ในวิชาหลักการตีความหมายพระคัมภีร์และการประยุกต์ จะมีประเด็นการวิเคราะห์เรื่องโครงสร้างทางภาษา (คำและไวยกรณ์) ซึ่งจะต้องทำการค้นหาความหมายของคำที่พระคัมภีร์ใช้ว่าใช้ในความหมายอย่างไร กรณีไหนบ้าง เป็นต้น
นักศึกษาคนหนึ่งได้ถามว่า Logos (โลกอส) กับ Rhema (เรมา) เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องบอกว่าในมุมมองของนักวิชาการพระคัมภีร์ส่วนใหญ่เห็นว่าคำกรีกทั้งสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน ผมจะอธิบายเรื่องนี้โดยใช้หลักการตีความหมายพระคัมภีร์ (การวิเคราะห์โครงสร้างทางภาษา) ที่ได้สอนไป
คำว่า Logos ถูกใช้ทั้งหมด 316 ครั้ง (เช่น ยน. 1:1; ลก. 8:11; ฟป. 2:16; ฮบ. 4:12; มธ. 7:24; มก. 4:14; ลก. 5:1; ยน. 18:32; กจ. 6:7 เป็นต้น) ส่วนคำว่า Rhema ถูกใช้ 67 ครั้ง (เช่น ลก. 1:38; 3:2; 5:5; กจ. 11:16; มก. 14:72; ลก. 3:2; ยน. 14:10; กจ. 11:14 เป็นต้น)
พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษแปลคำนี้ว่า Word
พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “พระวาทะ” “คำ” “ถ้อยคำ” “พระวจนะ” “พระดำรัส” ซึ่งก็หมายถึงทั้ง “คำตรัส” และ “ข้อเขียนในพระคัมภีร์”
ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “เรมา” คือ พระคัมภีร์ใหม่ไม่เพียงใช้เพื่อหมายถึง คำตรัส หรือ พระวจนะของพระเจ้า เท่านั้น แต่พระคัมภีร์ใหม่ยังใช้เพื่อหมายถึง คำพูดของมนุษย์ที่พระเจ้าจะพิจารณาในวันพิพากษาด้วย เช่น “ส่วนเราบอกพวกท่านว่าคำ (เรมา) ที่ไม่เป็นสาระทุกคำซึ่งมนุษย์พูดนั้น มนุษย์จะต้องรับผิดชอบถ้อยคำเหล่านั้นในวันพิพากษา” (มธ. 12:36)
บางครั้งก็หมายถึง คำตรัสของพระเยซู หรือถ้อยคำของพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นคำตรัสกับบุคคลใดเป็นพิเศษ (มก. 9:32 ดู ลก. 2:50)
ไม่เพียงเท่านั้น “เรมา” ยังอาจแปลได้ว่า “เรื่อง” หรือ “สิ่ง” เช่น “เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด (เรมา) ที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” (ลก. 1:37; ดู ลก. 2:19) นอกจากนี้คำว่า “เรมา” ยังหมายถึง คำพูดของทูตสวรรค์ (ลก. 1:38)
สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “เรมา” นี้ ถึงแม้จะอยู่ในบริบทเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเดียวกัน เช่น ลูกา 2:50-51 “แต่บิดามารดาไม่เข้าใจคำ (เรมา) ที่พระเยซูกล่าวกับเขาทั้งสอง แล้วพระกุมารก็ลงไปกับบิดามารดา ยังเมืองนาซาเร็ธ และยอมเชื่อฟังเขาทั้งสอง ส่วนมารดาเก็บเรื่องราว (เรมา) ทั้งหมดนั้นไว้ในใจ”
บางคนอาจจะถามว่า “แล้วเราจะอธิบายเรื่องการตรัสหรือพระสุรเสียงของพระเจ้าอย่างไร… พระเจ้าตรัส (เรมา) กับมนุษย์ไม่ได้หรือ” แน่นอนพระองค์ทำได้ และพระองค์ก็ทำอย่างนั้นอยู่บ่อย ๆ บางครั้งพระองค์ตรัสในจิตใจของเราขณะเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ หรือฟังคำเทศนา
แต่นี่ก็ไม่ใช่คำอธิบายที่ว่า “เรมา” สำคัญกว่า “โลกอส” อย่างที่บางคนหรือบางกลุ่มอธิบาย เพราะว่าพระเจ้าจะไม่ตรัสอะไรที่ขัดแย้งกับพระวจนะที่เขียนไว้แล้ว (Logos)
ตัวทดสอบที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เราตีความหมายผิดหรือสอนผิดๆ ก็คือ สิ่งใดก็ตามที่พระเจ้าตรัสกับเราหรือสำแดงกับเรา จะไม่ขัดแย้งกับเนื้อความในพระคัมภีร์ (written word) และการที่พระเจ้าตรัสกับเราก็ไม่ได้หมายความว่าเราพิเศษกว่าคนอื่นๆ แต่หมายความว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์บางอย่างกับเรา
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมเตรียมคำเทศนา พระเจ้าจะตรัสหรือสำแดงให้ผมเห็นถึงพระประสงค์ของพระองค์ในพระคำตอนที่ผมกำลังจะเทศนา นั่นก็เป็นเพราะว่าพระเจ้ากำลังใช้ผมให้เป็น “กระบอกเสียง” ของพระองค์ เพื่อเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์กับผู้ฟังคำเทศนา
ดังนั้นการที่บางคนหรือบางกลุ่มที่นิยมอ้าง “เรมา” อย่างมาก โดยอ้างว่า “เรมา” คือถ้อยคำที่ผู้นำได้รับการเปิดเผยเป็นพิเศษจากพระเจ้า และถือเป็นสิทธิอำนาจสูงสุด หรือ เป็นวิธีการเปิดเผยของพระเจ้าที่ให้แก่ผู้นำโดยตรง จึงไม่สอดคล้องกับความหมายของ “เรมา” อย่างที่ได้อธิบายไป
บทความ: ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี
ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
อาจารย์สถาบันพระคริสตธรรมศึกษา Faith Bible Institute
ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวไทย
ภาพ: Alif Caesar Rizqi Pratama on Unsplash
ออกแบบ: rainniedesign
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น