนี้ให้รอสักพัก สังเกตภาษากายของเขา แล้วค่อยถามต่อว่า “แล้วคุณล่ะ ไปโบสถ์บ้างรึเปล่า” ไม่ว่าคำตอบจะเป็นแบบไหนก็ตาม เราก็สามารถถามต่อได้ว่า “แล้วคุณเคยอ่านพระคัมภีร์บ้างไหม”

จากจุดนี้ คุณยังถามต่อได้ว่า “คุณรู้ไหม ผมชอบฟังมุมมองที่คนอื่นพูดถึงเรื่องพระเจ้า คุณสนใจเล่าความเห็นคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ผมฟังบ้างไหม” แล้วก็ถามต่อว่า “คุณสนใจที่จะลองเปิดพระคัมภีร์อ่านด้วยกันสักครั้งมั้ย”

ขั้นตอนที่กล่าวมาทำได้ไม่ยาก หากลองทำดูอย่างต่อเนื่องสักพัก เราก็จะสร้างบทสนทนานี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่อย่าลืมว่า เป้าหมายของเรา คือ ทำให้คนแปลกหน้าที่เราสนทนาด้วยเปิดใจอ่านพระคัมภีร์กับเราเพียงแค่ครั้งเดียว

นี่เป็นตัวอย่างการเชื่อมโยงบทสนทนาไปสู่การพูดคุยเรื่องความเชื่อ

– ถามเพื่อนที่ย้ายเข้ามาใหม่ว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เช่น สถานที่ต่างๆ อยู่ที่ไหนบ้าง ที่ทำการไปรษณีย์ คริสตจักร โรงเรียน เสนอตัวช่วยเหลือในสิ่งที่เขาต้องการ
– พูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ พูดถึงความขัดแย้งต่างๆ เช่น อิสราเอล-อาหรับ
– พูดถึงความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมในสังคม และลองถามว่าเขาคิดว่าคนชั่วร้ายได้รับผลตอบแทนจากการกระทำของเขาไหม? (เชื่อมโยงไปสู่ความคิดว่าจะมีวันที่พระเจ้าจะพิพากษาพวกเราเช่นกัน)
– ออกความเห็นต่างๆ ตามหัวข้อข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์
– ใช้วันหยุดในเทศกาลต่างๆ เช่น คริสตมาส อีสเตอร์ เพื่อนำเข้าสู่เหตุผลที่แท้จริงของเทศกาลนั้น
– ใช้คำที่โยงถึงพระเจ้า เช่น ขอบคุณพระเจ้า ขอพระเจ้าอวยพรคุณ
– ใช้คำเรียกถึงพระนามพระเจ้าแตกต่างกัน เช่น พระเจ้า องค์ผู้สูงสุด พระเจ้าแสนดี พระเยซู องค์พระเยซูคริสต์
– แบ่งปันคำพยานชีวิตของคุณที่ไม่ใช่การเทศนา
– ยกคำพูดของคนอื่นที่พูดถึงพระเจ้าขึ้นมา เพื่อใช้เชื่อมโยงสู่เรื่องพระเจ้า

แล้วถ้าเพื่อนใหม่ของเราตอบสนองด้วยการเงียบล่ะ? ก็ให้ยิ้มแล้วย้อนกลับมาคุยถึงเรื่องส่วนตัวของเราต่อ พวกเขาอาจรู้ว่าคุณกำลังประกาศเขาอยู่ ดังนั้นไม่ต้องรู้สึกผิดหรือพยายามทำให้เขาเชื่อพระเจ้า อย่าเสียกำลังใจและรีบจบการพูดคุยเป็นพยาน ให้พระเจ้าทรงดูแลผลลัพธ์การประกาศของคุณ

ความจริงมีคนมากมายที่ยังไม่พร้อมคุยในเรื่องความเชื่อ เราต้องยอมรับความจริงนี้ ไม่ต้องกังวล และมองหาคนที่พร้อมตอบสนองต่อไป

แล้วกรณีที่เพื่อนใหม่ของเราเริ่มต่อต้านหรือโต้แย้งกลับล่ะ? ก็ให้เราค่อยๆ หยุดบทสนทนาอย่างสุภาพและรักษาความเป็นเพื่อนไว้ พวกเขาอาจสวนกลับด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพราะเคยรู้สึกแย่เมื่อมีคนมาเล่าเรื่องพระเจ้าก็เป็นได้

ดังนั้นสิ่งที่คุณช่วยเขาได้คือ รักษาความเป็นเพื่อนกับเขาต่อ อย่ากดดันให้เขารับฟังต่อ หรืออาจบอกเขาว่า คุณเองก็ไม่ชอบเหมือนกันเวลาเจอคนยัดเยียดความเชื่ออื่นๆ ให้เรา (ทำตัวเองให้เป็นพวกเดียวกับเขา) นี่อาจช่วยให้การพูดคุยต่อไปลดความตึงเครียดลงได้บ้าง

