ความรักไม่อวดตัว
ถ้าเปรียบการไม่อิจฉาเป็นเด็กที่นั่งอยู่บนไม้กระดกฝั่งหนึ่ง การไม่อวดตัวก็เป็นเด็กอีกคนที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ความรักไม่เพียงต้องไม่อิจฉาคนอื่นเท่านั้น แต่ต้องไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกอิจฉาตนเองด้วย ซึ่งคือการไม่อวดตัวนั่นเอง
การโอ้อวด (boasting) หมายถึง การแสดงสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของให้คนอื่นได้เห็น ได้ฟัง หรือได้รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ โดยมุ่งหวังให้คนที่ได้รับรู้นั้นรู้สึกต้อยต่ำ หรือรู้สึกว่าสิ่งที่ผู้รับรู้มีนั้นมีคุณค่าน้อยกว่าสิ่งที่ผู้โอ้อวดกำลังอวดอยู่ จุดประสงค์ของผู้โอ้อวดคือต้องการให้สังคมเห็นว่าตัวเขาหรือสิ่งที่เขามีนั้นสำคัญกว่าสิ่งที่คนอื่นเป็นหรือมี
ปัญหาเรื่องการโอ้อวดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีบทที่ 13 ในพระธรรม 1 โครินธ์ เพราะในหลายๆ บทก่อนหน้านี้เปาโลกล่าวตำหนิคริสเตียนที่เมืองโครินธ์ซึ่งพยายามจะโอ้อวดในเรื่องต่างๆ เช่น โอ้อวดว่าตนเป็นศิษย์ของอาจารย์ที่สำคัญหรือยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น (บทที่ 1-4) โอ้อวดว่าตนมีความรู้มากกว่าคนอื่น (บทที่ 5 และ 8) โอ้อวดว่าตนมีของประทานหรือความสามารถต่างๆ ที่มากกว่าหรือสำคัญกว่าคนอื่น (บทที่ 12)
อันที่จริงพระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามเราในการโอ้อวด แต่ส่งเสริมให้เราอวดในเรื่องที่เหมาะสมและด้วยหนทางที่ถูกต้อง นั่นคือการอวดเพื่อให้คนอื่นได้รับความยินดี และพระเจ้าได้รับพระเกียรติ ดังเช่นที่ปรากฏในพระธรรมต่อไปนี้
- สดุดี 20:7 บ้างก็โอ้อวดเรื่องรถรบ บ้างก็เรื่องม้าศึก แต่พวกเราอวดเรื่องพระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกเรา
- สดุดี 34:2 จิตใจของข้าพเจ้าโอ้อวดในพระเจ้า ให้คนที่เสงี่ยมเจียมตัวได้ฟังและยินดี (TH1971)
- กาลาเทีย 6:4 แต่ละคนจงสำรวจการกระทำของตนเอง แล้วจึงจะมีอะไรอวดได้ในตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบกับผู้อื่น
- เยเรมีย์ 9:24 แต่ให้ผู้อวดอวดสิ่งนี้ คือการที่เขาเข้าใจและรู้จักเราว่าเราคือพระยาห์เวห์ ผู้สำแดงความรักมั่นคง ความยุติธรรม และความชอบธรรมในโลก เพราะเราพอใจในสิ่งเหล่านี้” พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้แหละ
เมื่อเรารักใครสักคนเราต้องไม่ทำให้เขารู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าด้วยการยกตัวเราเองหรือสิ่งที่เรามีขึ้นมาโอ้อวดเพื่อให้เขารู้สึกแย่และเรารู้สึกดีกว่า ความรักที่แท้จริงจึงไม่อวดตัว
ความรักไม่หยิ่งผยอง
ความหยิ่งผยอง คือ ความรู้สึกว่าตนเองมีบางสิ่งที่ดีกว่าคนอื่น แต่มักจะเป็นความเข้าใจผิดคิดเอาเองว่าสิ่งที่ตนมีหรือความคิดเห็นของตนนั้นสมบูรณ์ที่สุด ผลที่ตามมาก็คือคนที่หยิ่งผยองจะไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือการเตือนสติจากผู้อื่น กล่าวอีกอย่างได้ว่าคนที่หยิ่งผยองคือคนที่คิดว่าตนเองสมควรได้รับเกียรติมากกว่าผู้อื่น ซึ่งในบางกรณีเกียรติดังกล่าวนี้เป็นเกียรติที่ตนไม่สมควรได้รับด้วยซ้ำ
ดังนั้นการกล่าวว่าความรักไม่หยิ่งผยอง จึงเท่ากับการกล่าวว่าความรักคือการ “ยอมรับผู้อื่น” ยอมรับในความคิดเห็นหรือในความสามารถของผู้อื่น ว่าความคิดหรือความสามารถนั้นมีคุณค่าคู่ควรแก่การที่เราจะสนใจ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความคิดหรือความสามารถของเรา และการยอมรับนี้เป็นการแสดงออกถึงการ “ให้เกียรติ” ผู้อื่น (ในขณะที่การหยิ่งผยองคือการพยายามจะเรียกร้องเกียรติมาสู่ตนเอง)
พฤติกรรมหนึ่งที่ชัดเจนของความหยิ่งผยองคือความดื้อรั้น ไม่ฟังคำตักเตือน คนที่ดื้อรั้นจึงแสดงออกมาซึ่งการขาดความรักที่มีต่อผู้อื่น โดยการไม่เห็นคุณค่าหรือความสำคัญของคำเตือนนั้นๆ
เมื่อเราไม่หยิ่งผยองเราจึงแสดงความรักด้วยการให้เกียรติต่อผู้อื่น ให้คุณค่าแก่คนที่เราต้องการจะแสดงความรัก ให้การยอมรับและการรับฟังคนที่เราอยากให้เขารู้ว่าเรารักเขา หรือเมื่อกล่าวในทางตรงกันข้ามการไม่หยิ่งผยองก็คือการ “ถ่อมใจ” นั่นเอง
พระเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับความถ่อมใจไว้ในพระธรรมหลายร้อยข้อ ตัวอย่างเช่น
- สุภาษิต 29:23 ความหยิ่งของคนนำเขาให้ต่ำลง แต่คนถ่อมตัวจะได้รับเกียรติ
- สดุดี 18:27 เพราะพระองค์ทรงช่วยประชาชนที่ถ่อมตัวให้รอด แต่ดวงตาที่หยิ่งยโสนั้น พระองค์ทรงทำให้ต่ำลง
- ยากอบ 4:6 (สุภาษิต 3:34) แต่พระองค์ก็ประทานพระคุณมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นพระคัมภีร์จึงกล่าวว่า “พระเจ้าทรงต่อสู้คนที่หยิ่งจองหอง แต่ประทานพระคุณแก่คนที่ถ่อมใจ”
- ฟีลิปปี 2:3 อย่าทำสิ่งใดด้วยการชิงดีหรือถือดี แต่จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม
การอวดตัวและความหยิ่งผยองมีความคล้ายคลึงกันในแง่มุมแห่งการยกคุณค่าของตนเองเพื่อจะลดคุณค่าของผู้อื่น คนที่มีความรักอย่างแท้จริงนั้นจะไม่เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางหรือเรียกร้องเกียรติยศการยอมรับด้วยการกดคนอื่นลง การรู้สึกดีต่อตัวเอง (มี self-worth) นั้นไม่ใช่เรื่องผิดหากเราไม่ข่มขู่ ดูถูก หรือกดขี่ผู้อื่นในเชิงความคิดหรือการแสดงออก นิยามของความรักในข้อนี้จึงทำให้เราเข้าใจว่าความรักที่แท้จริงคือการพยายามให้เกียรติและเห็นคุณค่าของผู้อื่นในการแสดงออกของเราอยู่เสมอนั่นเอง
ติดตามนิยามความรักในพระธรรม 1 โครินธ์บทที่ 13 ตอนที่ 3 ในสัปดาห์หน้านะครับ
Because He Loves,
บทความ: ศจ.ชาติชาย จารุวาที
ออกแบบ: Nan Tharinee
บทสนทนา
ไม่มีความคิดเห็น