บทความ

การดูแลรักษาชีวิตภายใน

ชีวิตเราต้องเจอความท้าทายมากมาย และหนึ่งในเรื่องท้าทายที่ต้องเผชิญ นั่นก็คือ ความวุ่นวาย (busyness) เราต่างต้องจดจ่อกับสิ่งที่เราทำ งานสำคัญๆ และเรื่องต่างๆ ที่ดูเร่งด่วนไปหมด จนทำให้เรารู้สึกว่าแทบไม่ได้หยุดพักเลย

แน่นอนว่า “ความวุ่นวาย” มักสร้างความพึงพอใจให้กับตัวตนเรา มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เราทำสิ่งต่างๆ ได้ดี

มันเหมือนว่าเรากำลังสวมความวุ่นวายเป็นดั่งเหรียญตราเกียรติยศ เพื่อมันจะคอยบอกคนอื่นถึงสิ่งต่างๆ ที่เราทำ และสร้างความพึงพอใจเมื่อผู้คนเหล่านั้นชื่นชมในความทุ่มเทของเรา

ที่จริงไม่แปลกที่ชีวิตต้องมีความวุ่นวาย แต่เมื่อเราเข้าสู่ภาวะที่วุ่นมากจนเกินไป มันอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่พระเจ้าด้วย

ที่จริงชีวิตภายนอกไม่ว่าการกระทำหรือผลลัพธ์ สิ่งที่เราทำและความสำเร็จดูเหมือนเป็นเรื่องที่จับต้องได้และสำคัญมากกว่าโลกภายใน เราจึงมักถูกหลอกความคิดได้ง่ายๆ ว่า เรื่องภายนอก คือ จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของเรื่องต่างๆ ในชีวิต

เมื่อใดที่คิดแบบนี้ มันนำพาชีวิตเราลงไปสู่ทางลาดชัน จนในที่สุดเราอาจละเลยชีวิตภายในอย่างสิ้นเชิง และเมื่อเป็นแบบนั้น เราก็จะตกอยู่ในอันตรายที่เรียกว่า “ความเหือดแห้งของชีวิตที่วุ่นวาย”

เฮนรี่ นูเวน กล่าวว่า “ยิ่งคุณมีชีวิตภายนอกไปไกลมากเพียงใด ชีวิตภายในของคุณยิ่งต้องลงลึกมากเท่านั้น” การดูแลและทำนุบำรุงจิตวิญญาณในการเดินกับพระเจ้า เป็นกุญแจสำหรับการมีชีวิตที่ดีและมีประสิทธิผล

เพราะว่าอะไรทราบไหม? เพราะชีวิตจากพระเจ้าเริ่มต้นจากภายใน ออกจากส่วนลึกของชีวิต พระเยซูทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า

“และให้คนที่วาง‍ใจในเราดื่ม ตามที่มีคำเขียนไว้แล้วว่า แม่‍น้ำที่มีน้ำ‍ดำรง‍ชีวิตจะไหลออกมาจากภาย‍ในคน‍นั้น” (ยอห์น 7:38)

พระองค์ตรัสว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์และชีวิตที่อยู่ในพระวิญญาณ จะไหลล้นออกจากตัวเราไปยังผู้อื่น

แต่เมื่อเราวุ่นวายเกินไป ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ จิตวิญญาณเราจะเหือดแห้ง ชีวิตในพระเจ้าดูติดขัด ไม่ไหลลื่น และมักส่งผลให้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่สะท้อนถึงการมีชีวิตแบบพระคริสต์ และพระเจ้ามักเป็นตัวเลือกสุดท้ายเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ

เราเลือกดำเนินชีวิตได้เพียง 2 ทาง
ทางแรก (วิถีแบบโลก) คือ การดำเนินชีวิตจากภายนอกสู่ภายใน

คือการให้สิ่งต่างๆ ที่ตัวทำ เป็นจุดเริ่มต้นและสำคัญเป็นอันดับแรก ผลลัพธ์และการกระทำ เป้าหมายและวัตถุประสงค์เป็นเรื่องสำคัญ หากมีเวลาเหลือเราถึงหันกลับมาดูแลชีวิตภายใน

เมื่อให้กิจกรรมนำหน้าการอธิษฐาน และ ‘สิ่งที่ทำ’ มาก่อน ‘สิ่งที่เป็น’ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตภายในจะถูกปล่อยปละละเลยและเหี่ยวแห้ง

ส่วนทางที่สอง (วิถีพระคัมภีร์) คือ การดำเนินชีวิตจากภายในสู่ภายนอก
ชีวิตภายใน (ความสัมพันธ์กับพระเจ้า) เป็นจุดเริ่มต้นและสำคัญเป็นอันดับแรก เราจะดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาพระเจ้า ฟังเสียงที่พระองค์ทรงนำและยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามานำในทุกสิ่งที่เราทำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ “สิ่งที่ทำ” จะออกมาจาก “สิ่งที่เป็น” ชีวิตภายในจะแข็งแรงและมีชีวิตชีวา เพราะเรายอมวางชีวิตอยู่ในพระคริสต์นั่นเอง

เมื่อเห็นถึงความแตกต่างระหว่างการดำเนินชีวิตทั้ง 2 แบบ เราจำเป็นต้องเลือกว่าจะเดินตามแบบไหน?

การเลือกนี้อาจเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลงกิจวัตรและจัดลำดับความสำคัญใหม่ แต่ที่สำคัญสุดคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของเรา (mind-set)

ถ้าอย่างนั้นเราจะทำนุบำรุงรักษาชีวิตภายในได้อย่างไร?

คำตอบคือ ทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า “อุปนิสัยฝ่ายวิญญาณ” (Spiritual Discipline) มันเป็นอุปนิสัยที่ชอบธรรมซึ่งนำให้เราติดสนิทอยู่ในพระคริสต์

อุปนิสัยหรือวินัยฝ่ายวิญญาณ คือ วิธีการรูปแบบที่นำให้เรามีชีวิตกับพระเจ้า ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ การอธิษฐาน

เมื่อเราใช้เวลาอธิษฐาน นั่นหมายถึงเราปล่อยให้จิตวิญญาณมีพื้นที่สำหรับหายใจ และทำให้เราสนิทสนมกับพระเจ้า การอธิษฐานไม่ได้เป็นเพียงแค่การขอสิ่งต่างๆ แต่เป็นการปรับตัวเราเข้าหาพระเจ้าและน้ำพระทัยพระองค์

เมื่อเราแสวงหาพระเจ้าผ่านคำอธิษฐาน เราจะได้รับการเติมเต็มโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในทางกลับกัน ชีวิตที่ขาดการอธิษฐานจะนำไปสู่ความเหือดแห้งในชีวิต

มีบทความอธิบายเรื่องอุปนิสัยฝ่ายวิญญาณมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ การมีวินัยฝ่ายวิญญาณไม่ได้สมบูรณ์ในตัวมันเอง มันไม่ได้ทำให้พระเจ้าพึงพอใจตัวเรา แต่มันเพียงนำเราเข้าหาพระเจ้า

เราไม่สามารถฝึกฝนวินัยฝ่ายวิญญาณด้วยกำลังตัวเอง เพราะการมีวินัยในตนเองนั้นย่อมไม่เพียงพอ แต่เราสามารถทำได้โดยพระคุณพระเจ้า

การนมัสการ อ่านพระคัมภีร์ อธิษฐาน สามัคคีธรรม การประกาศเป็นพยาน การรับใช้ช่วยเหลือผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ถูกนิยามจากกลุ่มอีแวนเจลิคอลว่าคือหัวใจหลักของการสร้างวินัยในชีวิตคริสเตียน (ดูในกิจการ 2:42)

แต่ผมขอเพิ่มอีก 6 วิธีที่จะช่วยฝึกฝนวินัยฝ่ายวิญญาณ อันได้แก่
– การนิ่งสงบ (Stillness)
– การเงียบ (Silence)
– การอยู่ตามลำพัง (Solitude)

สามวิธีแรกนี้จะไปด้วยกันและช่วยพาเราออกจากการใช้ชีวิตแบบให้สิ่งภายนอกขับเคลื่อน ไปสู่การใช้ชีวิตโดยให้ตัวตนภายในขับเคลื่อน ซึ่งจะช่วยเราพัฒนาความใกล้ชิดกับพระเจ้าให้ลึกซึ้ง

ส่วนอีกสามวิธีต่อมา ได้แก่
– การสำรวจตัวเอง (reflection)
– การภาวนาพระวจนะ (Bible meditation)
– การใคร่ครวญ (contemplation)

ทั้งสามวิธีนี้จะช่วยเคลื่อนเราจากการใช้ชีวิตอย่างตื้นเขิน สู่การใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้ง จากผิวเผินสู่การลงลึก ซึ่งทำให้เรารู้จักพระเจ้าและตัวเองดียิ่งขึ้น

สิ่งสำคัญคือเราไม่ควรเข้มงวดกับเรื่องวินัยฝ่ายวิญญาณเกินไป เพราะเป้าหมายของมันมีไว้เพื่อช่วยเรา ไม่ใช่เพื่อทรมานเรา เราจึงต้องค้นหาว่าวิธีไหนที่สามารถเสริมสร้างเราได้ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต

ยิ่งกว่านั้น เราต้องค้นหาว่าวิธีการไหนลงตัวที่สุดกับเรา เข้ากับบุคลิกและภูมิหลังที่เจาะจงของเรา การไปถึงความเติบโตฝ่ายวิญญาณนั้น ความหลากหลายในวิธีการจะทำให้ชีวิตเรามีสีสัน

บางคนอาจเคยอ่านหรือได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับบทสนทนาทางวิทยุสื่อสารระหว่างเรือรบนาวิกโยธินอเมริกาและเจ้าหน้าที่ควบคุมอาณาเขตนอกชายฝั่ง Newfoundland (เกาะในแคนาดา)

กัปตันเรือบรรทุกเครื่องบิน:
โปรดปรับลำเรือ 0.5 องศา ไปยังทิศใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ

เจ้าหน้าที่ทางทะเล:
ฝั่งคุณนั่นแหละ โปรดปรับลำเรือ
15 องศาไปยังทิศใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ

กัปตันเรือบรรทุกเครื่องบิน:
นี่ผมกัปตันกองทัพเรือนาวิกโยธินอเมริกา ผมขอพูดอีกครั้ง โปรดปรับลำเรือของคุณ

เจ้าหน้าที่ทางทะเล:
ไม่ ผมขอพูดอีกครั้ง คุณนั่นแหละ ปรับลำเรือซะ
!

กัปตันเรือบรรทุกเครื่องบิน:
นี่คือ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS CORAL SEA เราเป็นเรือรบขนาดใหญ่แห่งนาวิกโยธินอเมริกา โปรดปรับลำเรือของคุณเดี๋ยวนี้!!!

เจ้าหน้าที่ทางทะเล:
นี่คือ ประภาคาร ทราบแล้วเปลี่ยน

พระเจ้าเป็นดั่ง ‘ประภาคาร’ เราเองที่ต้องปรับเข้าหาพระองค์ ไม่ใช่พระองค์ปรับเข้าหาเรา

เราต้องตรวจสอบตัวเองว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปแบบให้ชีวิตภายนอกคอยขับเคลื่อนชีวิตภายใน หรือจะใช้ชีวิตภายในขับเคลื่อนชีวิตภายนอก โดยการปรับชีวิตให้สอดคล้องตาม

 

บทความต้นฉบับ:  คู่มือค่าย Breakthrough Men 2016
แปล:  สุรารักษ์ ชุณหะ
เรียบเรียง:  ธารา วงศ์ศิริสิน
ภาพ:  Vojtech Okenka from Pexels
ออกแบบ:  Nan Tharinee

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง