เป็นเรื่องง่ายที่เราจะตัดสินคนอื่นจากการกระทำ และตัดสินตัวเองจากความตั้งใจดี
บทพิสูจน์การพัฒนาลักษณะชีวิตของเรานั้นเป็นเรื่องท้าทายและยากลำบาก แน่นอนว่าเราอยากทำมันให้ดี แต่บางครั้งก็พบว่ามันยากมากที่จะทำได้
บางวันชีวิตเราก็ดีมาก เป็นวันแห่งชัยชนะ ขณะที่บางวันเราก็อายจนแทบไม่อยากมองหน้าตัวเองในกระจก เช่นกันมีวันที่เราทำตามเป้าหมายทางการเงินของตัวเองได้ และก็มีวันที่เราชังตัวเองเมื่อเงินหมดเกลี้ยง นี่ล่ะคือชีวิต
แต่ขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงประทานผลพระวิญญาณให้เรา
ผลของพระวิญญาณ
ด้วยพระปัญญาอันสัพพัญญู พระเจ้าทรงบรรจุเมล็ดพันธุ์ที่เป็นคุณลักษณะนิสัย 9 ชนิดไว้ภายในเราแต่ละคน และต้องถูกรับการบ่มเพาะให้เติบโต
ผลพระวิญญาณทั้ง 9 อย่าง คือ ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดี ความซื่อสัตย์ ความสุภาพอ่อนโยน การรู้จักบังคับตน
จากนี้คุณจะได้พบว่าผลพระวิญญาณแต่ละอย่าง มีองค์ประกอบด้านการเงินอยู่ในนั้น เงินมีส่วนเกี่ยวข้องกับแทบทุกส่วนในชีวิตเรา และพระคุณพระเจ้าก็ช่วยให้มั่นใจว่าเราจะดูแลจัดการเงินทองได้ตามน้ำพระทัยพระองค์
#1 – ความรัก (Love)
คนที่ไม่เป็นคริสเตียนมักชอบอ้างพระคัมภีร์ มัทธิว 7:1 และ 1 ทิโมธี 6:10 ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้มักถูกอ้างผิดๆ หรือผิดบริบท อย่างเช่น 1 ทิโมธี มักถูกใช้ผิดบ่อยๆ ว่า “เงินเป็นรากแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง” นี่เป็นการแปลความที่ผิด (“เงิน” เป็นกลางไม่ได้ชั่วร้าย “การรักเงิน” ต่างหากที่เป็นสิ่งชั่วร้าย)
เพราะว่าการรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองนี้ที่ทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย (1 ทิโมธี 6:10)
“ความรัก” เป็นคำที่มีนิยามหลากหลาย และมักถูกใช้สลับไปสลับมา เช่น เมื่อพูดว่า “ฉันรักพิซซ่า” รักแบบนี้ย่อมต่างจาก “รัก” ของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ
พระเยซูบอกให้เรารักพระเจ้าด้วยสุดจิต สุดใจ สุดความคิด สุดกำลัง และให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราควรทำ นั่นคือการวางความรักของเราไว้ในที่ที่เหมาะสม
ในคำอุปมาเรื่องคนต้นเรือนที่ไม่สัตย์ซื่อ พระเยซูได้สั่งให้เรา “จงทำตัวให้มีมิตรสหายด้วยเงินทอง” มันหมายความว่าอย่างไรกัน?
ในบริบทของคำอุปมานี้ เราต้องใช้เงินที่มีเพื่อแหวกนรกและขยายแผ่นดินสวรรค์ (ใช้เงินเพื่อสร้างโอกาสพาคนมารู้จักพระเจ้า) ฉะนั้นเราเป็นมิตรกับเงินได้ แต่ไม่ต้องรักมัน
#2 – ความยินดี (Joy)
ความยินดี ไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ถ้าขึ้นกับสิ่งภายนอกคงเป็นแค่ความสุข ยากอบได้หนุนใจว่า เมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากต่างๆ ให้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
เราสามารถเลือกได้ว่าจะ “ยินดี” หรือ “ทุกข์ใจ”
แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราไม่เคยเจอกับสถานการณ์ยากลำบากทางการเงิน แต่ละคนต้องเผชิญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทดสอบความเชื่อเราและบางทีก็รวมถึงสุขภาพจิตเราด้วย ในช่วงเวลาเหล่านั้นให้เราถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้น ผมรู้ว่ามันพูดง่ายแต่ทำยาก แต่มันก็ทำได้
ขอให้บรรดาผู้ที่เห็นชอบในชัยชนะของข้าพระองค์ โห่ร้องและยินดีปรีดา และกล่าวเสมอว่า “พระยาเวห์นั้นยิ่งใหญ่ พระองค์ผู้พอพระทัยในความสมบูรณ์พูนสุขของผู้รับใช้ของพระองค์” (สดุดี 35:27)
การมีความมั่งคั่งจึงไม่ใช่เรื่องแปลก อ้างอิงจากสดุดี 35:27 พระเจ้าทรงพอพระทัยในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าพวกเราจะโห่ร้องด้วยความยินดีได้ดังขึ้นเสียอีก
#3 – สันติสุข (Peace)
การทะเลาะกันเรื่องเงินเป็นสาเหตุหลักเรื่องหนึ่งที่นำไปสู่ความแตกร้าวในชีวิตคู่และการหย่าร้าง เมื่อสามีภรรยาทะเลาะกันด้วยเรื่องเงิน ผมรู้ว่ามันนำไปสู่สิ่งเลวร้ายได้ อัตตาเราจะถูกทำร้าย ความอ่อนแอจะถูกเปิดเผยออก ความฝันจะแตกเป็นเสี่ยงๆ และความหวังจะเลื่อนลอยไป
สันติสุข คือผลพระวิญญาณที่ทำให้ความขัดแย้งสิ้นสุด มันคือสภาวะที่ไร้ซึ่งปัญหาและความวุ่นวายใจ มันฟังดูสงบสุขและสบายดีใช่ไหม
และจงให้สันติสุขของพระคริสต์นำพาจิตใจของท่านทั้งหลาย พระเจ้าทรงเรียกท่านให้มาเป็นกายเดียวกันก็เพื่อสันติสุขนี้และจงมีใจขอบพระคุณ (โคโลสี 3:15)
ฟังดูเหมือนว่าเราเองมีส่วนในเรื่องนี้นะ มันขึ้นอยู่กับเราเองที่จะอนุญาตให้สันติสุขมาคุ้มครองจิตใจของเราหรือไม่
จริงอยู่ที่ว่าเราอาจตบะแตกได้ง่ายมากเมื่อตกอยู่ในความโกรธ แต่นั่นคือการขาดสันติสุข ธรรมชาติบาปของเรามักทำให้เราอยากโยนความผิด ชี้นิ้วตำหนิ กล่าวโทษผู้อื่น พฤติกรรมเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดสันติสุข
จงขอบพระคุณพระเจ้า การเงินเป็นเรื่องท้าทายและบางครั้งเราก็มีเงินไม่พอ แต่ก็ยังมีเรื่องให้เราขอบพระคุณได้เสมอ
ผมยอมรับว่าหลายครั้งตัวเองก็คิดถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มี มากกว่าพระพรมากมายที่ได้รับมา แต่ผมเชื่อว่ามีคนเป็นพันล้านที่ยินดีแลกปัญหาของพวกเขากับปัญหาของผม เมื่อมีความลำบากทางการเงินเกิดขึ้น ให้เราใช้เวลาสักครู่เพื่อขอบพระคุณพระเจ้าอย่างจริงใจสำหรับสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำแล้ว จงยอมให้สันติสุขของพระเจ้าคุ้มครองจิตใจและครอบครัวของคุณ
#4 – ความอดทน (Patience)
ผมคาดว่าคุณจะข้ามข้อนี้ไป เพราะไม่กี่คนที่ชอบคุยเรื่องความอดทน นอกจากนี้คริสเตียนจำนวนมากยึดถือสิ่งลี้ลับ คือเชื่อว่าถ้าไปพูดถึงเรื่องอะไร มันก็จะเกิดเรื่องแย่ๆ นั้นขึ้นกับพวกเขา แน่นอนว่ามันไม่จริง เราต้องก้าวข้ามความคิดที่ว่าพระเจ้าไม่ใช่จอมบงการชีวิต
ก่อนที่เราจะไปไกลกว่านี้ มีคำนิยามหนึ่งของความอดทนที่อาจเป็นประโยชน์ ความอดทน ไม่ใช่แค่การนั่งคอยอะไรนานๆ แต่มันคือ คุณสมบัติที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ หรือยอมแพ้ต่อการทดลอง คนที่มีความอดทนจะเป็นคนที่มีความมั่นคง
พี่น้องของข้าพเจ้า เมื่อพวกท่านพบกับการทดลองใจต่างๆ ก็จงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง เพราะพวกท่านรู้ว่าการทดสอบความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความทรหดอดทน และจงให้ความทรหดอดทนนั้นมีผลอย่างสมบูรณ์ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนที่สมบูรณ์และดีพร้อม โดยไม่ขาดสิ่งใดเลย (ยากอบ 1:2-4)
ไม่ว่าจะมีเรื่องร้าย สิ่งท้าทาย และเหตุการณ์ยากลำบากเกิดขึ้นกับคุณ คุณอาจวิ่งหนีแต่ไม่อาจหลบซ่อนจากมันได้ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เหล่านี้เข้ามา มันถึงเวลาที่เราต้องปรับมุมมองใหม่ หากเอาแต่คร่ำครวญว่าชีวิตมันช่างไม่ยุติธรรมเลย มันไม่ช่วยแก้ไขอะไร มีแต่จะทำให้มันยืดเยื้อออกไปอีก
เมื่อการทดลองต่างๆ เกิดขึ้น จงเลือกมองมันด้วยความชื่นชมยินดี ทำไม? เพราะพระเจ้ายังคงกระทำกิจอยู่ในเราตามน้ำพระทัยและตามความโปรดปราน ไม่ล้มเลิกความหวังใจในตัวเรา ยังทรงทำงานในชีวตเรา! (นี่ช่างเป็นข่าวดีจริงๆ)
ผมรู้ว่านี่มันยาก ชีวิตผมเองก็เหมือนตกอยู่ในฤดูที่จับอะไรก็หายนะไปหมด ผมรู้สึกเหมือนแอนดี้ในหนังเรื่อง The Office ตอนที่ไมเคิลยกลูกค้ารายใหญ่ทั้งหมดเป็นของขวัญให้แอนดี้ก่อนจากกัน “ผมกำลังจะทำให้เสียลูกค้าไปหมด”
แต่เมื่อผมตกอยู่ในการทดลองเหล่านี้ ผมรู้ว่าพระเจ้าทรงทำงานอยู่ภายใน ความอดทนของผมกำลังถูกพัฒนาขึ้นและพระเจ้าจะทรงมอบรางวัลให้ผม
#5 – ความกรุณา (Kindness)
น่าเศร้าที่ต้องพูดว่า “ความกรุณา” ไม่ถูกให้ความสำคัญเท่ากับผลพระวิญญาณด้านอื่น บางทีคนอาจเข้าใจกันผิด แต่จากนี้ไปผมหวังว่าชีวิตคุณจะพบการผลิดอกออกผลของพระวิญญาณที่เรียกว่าความกรุณา
ความกรุณาเปรียบเหมือนนกพิราบที่อ่อนสุภาพและไร้เล่ห์เหลี่ยมแบบงูร้าย ผมจดจำถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อคุณอยากมีใจการให้ที่กว้างขวางก่อนที่สมองจะเริ่มสั่งให้เปลี่ยนใจ นั่นเพราะคุณต้องการจะเป็นพระพร
สิ่งเหล่านี้ได้กล่อมเกลาคุณลักษณะในเราด้วย เมื่อแก่ตัวขึ้น เราลดความขัดแย้งลง มีแนวโน้มที่จะยกประโยชน์ให้ลูกหนี้ โดยทั่วไปเราจะมีใจกรุณามากขึ้นหลังจากเอาตัวรอดจากการใช้ชีวิตมาแล้ว
#6 – ความดี (Goodness)
ความดีเป็นคุณลักษณะที่ถูกกระตุ้นและแสดงออกในตัวมันเอง มันเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราทำบางอย่าง หากความกรุณาเป็นบ่อเกิดความคิดที่อยากเป็นพร ความดีจะนำความคิดนั้นมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
การมีเงินมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี แต่สุดท้ายเราต้องยอมรับว่า ชีวิตมีความหมายมากกว่าการสะสมเงินให้มากขึ้น หรือการเปลี่ยนสถานะทางการเงิน หรือเปลี่ยนความนับหน้าถือตาในวงศ์ตระกูล มีหลายคนที่อยากใช้ทรัพย์สินที่มีเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เด็ก เลี้ยงอาหารเด็ก หรือเพื่อก่อตั้งโรงพยาบาล
ความดีเป็นตัวเติมพลังให้ความกรุณาและทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น
#7 – ความสัตย์ซื่อ (Faithfulness)
มันเป็นเรื่องน่าเศร้าหากผมไม่พูดเรื่อง “ความสัตย์ซื่อ” เลยเมื่อต้องพูดคุยถึงพฤติกรรมการเงินของคนส่วนมาก เพราะเกือบ 80% ของชาวอเมริกันใช้เงินกันแบบเดือนชนเดือน และชาวอเมริกันเกือบ 40% ไม่มีเงินสดพอถึง 400 ดอลล่าร์สำหรับใช้จ่ายเวลาฉุกเฉิน
แต่ทว่าคนกลุ่มนี้กลับยึดติดความฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่เหมาะกับคนที่เพิ่งอายุพ้นยี่สิบปีมาไม่นาน พวกเขามีค่าผ่อนรถโดยเฉลี่ยมากกว่า 550 ดอลล่าร์ต่อเดือน เพราะสินเชื่อรถยนต์กู้ได้ง่าย ผมรู้จักหลายคนที่อายุยี่สิบกว่าๆ แต่ขับรถยนต์ใหม่เอี่ยม และพวกเขากลับต้องแบกรายจ่ายขนาดนี้ พวกเขามีรายรับที่ไม่มาก ยิ่งกว่านั้นยังชอบจ่ายออกไปก่อนที่จะได้เงินมาได้เสียอีก
ยิ่งกว่านี้ฝ่ายผู้อารักขาเหล่านั้นต้องเป็นคนที่สัตย์ซื่อทุกคน (1 โครินธ์ 4:2, KJV)
ความสัตย์ซื่อทางการเงินจึงเป็นมากยิ่งกว่าแค่คำแนะนำทั่วไป เปาโลใช้คำที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “ความสัตย์ซื่อเป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องมี”
#8 – ความสุภาพอ่อนน้อม (Gentleness)
ความสุภาพอ่อนน้อม ก็ถูกละเลยเช่นเดียวกับ ความกรุณา
พระคัมภีร์บางฉบับแปล เลือกใช้คำว่า ความนอบน้อม (meekness) แทน ความสุภาพอ่อนโยน (gentleness) ซึ่งก็ไม่ต่างกันมากนัก ทั้ง 2 คำนี้เป็นคำที่ทรงพลังมาก
พวกเรารู้ว่าโมเสสนั้นเป็นคนอ่อนโยน แต่โมเสสก็กล้าบุกเข้าไปในวังฟาโรห์และออกคำสั่งต่อหน้าฟาโรห์ได้! เมื่อเราอ่านในสดุดีและคำเทศนาบนภูเขา ผู้ที่อ่อนโยนจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก ฟังดูน่าสนใจดีนะ
พระเยซูพูดถึงตัวพระองค์เองว่าทรงอ่อนสุภาพ ซึ่งไม่ได้แปลว่าบอบบางปวกเปียก คนที่สุภาพอ่อนโยนไม่ได้เป็นพวกที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
คนที่เติบโตเต็มที่ในผลพระวิญญาณด้านความสุภาพอ่อนน้อม จะเป็นคนที่ทรงพลัง พวกเขาเองรับรู้ถึงพลังนี้ได้ด้วย เมื่อพระเยซูเสด็จเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็ม ทรงขี่ลูกลาตัวหนึ่ง แม้ดูต่ำต้อยและถ่อมตน แต่กลับทรงตระหนักดีว่าพระองค์เป็นใคร มีฤทธิ์อำนาจเพียงใด ด้วยอำนาจของพระองค์นั้นมีเหล่าทูตสวรรค์ที่พร้อมกำจัดมวลมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่พระองค์ทรงเลือกหนทางแห่งความสุภาพอ่อนน้อม
เราจึงไม่จำเป็นต้องโอ้อวดความมั่งคั่งหรือเงินทอง ไม่จำเป็นต้องใช้ความมั่งมีเป็นอาวุธต่อสู้ผู้อื่น
การยกฐานะตัวเองโดยดูจากคะแนนด้านการเงิน เป็นพฤติกรรมที่แย่และค่อนข้างไร้รสนิยม จงถ่อมใจ พวกเราแค่กำลังดูแลอารักขาทรัพย์ของพระเจ้า พระองค์ทรงวางใจคุณ ฉะนั้นจงดูแลและใช้ทรัพย์แบบเดียวกับที่พระองค์ทรงใช้ คือใช้ด้วยใจอ่อนสุภาพ
ผู้ใดเล่ากระทำให้ท่านวิเศษกว่าคนอื่น ท่านมีอะไรที่ท่านมิได้รับมาก็เมื่อท่านได้รับมา เหตุไฉนท่านจึงโอ้อวดเหมือนกับว่าท่านมิได้รับเลย (1 โครินธ์ 4:7, KJV)
#9 – การรู้จักบังคับตน (Self-control)
ผมเป็นผู้เชื่อที่มีสภาพการเงินมั่นคง ไม่มีหนี้สิน และพระคัมภีร์ไม่เคยพูดถึงการเป็นหนี้ในเชิงบวก “คนที่ขอยืมก็เป็นทาสของผู้ที่ให้ยืม”
การใช้ชีวิตโดยไม่มีหนี้สินเป็นเรื่องท้าทาย เพราะว่า การเป็นหนี้ คือวิธีที่ถูกใช้กันแพร่หลายเพื่อสร้างไลฟ์สไตล์ชีวิตให้กับสิ่งที่เราซื้อไม่ได้ การยอมตกเป็นหนี้ (ทาส) อาจมองได้อีกแบบว่าเราไม่พบความพึงพอใจกับการจัดเตรียมของพระเจ้า
เมื่อเรารู้สึกว่าควรต้องไปเที่ยวพักผ่อนที่ยุโรปแต่เราไม่มีเงินพอ เสียงแจ้งเตือนจากบัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดนั้นก็ดังยั่วยวนใจ และก่อนจะรู้ตัวอีกที เราก็กำลังจ่ายค่ากาแฟและครัวซองต์อยู่ที่ร้านอาหารในกรุงปารีสแล้ว
การรู้จักบังคับตน เป็นผลของพระวิญญาณที่ต้องมีเพื่อให้เราเตรียมพร้อมรับมือ มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้วินัย พระเยซูตรัสว่าถ้าเราต้องการเป็นสาวก เราต้องปฏิเสธตนเองทุกวัน ฟังดูง่ายไหม? มันไม่ง่ายเลย แล้วคุ้มค่าไหม? บอกเลยคุ้มมาก
สรุป
ของประทานพระวิญญาณ (Gifts of the Spirit) ขึ้นอยู่กับว่าเราได้รับหรือไม่ แต่สำหรับผลพระวิญญาณ (Fruit of the Spirit) ทุกคนจำเป็นต้องถูกพัฒนาให้เติบโตขึ้น
ยิ่งถ้าเรามองให้ลึกลงไป เราจะสามารถเป็นพยานถึงผลลัพธ์ทางการเงินที่น่าทึ่งได้โดยการพัฒนาผลพระวิญญาณในชีวิตเราให้มากขึ้น และคุณลักษณะทั้ง 9 นี้ได้อยู่ภายในเราแต่ละคนแล้ว และรอพวกเราทำให้มันผลิดอกออกผลไปด้วยกัน
บทความ: Tim Kiser, Biblemoneymatters.com
แปล: Wilaione
ภาพ: André François McKenzie on Unsplash
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น