ความหมายของคำว่า “รัก” เป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามค้นหา พยายามที่จะเข้าใจ และพยายามที่จะบรรยายด้วยถ้อยคำต่างๆ
ตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน บางคนกล่าวว่าความรักคือการให้ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ก็ยังไม่พอ เพราะความรักก็ต้องรู้จักที่จะเป็นผู้รับด้วย บางคนบอกว่าความรักคือความปรารถนาในสิ่งที่ตนต้องการหรือในบุคคลที่ตนเองชอบ ซึ่งก็น่าจะเป็นความหลงมากกว่าที่จะเป็นความรัก มีความพยายามอื่นๆ อีกมากมายที่จะบรรยายความหมายของความรักให้ชัดเจนและซาบซึ้งใจที่สุด และเราก็พบว่ามนุษย์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ให้คำนิยามของคำว่า “รัก” แตกต่างกันไป แต่เราคงจะไม่สามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่ารักได้ถ้าเราไม่รู้จักผู้ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความรัก
พระคริสตธรรมคัมภีร์บันทึกว่า พระเจ้าทรงเป็นความรัก (1 ยอห์น 4:8) และพระองค์ผู้ทรงเป็นความรักนี้ได้กำหนดนิยามของคำว่ารักไว้ให้เรารู้จักในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระธรรม 1 โครินธ์ 13:4-7 และนี่คือนิยามความรักที่ยังคงถูกต้องและชัดเจนอยู่เสมอในทุกยุคทุกสมัย
ความรักนั้นก็อดทนนาน (Love suffers long – ฉบับ NKJV)
คำว่า “อดทน” ในพระธรรมข้อนี้ (ภาษากรีกคือ μακροθυμεῖ มาโครธูเมอิ) หมายถึง การไม่ตอบโต้ต่อการข่มเหงหรือการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นคำๆ นี้ยังมีนัยของความกว้างขวางและยาวนานอีกด้วย (มาโคร Makro แปลว่า ใหญ่ กว้าง ยาวนาน)
ลีโอนาโด ดาวินซี นักปราชญ์และจิตรกรเอกของโลก เคยกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ความอดทนคือสิ่งที่ปกป้องคุณเมื่อใครบางคนปฏิบัติต่อคุณอย่างไม่ถูกต้อง ดังเช่นที่เสื้อผ้าปกป้องคุณจากความหนาวเย็น เพราะถ้าอากาศเย็นลงมากๆ แต่คุณสวมเสื้อผ้าให้หนาขึ้น ความหนาวเย็นนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรคุณได้”
พระเยซูคริสต์คือภาพสะท้อนของความอดทนที่ไม่มีใครเทียบได้ พระคัมภีร์กล่าวว่า “พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปเลย และไม่พบการล่อลวงในพระโอษฐ์ของพระองค์เลย เมื่อเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรงกล่าวตอบเขาด้วยคำหยาบคายเลย เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ พระองค์ไม่ได้ทรงขู่อาฆาต แต่ทรงมอบพระองค์เองไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม” (1 เปโตร 2:22-23)
พระธรรม 2 เปโตร 3:9 ยังได้เน้นย้ำให้เราประจักษ์อีกว่าพระเจ้าทรงเป็นแบบอย่างที่ดีเลิศแห่งการอดทนเพราะ “องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องพระสัญญาของพระองค์ ตามที่บางคนคิดนั้น แต่ทรงอดทนกับพวกท่าน พระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้ใครพินาศเลย แต่ประสงค์ให้ทุกคนกลับใจใหม่”
พระเจ้าทรงอดทนกับความผิดพลาดของมนุษย์อยู่เสมอและให้โอกาสพวกเขาได้กลับตัวกลับใจใหม่ ตั้งแต่เริ่มสร้างโลกมาจนถึงปัจจุบันพระองค์ทรงอดกลั้นพระทัยและให้อภัยครั้งแล้วครั้งเล่ามาเป็นเวลาหลายพันปี อันที่จริงเราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้เชื่อได้รับชีวิตใหม่ด้วยการกลับใจจากการเป็นศัตรูกับพระองค์ได้ก็เพราะพระองค์ทรงอดทนกับพวกเรา และพระองค์เองก็ทรงคาดหวังว่าเราจะอดทนกับคนอื่นเพื่อแสดง “ความรัก” ที่มีต่อพวกเขาดังเช่นที่ทรงสำแดงความรักที่มีต่อเราเช่นกัน
ความรักมีใจปรานี (Love is kind)
ถ้าการอดทนนานเปรียบเหมือนเด็กที่นั่งอยู่บนกระดานหก (ไม้กระดก) ด้านหนึ่ง การมีใจปรานีก็เป็นเหมือนเด็กที่นั่งอยู่บนกระดานหกอีกด้านหนึ่ง เด็กคนเดียวเล่นกระดานหกไม่ได้ฉันใด ความอดทนที่ปราศจากใจปรานีก็ยังไม่ใช่ความรักที่แท้จริงฉันนั้น เพราะความอดทนเพียงอย่างเดียวอาจจะกลายเป็นแค่การเก็บกดอารมณ์ความรู้สึก หรืออาจจะกลับกลายความเคียดแค้นและรอวันที่จะทำการร้ายตอบแทนไปก็ได้
พระคัมภีร์จึงกำชับว่าผู้ที่มีความรักนั้นจะต้องไม่เพียงแค่อดทนไว้เฉยๆ เท่านั้น แต่ต้องตอบโต้ด้วย แต่เป็นการตอบโต้ด้วยความปรานีแทนที่จะเป็นการทำร้ายหรือการปองร้าย การแก้แค้นไม่ได้ทำให้ความบาดหมางสิ้นสุดลง แต่เป็นเพียงการแพร่กระจายความบาดหมางไปยังคนที่มีสายสัมพันธ์ต่อคนที่เราแก้แค้นเขาเท่านั้นเอง นี่เป็นสาเหตุทำให้คน 2 กลุ่มแก้แค้นกันไปแก้แค้นกันมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น
ดังนั้นความรักที่แท้จริงจึงไม่ใช่การอดทนต่อการข่มเหงเท่านั้น แต่ยังเป็นการหยิบยื่นสิ่งที่ดีให้กับผู้ที่ข่มเหงตนอีกด้วย ดังเช่นที่พระธรรมโรม 12:14, 17-21 บันทึกว่า “14จงอวยพรแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน จงอวยพร อย่าแช่งด่าเลย…17อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ใครเลย แต่จงมุ่งทำสิ่งที่ใครๆ ก็เห็นว่าดี 18ถ้าเป็นได้ เท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับท่าน จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน 19นี่แน่ะ ท่านผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า อย่าแก้แค้น แต่จงมอบการนั้นไว้ แล้วแต่พระเจ้าจะทรงลงโทษ เพราะมีคำเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “การแก้แค้นเป็นของเรา เราเองจะตอบแทน” 20แต่ว่า “ถ้าศัตรูของท่านหิว จงให้อาหารเขารับประทาน ถ้าเขากระหายน้ำก็จงให้น้ำเขาดื่ม เพราะว่าการทำเช่นนั้น จะทำให้เขารู้สึกตัวและกลับมาคืนดี” 21อย่าให้ความชั่วชนะเราได้ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี””
การขอโทษสักพันครั้งก็ยังไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งจบลงได้ แต่การให้อภัยเพียงครั้งเดียวต่างหากที่ทำให้ความบาดหมางสิ้นสุดลงได้อย่างแท้จริง และการให้อภัยนั้นคือการแสดง “ใจปรานี” ต่อผู้ที่ทำผิดต่อตนเอง หลังจากการอดทนนาน แล้วพระเจ้าเองจะทรงเป็นผู้ที่เปลี่ยนทั้งสองฝ่ายให้กลายเป็นมิตรกันได้ด้วยนิยามแห่งความรักคู่แรกนี้ (คืออดทนนานและมีใจปรานี)
ความรักไม่อิจฉา (Love does not envy)
ความอิจฉาคืออะไร? ความอิจฉาคือความรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับสิ่งที่ดี โดยเฉพาะถ้าสิ่งที่ดีนั้นดีกว่าสิ่งที่ตนเองมี ความอิจฉาเป็นความบาปที่ร้ายมาก ถึงขั้นที่กลายเป็นสาเหตุของการฆาตกรรมครั้งแรกบนโลกนี้ (อ่านเรื่องราวของคาอินและอาเบลในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 4)
ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ขงเบ้งเป็นผู้มีปัญญาล้ำเลิศจนเป็นที่อิจฉาของนักปราชญ์คนอื่นๆ ในเวลานั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อว่าจิวยี่ซึ่งเป็นทั้งนักรบและนักปราชญ์ จิวยี่กับขงเบ้งนั้นแม้ว่าจะอยู่กันคนละฝ่ายแต่ก็เป็นพันธมิตรกันในการต่อสู้กับขุนนางที่ชื่อว่าโจโฉ แต่ถึงแม้จะเป็นพันธมิตรกันแต่จิวยี่กลับคอยหาทางกำจัดขงเบ้งหลายครั้งหลายคราว เนื่องจากจิวยี่ไม่พอใจที่ขงเบ้งฉลาดกว่าตนและรู้ความคิดของตนอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งขงเบ้งจำเป็นต้องไปหนีไปพึ่งพาจิวยี่ ทำให้จิวยี่สบโอกาสที่จะฆ่าขงเบ้ง แต่ขงเบ้งรู้ทันว่าจิวยี่คิดปองร้าย จึงออกอุบายหาทางหนีและหนีได้สำเร็จ ในช่วงที่ขงเบ้งหนีไปได้นั้นเป็นช่วงที่จิวยี่กำลังติดพันศึกและพลาดพลั้งถูกลูกธนูอาบยาพิษ หมอที่รักษาจิวยี่แนะนำว่าให้กินยาแก้และต้องทำให้ใจสงบ แต่ด้วยความอิจฉาที่มีต่อขงเบ้ง แม้ว่าจิวยี่จะกินยาสักเพียงไรก็ไม่สามารถเอาชนะพิษของลูกธนูได้ จนหมอเองก็จนปัญญา ในที่สุดจิวยี่จึงกระอักเลือดตาย แต่ก่อนตายจิวยี่ตะโกนลั่นว่า “เมื่อฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งขงเบ้งมาเกิดด้วย”
อันที่จริงคำกล่าวของจิวยี่นั้นได้สะท้อนให้เราเห็นถึงความจริงที่อยู่ในใจของมนุษย์ทุกคน คือเมื่อเรารู้สึกอิจฉาใครก็ตาม เรากำลังกล่าวโทษใครบางคนที่อยู่บนฟ้าว่าท่านไม่ยุติธรรมเลยที่ประทานสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นโดยที่เราไม่ได้รับสิ่งนั้นด้วย ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าความอิจฉาแท้จริงแล้วก็คือการไม่พอใจในสิ่งที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา ซึ่งก็หมายความว่าเราไม่พอใจพระเจ้าด้วย (เห็นไหมครับว่ามันเป็นบาปที่ร้ายแรงจริงๆ?)
วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขความอิจฉาจึงไม่ใช่การมองไปยังคนที่แย่กว่าหรือมีอะไรน้อยกว่าเรา แล้วจึงรู้สึกดีขึ้น (ที่แย่กว่านั้นคือเรามีความเสี่ยงที่จะดูถูกคนอื่นด้วยวิธีการนี้) แต่ความอิจฉาริษยานั้นควรได้รับการแก้ไขด้วยการเรียนรู้ที่จะขอบพระคุณพระเจ้าในสิ่งที่ตนเองมี และขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่คนอื่นได้รับ เพราะเมื่อเราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่เรามี เราก็กำลังแสดง “ความพอใจ” ในสิ่งที่เรามีและได้รับจากพระองค์ และเมื่อเราขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่คนอื่นมี เราก็กำลังแสดงความ “รัก” ต่อเขานั่นเอง การขอบพระคุณพระเจ้าอยู่เสมอจึงเป็นหนทางในการปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระและช่วยให้เรามีพลังเหนือความอิจฉาริษยาที่เฝ้าคอยกัดกินสันติสุขในจิตใจของเรา
นิยามของความรักใน 1 โครินธ์ 13:4-7 ยังมีอีกหลายมิติ สิ่งที่กล่าวมาด้านบนนั้นเป็นเพียงเนื้อหาส่วนแรกของ 3 ส่วนใน series “Love Is and Isn’t” หากพี่น้องอ่านแล้วรู้สึกได้รับมุมมองความคิดดีๆ ก็ขอให้แบ่งปันเพิ่มเติมกันได้ใน comment ด้านล่าง เพื่อสิ่งที่เราได้รับจะเป็นพระพรต่อผู้ที่เข้ามาอ่านและใคร่ครวญพระคำของพระเจ้าร่วมกันนะครับ
Because He Loves,
บทความ: ศจ.ชาติชาย จารุวาที
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น