อีกเหตุผลหนึ่งที่คนมักต่อต้าน เพราะว่าพวกเขาจับทางได้ว่าท้ายที่สุดการพูดคุยนี้จะเปิดเผยสิ่งไม่ดีในตัวเขา ซึ่งพวกเขาไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่งกับความบาปหรือวิถีชีวิตของเขา บางทีก็ยากจะคาดเดาได้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำงานในจิตใจคนนั้นอย่างไร

หากอยากรักษามิตรภาพไว้ ให้คุณพยายามกลับไปสู่การพูดคุยเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องทั่วไปให้ได้ แม้จะเป็นเรื่องยากที่ทำให้คนที่ต่อต้านรุนแรงกลับมาพูดคุยได้เหมือนเดิม

และแม้คุณจะถูกโจมตีด้วยคำพูดที่หยาบคาย คุณอาจได้รับประสบการณ์แห่งความยินดีในการข่มเหงเพราะความเชื่อ ให้คุณยินดีและขอบคุณที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้คุณได้ร่วมทนทุกข์กับพระองค์ คำพยานของคุณกำลังส่งผลยิ่งใหญ่

“บัดนี้ พระองค์เจ้าข้า ขอทอดพระเนตรการข่มขู่ของพวกเขา และทรงให้บรรดาผู้รับใช้ของพระองค์กล่าวถ้อยคำของพระองค์ด้วยใจกล้า” (กิจการ 4:29)

4. พูดคุยเรื่องจิตวิญญาณ (Spiritual Talk)

หากคุณได้เชื่อมโยงจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องอย่างต่อเนื่อง คุณจะเริ่มสังเกตว่าคนนั้นอยากจะพูดคุยต่อไปหรือไม่ คุณต้องคอยประเมินว่า ทัศนคติและสิ่งที่คนๆ นี้แสดงออกมานั้นมันสื่อว่าเขาต้องการจะคุยในประเด็นด้านจิตวิญญาณอยู่หรือไม่? ซึ่งถ้าคุณสัมผัสถึงการเปิดใจนี้ในขั้นตอนที่ 3 คุณจึงค่อยขยับการพูดคุยไปสู่เรื่องฝ่ายวิญญาณทีละนิด

คุณสามารถเชิญเขาหรือเธอมาเยี่ยมที่คริสตจักรได้ แต่ต้องระวังด้วยว่ามันอาจดูคุกคามเกินไปตั้งแต่ครั้งแรก มี 2 คำถามที่คุณสามารถถามพวกเขาได้

– สมมติว่าคุณต้องเสียชีวิตตอนนี้ คุณสามารถพูดได้อย่างมั่นใจไหมว่าคุณจะได้ไปสวรรค์?
– ทำไมพระเจ้าถึงยอมให้คุณเข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ของพระองค์? คำถามนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่า คนๆ นี้วางใจในสิ่งใด

คุณสามารถเล่าข่าวประเสริฐรวดเดียวจบให้คนๆ นั้นฟังเลยก็ได้ แต่หากเลือกวิธีนี้ คุณต้องพยายามพูดให้เรียบง่ายที่สุด ยกตัวอย่างให้ชัดในแต่ประเด็น คนฟังจะเปิดใจง่ายขึ้นเมื่อเราพูดย้ำเรื่องหลักของข่าวประเสริฐหลายๆ ครั้งด้วยแง่มุมนำเสนอที่หลากหลาย

คุณสามารถชวนให้คนๆ นั้นลองอ่านพระคัมภีร์พร้อมกับคุณสักครั้ง เพื่อให้เขาเห็นว่าพระเจ้าได้พูดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราคุยกันอย่างไรบ้าง แม้วิธีนี้อาจทำให้คุณดูเป็นคนคุกคามบ้างก็ตาม จากนั้นคุณอาจเชิญคนๆ นั้นไปร่วมเข้าชั้นพระคัมภีร์เรื่องการประกาศที่คนอีกกลุ่มจัดขึ้นก็ได้ วิธีการนี้ช่วยให้คุณมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจนคุณสามารถเปิดชั้นเรียนด้วยตัวเองได้ในอนาคต

ไอเดียที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะช่วยให้คุณมีข้อคิดเห็นรวมถึงมีคำถามมากเพียงพอ ที่จะนำมาใช้ในเรื่องราวประจำวันเมื่อต้องพยายามเริ่มบทสนทนาเพื่อนำเข้าไปสู่เรื่องของจิตวิญญาณได้ คุณต้องลองฝึกฝนการใช้บทสนทนา 4 ขั้นตอนนี้ไว้ล่วงหน้า

กุญแจสำคัญคือต้องจำเป้าหมายของแต่ละขั้นตอนไว้ ไม่จำเป็นที่คุณต้องพูดข่าวประเสริฐรวดเดียวจบ แต่ดีกว่าถ้าคุณจะทำให้พวกเขาค่อยๆ สนใจถึงความเชื่อของตัวคุณ

 

บทความ:  Floyd E. Schneider – CrossWalk.com (คลิกที่นี่)
แปลและเรียบเรียง:  JK
ออกแบบภาพ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง