บทความ

ข้อถกเถียงและจุดยืนของคริสตจักร เกี่ยวกับ LGBTQ+

I. คำศัพท์เพื่อความเข้าใจ

เนื่องจากหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่อาจเกิดขึ้นผมจึงขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษแทนคำในภาษาไทยบางคำที่ความหมายของคำอาจจะยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่เป็นที่เข้าใจร่วมกันมากเพียงพอในบริบทของสังคมไทย และเพื่อให้ท่านอ่านบทความได้อย่างราบรื่นผมจึงขออธิบายคำศัพท์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ดังต่อไปนี้ก่อน

  • sex หมายถึง เพศที่ “ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม” ตั้งแต่เกิด โดยแบ่งเป็น เพศชาย (male) เพศหญิง (female) และระบุแน่ชัดไม่ได้ (intersex)
  • gender identity หมายถึง เพศสภาพที่ “ถูกกำหนดโดยความรู้สึกของคน ๆ นั้น” โดยแบ่งเป็น man (ชาย), woman (หญิง), both (ทั้งสองเพศ) และ neither (ไม่ใช่ทั้งสอง)
  • gender expression หมายถึง การแสดงออกทางเพศ ในรูปแบบของ การแต่งตัว, เสียง และ พฤติกรรม
  • sexual orientation หมายถึง รสนิยมทางเพศ โดยแบ่งเป็น straight (ชอบเพศตรงข้าม), homosexual (ชอบเพศเดียวกัน โดยแบ่งเป็น gay กับ lesbian), bisexual (ชอบทั้งชายและหญิง), queer (คำนี้แปลได้หลายอย่างและอาจจะมีความหมายในเชิงลบ แต่โดยรวม ๆ คือ ชอบทุกเพศสภาพ บางครั้งใช้คำว่า pansexual), unsure (ยังไม่แน่ใจ) และ none (ไม่ชอบเรื่องเพศ บางครั้งใช้คำว่า asexual)
  • coming out หมายถึง กระบวนการที่คน ๆ หนึ่งออกมายอมรับ gender identity ของตัวเองในที่สาธารณะ
  • homophobia หมายถึง ความรู้สึกในด้านลบที่มีต่อ LGBTQ+ เช่น กลัว, โกรธ, เกลียด

และยังมีอีกหลายคำที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบทความ แต่หากจะสนทนาหรือศึกษาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ก็ควรทำความเข้าใจไว้ก่อน เช่น cisgender, transgender, ally, gender fluid ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาคำเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ thesafezoneproject.com/resources/vocabulary/

II. ความตั้งใจของผู้เขียน

หลังจากที่ได้รับการทาบทามจากทางทีมงาน ChristLike ให้เขียนมุมมองของพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ผมขอสารภาพว่ามีความหนักใจระดับหนึ่ง เพราะตระหนักว่า เรื่องนี้ (1) มีความซับซ้อนมาก (2) มีประวัติการต่อสู้มายาวนาน และ (3) ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ซึ่งหากเขียนได้ไม่ครบถ้วนหรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับบางฝ่ายได้ ดังนั้น จึงขอออกตัวก่อนว่าผมจะเขียนในฐานะนักวิชาการ และจะนำเสนอตามหลักวิชาแบบตรงไปตรงมาให้มากที่สุด แต่หากบทความนี้สร้างความไม่พอใจหรือผิดพลาดประการใดผมก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ความตั้งใจของผมคือ

(1) ต้องการนำเสนอข้อมูลและเหตุผลของทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน
(2) ปรารถนาให้แต่ละฝ่ายมีพื้นที่ในการพูดคุยกันได้มากขึ้น และ
(3) ปรารถนาที่จะเพิ่มพูนความรักความสามัคคีในพระกายของพระเยซูคริสต์

III. ประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวข้องกับ LGBTQ+

ในช่วงที่เรียนมัธยมต้นผมเรียนที่โรงเรียนชายล้วน และมีเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ บ้าง ซึ่งเด็กผู้ชายในยุคนั้นก็มักจะเห็นเป็นเรื่องตลกและแอบแกล้งแบบเบา ๆ กับคนกลุ่มนี้เสมอ (แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลียนแบบนะครับ) แต่ในความเป็นเด็กก็ยังไม่ได้คิดอะไรมากมาย แค่มองว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะเป็นอะไรก็ได้ ตราบใดที่เรายังไม่เดือดร้อนอะไร แต่มีอยู่คืนหนึ่ง ในขณะที่ผมไปเที่ยวกลางคืน และตัวเองซึ่งอยู่ในสภาพมึนเมา ก็ถูก LGBTQ+ กลุ่มหนึ่งมาลากเข้าไปในห้องน้ำ แต่เพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันก็ไปช่วยได้ทันก่อนที่จะมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น โดยหลังจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ทัศนคติที่มีคนกลุ่มนี้เป็นไปในแนวทาง “ไม่ชอบและระวังตัว” มากขึ้นเมื่อเจอคนกลุ่มนี้

พอได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และได้มาเป็นคริสเตียน ทางคริสตจักรได้สอนว่า “การเป็น LGBTQ+ เป็นความบาปและผิดธรรมชาติ” แต่ “พระเจ้าสามารถช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนกลับไปสู่เพศสภาพเดิมได้” ซึ่งในเวลานั้นผมก็เห็นด้วยและทำสิ่งต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแนวคิดแบบนี้มาโดยตลอด

แต่หลังจากที่คริสตจักรดังกล่าวเกิดปัญหาภายในในปี ค.ศ. 2008 ผมพบว่ามีหลายสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นหลักการของพระคัมภีร์ แต่เป็นเพียงเรื่องของการตีความ ผมจึงได้กลับมาทบทวนคำสอนต่าง ๆ ว่ามีสิ่งใดบ้างที่มาจาก “การตีความของผู้นำ” และ “สิ่งใดที่มาจากพระคัมภีร์” จึงได้ค้นคว้าหาความรู้เพื่อตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ที่เราเคยถูกสอนมา เช่น พระเจ้ามีจริงไหม, ความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์, หลักฐานการฟื้นพระชนม์, ของประทานฝ่ายวิญญาณ, การถวายทรัพย์ และ อีกมากมาย โดยที่ LGBTQ+ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่อยู่ในนั้น

IV. ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับ LGBTQ+

1. ความคิดเรื่อง LGBTQ+ ได้รับการยอมรับขึ้นมาก ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

จากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เรื่อง LGBTQ+ แทบไม่มีการพูดคุยในแวดวงคริสเตียนกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงวิชาการพระคัมภีร์, ในสถาบันสอนพระคริสตธรรมหรือในคริสตจักร แต่ ณ ปัจจุบันมีการพูดคุยกันในวงกว้างมาก มีเอกสารทางวิชาการและวารสารที่นำเสนอเรื่องนี้โดยตรง (Journal of Homosexuality) หนังสือ เว็บไซต์ วงสนทนา การอภิปรายเชิงถกประเด็น (debate) และอื่น ๆ อีกมากมาย กล่าวคือ กลุ่มที่สนับสนุน LGBTQ+ ได้เดินทางมาไกลพอสมควรในการทำให้คนในวงกว้างยอมรับมากขึ้น

จากข้อมูลของ Pew Research Center ระบุว่าในช่วง 2002 ถึง 2019 ประชากรในประเทศต่าง ๆ ที่ทำการสำรวจมีสัดส่วนในการยอมรับ homosexual มากยิ่งขึ้น เช่น อังกฤษ (จาก 74% ไป 86%), สหรัฐอเมริกา (จาก 51% ไป 72%), เคนย่า (จาก 1% ไป 14%) **สามารถดูรายละเอียดของข้อมูลได้ที่ www.pewresearch.org/global/2020/06/25/global-views-homosexuality-2019-appendix-a/

2. อัตราการฆ่าตัวตายของ LGBTQ+ มากกว่า straight แบบมีนัยยะ

จากการศึกษาพบว่าเหตุผลที่ LGBTQ+ ฆ่าตัวตาย ไม่ได้เกิดจาก sexual orientation หรือ gender identity แต่เกิดจากการถูกกดดันสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถูกตราหน้า ถูกล้อเลียน ไม่ได้การยอมรับจากครอบครัวเมื่อ coming out

จากข้อมูลงานวิจัยองค์กรควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า ในช่วงปี 2015 ถึง 2019 วัยรุ่น LGBTQ+ เป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่า วัยรุ่น straight ในหลายด้าน เช่น รู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียน ถูกขมขู่ด้วยการใช้อาวุธ ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และงานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้ข้อสรุปที่น่าตกใจว่า วัยรุ่น LGBTQ+ มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายมากกว่าวัยรุ่น straight แบบมีนัยสำคัญถึง 4 เท่า **สามารถดูรายละเอียดของข้อมูลได้ที่ www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/su/su6901a3.htm

3. ในแวดวงคริสเตียน มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ของกลุ่ม LGBTQ+ เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ และ ควรหยิบยกมาถอดบทเรียน หากมีโอกาสก็อยากจะเขียนยาว ๆ ให้อ่าน มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นจุดที่น่าสนใจ เช่น ในปี ค.ศ. 1996 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามใน the Defense of Marriage Act (DOMA) เพื่อระบุว่าทางรัฐบาลกลางจะยอมรับการแต่งงานระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาต่อต้าน LGBTQ+ นั่นเอง อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 2013 ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาออกมาระบุว่า DOMA ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และให้การยอมรับการแต่งงานเพศเดียวกัน (same-sex marriage) ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างมากขึ้น รวมไปถึงคริสตจักร โรงเรียนพระคริสตธรรม โดยเริ่มมีการเปิดสอนวิชาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ มากขึ้น (เป็นเหตุให้ผมเองก็ได้มีโอกาสลงเรียนวิชาใหม่เช่นกัน ชื่อว่า Sexual Ethics)

V. ข้อถกเถียงและจุดยืนของคริสตจักรเกี่ยวกับ LGBTQ+

หลายคนมักจะนึกว่ากลุ่มที่ถกเถียงเรื่องนี้มีเพียง 2 ฝั่ง คือ pro (เห็นด้วย) กับ anti (ไม่เห็นด้วย) เท่านั้น แต่หลังจากการอ่านเอกสารทางวิชาการและฟังการดีเบตมาจำนวนหนึ่ง ผมพบว่า position (จุดยืน) ในเรื่องนี้มีความหลากหลายมากกว่า 2 ฝั่ง โดยประเด็นที่ถกเถียงกันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ being (เป็น LGBTQ+) doing (การมีเพศสัมพันธ์ของ LGBTQ+) และ serving (บทบาทการรับใช้ในคริสตจักร)

1. Being

1.1 ความหมาย

Being หมายถึง คนที่ (1) gender identity ไม่ตรงกับ sex หรือ (2) sexual orientation ไม่ใช่ straight โดยจะพิจารณาเพียงด้านความรู้สึกและการแสดงออก แต่ไม่รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ต่อกัน (doing)

1.2 ประเด็นถกเถียง

จุดที่ถกเถียงในประเด็นนี้ คือ “อะไรคือสาเหตุของ LGBTQ+?” และ “LGBTQ+ สามารถกลับมาเป็น straight ได้ไหม?” ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ จะส่งผลต่อ รูปแบบการดูแล, นโยบายของคริสตจักรในวงกว้าง โดยแนวทางของคำตอบมีความหลากหลายดังต่อไปนี้

ก. มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจ

มุมมองนี้เชื่อว่ามนุษย์ใช้เจตจำนงเสรี (free will) เป็นผู้เลือกที่จะเป็น being โดยที่พระเจ้าไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลให้มุมมองนี้มองว่า being เป็นความบาป และ ไม่ใช่แผนการดังเดิมของพระเจ้า โดยคนกลุ่มนี้สามารถตัดสินใจกลับมาเป็น straight ได้ด้วยตัวเอง

ข. ผลของความบาปจากอาดัม

มุมมองนี้เชื่อว่าหลังจากอาดัมทำบาป มนุษย์จึงเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ LGBTQ+ กล่าวคือ LGBTQ+ เป็นผลมาจาก (1) ความเสื่อมของพันธุกรรม (genetic) (2) การปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่เสื่อม (kin selection) หรือ (3) ปัจจัยทางสังคมที่เสื่อม เช่น การเลี้ยงดู การกดขี่ โดยที่มุมมองนี้เชื่อว่าพระเจ้าไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงส่งผลให้มุมมองนี้มองว่า being เป็นเพียงการทดลอง (temptation) แต่ยังไม่มีการกระทำ ดังนั้น จึงยังไม่เป็นความบาป (บาป = การทดลอง + การกระทำ) แต่ก็ยังมองว่าผิดปกติ เฉกเช่นเดียวกับ ตาบอด หูหนวก โดยมุมมองนี้มองว่า ไม่สามารถกลับใจมาเป็น straight ด้วยตัวเองได้ แต่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากพระเจ้า

ค. พระเจ้าทดสอบ

มุมมองนี้ เชื่อว่า LGBTQ+ เป็น การทดสอบที่มาจากพระเจ้า ที่ต้องสอบให้ผ่าน ซึ่งส่งผลมุมมองนี้มองว่า being ไม่ได้บาป และเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และ เราควรเคารพในสิ่งที่เขาเป็น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขแต่อย่างใด กล่าวคือ เขาจะเปลี่ยน LGBTQ+ ต่อไป หรือ เป็น straight ก็สามารถทำได้

ง. ของประทานจากพระเจ้า

มุมมองนี้ เชื่อว่า LGBTQ+ เป็นสิ่งที่ดีและเป็นของประทานจากพระเจ้า คือให้มีลักษณะพิเศษเพื่อมาเสริมสร้างคริสตจักรในมุมใดมุมหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้มุมมองนี้มองว่า being ไม่ได้บาป และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างปกติ ดังนั้นจึงไม่ต้องเปลี่ยนหรือแก้ไขให้มาเป็น straight แต่อย่างใด

จ. ไม่รู้

มุมมองนี้เสนอว่าไม่มีพระคัมภีร์ที่พูดถึงสาเหตุของ LGBTQ+ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้ ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์คิดจึงเป็นเพียงการคาดเดาหรือการตีความเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้มุมมองนี้มองว่าเราไม่รู้ว่าเป็นบาปหรือไม่ และเราก็ไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขไหม ดังนั้นจึงปล่อยให้เป็นส่วนรับผิดชอบของพระเจ้ากับ LGBTQ+ เป็นการส่วนตัว

1.3 จุดยืนของคริสตจักร

เนื่องจากคำตอบของคำถามข้างต้นมีหลากหลาย จึงนำไปสู่จุดยืนของคริสตจักรที่หลากหลาย ดังต่อไปนี้

จุดยืน B0 – ไม่ตัดสินใจ

จุดยืน คือ ไม่พูด ไม่สอน ไม่กำหนดนโยบายในระดับคริสตจักร เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก หลักคิดและข้อพระคัมภีร์ที่ใช้สนับสนุนจุดยืนคืออย่าตัดสินพี่น้อง ให้พระเจ้าเป็นผู้ตัดสิน (มัทธิว 7:1, โรม 14:10, ยากอบ 4:11) อีกทั้งมีเรื่องอื่น ๆ ที่ควรตัดสินใจมากกว่าเรื่องนี้

จุดยืน B1 – บาปร้ายแรงตกนรก

จุดยืนนี้เชื่อว่า “มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจ” และมองว่าเป็นความผิดบาปร้ายแรงถึงขั้นตกนรก ดังนั้นนโยบายของคริสตจักรก็จะหนุนใจให้เปลี่ยนเป็น straight แบบเร่งด่วนเพราะเกี่ยวข้องกับความรอด โดยเริ่มจากเปลี่ยน sexual expression เช่น การแต่งกายและจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ หลักคิดและข้อพระคัมภีร์ที่ใช้สนับสนุนจุดยืนคือ LGBTQ+เป็นบาปร้ายแรงไม่มีส่วนในแผ่นดินสวรรค์ (1 โครินธ์ 6:9)

จุดยืน B2 – เป็นบาปทั่วไป

จุดยืนนี้เชื่อว่า “มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจ” เช่นกัน แต่มองว่าเป็นบาปทั่ว ๆ ไป ดังนั้นนโยบายของคริสตจักร ก็จะหนุนใจให้เปลี่ยนเป็น straight แต่ไม่เร่งด่วน โดยเริ่มจากเปลี่ยน sexual expression เช่น การแต่งกายและการจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ หลักคิดและข้อพระคัมภีร์ที่ใช้สนับสนุนจุดยืนคือเป็นบาปทั่วไป (มัทธิว 11:24) พระเจ้าเกลียดบาป แต่รักคนบาป (โรม 5:8)

จุดยืน B3 – ไม่เป็นบาป แต่ผิดธรรมชาติ

จุดยืนนี้เชื่อว่า “ผลจากความบาปของอาดัม” คือสาเหตุ ดังนั้นนโยบายของคริสตจักรก็จะเป็นแนวทางการต้อนรับ ไม่เร่งรีบให้เปลี่ยนเป็น straight แต่จะอธิษฐานเผื่อและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระเจ้า ไม่มองว่าเป็นความบาปแต่มองว่าผิดธรรมชาติ สิ่งที่ควรระวังและป้องกันคืออย่าให้มี doing ก็พอ โดยมักจะเปรียบเทียบจุดยืนนี้กับการดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวคือดื่มได้แต่ห้ามเมา ดังนั้น being ได้ แต่ห้าม doing หลักคิดและข้อพระคัมภีร์ที่ใช้สนับสนุนจุดยืนคือ LGBTQ+ เป็นเพียงการทดลอง (ฮีบรู 4:15) และผิดธรรมชาติ (ปฐมกาล 1:27)

จุดยืน B4 – ไม่เป็นบาป

จุดยืนนี้เชื่อว่า “พระเจ้า” ทรงเป็นสาเหตุ ดังนั้นนโยบายของคริสตจักรก็จะเป็นแนวทางการต้อนรับและไม่ต้องเปลี่ยนแต่อย่างใด อีกทั้งควรให้กำลังใจหากเป็นกรณีของการทดสอบ หรือควรชื่นชมยินดีในกรณีเป็นของประทาน จุดยืนนี้ไม่มีข้อพระคัมภีร์รองรับ

จุดยืน B5 – ไม่รู้

จุดยืนนี้เชื่อว่าพระคัมภีร์ไม่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับ being ดังนั้นการห้ามหรือการสนับสนุนเป็นนโยบายที่ตกขอบทั้งคู่ กล่าวคือคริสตจักรไม่ต้องไปกำหนดนโยบายแต่อย่างใด

ตารางสรุปประเด็นด้าน Being

2. Doing

2.1 ความหมาย

Doing หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ทางร่างกายของ LGBTQ+

หมายเหตุ
1. ฝั่งที่สนับสนุน doing จะสนับสนุนเฉพาะ doing ที่อยู่ภายใต้การแต่งงานเท่านั้น ส่วน doing ที่เกิดขึ้นก่อนการแต่งงานก็นับว่าเป็น fornication (การผิดประเวณี) หรือ doing ที่ไม่ใช่คู่ของตัวเองก็นับว่าเป็น adultery (การล่วงประเวณี)
2. บางเอกสารจะให้ความหมายแคบเพียง “ทางร่างกาย” แต่บางเอกสารให้ความหมายกว้างโดยนับรวม “การเกิดใจกำหนัด” ด้วย
3. คำศัพท์ที่ใช้ในแวดวงวิชาการ คือ คำว่า homosexuality

 2.2 ประเด็นถกเถียง

ในแง่มุมประวัติศาสตร์ doing ถูกมองว่าเป็นบาปมาโดยตลอด แต่หลังจาก LGBTQ+ ได้รับการยอมรับมากขึ้นอีกทั้งมีการยอมรับกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันจึงทำให้เกิดการพูดคุยทางวิชาการมากขึ้น และเริ่มมีนักวิชาการที่ให้แง่มุมการตีความพระคัมภีร์แบบใหม่ที่สามารถยอมรับ doing ว่าไม่ได้เป็นบาป ดังนั้น ในส่วนของ doing จึงมีเพียง 2 จุดยืนเท่านั้น คือ non-affirming (doing เป็นบาป) และ affirming (doing ไม่เป็นบาป) ผมได้รวบรวมข้อถกเถียงพร้อมทั้งเหตุผลของทั้งสองฝั่งมาให้ผู้อ่านพิจารณาดังต่อไปนี้

  1. การตีความที่ดีย่อมส่งผลที่ดี

  1. ความต้องการส่วนเกิน

  1. บทบาททางเพศ Gender Complementarity

Gender Complementarity เชื่อว่า ผู้ชายกับผู้หญิงมีความเท่าเทียมกันในเชิงคุณค่า (value) และ ฐานะ (status) แต่มีความแตกต่างในเชิงบทบาท (role) โดยที่ผู้ชายจะมีบทบาทในการนำหรือการตัดสินใจ และผู้หญิงจะมีบทบาทในการสนับสนุน

  1. พระธรรมปฐมกาลบทที่ 2 กล่าวว่าพระเจ้าสร้างชายและหญิง

  1. ปฐมกาลบทที่ 19 – เรื่องเมืองโสโดม

คำศัพท์สำคัญ คือ ปฐมกาล 19:5 yada (H3045) ถูกพบ 947 ครั้งในฉบับแปล KJV และถูกแปลว่า to know 645 ครั้ง
คำศัพท์สำคัญ คือ เอเสเคียล 16:50-51 to eba (H8441) ถูกพบ 117 ครั้งในฉบับแปล KJV และถูกแปลว่า abomination 113 ครั้ง

  1. เลวีนิติ 18:22 – ธรรมบัญญัติ

แม้ว่าพระคัมภีร์ไม่ได้แบ่งประเภทของข้อบังคับ แต่เพื่อความสะดวกมนุษย์จึงแบ่งข้อบังคับในพระคัมภีร์เดิมออกเป็น 3 ส่วนคือ moral law, ceremonial law และ civil law (แต่ผมจะขออธิบายเฉพาะ 2 อันแรกที่เกี่ยวกับบทความเท่านั้น)

ก. Moral Law (mishpatim) จะเกี่ยวข้องกับพระลักษณะของพระเจ้า เช่น ข้อบังคับด้านความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ดังนั้นหากผู้เชื่อทุกคนทำตามก็จะได้รับพระพร หากไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ โดยที่ moral law จะเป็นสิ่งที่ชี้ว่าเราทุกคนเป็นคนบาป

กลุ่มที่เชื่อว่า moral law สามารถบังคับใช้กับผู้เชื่อในปัจจุบัน ก็จะอ้างคำตรัสของพระเยซูในมัทธิว 5:18 แต่กลุ่มที่เชื่อว่า moral law ไม่สามารถบังคับใช้กับผู้เชื่อในปัจจุบัน ก็จะอ้างว่าการตายของพระเยซูเติมเต็มธรรมบัญญัติไปแล้ว โรม 10:4, โคโลสี 2:13-14 แต่โดยทั่วไปคริสเตียนเชื่อว่าหาก moral law ที่ถูกกล่าวซ้ำในพระคัมภีร์ใหม่ ก็ถือว่าเป็น moral law ที่ยังบังคับใช้กับผู้เชื่อในปัจจุบันด้วย

ข. Ceremonial Law (hukkim หรือ chuqqah) แปลตามตัวคือ ธรรมเนียมของชนชาติ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวอิสราเอล เช่น สัตวบูชา, เทศกาล, การแต่งกาย ซึ่ง ceremonial law จะเป็นเงาที่ชี้ไปถึงพระเยซู และคริสเตียนทั่วไปเชื่อว่า ceremonial law ไม่บังคับใช้กับผู้เชื่อในปัจจุบัน โคโลสี 2:16-17

  1. ขันที (eunuch)

  1. ดาวิดกับโยนาธานรักกัน

  1. โรม 1:26-27

  1. 1 โครินธ์ 6:9-11, 1 ทิโมธี 1:10

คำศัพท์สำคัญ คือ

1 โครินธ์ 6:9
malakos (G3120) ถูกพบ 4 ครั้งในฉบับแปล KJV ถูกแปลว่า soft 3 ครั้ง และแปลว่า effeminate 1 ครั้ง ซึ่งหมายถึง การแสดงออกถึงความไม่เป็นชายของเด็กที่ร่วมเพศกับผู้ใหญ่หรือผู้ชายที่กำลังร่วมเพศแบบผิดปกติ

arsenokoites (G733) ถูกพบ 2 ครั้งในฉบับแปล KJV มาจากคำว่า arren (G730) แปลว่า ผู้ชาย และ koite (G2845) แปลว่า ที่นอน, ที่นอนของคู่แต่งงาน หรือ การมีเพศสัมพันธ์

เลวีนิติ 20:13
sakab (H7901) et (H854) zakar (H2145) คือ lie with mankind (ชายใดนอนกับผู้ชาย)

  1. ยูดา 1:7

คำศัพท์สำคัญ คือ ยูดา 1:7 Ekporneuo (G1608) ถูกพบ 1 ครั้งในฉบับแปล KJV ถูกแปลว่า give one’s self to fornication 1 ครั้ง มาจากคำว่า Ek (G1537) แปลว่า out of และ porneuo (G4203) แปลว่า give one’s self to unlawful sexual intercourse

2.3 จุดยืนคริสตจักร

เนื่องจากในประเด็น doing มีเขียนเอาไว้ค่อนข้างมากในพระคัมภีร์ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่คริสตจักรจะมีจุดยืน “ไม่สอน” หรือ “ไม่รู้” เท่าที่สังเกตจะมีจุดยืนเพียง 2 แบบ คือ affirming กับ non-affirming

3. Serving

3.1 ความหมาย

Serving หมายถึง การมีบทบาทรับใช้พระเจ้าในคริสตจักรในระดับต่าง ๆ เช่น มัคนายก, ทีมนมัสการ, เทศนา, ศิษยาภิบาล และ อื่น ๆ

หมายเหตุ  คำศัพท์ที่ใช้ในแวดวงวิชาการ คือ คำว่า ordination

3.2 ประเด็นถกเถียงและจุดยืนคริสตจักร

ข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ คือ การแต่งตั้ง LGBTQ+ เป็นผู้รับใช้มีมานานแล้ว แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็น LGBTQ+ ที่ยังไม่ coming out แต่ทว่าในปี ค.ศ. 1972 United Church of Christ เป็นกลุ่มคริสตจักรโปรแตสแตนท์แห่งแรกที่บรรพชานักบวชที่เป็นเกย์ (ordain openly gay clergy) และหลังจากนั้นก็มีคริสตจักรอีกหลาย ๆ แห่งทำตาม เช่น ค.ศ. 1999 The Church of England แต่งตั้งบาทหลวงที่เป็นเกย์ (ordain openly gay bishop), America Episcopal Church, United and Reformed Lutheran Church และอีกมากมาย ดังนั้น จุดถกเถียงที่สำคัญในประเด็นนี้คือ “LGBTQ+ สามารถทำการ serving ได้ไหม? และได้ถึงระดับใด?” ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ จะส่งผลต่อรูปแบบการรับใช้และนโยบายของคริสตจักรในวงกว้าง โดยแนวทางของคำตอบมีความหลากหลายดังต่อไปนี้

จุดยืน S1 ห้ามมีบทบาทในคริสตจักร

จุดยืนนี้มองว่า being เป็นความบาป ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่เห็นผลของการกลับใจใหม่ในการเปลี่ยนไปเป็น straight ก็ยังไม่สามารถให้มีส่วนในการรับใช้ได้ หลักคิดและข้อพระคัมภีร์ที่ใช้สนับสนุนจุดยืนนี้ คือ การรับใช้พระเจ้าต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงดีในหมู่คนภายนอก เพื่อเขาจะได้ไม่ถูกติเตียน 1 ทิโมธี 3:1-7

จุดยืน S2 มีบทบาทในคริสตจักรในบางระดับ

จุดยืนนี้มองว่า being ไม่เป็นความบาป แต่ก็ยังถือว่าผิดปกติ ดังนั้นเพื่อเห็นคนที่มีความรู้น้อย (หรือคนที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้) ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ being มีบทบาทในคริสตจักรมากนัก โดยหลักคิดและข้อพระคัมภีร์ที่ใช้สนับสนุนจุดยืนนี้ คือ 1 โครินธ์ 8:7-12 กล่าวคือโดยความรู้ (ทำให้ลำพอง) แม้ว่าจะรับใช้ได้ แต่โดยความรัก (ทำให้เสริมสร้าง) เราควรเห็นแก่คนที่มีความเชื่อน้อยและไม่เป็นเหตุให้คนเหล่านั้นสะดุด อีกทั้งระวังไม่ให้สิทธิของเราทำให้คนที่มีความเชื่ออ่อนแอสะดุด หรือ ใน 1 โครินธ์ 9:12 กล่าวว่าเปาโลมีสิทธิ์ในการรับการเลี้ยงดูจากทางคริสตจักร แต่เปาโลก็สละสิทธิ์นั้นเพื่อไม่วางสิ่งกีดขวางใด ๆ ต่อข่าวประเสริฐของพระคริสต์ โดยจุดยืนนี้มองว่า being อาจจะเป็นสิ่งกีดขวางต่อข่าวประเสริฐ นอกจากนั้น 1 โครินธ์ 10:23-24, 33 ก็กล่าวว่าโดยเราทำทุกอย่างได้ แต่ต้องให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

จุดยืน S3 มีบทบาทได้ในทุกระดับ

จุดยืนนี้มองว่า being ไม่เป็นความบาป และเป็นสิ่งปกติ รวมไปถึงจุดยืน B5 ที่มองว่าไม่รู้ ดังนั้นจุดยืนนี้จึงมองว่า being สามารถรับใช้ได้เหมือนคนทั่ว ๆ ไป ตราบใดที่ยังไม่มีในส่วนของ doing ข้อมูลที่สนับสนุนจุดยืนนี้ คือ การแต่งตั้งให้เป็น bishop ของคริสตจักรจำนวนมากในอดีต

ตารางสรุปประเด็นด้าน Serving

จากประเด็นการถกเถียงข้างต้น เราจะพบว่าจุดยืนของคริสตจักรขึ้นอยู่กับจุดยืนของ 3 คำถาม คือ

(1) Being เป็นบาปไหม
(2) Doing เป็นบาปไหม และ
(3) รับใช้ในบทบาทใดได้บ้าง

เราจึงสามารถแบ่งจุดยืนของคริสตจักรได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

 ตารางสรุปจุดยืนของคริสตจักร

ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเกี่ยวกับ LGBTQ+

  1. ประวัติการต่อสู้ของ LGBTQ+ เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจมุมมองได้ครบถ้วนมากกว่าเดิม เช่น การก่อตั้งและการล่มสลายขององค์กร EXODUS หรือ การอภิปรายถกประเด็นภายในของ United Methodist Churches เกี่ยวกับ LGBTQ+ และอีกมากมายที่น่าสนใจ
  2. ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ในอดีตคริสตจักรส่วนใหญ่มีมุมมองแบบ Anti แต่ปัจจุบันแนวโน้มของคริสตจักรเริ่มขยับมาที่ welcoming และ accepting มากขึ้น นั่นหมายความว่าพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้ได้เปิดกว้างขึ้น อีกทั้งได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
  3. ณ ปัจจุบัน แม้ว่าการตีความของ affirming จะถูกพบเห็นมากขึ้นตามหนังสือ เว็บไซต์ หรือ เวทีดีเบทต่าง ๆ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนักในสถาบันพระคริสตธรรม (seminary) ดังนั้น หากฝั่ง affirming ต้องการจะรุกล้ำเข้าไปในแวดวงวิชาการ อาจจะต้องผลิตชิ้นงานใหม่ ๆ ทางวิชาการที่มีน้ำหนักมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการตีความของตน
  4. จุดที่ทุกฝ่ายควรตระหนัก คือ การเคารพความเห็นและความเชื่อที่แตกต่างของคนในวงสนทนา โดยตระหนักเสมอว่าการตีความของเราอาจจะมีจุดบกพร่องได้ อย่าไปยึดติดว่าการตีความของเราจะถูกเสมอ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศในวงสนทนาดีขึ้น
  5. มนุษย์แต่ละคนจะมีบริบทชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ที่กางเขนนั้นพระเยซูได้ตายไถ่บาปให้กับคนทุกบริบท ดังนั้นคริสตจักรไม่ควรมีกำแพงใด ๆ ที่กีดกันข่าวประเสริฐนี้ แต่ควรมีระบบการดูแลและการรับใช้ที่สามารถรองรับคนทุกบริบทได้

บรรณานุกรม

Centers for Disease Control and Prevention (2020, August 21). Trends in Violence Victimization and Suicide Risk by Sexual Identity Among High School Students — Youth Risk Behavior Survey, United States, 2015–2019. https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/su/su6901a3.htm.

Childers, A. [Alisa Childers]. (2020, Apr 28). Homosexuality: Should Christians Agree to Disagree? With Alan Shlemon – Alisa Childers podcast #68. https://www.youtube.com/watch?v=B3pKbCodhbs.

Childers, A. [Alisa Childers]. (2020, May 12). Answering the Reformation Project, With Alan Shlemon – The Alisa Childers Podcast #69. https://www.youtube.com/watch?v=WGtXXd4TNHc&list=RDLVB3pKbCodhbs&index=2.

McDowell, S. [Sean McDowell]. (2018, Feb 3). What Does the Bible Say About Homosexuality? Sean McDowell and Matthew Vines in Conversation. https://www.youtube.com/watch?v=yFY4VtCWgyI.

McDowell, S. (2020). Chasing love: Sex, love and relationships in a confused culture. Nashville, TN: B & H Publishing.

McDowell, S., & Stonestreet, J. (2014). Same-sex marriage: A thoughtful approach to god’s design for Marriage. Ventura, CA: Baker Books.

Moon, Dawne. (2014). Beyond the Dichotomy: Six Religious Views of Homosexuality. Journal of homosexuality. 61. 10.1080/00918369.2014.926762.

Pew Research (2020, June 25). THE GLOBAL DIVIDE ON HOMOSEXUALITY PERSISTS. https://www.pewresearch.org/global/2020/06/25/global-views-homosexuality-2019-appendix-a/.

Safe Zone Project. LGBTQ+ Vocabulary Glossary of Terms. https://thesafezoneproject.com/resources/vocabulary/.

Sprinkle, P. M. (2021). Embodied: Transgender identities, The Church & What the Bible has to say. Colorado Springs, CO: David C Cook.

The Reformation Project. Brief Biblical Case for LGBTQ Inclusion. https://reformationproject.org/biblical-case/.

Vines, M. [Matthew Vines]. (2012, Mar 10). The Gay Debate: The Bible and Homosexuality. https://www.youtube.com/watch?v=ezQjNJUSraY.

ชมรมนักคิดคริสเตียนไทย. ถามตอบ เรื่อง: LGBTQ+ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ. พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพมหานคร: องค์กรกนกบรรณสาร, 2020.

 

บทความโดย : ดร.อาณัติ เป้าทอง
Graphics by : Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง